ข้อมูลความรู้/ด้านนิวเคลียร์/การ์ตูนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์




ข้อมูลความรู้/ด้านนิวเคลียร์
กำเนิดนิวเคลียร์

คอลัมน์ : นิวเคลียร์น่ารู้กับปรมาณูเพื่อสันติ
ชื่อเรื่อง : กำเนิดนิวเคลียร์

ปัจจุบันนี้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ได้หันมาให้ความสนใจกับการศึกษาและพัฒนาการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในทางสันติ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับโลกของเรา จนทุกวันนี้ พลังงานนิวเคลียร์ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราอย่างใกล้ชิด


ที่ผ่านมาเราได้ทราบกันไปบ้างแล้วว่า มีการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ใช้ถนอมอาหาร ใช้ฆ่าเชื้อในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ใช้ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค ใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช หรือใช้ในการตรวจสอบหอกลั่นน้ำมัน ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม จะเห็นได้ว่าพลังงานนิวเคลียร์เมื่อนำมาใช้เพื่อสันติก็จะมีคุณอย่าง อเนกอนันต์ แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า พลังงานนิวเคลียร์ แท้จริงแล้วคืออะไร และเกิดขึ้น ได้อย่างไร


พลังงานนิวเคลียร์ ก็คือ พลังงานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในนิวเคลียส
หลายคนคงงงว่า แล้วนิวเคลียสคืออะไร ? ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่า ในสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ใบหญ้าตามธรรมชาติ หรือตึกรามบ้านช่องที่มนุษย์สร้างขึ้น ล้วนประกอบไปด้วยอนุภาคขนาดเล็กที่เกาะตัวกันอยู่จนเกิดเป็นรูปร่างของสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งเราเรียกอนุภาคขนาดเล็กเหล่านั้นว่า “อะตอม” หรือก็คือ “ปรมาณู”ในภาษาไทยนั่นเอง
ในอะตอมเอง ยังประกอบไปด้วยอนุภาคอีก 3 ชนิด นั่นคือ “โปรตอน” “นิวตรอน” และ “อิเล็กตรอน” โปรตอนและนิวตรอนนั้น จะรวมตัวกันอยู่เป็นศูนย์กลางของอะตอม ซึ่งก็คือ “นิวเคลียส” ในขณะที่อิเล็กตรอนจะวิ่งวนอยู่ รอบ ๆ นิวเคลียส ในส่วนของนิวเคลียสนี่เอง ที่เป็นส่วนสำคัญของการเกิดพลังงานนิวเคลียร์

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า พลังงานนิวเคลียร์ คือ พลังงานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในนิวเคลียส ซึ่งเราเรียกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ปฏิกิริยานิวเคลียร์”
โดยแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ “ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น” และ”ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น”
ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น คือ ปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดจากการแตกตัวของโปรตอน และนิวตรอนในนิวเคลียสของธาตุหนัก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้อาศัยหลักการดังกล่าว มาใช้ในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือในการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ส่วน ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น จะตรงกันข้ามกับปฏิกิริยาชนิดแรก เพราะปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น จะเกิดจากการรวมตัวกันของนิวเคลียสของธาตุเบา เช่น ไฮโดรเจน ซึ่งปฏิกิริยาที่ว่านี้ ก็เป็นแบบเดียวกันกับที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์นั่นเอง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหมือนกันของปฏิกิริยานิวเคลียร์ทั้ง 2 ชนิดนี้ก็คือ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในนิวเคลียสแล้ว จะเกิดการปลดปล่อยพลังงานปริมาณมหาศาลออกมา ซึ่งพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากกระบวนการดังกล่าวนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานความร้อน รังสี หรืออนุภาคชนิดต่าง ๆ ซึ่งการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ ก็หมายถึงการนำพลังงานรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้นั่นเอง

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า อนุภาคขนาดเล็ก ๆ อย่างอะตอม จะเป็นต้นกำเนิดของพลังงานที่มีอานุภาพมหาศาลอย่างพลังงานนิวเคลียร์ได้ ซึ่งพลังงานดังกล่าวนี้ หากนำมาใช้เพื่อสันติ ในทางสร้างสรรค์แล้วหล่ะก็ จะนำมาซึ่งคุณประโยชน์นานับประการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของพวกเราทุกคนที่จะต้องรู้จักเลือกนำพลังงานที่ว่านี้มาใช้ในทางที่เหมาะที่ควร ในส่วนของประเทศไทย ก็มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัย และกำกับควบคุมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ปลอดภัย นั่นคือ “สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ” หรือ “ปส.” ซึ่งปัจจุบัน ได้จัดตั้ง “ศูนย์บริการประชาชน” ขึ้น เพื่อให้บริการตอบคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ โดยให้บริการผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-1824, 0-2579-1834 และ 0-2579-1849 นอกจากนี้ยังมีการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางรังสี ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-2888 ตามวันและ เวลาราชการ

ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทร. 0-2579-1824, 0-2579-1834, 0-2579-1849
แจ้งเหตุฉุกเฉินทางรังสี โทร. 0-2579-2888 ตามวันและเวลาราชการ

ข้อมูลความรู้/ด้านนิวเคลียร์
ความรู้เกี่ยวกับนิวเคลียร์

อะตอม
อะตอม (Atom) หมายถึง อนุภาคที่เล็กที่สุดของสสารที่ยังคงมีคุณสมบัติทางเคมีของธาตุนั้นๆอยู่ โครงสร้างของอะตอมประกอบด้วยนิวเคลียสซึ่งอยู่ตรงกลางและมีอิเล็กตรอนโคจรอยู่รอบๆนิวเคลียส ภายในนิวเคลียสประกอบด้วยโปรตอนและนิวตรอนซึ่งในสภาวะปกติโครงสร้างของอะตอมจะมีจำนวน อิเล็กตรอนเท่ากับจำนวนโปรตอน

โปรตอน (Proton;p) หมายถึง อนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าเป็นบวกหนึ่งหน่วย มีมวลประมาณ 1,837 เท่า ของอิเล็กตรอนซึ่งโปรตอนเป็นองค์ประกอบในนิวเคลียสของธาตุทุกชนิด

นิวตรอน (Neutron;n) หมายถึง อนุภาคที่ไม่มีประจุไฟฟ้า มีมวลมากกว่าโปรตอนเล็กน้อย

อิเล็กตรอน (Electron) หมายถึง อนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าเป็นลบ โดยแต่ละอะตอมจะมีอิเล็กตรอน จำนวนหนึ่งอยู่ล้อมรอบนิวเคลียสของอะตอมนั้น

นิวตรอนและโปรตอนภายในนิวเคลียสถูกยึดให้อยู่ด้วยกันได้ด้วยแรงนิวเคลียร์ ซึ่งในสภาวะปกติภาย ในนิวเคลียสจะมีความเสถียร (Stable) จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายในนิวเคลียส หากภายในนิวเคลียส มีจำนวนโปรตอนหรือนิวตรอนที่มากหรือน้อยเกินไป เรียกสถานะเช่นนี้ว่าเกิดความไม่เสถียร (Unstable) นิวเคลียสจะปรับตัวเองเพื่อให้อยู่ในสภาวะเสถียรและมีการปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็น ที่มาของคำว่าพลังงานปรมาณู

พลังงานปรมาณู คือ พลังงานที่ถูกปล่อยมาจากนิวเคลียสของอะตอมซึ่งเกิดขึ้นจาก 3 กรณี
1. เกิดจากการสลายตัวของนิวเคลียส (Decay)
2. เกิดจากการแตกตัวของนิวเคลียสออกเป็นส่วน (Fission)
3. เกิดจากการรวมตัวกันของนิวเคลียส (Fusion)

นิวไคลด์
นิวไคลด์ (Nuclide) หมายถึง คำที่ใช้เรียกแทนนิวเคลียสของอะตอมของธาตุใดๆ โดยการใช้ สัญลักษณ์แทนเพื่อทำให้ทราบคุณสมบัติของธาตุนั้นๆได้โดยง่าย

เลขเชิงอะตอม (Atomic number;Z) หมายถึง จำนวนของโปรตอนภายในนิวเคลียสของอะตอมใดๆ

เลขมวล (Mass number;A) หมายถึง ผลรวมของจำนวนโปรตอนและนิวตรอนภายในนิวเคลียส

พลังงานปรมาณู
พลังงานปรมาณูเป็นพลังงานที่ได้มาจากพฤติกรรมของนิวเคลียสภายในอะตอม ดังนั้นหลักการ ที่แท้จริงของพลังงานปรมาณูก็จะอยู่ที่การนำเอาพลังงานที่เกิดจากนิวเคลียสมาใช้งาน โดยเกิดขึ้นจาก กรณีใดกรณีหนึ่งจากทั้ง 3 กรณีตามที่กล่าวไปแล้ว ในปัจจุบันมักพบการใช้งานส่วนใหญ่อยู่ 2 กรณี คือ การสลายตัวของนิวเคลียสซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม เป็นต้น อีกแบบหนึ่งคือการแตกตัวของนิวเคลียสในอะตอมของธาตุหนักซึ่งนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับ ผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือการใช้งานเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย เป็นต้น สำหรับการรวมตัวกันของนิวเคลียส นั้นอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย กระบวนการที่นิวเคลียสของอะตอมธาตุหนักเกิดการแตกตัวนั้นเรียกว่า ปฏิกิริยาฟิชชันซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ปฏิกิริยานิวเคลียร์
ปฏิกิริยาที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยทั่วไปนั้นเป็นปฏิกิริยาฟิชชัน คือเมื่อยิงอนุภาคนิวตรอน เข้าไปชนนิวเคลียสของธาตุหนักเช่นยูเรเนียมแล้วเกิดการแตกตัวของธาตุหนักนั้นซึ่งการแตกตัวนี้จะทำ ให้มีการปลดปล่อยความร้อนพร้อมทั้งอนุภาคนิวตรอนเกิดขึ้นมาใหม่จำนวนหนึ่ง ( 2-3 ตัว) โดยการแตก ตัวนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรียกว่าปฏิกิริยาลูกโซ่ (Chain reaction) อย่างไรก็ตามวัสดุที่สามารถนำมา เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้นั้นเรียกว่าวัสดุฟิสไซล์ (Fissile material) ซึ่งการเลือกใช้วัสดุ ฟิสไซล์ใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ PWR หรือ BWR ใช้ยูเรเนียม-235 ความเข้มข้น 2-4 % ส่วนแบบ CANDU นั้นใช้ยูเรเนียมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขในการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่นั้นนิวตรอนที่ทำให้เกิดการแตกตัวต่อไปได้นั้นต้องเป็น นิวตรอนพลังงานต่ำหรือนิวตรอนช้าแต่ว่านิวตรอนที่เกิดขึ้นใหม่จากการแตกตัวนั้นเป็นนิวตรอนเร็ว หรือ Fast neutron ซึ่งข้อจำกัดนี้เกิดจากเหตุผลทางฟิสิกส์ของปฏิกิริยาฟิชชัน ดังนั้นภายในเครื่องปฏิกรณ์จึง ต้องมีสารหน่วงนิวตรอนเพื่อลดความเร็วของนิวตรอนให้อยู่ในย่าน Thermal energy เพื่อให้เกิดปฏิกิริยา ต่อไปได้ ซึ่งสารหน่วงนิวตรอนโดยทั่วไปมักใช้น้ำธรรมดาหรือน้ำมวลหนักแล้วแต่ประเภทของโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตุว่าปฏิกิริยาฟิชชันนี้สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติเพียงแต่ว่าโอกาส ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่นั้นมีโอกาสน้อยมาก

ถาม-ตอบ สารกัมมันตภาพรังสีในญี่ปุ่นที่รั่วออกมาคืออะไร และจะป้องกันตัวอย่างไร??
เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่เชอร์โนบิล
เกิดขึ้นในวันที่ 26 เมษายน ปีค.ศ. 1986
เหตุการณ์วันนั้นเกิดจากกระแสไฟกระชากเกิน มีการปิดเครื่องไปแล้ว
และรอจนเครื่องเย็น พอเจ้าหน้าที่ทำการ boost เปิดเครื่องใหม่
แต่เนื่องจากว่าตัว core ที่เพิ่งปิดไปยังไม่เสถียร
และ ระบบหล่อเย็นยังไม่สามารถควบคุมให้อุณหภูมิคงที่ได้
จึงเกิดการระเบิดขึ้น (ขออธิบายแบบง่ายๆแล้วกันนะคะ)
จะเห็นได้ว่าการระเบิดที่เชอร์โนบิล แทบจะเรียกได้ว่าเป็น man error ล้วนๆ
เพราะว่าพนักงานสองกะ ทำงานกันไม่ประสาน และ ไม่ได้ทำตาม protocol ที่ได้ร่างไว้
(คนอนุมัติในการเปิดเครื่องใหม่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่กำหนด)

ในการระเบิดครั้งแรก เกิดจากห้องระบายไอร้อนระเบิด
เพราะว่ามีความดันสูงเกินกว่าจะระเหยได้ทัน ซึ่งทำให้น้ำในระบบหล่อเย็นรั่วออกทันที
ทุกคนคงคาดได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน
การระเบิดลูกที่สองอันเกิดจากปฏิกิริยาปรมาณูเกิดขึ้นตามมาอีก 2 วินาที

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สารกัมมันตรังสีกระจายออกมากขึ้นคือ

ตัวแกรไฟต์ที่ใช้บรรจุเกิดลุกติดไฟในอากาศ
ความร้อนและลมเป็นส่วนส่งเสริมอย่างดีให้สารกัมมันตรังสีกระจายไปทั่วประเทศ
สารในตอนนั้นคือ Xe (xenon isotope) และ I-131
มีคนตายทันทีทั้งสิ้น 50 คน และ ตามมาหลังจากนั้นอีก 4000 คน
จากมะเร็งที่คาดว่าเป็นผลพวงจากสารกัมมันตรังสี



กลับมายังประเทศญี่ปุ่น เหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ fukushima
สาเหตุมาจาก ธรรมชาติ หลังเหตุการณ์สึนามิ
ตัวระบบหล่อเย็นหยุดทำงาน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ตัว “แกน” ระเบิด
จึงได้ใช้น้ำจากทะเลปั๊มเข้าเพื่อหล่อเย็นแทน ทั้งตัวเตาที่ 1 และ 3 ที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้

แล้วสารกัมมันตภาพรังสีที่รั่วออกมาคือ สารอะไรล่ะ??

สำหรับสารกัมมันตรังสีที่ออกมาคราวนี้ คือ I-131 ซึ่งเป็นตัวต้นปฏิกิริยา
ก่อนที่จะกลายเป็น Xe (ซีนอน)
(สารที่รั่วออกมาที่เชอร์โนบิลนั่นแหละ)
ถ้าใครเรียนแพทย์ หรือว่าเคยเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ จะร้อง “อ๋อ” ทันที
สาร I-131 เป็นสารกัมมันตรังสีที่เราคุ้นเคยในวงการแพทย์มากๆ
เราใช้ในการรักษาคนไข้ไทรอยด์เป็นพิษ โดยการให้กลืนแร่นี้
เพื่อไปหยุดการทำงานของต่อมไทรอยด์

สิ่งที่น่าแปลกก็คือ I-131 ที่เราให้กิน ถือว่าเป็นปริมาณ dose ที่สูง
เพราะเราหวังผลให้ไป “หยุด” การทำงานของต่อมไทรอยด์
ทางการแพทย์เราให้ “ตูมเดียวหยุด”
ขณะที่ การให้ ปริมาณ “น้อยๆแต่นานๆ” อาจทำให้เกิด
การกลายพันธุ์ของเซลล์ ทำให้เกิดมะเร็งได้

ใครที่เคยกิน “แร่ไอโอดีน” จะทราบดีว่า
แพทย์จะแนะนำให้ท่าน อยู่ในรพ.ซักสองสามวัน
ในห้องที่มีฉากสังกะสีกั้นสองด้าน เพื่อป้องการกัน “แพร่กระจาย” ของสารกัมมันตภาพรังสี
สารไอโอดีน จะถูกขับออกมาทางเหงื่อและปัสสาวะ
โดยทั่วไปจะแนะนำให้คนไข้ทำความสะอาดห้องน้ำบ่อยๆ

สารที่ออกมาจากร่างกายนั้นเป็นปริมาณน้อยมากๆ แทบจะไม่มีผลต่อคนที่อยู่ด้วย
แต่เพื่อเป็นการป้องกัน รวมถึงเด็กๆที่มีความเสี่ยงสูงกว่า
จึงแนะนำให้อยู่รพ.ซัก 2-3 วันและทำความสะอาดห้องน้ำทุกครั้งที่เข้า
รวมไปถึง (ถ้าเป็นไปได้) งดการมีเพศสัมพันธ์ 1 เดือน และ ห้ามท้องอีก 6 เดือน

พิษของ I-131
โดยทั่วไปแล้ว ไอโอดีน (ที่ไม่ใช่ 131) เป็นแร่ธาตุตามปกติที่เรากินกันอยู่
คงจะเคยได้ยิน ประมาณว่า มาม่าเพิ่มไอโอดีน เนื้อปลามีไอโอดีน
แจกไอโอดีนเด็กภูเขา กินกันเอ๋อ

ไอโอดีนตัวนี้ เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายจะนำไปใช้ในการผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนออกมา
ซึ่งมีผลในการช่วยการเผาพลาญพลังงานในร่างกาย เสริมสมอง
เพิ่มการทำงานของร่างกาย

ในทางกลับกัน I-131 ที่เป็นสารกัมมันตรังสี
มีผลในการ “หยุด” การทำงานของต่อมไทยรอยด์ (และส่วนมากคือ หยุดถาวร)
เมื่อมีการระเบิดหรือปนเปื้อน สาร I-131 มักจะอยู่ในผัก หรือ อาหาร
และจะเข้าไปสะสมในร่างกายไปที่ต่อมไทยรอยด์เมื่อกินเข้าไป

หากได้ต่อเนื่องกันเป็นปริมาณมาก ก็จะก่อให้เกิดภาวะ “มะเร็งต่อมไทรอยด์”
หรือ อาจจะอย่างอ่อนๆคือ “ไทรอยด์อักเสบ” (ซึ่งรักษาได้)

จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีอายุมากเมื่อเทียบกับเด็ก หากได้รับสาร I-131 ในปริมาณเท่ากับ
จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งน้อยกว่าเด็ก

จะป้องกัน I-131 อย่างไรดีละในกรณีที่จำเป็นต้องไป?
ถ้าฟังข่าวจะเห็นว่า ที่ญี่ปุ่นเขาแจก ไอโอดีน กินกัน
อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องนำไปใช้
โดยเก็บไว้ที่ต่อมไทรอยด์ ดังนั้น การกินไอโอดีน (ธรรมดา) ก็เพื่อไป
แย่งจับกับ receptor ที่ไทรอยด์ ก่อนที่จะโดน I-131 แย่งจับ

อธิบายง่ายๆ ก็เหมือนกับ ร่างกายเรามีโกดังเก็บไอโอดีนอยู่ 100 แห่ง
โดยเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เอาไอโอดีนมาเก็บจากท่าเรือ
ไม่ทราบว่า กล่องไหนที่จะเอาไปเก็บ เป็น ไอโอดีนธรรมดา
หรือ I-131 (ไอโอดีนที่เป็นสารกัมมันตรังสี)
ดังนั้นเพื่อเป็นการดักทางไว้ เราก็เลย รีบๆ “เติม” ไอโอดีนธรรมดา
ให้เจ้าหน้าที่เอาไปเก็บๆให้เต็มโกดังซะ
เมื่อเวลาที่ดันกิน I-131 เข้าไปโดยไม่ตั้งใจ
เจ้าหน้าที่จะได้ไม่เอาไปเก็บเพิ่ม เพราะว่ามัน “เต็มแล้ว”

เหตุเกิดที่เชอร์โนบิล มีคนเป็นมะเร็งเยอะ
ก็เพราะส่วนหนึ่งไม่ได้รับแจก “ไอโอดีน” กัน

จะไปญี่ปุ่นอีกเดือนสองเดือน แร่ I-131 มันอยู่นานไหมเนี่ยะ?
ค่าครึ่งชีวิต (half life) ของ I-131 อยู่ที่ 8 วัน
ส่วนมากหากปนเปื้อน ก็จะปนเปื้อนกับอาหารที่กินมากกว่า

พิษของ Caesium (Cs) ซีเซี่ยม
สารกัมมันตรังสีอีกตัวที่ตรวจจับได้ที่ fukushima คือ Cs (ซีเซี่ยม ต่อไปนี้ขอย่อว่า Cs)
ตัว Cs เองมีถึง 39 isotope มีตั้งแต่ Cs 135 ที่มีค่าครึ่งชีวิตถึง 2.3ล้านปี!!
แต่ Cs ที่รั่วออกมาคือ Isotope 137 ซึ่งมีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี (ยาวอยู่ดีแหละ)

ส่วนมากแล้ว Cs จะมีพิษและผลรุนแรงน้อยกว่า I-131 ดังที่กล่าวข้างต้น
ในกรณีที่ได้รับสาร Cs ตรงๆเป็นปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการแพ้ คัน อย่างรุนแรง หรือชักเกร็งกระตุก

การปนเปื้อนของ Cs-137 มักจะตกข้างในพืชผัก
แต่ไม่ต้องห่วงปกติแล้ว Cs ไม่ใช่สารกัมมันตภาพรังสีที่จะสามารถสะสมได้ในร่างกาย เหมือนกับ I-131
เมื่อกิน Cs-137 เข้าไป ร่างกายจะขับออกมาอย่างรวดเร็วในรูปเหงื่อและ ปัสสาวะ
โอกาสที่จะเป็นมะเร็งจาก Cs คือต้องกินสารปนเปื้อนนั้น
เป็นระยะเวลานานๆต่อเนื่องกันมากกว่า

Nuclear Power Plant educated animation การ์ตูนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ฉบับการ์ตูน
- พลังงานนิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้า ต่างจาก ในระเบิดนิวเคลียร์ เพราะความเข้มข้นเพียง 2-4 % และมีระบบควบคุม
- พลังงานนิวเคลียร์ฟิสชั่น เกิดจากการยิง อนุภาคนิวตรอน ทำให้นิวเคลียสของธาตุกัมมันตรังสี ยูเรเนียม-235 แตกตัวให้ พลังงานความร้อน พร้อมกับ นิวตรอนใหม่ 3 ตัว
- นิวเตรอนใหม่ ชนนิวเคลียสถัดไป และเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ มากขึ้นๆ
- พลังงานความร้อนที่ได้ถูกระบายสู่ น้ำในระบบปฏิกรณ์ต้มน้ำในระบบไอน้ำ ไอน้ำหมุนกังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
- เชื้อเพลิงกัมมันตรังสีที่ใช้แล้วถูกแยกสกัดส่วนที่ยังใช้ได้และเหลือ กากกัมมันตรังสี
- กากกัมมันตงสีกำจัดโดยหลอมกับแก้ว และฝังใต้ดิน 1 กิโลเมตร รอให้สลายตัวเองหมด
- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกออกแบบความปลอดภัย 3 ชั้นคือ แท่งเชื้อเพลิงทำจากอะลูมิเนียมอัลลอยด์ เครื่องปฏิกรณ์เก็บในถังทนความดันและหล่อเย็น และอาคารคลุมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
- ผลิต: สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Office of atoms for peace, Department of Science & Technology)

ข่าวกิจกรรม/เหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่น
มาตรการเมื่อมีการฟุ้งกระจายของวัสดุกัมมันตรังสี
จากเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์มายังประเทศไทย




สำนักงานฯได้มีการติดตั้งเครื่องวัดรังสีในอากาศทั่วประเทศ โดยติดตั้งที่กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา โดยการแจ้งเตือนจะเตือนเมื่อระดับรังสีสูงกว่า ๒๐๐ nSv/hr (Investigation level) โดยสำนักสนับสนุนกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู
เมื่อมีการฟุ้งกระจายและมีผลต่อสุขภาพของประชาชนในระดับรุนแรงนั้น สำนักงานจะมีการปฏิบัติโดยใช้แผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีแห่งชาติเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ในการปฏิบัติเบื้องต้น จะมีการสุ่มตัวอย่างอาหารตามที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะมีวัสดุกัมมันตรังสีตกลงและปนเปื้อน โดยใช้เกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงสำหรับการปนเปื้อนในอาหารซึ่งถ้าปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีที่แผ่รังสีแกมมา จะกำหนดไว้ตามตารางที่ ๑

เมื่อค่าที่ปนเปื้อนอาหาร และน้ำเกินระดับที่กำหนด จะมีการดำเนินการดังนี้
๑. แนะนำให้ประชาชน ไม่ดื่ม หรือไม่รับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าว
๒. ถ้าวัดระดับรังสีในอากาศได้มากกว่า ๑ ไมโครซีเวิร์ทต่อชั่วโมง ขึ้นไป ให้ประชาชนหลบอยู่ในที่พักอาศัย โดยปิดประตู หน้าต่างอย่างแน่นหนา และปิดระบบระบายอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่ในอากาศเข้ามาในที่พักอาศัยได้
๓. รอรับการแจ้งจากหน่วยงานระงับเหตุฉุกเฉิน (จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ) ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไรต่อไป
๔. เมื่อระดับรังสีที่ประเมินได้ สูงจนเป็นอันตรายต่อประชาชน หรือ ๑ มิลลิซีเวิร์ท แนะนำให้ประชาชนอพยพออกนอกบริเวณ และไปอยู่ในบริเวณที่มีระดับรังสีไม่ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย
๕. เมื่อระดับรังสีที่ประเมินได้ อยู่ในระดับปกติ แจ้งเตือนให้ประชาชนมีระมัดระวังในเรื่องของการเปรอะเปื้อนทางรังสีที่พื้นดิน อาคารบ้านเรือน
๖. การป้องกันเบื้องต้นสำหรับวัสดุกัมมันตรังสี I-131 เมื่อพบว่ามีการฟุ้งกระจายของวัสดุกัมมันตรังสี I-131 แจ้งให้ประชาชนรับประทาน โปแตสเซียมไอโอได ในทันที เพื่อลดการรับรังสีบีตา และแกมมาที่ต่อมไทรอยด์
๗. การป้องกันเบื้องต้นสำหรับวัสดุกัมมันตรังสี Cs-137 ให้รับประทาน Prussian Blue หลังจากที่ได้รับวัสดุกัมมันตรังสี Cs-137 นั้นเข้าสู่ร่างกาย (ตามคำแนะนำของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ)

ทั้งหมดนี้เป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับประชาชนคนไทย ในกรณีที่มีการฟุ้งกระจายของวัสดุกัมมันตรังสี จากเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ดังกล่าวในปริมาณที่สูงจนอาจก่อให้เกิดอันตราย

นอกจากนี้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติยังมีการตรวจวัดอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ประชาชนคนไทยได้มั่นใจในความปลอดภัยทั้งจากนิวเคลียร์และรังสีที่มีผลต่อสุขภาพร่างกาย

นิวไคลด์ อาหารที่ประชาชนทั่วไปรับประทานเป็นประจำ (กิโลเบคเคอเรลต่อกิโลกรัม) น้ำนม อาหารทารก และน้ำดื่ม (กิโลเบคเคอเรลต่อกิโลกรัม)
โดย : กลุ่มเตรียมความพร้อมประสานงานกรณีฉุกเฉินทางรังสี สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

ข้อมูลความรู้/ด้านรังสี
ผลของรังสีต่อสิ่งมีชีวิต
ผลของรังสีที่มีต่อมนุษย์
แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ
1. Deterministic Effect ได้รับรังสีปริมาณมาก ทำให้เซลล์ตาย อวัยวะทำหน้าที่ไม่ได้
2.Stochastic Effect ได้รับรังสีเเบบสุ่ม ปริมาณรังสีน้อยอาจก่อให้เกิดผลต่อเซลล์ได้

Deterministic Effect
ได้รับรังสีทั่วร่างกาย
ปริมาณรังสี 3-5 Gy ไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือด เสียชีวิต 30-60 วัน
ปริมาณรังสี 5-15 Gy ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เสียชีวิต 10-20 วัน
ปริมาณรังสี มากกว่า 15 Gy ผลต่อระบบประสาท เสียชีวิต 1-5 วัน
ได้รับรังสีเพียงบางส่วน อวัยวะที่ไวต่อรังสี ไขกระดูก เเละระบบเลือด (500 mSv) ต้อกระจก (2000-5000 mSv)
ทารกในครรภ์ 8-15 weeks มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (> 100 mSv) ปัญญาอ่อน เกิดมะเร็งในวัยเด็ก
หญิงมีครรภ์ไม่ควรได้รับรังสีเกิน 2 mSv

Stochastic Effect
การถ่ายเทพลังงานรังสีเป็นเเบบสุ่ม
ปริมาณรังสีน้อยอาจมีผลกระทบต่อเซลล์ได้
เซลล์ตาย หรือ เเบ่งตัวผิดปกติ อาจทำให้เกิดมะเร็งได้
stochastic effect ใช้เปรียบเทียบโดยค่าความเสี่ยง


ที่มา ::: สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์(สน.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
ศึกษาข้อมูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.oaep.go.th/index.php
http://www.ranthong.com