9 บทเรียนทองของ สตีฟ จอบส์





สตีฟ จ็อบส์ ไทย เวอร์ชั่น (Steve Jobs' Thai)


Steve Jobs' 2005 Stanford Commencement Address




9 บทเรียนทองของ สตีฟ จอบส์

สตีเฟน พอล จอบส์ (Steven Paul Jobs) (เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1955) ผู้บริหารระดับสูงของแอปเปิล คอมพิวเตอร์ และ พิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ และเป็นบุคคลชั้นนำในวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง แอปเปิลคอมพิวเตอร์ ร่วมกับสตีฟ วอซเนียก ในปีค.ศ. 1976 เขาได้ช่วยทำให้แนวความคิดเรื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นที่นิยมขึ้นมา ด้วยเครื่องApple II ต่อมา เขาได้เป็นผู้แรกที่มองเห็นศักยภาพทางการค้าของส่วนประสานงานผู้ใช้แบบกราฟิกส์ และเม้าส์ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในศูนย์วิจัยซีร็อกซ์พาร์ค ของบริษัทซีร็อกซ์ และได้มีการผนวกเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไว้ในเครื่องแอปเปิล แมคอินทอช สตีฟยังเป็นประธานกรรมการบริหาร และผู้บริหารระดับสูงของ พิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ ผู้นำด้านการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกส์
ข้อมูลเพิ่มเติม ; สตีฟ จอบส์ จากวิกิพีเดีย

9 คำพูดที่ดีที่สุดที่คัดเลือกมานี้ จะช่วยให้คุณทำงานได้สำเร็จตามสไตล์ซีอีโอแสนล้าน

1. สตีฟ จอบส์ พูดว่า

“นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างผู้นำและผู้ตาม”

นวัตกรรมหรือวิธีการใหม่ เป็นสิ่งไร้ขีดจำกัด มีเพียงจินตนาการเท่านั้นที่มีขอบเขต ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องเริ่มคิดนอกกรอบ ถ้าคุณทำงานในภาคธุรกิจที่กำลังเติบโต ต้องรู้จักคิดหาทางทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ลูกค้าพึงพอใจ และอยากจะทำธุรกรรมด้วย แต่ถ้าคุณอยู่ในธุรกิจที่กำลังหดตัว ต้องรีบออกมาจากธุรกิจนั้นโดยเร็ว และเปลี่ยนแปลงก่อนที่คุณจะกลายเป็นคนตกยุค ตกงาน หรือธุรกิจล่มสลาย และต้องจำไว้เสมอว่า คุณจะผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนี้

2. สตีฟ จอบส์ พูดว่า

“จงเป็นคนที่มีคุณภาพสูง คนบางคนไม่เคยชินกับการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คาดหวังความเป็นเลิศ”

ไม่มีหนทางลัดสู่ความเป็นเลิศ คุณจะต้องตั้งใจและให้ความสำคัญ ใช้ความสามารถ ทักษะ และพรสวรรค์ที่มี พยายามทำให้มากกว่าคนอื่น มีมาตรฐานสูงกว่า และใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ความเป็นเลิศไม่ใช่เรื่องยาก แต่คุณต้องลงมือทำทันที แล้วคุณจะประหลาดใจในสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในชีวิต


3. สตีฟ จอบส์ พูดว่า

“วิธีเดียวที่จะทำงานให้ได้ผลดีเยี่ยม คือ คุณต้องรักในสิ่งที่ทำ ถ้าคุณยังไม่เจอสิ่งที่รักในตอนนี้ จงมองหาไปเรื่อยๆ อย่าด่วนสรุป เพราะมันเป็นเรื่องของหัวใจ คุณจะรู้ได้เอง เมื่อเจอสิ่งที่รัก”

จงทำในสิ่งที่รัก มองหาอาชีพการงานที่ทำให้คุณมีจุดประสงค์ ทิศทาง และความพึงพอใจในชีวิต เมื่อคุณมีเป้าหมายและพยายามไปให้ถึง มันจะทำให้ชีวิตของคุณมีความหมาย ทิศทาง และความพอใจ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้มีสุขภาพดีและอายุยืนยาว แต่ยังจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นเมื่อต้องเผชิญอุปสรรค


4. สตีฟ จอบส์ พูดว่า

“คุณก็รู้ว่า อาหารส่วนใหญ่ที่เรากิน เราไม่ได้ผลิตด้วยตัวเราเอง เราสวมใส่เสื้อผ้าที่คนอื่นผลิต เราพูดภาษาที่คนอื่นพัฒนาขึ้น เราใช้คณิตศาสตร์ที่คนอื่นค่อยๆปรับปรุงมาเรื่อยๆ ผมหมายถึงว่า เราเป็นฝ่ายรับอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น คงเป็นความรู้สึกที่น่าปลาบปลื้มอย่างยิ่งที่เราสามารถสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่าง ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ”

จงใช้ชีวิตตามหลักศีลธรรม พยายามทำให้เกิดความแตกต่างบนโลกใบนี้และมีส่วนร่วมให้เกิดสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้น คุณจะพบว่า มันจะทำให้ชีวิตของคุณมีความหมายมากยิ่งขึ้น แถมยังเป็นยาแก้ความเบื่อหน่ายที่ได้ผลดีอีกด้วย

ลองมองไปรอบๆตัว แล้วคุณจะพบว่า มีสิ่งต่างๆให้คุณทำอยู่เสมอ และจงพูดคุยกับผู้อื่นถึงสิ่งที่คุณกำลังทำ แต่อย่าพร่ำสอน หรือคิดว่าตัวเองถูกต้อง หรือหลงตัวเอง เพราะจะทำให้คนอื่นไม่อยากคุยด้วย ขณะเดียวกัน คุณต้องไม่กลัวที่จะทำตนเป็นตัวอย่าง และใช้โอกาสที่มี บอกเล่าถึงสิ่งที่คุณกำลังทำ


5. สตีฟ จอบส์ พูดว่า

“มีคำพูดในพุทธศาสนาว่า จิตของผู้เริ่มต้น มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่งที่ทุกคนควรจะมีจิตของผู้เริ่มต้น”
ซึ่งเขาอธิบายต่อไปว่า

มันเป็นจิตที่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ซึ่งค่อยๆทำให้เราตระหนักถึงแก่นแท้ของสิ่งเหล่านั้น จิตของผู้เริ่มต้น ก็คือ การนำหลักการของเซนมาปฏิบัติจริง เป็นจิตบริสุทธิ์ที่ปราศจากอคติ การคาดหวัง การตัดสิน ความลำเอียง ให้คิดว่า จิตของผู้เริ่มต้น เป็นเหมือนจิตของเด็กน้อย ซึ่งเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ความสงสัย และความประหลาดใจ


6. สตีฟ จอบส์ พูดว่า

“เราคิดว่า โดยทั่วไปแล้ว คุณดูโทรทัศน์เพื่อพักสมอง และคุณใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อต้องการให้สมองทำงาน”

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีรายงานการศึกษาจำนวนมากที่ยืนยันหนักแน่นว่า การดูทีวีส่งผลเสียด้านจิตใจและมีอิทธิพลด้านศีลธรรม และคนที่ติดทีวีส่วนมาก แม้จะรู้ว่ามันทำให้ชินชาและเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่ก็ยังใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งอยู่หน้าจอสี่เหลี่ยม ดังนั้น จงปิดทีวีซะ เพื่อถนอมเซลล์สมอง แต่ต้องระวัง เพราะการใช้คอมพิวเตอร์ก็อาจเป็นการพักสมองได้เช่นกัน ลองเปลี่ยนมาเล่นเกมที่พัฒนาสติปัญญาดีกว่า


7. สตีฟ จอบส์ พูดว่า

“ผมสูญเงินไป 250 ล้านดอลลาร์ภายใน 1 ปี มันทำให้ผมรู้จักตนเองดีขึ้น”

อย่ามองว่า การทำผิดกับความผิดเป็นเรื่องเท่าเทียมกัน เพราะคนที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่เคยล้มเหลวหรือทำผิดเลยนั้นไม่มีหรอก มีแต่คนที่ประสบความสำเร็จ เคยทำผิดพลาดและรู้จักเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อทำให้ถูกต้องในครั้งต่อไป พวกเขามองความผิดพลาดเป็นเครื่องเตือนสติ มากกว่าความสิ้นหวัง การไม่เคยทำผิดเลย แสดงว่า คนนั้นไม่เคยใช้ชีวิตอย่างเต็มที่


8. สตีฟ จอบส์ พูดว่า

“ในโลกนี้ไม่เคยมีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด เราเกิดมาบนโลกใบนี้แล้วก็ได้ทำสิ่งผิดพลาดเช่นกัน ไม่งั้นแล้ว เราจะเกิดมาทำไม”

คุณรู้หรือไม่ว่า มีเรื่องใหญ่ๆหลายเรื่องที่ต้องทำให้สำเร็จในชีวิต และรู้หรือไม่ว่า เรื่องสำคัญเหล่านั้นจะถูกฝุ่นจับ เมื่อคุณใช้เวลามัวแต่นั่งคิดมากกว่าลงมือทำ เราทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมของขวัญชิ้นหนึ่งที่จะมอบให้กับชีวิตของเราเอง ของขวัญที่เต็มไปด้วยความปรารถนา ความสนใจ ความหลงใหล และความอยากรู้อยากเห็น ของขวัญชิ้นนี้ แท้จริงแล้ว มันคือเป้าหมายของเรานั่นเอง และคุณตั้งเป้าหมายของคุณได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน ครู พ่อแม่ นักบวช หรือเจ้าหน้าที่ ก็ไม่อาจเลือกเป้าหมายให้คุณได้ คุณต้องหาจุดมุ่งหมายด้วยตัวคุณเอง


9. สตีฟ จอบส์ พูดว่า

“เวลาของคุณมีจำกัด จงอย่าเสียเวลาใช้ชีวิตตามแบบคนอื่น อย่าติดอยู่ในหลักความเชื่อ ซึ่งทำให้คุณใช้ชีวิตตามผลความคิดของผู้อื่น อย่ายอมให้เสียงความคิดของคนอื่น มากลบเสียงที่อยู่ภายในตัวของคุณ และที่สำคัญที่สุด คือ คุณต้องมีความกล้า ที่จะทำตามหัวใจปรารถนาและสัญชาติญาณ เพราะมันรู้ดีว่า จริงๆแล้วคุณต้องการเป็นอะไร เรื่องอื่นๆกลายเป็นเรื่องรองไปโดยสิ้นเชิง”

คุณเบื่อหรือเปล่าต่อการใช้ชีวิตตามความฝันของคนอื่น ไม่ต้องสงสัยเลย ก็มันเป็นชีวิตของคุณเอง คุณมีสิทธิใช้ชีวิตในแบบที่คุณต้องการ โดยไม่ต้องมีใครมาคอยขัดขวาง ลองให้โอกาสตัวเองฝึกความคิดริเริ่มในบรรยากาศที่ปราศจากความกลัวและแรงกดดัน
จงใช้ชีวิตตามแบบที่คุณเลือก และเป็นเจ้านายตัวเอง

9 บทเรียนทองของ สตีฟ จอบส์
ที่มา หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 118 กันยายน 2553
โดย บุญสิตา


Credit : ผู้จัดการออนไลน์
http://www.sarut-homesite.net/