'Hackathon' แฮคเกอร์ก่อการดี




HLP Hackathon Event



'Hackathon' แฮคเกอร์ก่อการดี
โดย : นิศากร แก่นมีผล @kejuliso
ฟังข่าวร้าย ข่าวฉาวจากการ "แฮค" มาเยอะแล้ว มาพลิกดูอีกด้านของเหล่าแฮคเกอร์กันบ้าง พวกเขากำลังสนุกกับปฏิบัติการแฮคอย่างมาราธอนเพื่อ ก่อการดี

เมื่อพูดถึงการ “Hack (แฮค)" ภาพที่ชอบลอยเข้ามา คือ แฮคเกอร์เท่ๆ (บางทีก็เป็นตัวร้าย) เจาะระบบเข้าไปในองค์กรต่างๆ เพื่อโชว์เหนือ

อิทธิพลจากภาพยนตร์ ทำให้คำว่า "แฮค" ถูกนำไปใช้ในงานคอมพิวเตอร์เสียเป็นส่วนใหญ่ ...เกือบทั้งหมดก็ว่าได้

แต่จริงๆ แล้ว แฮคเกอร์ คือ ผู้เชี่ยวชาญในการเข้าไปทำอะไรบางอย่างกับระบบ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือเรียกง่ายๆ ว่าเข้าไปงัดข้อกับระบบเดิมที่มีอยู่ให้สามารถใช้งานได้เหนือชั้นกว่าเดิมนั่นเอง
(โดยไม่จำเป็นว่าจะเป็นแต่เรื่องคอมพิวเตอร์อย่างเดียวเท่านั้น)

บริษัททางด้านซอฟต์แวร์ต่างๆ ได้เห็นประโยชน์จากการ “แฮค” จึงนำมาพลิกแพลงเพื่อให้เหล่าโปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาต่างๆ ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

หนึ่งในนั้นคือการจัดงาน Hackathon ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1999 โดย 2 บริษัท นั่นคือ โปรแกรมเมอร์ของ Berkeley Software Distribution (BSD) และทีมการตลาดของ Sun Microsystems, Inc. โดย BSD จัดงานนี้ขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ในการแก้โค้ดของซอฟท์แวร์ต่างๆ ในประเทศอเมริกา

งาน Hackathon เป็นชื่ออีเวนท์ที่จัดขึ้นมาเพื่อท้าทายให้เหล่าโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมต่างๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทตัวเอง และ Sun Microsystems เป็นผู้คิดค้นคำว่า Hackathon และนำมาใช้ให้คนได้รู้จักเป็นครั้งแรก

คงเดากันออกว่า คำว่า Hackathon นั้นเป็นศัพท์แสลงมาจากคำว่า Hack บวกกับคำว่า Marathon โดยที่ต่างประเทศ มีการจัดอีเวนท์ชื่อแปลกๆ นี้กันอย่างสม่ำเสมอ ทำให้โปรแกรมเมอร์มีโอกาสมาพบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความรู้กัน

ส่วนใหญ่แล้วช่วงเวลาการจัดงาน Hackathon จะอยู่ระว่าง 2-3 วัน ลากยาวไปเป็นอาทิตย์เลยก็มี ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการรวมตัวของบรรดาแฮคเกอร์ และ "เป้าหมาย" ในการแฮคของพวกเขา ตลอดจนวิธีการ ซึ่งจะไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวแล้วแต่จะตกลงกัน

ถ้างานนี้จัดแค่ช่วงสั้นๆ แค่ 2-3 วัน บางทีก็เรียกว่า Sprint แทน
แต่ในกลุ่มผู้ใช้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ก็จะเรียกกันว่า Codefest ซึ่งรวมมาจากคำว่า Code กับ Festival

แม้แต่เว็บไซต์ระดับโลกอย่าง facebook ก็ใช้วิธีคัดคนเข้าทำงานด้วยการแฮค หรือแก้โจทย์เพื่อเฟ้นหาสุดยอดโปรแกรมเมอร์ไปร่วมงานด้วย ทั้งนี้ เพราะคนที่ทำการแฮคได้คือ ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้นอย่างแท้จริง อย่างที่เราเห็นกันในหนัง The Social Network (2010) ที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หาคนมาร่วมทำงานด้วยการให้เขียนโปรแกรมไปด้วยแฮคไปด้วย ที่สำคัญคือ ต้องกินเหล้าไปด้วยเพื่อทดสอบการครองสติ

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คนที่ซัคเคอร์เบิร์กเพิ่งรับเข้าไปร่วมทีม Facebook ในตำแหน่งวิศวกรซอฟท์แวร์ก็คือ จอร์จ ฮอชซ์ หรือ Geohot แฮคเกอร์หนุ่ม ที่เจาะเข้าไปในระบบทำการปลดล็อก iOS หรือ เจลเบรก ของไอโฟน ให้สามารถโหลดแอพพลิเคชั่นได้โดยไม่เสียเงิน ในปี 2008

ต่อมาเขาก็เจาะเข้าไปในระบบของโซนี่ นำ root key ของเครื่องเพลย์สเตชั่น 3 ออกมา ทำให้เครื่อง PS3 สามารถเล่นแผ่นปลอมได้

ล่าสุด (30-31 กรกฎาคม) เมืองหลวงของโลกอย่างมหานครนิวยอร์คได้จัดงาน Reinvent NYC.gov Hackathon เป็นครั้งแรกโดยใช้เวลาในการจัดงานถึง 36 ชั่วโมงด้วยกัน เพื่อยกเครื่องเว็บไซต์ทางการของเมืองนิวยอร์คเอง โดยมีชาวอเมริกันเข้าร่วมการแฮคครั้งนี้ถึง 75 คน (เป็นชาวแคนาดา 1 คน) โดยงานนี้ไม่ได้มีรางวัลสำหรับผู้ชนะแต่อย่างใด นอกจากความภูมิใจและการเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ของเมืองนิวยอร์คเอง


ไทยก็แฮค
เมืองไทยก็ "ล้ำ" ไม่น้อยหน้า เนรมิตงาน Hackathon ขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อ HLP Hackathon โดยบริษัทหัวลำโพงเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเชิญชวนเหล่าโปรแกรมเมอร์ของเมืองไทยให้ได้มาโชว์ของกันอย่างสร้างสรรค์

งานนี้ได้โปรแกรมเมอร์ขั้นเทพอย่าง เนย - สิทธิพล พรรณวิไล แชมป์เปี้ยนเจ้าของรางวัล Forum Nokia Open C Challenge ผู้จัดและผู้ออกโจทย์ครั้งนี้เล่าถึงที่มาที่ไปของงานนี้ว่า

“ปกติงาน event ของโปรแกรมเมอร์จะเป็นงานสัมมนาซะเป็นส่วนใหญ่ หรือบางทีจัดแข่งแก้โปรแกรมกันแต่ใช้เวลาแข่งครึ่งปี สุดท้ายคนก็ลืมกันหมด เลยอยากจะจัดงานที่ใช้เวลาไม่นาน แข่งจบภายในวันเดียว เพื่อที่จะได้ให้โปรแกรมแกรมเมอร์แต่ละคนโชว์ฝีมือได้เต็มที่โดยไม่ต้องใช้เวลานานนัก ที่สำคัญรูปแบบงานต้องไม่น่าเบื่อ จึงเป็นที่มาของ Hackathon”

อีเวนต์เกิดใหม่รายล่าสุดนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้โปรแกรมเมอร์ไทยได้แสดงฝีมือกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งโปรแกรมเมอร์แต่ละคนกว่าจะฝ่าด่านเข้ามาแข่งขันในวันตัดสินได้นั้น ต้องผ่านรอบคัดเลือกออนไลน์ทางหน้าเว็บกันก่อน โดยมีโปรแกรมเมอร์ให้ความสนใจในการแข่งครั้งนี้กว่า 300 คน แต่มีผู้ฝ่าด่านอรหันต์มาได้เพียง 14 ทีม 19 คนเท่านั้น

กติกาของ Hackathon ไทยๆ มีอยู่ว่า ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับ QR Code (บาร์โค้ดสองมิติที่ประกอบด้วยมอดูลสีดำเรียงตัวกัน มีสัณฐานสี่เหลี่ยม มีพื้นหลังสีขาว สามารถอ่านได้ด้วยเครื่องสแกนคิวอาร์ ในโทรศัพท์มือถือที่มีกล้อง และสมาร์ตโฟน เพื่อถอดข้อมูลในรูปข้อความ) ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งต้องหาคำตอบโดยการแก้โจทย์แต่ละข้อแล้วนำคำตอบที่ได้มาแปลงเป็นรหัสเพื่อนำไปฝน QR Code ให้สมบูรณ์ ซึ่งหาก QR Code สมบูรณ์เมื่อไหร่ ก็จะกลายเป็นคำตอบทันที

ฟังแล้วอาจดูไม่ยาก แต่งานนี้ไม่ง่ายสำหรับโปรแกรมเมอร์ เมื่อต้องมาเจอการกลั่นแกล้งจากทีมงานที่ไม่ยอมให้พิชิตโจทย์กันได้ง่ายๆ พร้อมทั้งต้องดื่มไวน์ทุกๆ 15 นาที!

แล้วการแข่งขันก็เริ่มต้น

เมื่อผู้เข้าแข่งขันทุกคนได้รับการแจกโจทย์จากทีมงาน เวลาผ่านไปแค่ 15 นาที การทดสอบด่านแรกก็เริ่มขึ้นทันที โดยการให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจิบไวน์เพื่อทดสอบการครองสติ แต่สำหรับโปรแกรมเมอร์รุ่นเล็ก หรือคนที่แพ้แอลกอฮอล์จะถูกทำโทษโดยการการปั่นจิ้งหรีด 10 รอบแทน และเพื่อเป็นการกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่องทีมงานค่อยๆ ไล่จับฉลากรายชื่อผู้เข้าแข่งขันทีละคน โดย ธนินทร์ ณ นคร โปรแกรมเมอร์อิสระ วัย 27 ปี ผู้เข้าแข่งขันทีมที่ 11 เป็นคนแรกที่โดนแกล้งให้วิ่งรอบห้องที่ทำการแข่งขัน หรือ ไท ปังสกุลยานนท์ โปรแกรมเมอร์รุ่นเล็กวัย 18 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาตร์ที่จับสลากได้อุปสรรคคือ การเล่นเกมมาริโอ้คลาสสิคด่านแรกให้จบ

นอกจากนี้ยังมี การกลั่นแกล้งอีกมากมาย อาทิ ให้ออกมาร้องเพลงกับวง ก่อนปล่อยตัวกลับไปง่วนหน้าจอคอมฯ ต่อ

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมงานนี้ต้องมีแอลกอฮอล์

“จริงๆ สิ่งที่สำคัญในการทำงานของโปรแกรมเมอร์ คือ ต้องมีสติและใช้ความคิด แอลกอฮอล์เลยกลายเป็นตัวเลือกเพื่อนำมาใช้สร้างความมึนให้กับโปรมแกรมเมอร์โดยเฉพาะ แต่เน้นว่าแค่มึนนะครับ (ยิ้ม) สำหรับคนที่แพ้แอลกอฮอล์ เราให้ปั่นจิ้งหรีดแทน ซึ่งลองแล้วครับว่ามึนไม่แพ้กันเลย”เนย ชี้แจง

ด้าน วสันต์ ลิ่วลมไพศาล โปรแกรมเมอร์ชื่อดังหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ blognone.com ที่ฝ่าด่านรอบคัดเลือกจนเข้ามาสู่รอบตัดสินบอกตามตรง ว่า คิดว่างานแบบนี้จะมีแต่ในหนัง

“ผมไม่คิดมาก่อนว่าจะมีงานรูปแบบนี้ในไทย ไม่คิดว่าจะมีใครกล้าเล่นอะไรแบบนี้ครับ แต่เหตุผลที่ผมเข้ามาร่วมการแข่งขันครั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งกำลังเบื่อๆ และอยากหาแรงบันดาลใจในการทำงาน เลยมาลองแก้โปรแกรมที่เป็นโจทย์แข่งดูบ้างเพื่อสร้างไฟในการเขียนโปรแกรมตอนทำงานครับ ปรากฎว่างานเฮฮากว่าที่คิดไว้เยอะเลยครับ บางจังหวะผมเผลอนั่งฟังเพลงจนเพลิน ไม่ได้แก้โจทย์เลย(ยิ้ม)”

สำหรับคนที่คว้าชัยชนะในครั้งนี้ไปได้ คือ รายที่โดนแกล้งให้วิ่งรอบห้อง ธนินทร์ ณ นคร เขาใช้เวลาไปเพียง 2 ชั่วโมง 50 นาทีเท่านั้น

“ตอนแรกไม่รู้เลยครับว่า Hackathon คืออะไร แต่เพื่อนส่งลิ้งค์มาให้ เลยลอง search ดู ตอนรอบคัดเลือกวันแรกผมไม่ผ่านนะครับ มาผ่านเอาวันที่สอง การแข่งขันสนุกมากครับ อยากให้เมืองไทยมีการจัดงานแบบนี้บ่อยๆ เพราะอย่างที่เมืองนอกเค้าจะมีบ่อยมาก งานแบบนี้น่าจะมีคนสนใจเยอะครับ”

ส่วนตำแหน่งรองชนะเลิศได้แก่ ปยุต เมธามงคลเขต และจิระวัฒน์ ผดุงกิจจานนท์ที่ควงคู่กันมาเป็นทีม โดยใช้เวลาในการแก้โจทย์ไป 3 ชั่วโมง 10 นาที

ด้านโปรแกรมเมอร์รุ่นเล็กอย่าง ไท ​ปังสกุลยานนท์ ที่สามารถฝ่าด่านเข้ามาท้าประลองฝีมือกับรุ่นพี่ให้ความเห็นว่า

“ผมสนใจคอมพิวเตอร์มานานแล้วครับ เรียกว่าตั้งแต่จำความได้ก็เล่นอยู่กับคอมพิวเตอร์ครับ ผมชอบความรู้สึกตอนแก้โค้ด ตอนคิดโค้ด มันท้าทายดีครับ อย่างงานนี้ตอนแรกก็คิดแค่ว่าจะมาหาประสบการณ์ มาแข่งคอมธรรมดา แต่งานมันเจ๋งมากครับ เป็นการแข่งคอมพิวเตอร์ที่ไม่คิดว่าจะมันส์แบบนี้ โจทย์เจ๋งมากๆ”

นอกจากไทแล้ว ยังมีโปรแกรมเมอร์รุ่นเล็กร่วมลงแข่งงานนี้อีกหลายคน วสันต์ ลิ่วลมไพศาล แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า

“สมัยนี้โอกาสเรียนรู้มันดีกว่าเดิมมาก งานแบบนี้แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ ที่เรากลัวว่า ถ้าเขาติดคอมพิวเตอร์แล้วจะใช้ไปในแง่ลบ มันไม่จริงเสมอไป เพราะในจำนวนนั้นหลายๆ คนสามารถนำอุปกรณ์ที่ทางบ้านจัดหามาให้ นำมาใช้หาความรู้เพื่อใช้ประกอบอาชีพในอนาคตได้เป็นอย่างดี”

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากงานนี้คือ บุคคากรด้านคอมพิวเตอร์และไอที มีไม่น้อย หลายคนฝีมือดีชนิดหาตัวจับยาก แต่หลายคนเลือกที่จะไป "ขุดทอง" ต่างประเทศมากกว่า

“เมืองไทยมีโปรแกรมเมอร์ฝีมือดีๆ เยอะครับ เพราะหากเทียบกับเมืองนอกแล้ว บ้านเค้าพร้อมกว่าบ้านเราเยอะ แต่ด้วยความที่บ้านเรามีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้โปรแกรมเมอร์ต้องหัดเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ให้ได้ ซึ่งเมืองนอกเค้าจะไม่เจออย่างเรา อย่างโปรแกรมเมอร์รุ่นใหม่ๆ ก็มีฝีมือกันหลายคน แต่เสียดายที่อนาคตโปรแกรมเมอร์เหล่านี้อาจถูกซื้อตัวไปเมืองนอก เพราะค่าตอบแทนที่ต่างสูงกว่าหลายเท่า

อยากให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันงานและโปรเจคท์ต่างๆ ที่สนับสนุนโปรแกรมเมอร์ เพราะว่าเป็นวิธีที่ดีในการผลักดันโปรแกมเมอร์เมืองไทย อย่างการจัดงานแฮคอะตอน ซึ่งนอกจาก โปรแกรมเมอร์จะได้มาพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันแล้ว ยังเป็นการทดสอบทักษะ และพัฒนาฝีมือไปด้วยในตัวครับ ที่สำคัญคือ ฝีมือของโปรแกรมเมอร์เมืองไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างชาติ ผมรับรองได้ว่าหากมีการสนับสนุนตรงนี้อย่างต่อเนื่องบุคลากรทางด้านนี้ของเราก็จะพัฒนาขึ้นด้วยครับ” เนย ผู้จัดงานกล่าวเสริม

สิบกว่าปีที่แล้ว แฮคเกอร์ยังถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย นักโจรกรรมข้อมูล และไม่ค่อยมีใครอยากเผยตัว แต่มาวันนี้ แฮคเกอร์ถูกมองผ่านแว่นอันใหม่ที่ "ใส" มากขึ้น
จะเป็นผู้ดีหรือผู้ร้าย อยู่ที่จุดมุ่งหมายและปลายทางต่างหาก

(หมายเหตุ : ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://hlpth.com/hackathon)

จ้างแฮคเกอร์ไปเป็นคุณครู!
ที่เกาหลีเหนือเองมีการจ้างแฮคเกอร์เพื่อสอนเด็กๆ ที่มีความสนใจทางด้านคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างเป็นกองทัพ “นักรบไซเบอร์” ของตัวเอง


โดย Kim Heung-kwang อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยในเกาหลีเหนือ ที่ปัจจุบันหนีออกมาอยู่ที่เกาหลีใต้ เผยกับสำนักข่าวอัลจาซีรา ว่า ในเกาหลีเหนือนั้นมีขั้นตอนในการเลือกเด็กเก่งพิเศษเพื่อนำมาเทรนทางด้านคอมพิวเตอร์เพื่อให้เป็นแฮคเกอร์โดยเฉพาะ โดยเด็กเหล่านี้จะได้รับสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่ รวมทั้งมีการส่งไปเรียนยังประเทศต่างๆ อย่างรัสเซีย หรือจีนเพื่อเพิ่มพูนทักษะการแฮคให้แข็งแรงขึ้น โดยปัจจุบันตัวเลขนักรบไซเบอร์ของเกาหลีเหนือเพิ่มจาก 500 คน เป็นมีมากกว่า 3,000 คนแล้ว

กองทัพโสมแดงไม่ได้มีแค่ภาคพื้นดินซะแล้ว...
http://bit.ly/oiQpFg