เรื่องควรรู้ก่อนส่ง SMS



MV ข้อความของเธอ : Nutty


เรื่องควรรู้ก่อนส่ง SMS
โดย...มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ข้อมูลน่าสนใจและข้อควรรู้อันเป็นประโยชน์ก่อนส่งเอสเอ็มเอสจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

หลักการเบื้องต้นของการส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) ก็คือ
หากส่งเป็นข้อความภาษาอังกฤษล้วนจะจำกัดตัวอักษรที่ 160 ตัวอักษรต่อข้อความ
แต่หากมีตัวอักษรภาษาไทยปนอังกฤษ หรือเป็นภาษาไทยล้วนๆ จะส่งได้เพียง 70 ตัวอักษรต่อข้อความ ส่วนที่พิมพ์เกินนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่จะถูกตัดแบ่งแยกเป็นข้อความใหม่ และคิดค่าส่งแยกเป็นอีกหนึ่งข้อความ

กรณีที่เราส่งไปแล้วจะคิดค่าส่งทันที แม้ว่าผู้รับจะปิดเครื่อง เพราะข้อความจะค้างอยู่ในระบบและมีการส่งซ้ำเป็นระยะๆ จนกว่าปลายทางจะได้รับข้อความ แต่ก็จะค้างอยู่เพียง 24 ชั่วโมง หากปลายทางยังปิดเครื่อง คราวนี้ข้อความจะถูกลบออกจากระบบ

กรณีที่เราอยากรู้ว่าส่งถึงปลายทางไหม ก็จะมีบริการเสริม (ที่ต้องเสียเงินเพิ่มต่างหาก) คือ บริการยืนยันว่าส่งข้อความสำเร็จ โดยแจ้งเป็นข้อความกลับมาที่เครื่องของเรา แต่โดยทั่วไปเรามักจะไม่เปิดใช้บริการนี้ ทำให้หลายครั้งคิดว่าส่งข้อความไปถึงแล้วเพราะถูกหักเงินไปแล้ว แต่ปลายทางไม่ได้รับก็มี

เคยมีเรื่องร้องเรียนมายังสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เกี่ยวปัญหาจากการส่งเอสเอ็มเอส เช่น การส่งเอสเอ็มเอสเพื่อร่วมสนุกชิงรางวัล แล้วปรากฏว่าเมื่อผู้ร่วมสนุกจะส่งข้อความไปร่วมชิงรางวัล พบว่าเครื่องโทรศัพท์ปลายทางมักจะมีปัญหาติดๆ ดับๆ หรืออีกกรณี คือ เรื่องการส่งข้อความไปตามรายการทีวี ที่นิยมให้ผู้ชมมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยข้อความผ่านทางหน้าจอทีวี ซึ่งข้อความที่ส่งไปนั้นมีมากมาย แต่ข้อความที่ได้ขึ้นหน้าจอมีเพียงไม่กี่ข้อความ หมายความว่าเราต้องเสียเงินฟรีไปกับการส่งข้อความที่ไม่ได้ออกอากาศ

ส่วนเรื่องร้องเรียนที่เคยเป็นข่าวดังก่อนหน้านี้ อย่างเรื่องการส่งเอสเอ็มเอสไปร่วมโหวตในรายการเรียลิตีโชว์ แล้วผลคะแนนโหวตไม่ถูกนำไปนับร่วมในรายการ

ซึ่งสาเหตุมาจากมีคนโหวตเข้าไปมากพร้อมๆ กัน ทำให้ข้อความค้างอยู่ในโครงข่ายและปลายทางรับไม่ทัน พอจบรายการไปแล้วข้อความเหล่านั้นจึงค่อยๆ ทยอยรับได้

แต่เป็นช่วงที่รายการปิดโหวตไปแล้ว ทำให้การโหวตนั้นไม่มีผล แต่เราก็ได้เสียค่าเอสเอ็มเอสไปแล้วเรียบร้อย

ซึ่งผู้ที่ร้องเรียนมาบอกว่าร่วมโหวตไป 400 กว่าครั้ง แต่ข้อความไปถึงตอนจบรายการทำให้คะแนนโหวตไม่ถูกนับรวม

แน่นอนว่าคนที่ส่งเอสเอ็มเอสไปโหวตก็ต้องรู้สึกผิดหวัง แต่ตรงข้ามกับผู้ผลิตรายการและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่มีแต่ได้กับได้

เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ดีก่อนส่งเอสเอ็มเอสไปร่วมโหวตชิงรางวัล หรือแสดงความคิดเห็น เพราะอาจเป็นการเสียเงินโดยไม่จำเป็น

ใครที่อยากรู้ข้อมูลดีๆ เรื่องผู้บริโภค สามารถติดตามและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นิตยสาร “ฉลาดซื้อ” นิตยสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของผู้บริโภค www.ฉลาดซื้อ.com, www.facebook.com/ chaladsue และโทร. 02-248-3737

http://bit.ly/pDHRJt