ประวัติ : หลวงปู่พิศดู ธัมมจารี วัดเทพธารทอง จันทบุรี






หลวงปู่พิศดู ธัมมจารี
วัดเทพธารทอง
(ตั้งอยู่ทางจะไปขึ้นเขาคิชฌกูฏ )
ต.พลวง กิ่งอ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
ศิษย์ผู้ใหญ่ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
หลวงปูพิศดู ธมฺจารี
ท่านเป็นลูกศิษย์ของท่านพ่อลีธัมมธโรวัดอโศการาม
หลวงปู่พิศดู ธมมจารี
ลูกขอกราบบูชา หลวงพ่อพิศดู ธมมจารี ด้วยเรื่องราวที่ได้รับฟังมา ดังต่อไปนี้

หลวงปู่พิศดู ธมมจารี ถือกำเนิดเมื่อปีกุน ในวันเสาร์ที่ 7 เดือนมีนาคม 2466 ที่เกาะกง ต.กะปอ อ.กะปอด ประเทศเขมรโยมบิดาของท่านมีนามว่า หลี่ โยมมารดามีนามว่า เพี้ยะ เป็นชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศเขมร มีอาชีพจารหนังสือขาย ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ ด.ช.พิศดู สิงหพันธ์ หรือ ด.ช.โบ๊ะ (นามของท่านเมื่อครั้นยังเป็นเด็ก) มีนิสัยรักการอ่านเขียน มีความชำนาญในการอ่าน และเขียนภาษาขอม-ไทย ตั้งแต่เล็ก ๆ

ด.ช.โบ๊ะ มีลักษณะนิสัยเหมือนเด็กชายทั่ว ๆ ไป มักซุกชนเที่ยวเล่นไปทั่วทั้งบนบก และในน้ำ ชอบเล่นน้ำจนเกือบเสียชีวิตเสียหลายหน แต่ก็ยังโชคดีที่มีชาวบ้านมาช่วยไว้ทัน มีอยู่คราวหนึ่งขณะที่เป็นหัวโจกพาเพื่อนอีกสองคนเดินเล่นอยู่ จู่ ๆ มะพร้าวก็หล่นลงมาโดนหัว ด.ชโบ๊ะที่เดินอยู่ตรงกลางพอดี ทำให้มึนงงไปพักใหญ่ แต่ก็โชคดีที่ไม่เป็นอะไร (หลวงปู่)บอกว่ามีผลทำให้ท่านมีความจำไม่ดีมาจนทุกวันนี้) นอกจากนี้แล้วยังมีนิสัยชอบไปวัดชอบอยู่วัด และจากการที่เป็นคนรักการอ่าน และการเขียน ทำให้ ด.ช. โบ๊ะ ชอบช่วยเหลือวัด จะชอบตีฆ้องร้องป่าวประกาศข่าวของวัดให้ชาวบ้านทราบเสมอ ๆ

ครั้นอายุได้ประมาณ 7-8 ปี พอรู้ความ โยมพ่อ และโยมแม่ ได้ส่งมาอยู่วัดเพื่อให้ท่านได้ศึกษาเล่าเรียน ท่านก็ได้เรียนสวดมนต์ เขียนอ่านหนังสือกับท่านอาจาร์ยลี (นามท่านเช่นเดียวกันกับท่านพ่อลี วัดอโศการาม แต่เป็นคนละองค์กัน) และพระที่วัด ที่ทำหน้าที่สอนก็ดุมาก หากไม่ตั้งใจเรียน หรือตอบข้อถามต่าง ๆ ได้ไม่ถูกใจก็จะใช้หวายตี ซึ่งเจ็บมาก แต่ท่านก็มิได้ย่อท้อแต่อย่างไร หากยังพากเพียรเรียนมาจนได้วิชาทั้งทางด้านการสวดมนต์ การปฏิบัติ ภาวนาวิปัสสนากรรมฐานเบื้องต้น มีความรู้ความชำนาญจนในบางครั้ง หากพระที่สอนไม่สามารถสอนได้ในวันนั้น ท่านก็จะการสอนเด็กคนอื่น ๆ แทน

ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ 2480 ขณะนั้นท่านอายุได้ประมาณ 13-14 ปี เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามอินโดจีน ซึ่งโยมพ่อ และโยมแม่ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็ได้บวชเป็นสามเณร ณ วัดเกาะบ่อคงคาราม โดยมีพระครูบัวตูมรัตนสาครเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชเป็นเณรได้เพียง 5 วัน ก็ต้องอพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ที่เมืองไทย โดยหนีมาทางน้ำ แจวเรือมากับหลาน และน้องชาย รวมทั้งพระสงฆ์รูปอื่น ๆ หลบหนีออกมา เมื่อมาถึงเมืองไทยได้แวะพักอยู่ที่เขาวงก่อน ต่อมาจึงได้มาอยู่ที่วัดคลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

ขณะที่อยู่ที่วัดคลองใหญ่นี่เอง ท่านได้เริ่มเรียน เวทย์มนต์คาถาต่าง ๆ เช่น คาถาโคมแก้ว คาถาเจริญคุณ และคาถาลายลักษณ์ รวมถึงวัตรปฏิบัติ เบ็ดเตล็ดต่าง โดยมีพระครูบัวตูมรัตนสาครเป็นผู้ถ่ายทอดให้วันละคำสองคำ ท่านก็ได้ จดจำร่ำเรียนมา และเนื่องจากการที่ท่านมีนิสัยรักการอ่านเขียน มีความจำแม่น ท่องเก่งมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังอาศัยอยู่กับโยมพ่อและโยมแม่ รวมทั้งการที่ท่านได้อาศัยอยู่วัดตั้งแต่เล็ก ทำให้ท่านมีความชำนาญ เชี่ยวชาญในความรู้ต่าง ๆ ท่านอาศัยอยู่ที่วัดคลองใหญ่ได้ประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มออกธุดงค์

ธุดงค์ครั้งแรกมาทางป่า แถบเทือกเขาบรรทัด จ.ตราด ขณะที่ท่านเดินธุดงค์อยู่บริเวณ แหลมตะก้อ จ.ตราด ได้เดินผ่านบ้านที่กำลังนวดข้าว ท่านก็แวะพักในบริเวณนั้น ได้หลับ และฝันไปว่ามียักษ์ได้แปลงร่างเป็นพญานกแร้งปากแหลม ตัวใหญ่เข้ามาจะทำร้าย ก็ได้ต่อสู้ตีกันเป็นพัลวัน และท่านได้อธิษฐานจิตว่า “แม้ว่าข้าพเจ้าจะได้อยู่รับใช้ในบวรพระพุทธศานาตลอดไป ก็ขอให้ได้ชัยชนะแก่พญานกนี้เทอญ” ในที่สุดท่านก็ได้รับชัยชนะ และจากนิมิตนี้เอง ทำให้ท่านมีความมั่นใจว่า ท่านสามารถอยู่ในร่มกาสาวพัตร แห่งพระบรมศาสดาได้ตลอดไป เพราะสามารถต่อสู้กับอธรรม และกิเลสดั่งเช่นพญานกแร้งได้ดังจิตอธิษฐาน

ท่านออกเดินธุดงค์อยู่องค์เดียวเรื่อยมาจนถึงชายเขา ก็ได้มาเจอพระสายธรรมยุตของวัดคีรีวิหาร หลวงปู่ได้เห็นวัตรปฏิบัติของพระวัดนี้แปลกออกไปจากที่หลวงปู่ปฏิบัติอยู่ ก็ทำให้นึกขำ หัวเราะกับวัตรแปลก ๆ ของพระเหล่านี้ แต่ในที่สุดท่านก็ได้ขอบวชเป็นธรรมยุต (อาจจะเป็นบุญบารมีของหลวงปู่ที่ได้มาพบวัดนี้ เพราะมีผลทำให้หลวงปู่ได้มาเป็นพระสายธรรมยุตจนถึงปัจจุบันนี้)

เมื่อท่านมีอายุครบบวช ประมาณปี พ.ศ.2487 ขณะนั้นท่านได้พำนักอยู่ที่วัดเขาแก้ว ท่านเจ้าคุณวินัยบัณฑิต เจ้าคณะจังหวัดตราด ก็ได้ทำหนังสือส่งตัวฝากมายังหลวงพ่อลี ธมมธโร (ท่านพ่อลี แห่งวัดอโศการาม ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี) พร้อมกับเณรอีก 2 รูป ท่านพ่อลีก็จัดการบวชให้ ณ วัดจันทนาราม โดยมีท่านพ่อลีเป็นพระกรรมวาจา หลังจากบวชแล้วท่านก็มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้ง อยู่ปรนบัติรับใช้ ศึกษาพระธรรม พระวินัยกับท่านพ่อลี จนซึมซับสามารถเจริญรอยตาม รักษาวัตรปฏิบัติ และ ปฏิปทาของท่านพ่อลีได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

หลวงปู่ได้เล่าให้ฟังว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านพ่อลีได้รับนิมนต์ไปที่หนองบัว ท่านพ่อลี และลูกศิษย์อื่น ๆ ก็ได้เดินทางไปบ้านเจ้าภาพแล้ว แต่หลวงปู่เดินทางตามไปทีหลังโดยไปทางน้ำ สะพายบาตรไป 2 ลูกเป็นของครูบาเฟื่องลูกหนึ่ง แต่คนบนเรือมากไป เรือรับน้ำหนักไม่ไหว เรือจึงล่ม หลวงพ่อจมลงน้ำพร้อมบาตรทั้งสองลูก แต่ด้วยความที่เป็นสิงห์น้ำมาตั้งแต่เด็ก บวกกับความโชคดี หลวงพ่อตีลังกา(ไม่รู้ท่าไหน) ขึ้นฝั่งมาได้พร้อมบาตรทั้งสองยังอยู่ครบ พอขึ้นฝั่งได้ก็ก้มหน้าให้น้ำออกจากปาก ออกจากจมูก แล้วก็เดินทางมุ่งหน้าไปยังหนองบัวต่อทันที พอไปถึงบ้านงาน จีวรก็แห้งพอดี จึงขึ้นสวดได้เลย

จากลักษณะนิสัยที่ชอบอยู่คนเดียว รักธรรมชาติ รักป่า ทำให้หลวงปู่ชอบออกเดินธุดงค์ ท่านจะเข้า ๆ ออก ๆ ป่าเป็นประจำเสมอ พอถึงหน้าฝนก็จะกลับมาอยู่วัดกับท่านพ่อลี เมื่อถึงหน้าแล้งก็จะออกเดินธุดงค์อีก เป็นอย่างนี้เสมอ หรือในบางครั้งก็ไม่กลับวัดเลย อยู่ในป่าตลอด มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านได้หนีท่านพ่อลีออกธุดงค์ไปถึงเกาะหมาก เมื่อครั้นกลับมานึกว่าท่านพ่อลีจะดุ แต่ท่านกลับไม่ดุว่าอะไร กลับบอกว่าดี สงบดี อยู่คนเดียวสบายดีเสียอีก นอกจากนี้แล้ว หลวงปู่พิศยังได้ออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ แทบทุกภาค เช่นที่โป่งแรด ที่เขาสระบาป ท่านเดินอยู่ 4 รอบ ซึ่งรอบหนึ่งใช้เวลาเดินถึง 2 วัน ท่านได้เดินธุดงค์ลงไปทางใต้ถึงเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ สงขลา แวะพักอยู่ที่สงขลาประมาณ 4 เดือน ทางตะวันตกท่านไปถึงราชบุรี ทางภาคกลางท่านก็ได้ธุดงค์มาเรื่อย ชาวภาคกลางนิยมทำบุญกับพระธุดงค์มาก มีคนมานิมนต์ท่านตลอด และที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แถบลุ่มน้ำบางปะกงนี่เองที่ท่านมีความประทับใจที่สุด ที่ชาวบ้านให้การต้อนรับท่านเป็นอย่างดี อย่างจริงใจ โดยที่มิได้หวาดระแวงเลยว่าท่านจะมาหลอกลวง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงปู่พิศได้รับคำสั่งให้มาช่วยดูแลวัดเจดีย์หลวง อ.ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนหน้าที่ท่านจะเดินทาง ขณะที่พักอยู่ที่วัดไทรงาม ในเวลาบ่าย ท่านพ่อลีได้มาเข้าฝันว่า ที่เชียงใหม่อันตราย จะไม่ให้ไป แต่ด้วยภารกิจที่ท่านได้รับคำสั่งมา ทำให้ท่านต้องเดินทางไป และที่นี่เองที่ทำให้ท่านเกือบเอาชีวิตไม่รอดตามความฝันเพราะต้องผจญกับแม่เสือสาว เป็นสาวชาวลื้อ เป็นชาวบ้านแถวนั้น มีรูปร่างหน้าตาสวยสดงดงามมาก พร้อมทั้งเป็นคนใจบุญสุนทาน รวยศีล รวยธรรม รวยน้ำใจมาก หลวงปู่มาเป็นพระอาคันตุกะอยู่ที่นี่ได้เพียง 1 ปี ก็ต้องรีบหนีมา เพราะเห็นว่า ถ้าขืนอยู่ต่อไปคงไม่รอดแน่ ๆ

จากการที่ท่านชอบออกธุดงค์ และชอบอยู่กับป่า และ ธรรมชาติ มากกว่าอยู่วัดนี่เอง ทำให้ท่านต้องประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย บางครั้งเคยเจ็บป่วยจนถึงกับเอาชีวิตไม่รอด มีอยู่ครั้งนึ่งท่านเป็นคางทูม ได้รับความเจ็บปวดทรมานมาก ท่านก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยเอาน้ำมาต้มให้ร้อนแล้วรมควัน ในที่สุดคางทูมก็หายไปเอง ท่านต้องคิดหาวิธีรักษาเอาเองตามแต่จะคิดได้ มีการใช้สมุนไพรบ้าง ใช้ธรรมโอสถบ้าง แยกส่วนแบ่งส่วนพิจารณา แยกกายใจ ที่อาศัยกันอยู่ โดยต้องรู้ว่ามันต่างกัน ไม่เหมือนกัน อยู่ด้วยกันแต่ไม่เหมือนกัน มันต่างกัน ไม่รู้ไม่ยุ่งกัน ถ้ามาคบกันมันก็ยุ่งใจ เรารู้ เราไม่คบกัน ใจเราก็ไม่ยุ่ง ธรรมโอสถข่มเวทนา อยู่เหนือเวทนา อยู่เหนือกาย รู้กาย กายจะทำอะไรเราไม่ได้ สติเป็นอาหารใจ ลมหายใจเป็นอาหารกาย ถ้าเรามีอาหารทั้งกาย และใจ เราก็จะรอดตัว

หลวงปู่เข้า ๆ ออก ๆ ระหว่างป่ากับวัด รับใช้ท่านพ่อลีอยู่หลายปี จนกระทั่งปี พ.ศ 2517 ก็ได้มาอยู่ที่วัดเขาสุกิม พำนักอยู่กับท่านอาจารย์สมชายได้ระยะหนึ่งทางวัดเขาสุกิมก็ได้ส่งท่านไปดูแลวัดเนินดินแดง ซึ่งในขณะนั้นไม่มีพระจำวัดยู่ ท่านได้พำนักอยู่ที่นี่จนกระทั่งปลายปี พ.ศ 2517 รวมเป็นเวลาได้ประมาณ 11 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้เอง ท่านอาจารย์สมชายก็ได้ทำนายว่า หลวงปู่จะสิ้นในผ้าเหลือง

ก่อนที่หลวงปู่จะได้มาอยู่ที่วัดเทพธารทองนี้ หลวงปู่ได้ไปเยี่ยม และพำนักอยู่ที่วัดเขาน้อย และคืนก่อนหน้าที่จะกลับไปที่วัดป่าคลองกุ้ง ก็ได้ฝันว่ามีคนนำมีดด้ามทองเป็นมีดสปาต้าด้ามทองแบบสั้นสวยงามมากมาให้ วันรุ่งขึ้นก็เดินทางกลับจากเขาน้อยมาที่วัด ยังไม่ทันได้เข้าพักก็ได้รับคำสั่งให้มาที่วัดเทพธารทอง

วัดเทพธารทอง เดิมเป็นป่าธรรมชาติ เป็นดงเสือ ดงช้าง มีไก่ป่า กวางอาศัยอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2510 เจ้าของที่ดินคือคุณหมอปฐม หอมหวล ได้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัดเป็นจำนวน 10 ไร่ ซึ่งชื่อวัดเทพธารทองนี้ ได้มาจาก
“เทพ” มาจากชื่อของหลวงพ่อแก่ พระอุปัชฌาย์ วัดจันทนาราม
“ธาร” มาจากลำธารที่ไหลผ่านวัด
“ทอง” มาจากคุณทองใหญ่ ตั้งชื่อไว้ให้เป็นอนุสรณ์แก่เจ้าของที่ดินเดิมที่ขายที่ดินให้แก่คุณหมอปฐม หอมหวน
พ.ศ 2518 ปลายปี หลวงปู่ได้มาอยู่ที่วัดเทพธารทอง ครั้งแรกที่มาก็มีศาลาที่หลวงปู่อาศัอยู่ปัจจุบันนี้ก่อนแล้ว ตอนเข้ามาอยู่วัดใหม่ ๆ ยังมีไก่ป่า และกวางมาวนเวียนอยู่ในวัดบ้าง ในบางครั้งชาวบ้านได้น้ำหมูป่ามาต้ม แกง ถวายเกือบทุกวัน แต่พอมีวัด ชาวบ้านก็ตามมาอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้สัตว์พวกนี้หายไปหมด หลวงปู่ต้องผจญกับสิ่งที่ทั้งมองเห็น และมองไม่เห็น มีชาวบ้านบางคนเห็นว่าเป็นพระองค์เดียวมาอยู่ก็เอาปืนหมายมาขู่ ชักเข้าชักออกหวังจะให้กลัว เพราะถ้าหลวงปู่กลัว ก็จะได้ย้ายไปที่อื่น เขาก็จะได้นำที่ดินนี้มาใช้ประโยชน์เสียเอง แต่หลวงปู่ก็ไม่ยุ่งด้วย ในที่สุดก็เลิกราไปเอง นอกจากนี้ ในบางครั้งก็ยังมีผู้ก่อการร้าย เข้ามากวน พากันมากินเหล้าในวัด มาข่มขู่ หวังจะให้กลัวเช่นกัน แต่หลวงปู่ก็ไม่กลัว นอกจากพวกคนเกเรเหล่านี้แล้ว หลวงปู่ก็ยังต้องสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นด้วย เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้เป็นป่ามาก่อน มีผีดุมาก ใครมาอยู่ก็ไม่ได้ แต่หลวงพ่อปู่มั่นใจว่าอยู่ได้เพราะหลวงปู่มีมีดด้ามทองในฝันเล่มนั้นไว้ต่อสู้ ซึ่งก็สู้ได้จริง ๆ จึงอยู่ได้

นอกจากสิ่งที่ไม่ดีแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่ดี ๆ อัศจรรย์เกิดขึ้นมากมายเช่นกัน แต่ก็จะขอละไว้ไม่กล่าวถึง หลวงปู่รักษาการท่านเจ้าอาวาส ในพ.ศ 2521 นานอยู่ 1 ปี จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพธารทองเมื่อปี พ.ศ 2522 จนถึงปัจจุบัน

วัดเทพธารทอง
(ตั้งอยู่ทางจะไปขึ้นเขาคิชฌกูฏ )
หมู่ที่ 6 บ้านคลองตะเคียน ต.พลวง
กิ่ง อ. เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี 22210
แผนที่ วัดเทพธารทอง
(ตั้งอยู่ทางจะไปขึ้นเขาคิชฌกูฏ )
วัดเทพธารทองนี้ เป็นวัดในสายธรรมยุต ตั้งอยู่ที่เลขที่ 6 (บ้านตะเคียนทอง) หมู่ที่ 6 ต.พลวง กิ่งอำเภอเขาคิชกูฏ จังหวัดจันทบุรี ขณะนี้วัดมีเนื่อที่ทั้งสิ้นประมาณ 28 ไร ทำเลที่ตั้งอยู่ที่ข้างเนินเขา มีลำธารไหลตัดผ่านวัด รอบ ๆ เป็นสวนผลไม้ และป่าทั่วไป หลวงปู่ท่านพยายามที่จะดำรงสภาพความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นเต็มวัด ทั้งไม้ยืนต้น และไม้ผล ในเรื่องของไม้ผลนี่เอง ท่านหลวงปู่ได้เล่าให้ฟังว่า ที่นี่มีต้นกะท้อนร้อยปี ใครได้กินกระท้อนวัดเทพฯ แล้วจะมีอายุยืน นอกจากนี้ก็ยังมีต้นขนุน และต้นมะพร้าว ที่หลวงปู่นึกอยากฉันคราวใด ลูกขนุน ลูกมะพร้าวก็จะหล่นมาให้ฉันทุกที สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่เป็นเครื่องหมายของความเจริญ ความร่ำรวย และศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหาของวัดแทบจะไม่มีให้เห็นเลย นอกเสียจากกุฏิหลังเดิมของหลวงพ่อ วิหารธรรม กุฏิพำนักสงฆ์2-3 หลัง เจดีย์เปิด และโรงทานอีก 1 หลังเท่านั้น
หลวงปู่เป็นพระนักปฏิบัติ ที่ไม่ยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ หรือปัจจัยใด ๆ หลวงปู่คือหลวงปู่ หลวงปู่คือป่า หลวงปู่คือธรรมชาติ หลวงปู่คือลมหายใจ หลวงปู่คือธรรม หลวงปู่ฉันมื้อเดียว หลวงปู่อยู่กับมด หลวงปู่อยู่กับสุนัข หลวงปู่ยู่กับแมว เท่านี้หลวงปู่ก็สุข สุขสำหรับสมณเพศอย่างท่านแล้ว

อยู่ตามกาล ไปตามกาล
หลวงปู่ท่านได้ละสังขารเมื่อวันจันทร์ที่ 13 เมษายน 2554 เวลาบ่าย
สิริอายุรวม 88 พรรษา

สรุปผลการประชุม ณ วัดป่าคลองกุ้ง ว่าด้วยเรื่องการตั้งบำเพ็ณกุศล พระสรีระองค์หลวงปู่พิศดู

เนื่องด้วยสถานที่จิตกาธานที่วัดเทพธารทองยังไม่แล้วเสร็จ จึงไม่สะดวกที่จะเคลื่อนพระสรีระองค์หลวงปู่กลับไปบำเพ็ญกุศลที่นั่นได้ เพราะมีฝนตกลงมาทุกวันทำให้งานก่อสร้างล่าช้าออกไป จึงได้มีประชุมกันถึงแผนงาน การตั้งพระสรีระองค์หลวงปู่ ว่าจะไว้ที่วัดป่าคลองกุ้งจนกว่าสถานที่ที่วัดเทพธารทอง และจิตกาธานจะแล้วเสร็จ จึงค่อยเคลื่อนต่อไป

และจากกำหนดการเดิม ว่าจะมีการสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศลเฉพาะทุกวันเสาร์ .ทางวัดป่าคลองกุ้งนำโดยองค์หลวงพ่อพระมหาเข้มเจ้าอาวาสฯ และศิษยานุศิษย์องค์หลวงปู่ ได้มีมติเห็นสมควรจะจัดให้มีการร่วมกันสวดมนต์ทำวัตรเย็น และสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศลทุกวัน ตามกำหนดการดังนี้..


ทุกวัน..
เวลา 19.00 น. ร่วมกันสวดมนต์ทำวัตรเย็น โดยพร้อมเพรียงกัน
เวลา 20.00 น. มีสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศล น้อมถวายแด่สรีระองค์หลวงปู่


จึงขอเชิญศิษยานุศิษย์ร่วมพิธีดังกล่าว แต่ยังไม่มีเจ้าภาพโรงทานเลี้ยงอาหารแต่อย่างใด เพียงแต่ทางวัดได้จัดให้มีพิธีสวดพระอภิธรรมถวายแด่องค์หลวงปู่อย่างเดียวเท่านั้น แต่หากท่านใดมีจิตศรัทธาจะเป็นเจ้าภาพโรงทาน ทานวัดก็ยินดีและขออนุโมทนาในกุศลครั้งนี้ด้วย สาธุ

วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เป็นวันที่เคลื่อนพระสรีระองค์หลวงปู่พิศดูกลับไปบำเพ็ญกุศล ที่ วัดเทพธารทองตั้งอยู่ที่เลขที่ 6 (บ้านตะเคียนทอง) หมู่ที่ 6 ต.พลวง กิ่งอำเภอเขาคิชกูฏ จังหวัดจันทบุรี

หมายเหตุ สรุปผลการประชุม ณ วัดป่าคลองกุ้ง นี้ ได้คัดลอกมาจากเว็บไซด์
ครูบากฤษดา สุเมโธ

หลวงปู่พิศดู ธัมมจารี


หลวงปู่พิศดู ธัมมจารี

คติธรรมและข้อคิดจากหลวงพ่อพิศ (หลวงพ่อชอบอ่านหนังสือและนำมาสั่งสอนผู้มาวัดเสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ท่านจะท่องได้อย่างถูกต้อง
แม่นยำเสมอ)

เชิญรับมธุรสพระธรรมรัตน์ ใช้บำบัดวุ่นวายสบายหนา
ทำให้ใจใสสุขไม่ทุกข์นา ได้เวลาแล้วก็เชิญอย่าเมินเลย

เกิดแก่เจ็บตายของใครเล่า เป็นของเราเพราะมันสามตัณหา
แห่งฉิมพลีไตรลักษณ์อันศักดา ต้องเข่นฆ่าฟาดฟันให้บรรลัย
มัจจุราช นายเราเอกไปแน่ ต่างก็แก่เร็วช้าอย่าสงสัย
คืนและวันพลันดับลับลงไป เราก็ใกล้ป่าช้ามาทุกวัน


รู้ว่าไฟแล้วทำไมไปจับเล่น มันไม่เย็นเลยหนาน่าบัดสี
ครั้นถูกไฟไหม้เผาเข้าทุกท เศร้าโศกีน่าตีให้ช้ำระกำทรวง

ก่อนจะสุขก็ต้องทุกข์ลงทุนก่อน ค่อย ๆ ผ่อนทีละน้อยค่อยผสม
จะเป็นพระก็ต้องละกามารมณ์ จะเป็นพรหมก็เพียรเรียนทำฌาณ


เราจะต้องพลัดพรากจากของรัก ไม่ย้ายยักมั่นคงอย่าสงสัย
หมั่นรู้ตัวเสมออย่าเผลอใจ ถึงคราวไปแล้วไปในตามกาล

ใครมีปากอยากพูด ก็พูดไป เรื่องอะไรก็ช่างอย่าฟังขาน
เราอย่าต่อก่อก้าวให้ร้าวราน ความรำคาญก็จะหายสบายใจ
จะปลูกผักหมั่นตักวารีรด จะปรากฏดอกใบสมใจหวัง
พวกอิ่มก่อนดูละครที่ท้ายวัง อิ่มทีหลังล้างจานน้ำตาย้อย

ไม่ขัดโลก ไม่ขวางธรรม โลกไม่ช้ำ ธรรมไม่เสีย

อประมาทปราชญ์ชมนิยมนัก ว่าเป็นมรรคลัยอันใหญ่หลวง
ให้ประชาสาธุชนคนทั้งปวง พ้นจากบ่วงตัณหาสิ้นราคี

สารพัดที่จะรู้เป็นครูเขา
ตัวของเราแล้วทำไมไม่สั่งสอน
ปล่อยยุ่งนุงนังไม่สังวรณ์
ควรผันผ่อนอย่าให้ยุ่งนุงนังนัก
ปล่อยให้ยุ่งแล้วมันแย่มันแก้ยาก
ยิ่งยุ่งมากก็ยิ่งแย่แก้ไม่ไหว
อย่าให้ยุ่งนุงนักจะหนักใจอย่าปล่อยไว้ให้แย่ แก้ไม่ทัน

อันศาลาใหญ่โตรโหฐาน
มีเสาทานหลายต้นจึงทนไหว
เกิดเป็นคนอยู่คนเดียวก็เปลี่ยวใจ
ต้องอาศัยพวกพ้องพี่น้องนา
จะหาใครเหมาะใจที่ไหนเล่า
ตัวของเรายังไม่เหมาะกับใจหนา
อนิจจังทุกขังอนัตตา
รู้ล่วงหน้าเสียก่อนไม่ร้อนใจ

พ่อไม่แก่แม่ไม่ตายหรือหมายพึ่ง
เฟื้องสลึงแบกหามไปตามเข็ญ
ไม่ใช่พระก็จะคอยให้ประเคน
จะเล็งเห็นน้ำกับฟ้าพะว้าภวังค์

มงคลควรนึก เตือนให้เราตรึก ศึกษาเหตุผล
ให้รู้ชั่วดี เฉลิมศรีมงคล
ให้รักษาตน พ้นจากทุกข์ภัย
ชวนให้เราเพียร หลีกทางวนเวียน ยากจนเข็ญใจ
ให้เราทำชอบ รอบคอบทั่วไป
ให้สุขสมผ่องใส พร้อมทรัพย์บริบรูณ์
ชวนให้เราชื่น แย้มยิ้มระรื่น รักวงศ์ตระกูล
ให้เรารักชาติ รักศาสนากูล รักมหากษัตริย์
เราควารเชื่อถือ มีความซื่อสัตย์ เป็นคุณสมบัติ
เพียรฝึกฝนตน ให้พ้นข้อขัด
เพื่อเกื้อกูลหมู่สัตว์ ปฏิบัติบูชา
เราควรพินิจ เร่งใช้ความคิด ทำจิตให้กล้า
ไม่ยอมจนใจ ในกาลนานา ดวงวาสนา พาเราเจริญ
เราต้องอดทน ให้สมเป็นคน ที่ชนสรรเสริญ
ไม่ยอมอ่อนแอ แม้ยากมากเกิน
จัดหาทางเดิน เพียรทำร่ำไป
เราต้องศึกษา ชำระ... ด้วยความมั่นใจ
ทำเป็นศีลทาน สมานมิตรไว้
ทำจิตใจให้ผ่องใสพร้อมพา
แม้เราจะตาย ไม่ต้องอับอายแก่เทวดา
เพราะเราทำชอบ บอกเพื่อนทราบ
สั่งสอนวงศา พาให้เจริญ
ให้ระลึกตรึกเทอญ ประโยชน์สามงามเอย

รักดีจงหนีชั่วอย่าปล่อยตัวจงเดินไป
รักมิตรถนอมใจอย่าให้มีราคีเคือง
รักชื่อต้องไว้ชื่อ อย่าปล่อยชื่อลือทั่วเมือง
รักของกลัวหมดเปลืองอย่าทิ้งไว้ใก้ลตาคน
รักสัตย์ สงวนสัตย์ อย่าปล่อยสัตย์จากกมล
รักตัวกลัวยากจนอย่าริเป็นเช่นนักเลง
รักกันต้องเชื่อกันอย่าดึงดันรู้จักเกรง
รักสนุก ควรร้องเพลง อย่าร้องไห้ เห็นไม่ดี

คนไม่ฟังอย่าสอนบอนอย่าบอก
น้ำนิด ๆ ยังกระฉอกออกนอกไห
ชั่วหรือดีหมอดูอยู่ที่ใจ
ไม่ใกล้ไม่ไกลหมอดูอยู่ที่ตา

เอาพิมเสนแลกเกลือก็เหลือคิด
เอาพระขรรค์กริชแลกพร้าควรค่าหรือ
เอาหลังมือพลิกมาเป็นหน้ามือ
โลกเขาถือความจริงเป็นมิ่งเมือง

สัตว์สี่เท้าก้าวย่างยังรู้พลาด
นักปราชญ์ยังมีพลั้งบ้างไฉน
ถ้าหินดีเหล็กดีตีเป็นไฟ
ไม้ต่อไม้หมั่นสียังมีเพลิง

สมัยใดทำใจให้ผ่องแผ้ว
เหมือนได้แก้วมีค่าเป็นราศรี
เวลาใดทำใจให้ราคี
เหมือนมณีแตกหมดลดราคา

สมัยใดทำใจให้ผุดผ่อง
จะหมดหมองราคินสิ้นทั้งหลาย
จะพบสุขสดใสใจสบาย
อภิปรายคงไม่ชัด ปัจจัตตัง

มีกายอย่าได้หมายว่ามีสุข
กลับมีทุกข์มากมายหลายสถาน
จะหาสุขที่กายจนวายปราณ
คงไม่พานพบแท้เป็นแน่นอน
โอ้กายของเรามันเน่าแน่
ต้องมีแปรเปลี่ยนผันหันไฉน
ให้รู้ตัวเสมออย่าเผลอใจ
สิ่งใด ๆ ควรทำรีบทำเอย
ลงบันไดสามขั้นโบราณว่า
ให้คับหน้าตรึงหลังตั้งละห้อย
อย่าดูถูกคนทำว่าทำน้อย
จำนวนร้อยหลายหนึ่งให้ตรึงตรอง

กลัวไว้หน้า กล้าไว้หลัง ระวังทัน

ถ้าพุทโธเกิดแล้วไม่มีดับ เอาอะไรมาทับก็ไม่ได้
รู้แจ้งโลกภายนอกและภายใน นั่งยืนเดินนอนได้ใจพุทโธ

เรื่องอะไรก็ช่างอย่าฟังขาน เราอย่าต่อก่อก้าวให้ร้าวราน
ความรำคาญก็จะหายสบายใจ

อยู่ตามกาล ไปตามกาล

เราทั้งหลายถึงแล้วซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้เป็นสรณะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้เป็นศาสดาของเราทั้งหลาย
พวกเราทั้งหลายย่อมเข้าใจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้
พวกเราทั้งหลายตั้งใจบูชา ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้
พร้อมทั้งพระธรรม พร้อมทั้งพระสงฆ์
ด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายเหล่านี้
การบูชาพระพุทธเจ้า เป็นเหตุให้มาถึงซึ่งเดชาอานุภาพที่ยิ่งใหญ่
การบูชาพระธรรมเจ้า เป็นเหตุให้มาถึงซึ่งสติปัญญาอันยิ่งใหญ่
การบูชาพระสงฆ์เจ้า เป็นเหตุให้มาถึงซึ่งโภคทรัพย์สมบัติอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ถูกถ้วนแล้ว
ข้าพเจ้าอภิวาทกราบไห้วพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว
ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี
ข้าพเจ้าอภิวาทกราบไห้วพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกาย และวาจาใจ
ขอพระพุทธเจ้าจงทรงรับไว้
พุทธังวันทามิ

พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
ข้าพเจ้านมัสการกราบไหว้พระธรรมนั้น
ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี
ข้าพเจ้าอภิวาทกราบไหว้พระธรรม ด้วยกาย และวาจาใจ
หากข้าพเจ้าได้ปฏิบัติพลาดพลั้งในพระธรรม ด้วยกาย หรือวาจาใจ
ขอพระธรรมจงละโทษนั้นเพื่อจะได้ระวังต่อไปในพระธรรม
ธัมมังวันทามิ
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ปฏิบัติดีแล้ว
ข้าพเจ้านอบน้อมกราบไหว้พระสงฆ์นั้น
ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี
หากข้าพเจ้าได้ปฏิบัติพลาดพลั้งในพระสงฆ์ด้วยกาย หรือ วาจา ใจ
ขอพระสงฆ์จงทรงระงับซึ่งโทษนั้นเพื่อจะระวังต่อไปในพระสงฆ์

สัพเพสัตตา สุขิตา โหนตุ อะเวราโหนตุ อัพยาปัชฌาโหนตุ อะนีฆาโหนตุ สุขีอัตตานัง ปะริหะรันตุ
สัตว์ทั้งหลายทั้งสิ้นทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ทั้งหมดทั้งสิ้น
จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กัน และกันเลย อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย
จงมีแต่ความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด
พุทธัง บุญญัง พลัง มัยหัง
ขอให้สัตว์ทั้งหลาย ทั้งหมดทั้งสิ้นทั้งปวงจงได้รับกุศลผลบุญที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้บำเพ็ญ ด้วยกาย วาจา ใจ ณ สถานที่นี้ ณ บัดนี้ ทุกถ้วนหน้าเถิดเทอญ

“ถ้าพุทโธเกิดแล้วไม่มีดับ เอาอะไรมาทับก็ไม่ได้
รู้แจ้งโลกภายนอก และภายใน นั่งยืนเดินนอนได้ใจ พุทโธ”

ลายลักษณ์พระพุทธบาท เบื้องขวา

khubakrissda.igetweb.com




ข้าพเจ้าทั้งหลายขอ กราบไหว้หลวงปู่ ด้วยกาย และวาจาใจ
ขอหลวงปู่จงรับไว้

หากเหล่าข้าพเจ้าทั้งหลายได้ปฏิบัติพลาดพลั้งในหลวงปู่ ด้วยกาย หรือวาจาใจ
ขอหลวงปู่ จงละโทษนั้นเพื่อจะได้ระวังต่อไป

นางวันเพ็ญ เทศะ นายซู ยัม ซัน และครอบครัว
นายประมวล ฝอฝน นางพัชสลิล ฝอฝน และ นางสาว พริมา ฝอฝน