Richard D. Donchian คือใคร ? แนวทาง 11 ข้อ ในวิถีหุ้นของ Donchian

The Secret To The Donchian Trading System
That Will Make You Millions



Richard D. Donchian คือใคร ?
Richard D. Donchian เป็นนักเล่นหุ้นที่ได้รับการยอมรับอย่างมากของ Wall Street เขาเริ่มต้นชีวิตในวงการตลาดหุ้นเมื่อปี 1930 และเริ่มมาประสบความสำเร็จอย่างจริงจังในการเป็นนักเล่นหุ้นเมื่อปี 1974 ครับนั่นหมายถึงความเพียรพยายามศึกษาอย่างยาวนานจริงๆ และสิ่งที่ Donchian ได้ค้นพบนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต่อวงการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคอย่างมากมายจนถึงปัจจุบัน

Donchian คือคนที่ทำให้วงการตลาดหุ้นสั่นสะเทือนเพราะเขาคือ “บิดาของ Trend Follower” หรือผู้ที่ทำให้ เทคนิคการเล่นหุ้นแบบ Trend Following (วิธีการเล่นหุ้นตามแนวโน้ม) ได้ก่อกำเนิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และสำหรับท่านที่ยังไม่เข้าใจว่า Trend Following คือ อะไร อธิบายง่ายๆก็คือ การเล่นหุ้นภายใต้สมมุติฐานที่ว่าราคาของหุ้นจะเคลื่อนที่ไปตามแนวโน้มหลักของมันจนกว่าแนวโน้มหลักของมันได้เปลี่ยนแปลงไป นั่นเองครับ ซึ่งก็เป็นหลักการพื้นฐานของการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคที่พวกเราต้องจำให้ขึ้นใจนั่นเองครับ และ Donchian นี่เองแหละครับที่เป็นคนริเริ่มพัฒนาเทคนิคการเล่นหุ้นที่เป็นที่นิยมอย่างมากของพวกเราในปัจจุบัน นั่นก็คือ การเล่นหุ้นด้วยระบบ การใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่หรือ Moving Average นั่นเองครับ (หรือใครจะเถียง ? หุหุ) และสุดท้ายนี้เองถ้าใครได้อ่านบทความเกี่ยวกับ กลุ่มเซียนเต่า The Turtle Trader แล้วผมก็จะขอบอกอีกว่านี่ก็คือ หนึ่งในอิทธิพลของ ปรมจารย์การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิครายนี้ครับ…… Richard D. Donchian.

และนี่ก็คือเพชรจากกรุสมบัติชิ้นแรกของปรมจารย์คนนี้ซึ่งผมก็ไปขุดกันมาให้ได้อ่านกันครับ ซึ่ง Donchian เขียนขึ้นในครั้งแรกเมื่อปี 1934 และเมื่อเขาได้กลับมาปรับปรุงใหม่อีกครั้ง เขาได้ให้ข้อสังเกตุว่า หลักการข้อที่ 1,2,3,4 และ 5 นั้นเป็นข้อที่สำคัญที่สุดครับ

แนวทางการเล่นหุ้นของDonchian

A. จงระวังการตัดสินใจของคุณ จากข้อมูลข่าวสารที่เป็นที่กล่าวขานและเข้าถึงกันได้ทั่วไปจากมวลชน เพราะถึงแม้มันจะถูกต้อง มันจะทำให้การเคลื่อนตัวของราคาไปได้ไม่ไกล และช้าลง

B. ในช่วงเวลาที่ตลาดเงียบเหงานั้น จงคอยเตรียมพร้อมที่จะเกาะไปกับแนวโน้มที่มาพร้อมกับโวลุ่ม หรือปริมาณการซื้อขายที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

C. จำกัดการขาดทุน และ ปล่อยให้หุ้นวิ่งไปเพื่อทำกำไรก้อนโต ไม่ต้องไปคิดถึงสิ่งอื่นนอกจากนี้

D. เมื่อตลาดกำลังผันผวน อย่าเชื่อมั่นและทุ่มเทในสิ่งใดเกินไป แนวโน้มที่ชัดเจนนั้น จะเกิดขึ้นบ่อยพอที่จะทำให้ชีวิตเราได้ตื่นเต้น และจงทุ่มเทลงไปเมื่อมันได้เกิดขึ้น การกระทำอย่างนี้จะทำให้เรา สามารถลดการขาดทุนจาก Whipsaw หรือ Error ของตลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างมากมาย

E. ระวังในการเข้าซื้อขาย อย่าด่วนเข้าซื้อเมื่อแนวโน้มได้เกิดขึ้นมาเกิน 3 วันจงรอ การกลับตัวลงมา

F. การใช้ Stop loss หรือการคุมต้นทุนอย่างรอบคอบเป็นสิ่งที่มีผลต่อการเล่นหุ้นให้ได้กำไร และจุด Stop loss นั้นสามารถนำมาใช้เพื่อการปกป้องกำไรของคุณได้เช่นกัน

ต้องรู้จักการจำกัดการขาดทุนและเข้าซื้อ-ขายจากรูปแบบpattern ที่มีความน่าเชื่อถือและแม่นยำต่างๆของราคาหุ้น เช่น รูปแบบ สามเหลี่ยม

Stop หรือจุดตัดขาดทุนจะมีค่า และเชื่อถือได้มากขึ้นหากใช้ร่วมกับ รูปแบบการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคที่มีความแม่นยำและน่าเชื่อถือ

G. ในเวลาที่การเคลื่อนใหวของตลาดหุ้นนั้น เคลื่อนขึ้น หรือลง ในระยะพอพอๆกัน เราควรทุ่มเงินลงในตลาดขาขึ้นเนื่องด้วยเหตุผลทาง สัดส่วน Percent ของกำไร เช่น หุ้นลงจาก 50 ลงมาถึง 25 จะเท่ากับ 50% แต่หากหุ้นขึ้นจาก 25 ไป 50 จะเท่ากับ 100% ( และอย่าลืมว่าหุ้นลงไปได้จนถึง 0 แต่ขึ้นได้ไม่จำกัด )

H. ในการเข้าซื้อ การตั้งราคารอ นั้นยอมรับได้ แต่เมื่อถึงเวลาขาย ต้องขายทันที ( โยนทิ้งไปเลยครับ )

I. ซื้อหุ้นที่แข็งแกร่ง ทั้ง ราคา, แนวโน้มของหุ้น และปัจจัยพื้นฐาน และ ต้องขายหุ้นเน่าๆอ่อนแอ ทิ้งไปซะ

J. การเคลื่อนของตลาดที่มีกลุ่ม Rails (ขนส่งทางรถไฟ) เป็นตัวดันนั้นน่าสนใจมากกว่าการเคลื่อนที่ที่กลุ่ม Rails นั้นไม่ดันขึ้นไปด้วย ( ประยุกต์หน่อยก็คือ ตลาดที่เคลื่อนไปด้วยแรงดันของหุ้น Big Cap ทั้งหลายจะน่าสนใจกว่า ดันตัวเล็กๆปั่นขึ้นมาเล่น นั่นเองครับ)

K. การศึกษาปัจจัยพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัว และความแข็งแกร่งของบริษัทนั้นๆเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากเช่นเดียวกับการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค (พื้นฐานและกราฟ ควรไปด้วยกันนั่นเอง สังเกตุได้จากอดีตพวกตัวนำตลาดต่างๆไงครับ)

เคล็ดลับการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคของ Richard Donchian
โดย Donchian เองได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของข้อ 1, 4, 5 และ 9 เป็นพิเศษครับ

1. หุ้นที่ได้เคลื่อนใหวขึ้นหรือลงมาแล้วระยะหนึ่งแล้วพักตัวในรูปแบบ Sideway หรือ เคลื่อนที่ออกไปข้างๆ มักจะเคลื่อนไปต่อในทิศทางเดิม และโดยทั่วไปแล้วเมื่อหุ้นได้วิ่งขึ้นไปรอบที่ 2 หลักจากพักตัวไปแล้ว มักจะวิ่งกลับลงมาที่ Sideway เดิมอีกครั้ง


2. จุดกลับตัวหรือแนวต้านนั้นมักจะเกิดขึ้นในระดับราคาที่เคยมีการ Sideway นานๆเป็นช่องแคบๆมาก่อน หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือระดับราคาที่เป็นแนวรับแนวต้านเดิม

3. มองหาจังหวะ ซื้อหรือขายเมื่อราคาหุ้นวิ่งไปหา Trendline โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ โวลุ่มนั้นไม่มาก หรือลดน้อยลง และต้องระวังเส้น Trendline ที่ราคาคลอเคลียหรือวิ่งเข้าชนบ่อยเกินไป (ระวังหลุด Trendline)

4. ระมัดระวังเมื่อราคาของหุ้น “ไต่คลอเคลียไปตาม Trendline ระยะสั้น” และเตรียมพร้อมที่จะรับเมื่อเมื่อราคาหลุดทะลุเส้น Trendline อย่างแรง

5. เมื่อราคาหุ้นวิ่งทะลุ Trendline ระยะสั้นไป ตามแนวโน้มที่ใหญ่กว่าคือสัญญาณการเข้าซื้อที่สำคัญที่สุด เราควรเข้าซื้อ หรือขายหุ้นออกไป ณ จุดนี้

6. กราฟ รูปแบบ สามเหลี่ยม นั้นอาจเกิดขึ้นเนื่องจากการ เก็บหุ้น หรือ ปล่อยของ ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆด้วย แต่โดยทั่วไป ราคามักจะวิ่งไปในทิศทางที่สามเหลี่ยมขนานกับพื้นที่สุด

7. คอยระวัง “โวลุ่มพีค หรือ Volume Climax” เมื่อหุ้นได้วิ่งมาสูงเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

8. อย่าพยายามนับ Gap มั่วๆถ้านับไม่เป็น หรือแยกแยะไม่ออกว่า มันเป็น Gap ชนิดใหน (ข้อนี้เห็นบ่อยมาก นับกันมั่วไปหมด พอมี Gap เอะอะอะไรก็บอกต้องลงมาปิด หึหึ) เช่น Break away gaps, Normal gaps หรือ Exhaustion gaps

9. ระหว่าง ที่หุ้นกำลังเคลื่อนไปเรื่อยๆ ให้ซื้อเข้าซื้อเพิ่มในวันรุ่งขึ้นตั้งแต่เปิดตลาดหลังจากหุ้นได้กลับตัว มาวิ่งในทิศทางหลักของมัน อย่างไรก็ตามการกลับตัวอาจจะกลับตัวไม่ไกลนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า โวลุ่มไม่เข้าในวันที่ตลาดเริ่มกลับตัว

ขอบคุณบทความดีๆจาก แมงเม่าคลับ
http://www.mangmaoclub.com