เทคนิคการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อย


จัดสำรับลงทุน


เทคนิคการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อย

แนวทางการลงทุน: ผลตอบแทน vs. ความเสี่ยง

ก่อนที่คุณจะตัดสินใจว่า การผสมผสานรูปแบบกองทุนรวมใดจะดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ สิ่งสำคัญที่จะต้องเอาใจใส่ และทำความเข้าใจ คือ ลักษณะความเสี่ยง และผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละกองทุน ซึ่งโดยปกติแล้วการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงขอแนะนำวิธีการสร้างพอร์ตโฟลิโอที่เหมาะสมกับความพอใจของคุณ ทั้งในแง่ของความเสี่ยงและผลตอบแทนในกองทุนรวม

1. กระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนให้เหมาะสม (Diversification)
แม้ว่าการลงทุนในกองทุนรวม จะมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ (Asset Allocation) ซึ่งลดความเสี่ยงจากการลงทุนลงแล้ว อย่างไรก็ดี มีผู้ลงทุนหลายท่าน ที่เข้าใจว่าควรจะลงทุนในหลายๆ กองทุนรวม เพื่อกระจายการลงทุนและลดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากมีรายงานการศึกษาที่จัดทำโดย Morningstar Mutual Funds ในสหรัฐอเมริกา ได้ข้อสรุปว่า การถือหน่วยลงทุนของ กองทุนรวมมากกว่า 4 กองขึ้นไปไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนแต่อย่างใด ในกรณีของกองทุนรวมในบ้านเรานั้น ยังไม่มีการทำรายงานศึกษาในเรื่องนี้ แต่แนวโน้มก็ไม่น่าจะแตกต่างไปจากในสหรัฐอเมริกาเท่าใดนัก

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องไปซื้อกองทุนรวมมากมายหลายกอง เพื่อที่จะให้เกิดการกระจายการลงทุน ทางเลือกที่ดี น่าจะเป็นการเลือกลงทุนในกองทุนที่ดีๆ สัก 2 หรือ 3 กอง หรือ เลือกซื้อกองทุนผสม ซึ่งน่าจะช่วยกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงได้มากกว่า

2. การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren E. Buffett)
ผู้ลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งของโลก ได้กล่าวถึง...

กฎเกณฑ์ในการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ คือ
กฎข้อที่ 1: อย่าให้เสียเงิน
กฎข้อที่ 2: อย่าลืม กฎข้อที่ 1 และนั้นคือ กฎทั้งหมดเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการลงทุน

ขาแนะนำว่าโอกาสที่ดีที่สุดของคุณที่จะไม่เสียเงิน ก็คือ
การซื้อหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพดีซึ่งถูกตลาดมองข้าม ทำให้ราคาของหลักทรัพย์นั้นต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์ทรัพย์สินสุทธิ (Undervalue)

สำหรับการเลือกซื้อหน่วยลงทุนในตลาดรอง ผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนในหน่วยลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย และมีราคาตลาดต่ำกว่าที่ ควรจะเป็น โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ราคาตลาดของหน่วยลงทุนนั้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในภายหลัง



ดังนั้นการให้น้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือหน่วยลงทุนที่มีคุณภาพดี และรอคอยให้ตลาดรับรู้มูลค่าที่แท้จริงของ หลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนเหล่านั้นในภายหลัง โดยมุ่งหวังผลการลงทุนในระยะยาวก็คือ การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั่นเอง

3. การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging)
คือ การกำหนดวงเงินลงทุนเป็นงวดๆ งวดละเท่าๆ กัน อาจลงทุนเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาสโดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุนจะขึ้นหรือลง เป็นการลงทุนแบบอัตโนมัติไปเรื่อยๆ

โดยตั้งเป้าหมายที่จำนวนเงินที่ต้องการลงทุนเป็นหลัก จากการที่คุณลงทุนโดยซื้อเป็นจำนวนเงินที่เท่าๆ กันทุกครั้งนี้ทำให้คุณสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้ในจำนวนมากขึ้นเมื่อหน่วยลงทุนนั้นราคาต่ำลง และซื้อหน่วยลงทุนได้ในจำนวนที่น้อยลง ในขณะที่หน่วยลงทุนนั้น มีราคาสูงข้อดีของการกระจายลงทุนแบบนี้ก็คือ ถ้าตลาดมีความผันผวนมาก หรือเป็นตลาดขาลงคุณมีโอกาสที่จะขาดทุนน้อยกว่าการลงทุนด้วยเงินทั้งหมดไปในคราวเดียว นอกจากจะ ช่วยกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง ในช่วงเวลาต่างๆ แล้วยังเป็นการสร้างวินัยในการลงทุน ไม่หวั่นไหวไปกับความผันผวนของตลาดอีกด้วย



ตัวอย่าง ลงทุนซื้อหน่วยลงทุน 2,000 บาท ทุกๆ เดือน เป็นเวลา 6 เดือน
เดือนเงินลงทุนราคาซื้อต่อหน่วยจำนวนหน่วยลงทุน
มกราคม2,00010200.00
กุมภาพันธ์2,00012166.67
มีนาคม2,00011181.82
เมษายน2,0009222.22
พฤษภาคม2,0008250.00
มิถุนายน2,0009222.22
รวม
12,000
59
1,242.93
เฉลี่ย
2,000
9.83207.16

เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging ข้างต้น กับการซื้อหน่วยลงทุนเมื่อเริ่มต้นทั้งหมดด้วยเงิน 12,000 บาทในคราวเดียวที่ราคา 10 บาท จะเห็นว่าด้วยเงินลงทุนที่เท่ากันสำหรับวิธีลงทุนครั้งเดียวด้วยเงินที่มีอยู่ทั้งหมด จะได้หน่วยลงทุนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,200 หน่วย โดยมีต้นทุนหน่วยละ 10 บาท แต่ถ้าลงทุนด้วยวิธี Dollar Cost Averaging จะซื้อหน่วยลงทุนได้จำนวน 1,242.93 หน่วย โดยมีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยเพียง 9.83 บาท จะเห็นว่าการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging นี้ แม้จะไม่ได้ทำให้คุณลงทุนได้ที่ราคาหน่วยลงทุนต่ำสุด (8 บาท/หน่วย) ทั้งหมด แต่ก็สามารถป้องกันไม่ให้คุณนำเงินลงทุนทั้งหมดที่มีไปซื้อหน่วยลงทุนที่ราคา 12 บาท/หน่วยด้วย

ดังนั้นหากคุณลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่าๆ กันแล้ว เมื่อหน่วยลงทุนราคาลดลงจะทำให้คุณซื้อหน่วยลงทุนได้ในจำนวนที่มากขึ้นและเมื่อหน่วยลงทุนราคาปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้คุณซื้อหน่วยลงทุนได้น้อยลง ซึ่งพอนำมาเฉลี่ยกันแล้วจะทำให้ต้นทุน การลงทุนของคุณไม่สูงจนเกินไป ดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์ตามจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม

ดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์ตามจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการลงทุน คือ การดำเนินการซื้อขายตามจังหวะในการลงทุน ซึ่งนับว่าเป็นเคล็ดลับในการลงทุนที่ผู้มีความเชี่ยวชาญใช้เป็นกลยุทธ์ในการหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น คำถามที่ว่า “เมื่อไรที่ควรจะเข้าลงทุนในตลาดหุ้น และเมื่อไรที่ท่านควรจะลงทุนในตลาดตราสารหนี้” หรือ “ ควรจะซื้อหุ้นนี้ ณ ระดับราคาเท่าไร” เป็นสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนต้องหาคำตอบให้ได้ โดยสามารถที่จะพิจารณาได้จากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นเข็มทิศชี้ทางว่าจะเข้าหรือออกจากตลาดหุ้น/ตลาดตราสารหนี้ โดยสามารถดูได้จากกราฟด้านล่าง


จากรูป เมื่อเศรษฐกิจเริ่มกำลังจะ ฟื้นตัว ภาคเอกชนมักจะมีอัตราเจริญเติบโต และความสามารถในการทำกำไรสูง จึงเหมาะกับการลงทุนในหุ้นสามัญ ในขณะที่เศรษฐกิจเริ่ม อิ่มตัว ตลาดหุ้นร้อนแรงเกินไป จึงควรหันมาถือทอง และอัญมณีแทน

เนื่องจากในขณะนั้นระดับราคาสินค้าจะเริ่มสูงขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงถึงขีดสุด จนธนาคารกลางต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น การถือเงินสด หรือตราสารหนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ ความมีวินัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้จัดการกองทุน เพื่อ หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ในการตัดสินใจลงทุน ตัวอย่างเช่นผู้ลงทุนส่วนใหญ่มักพากันกรูเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นที่กำลังร้อนแรง และกระโดดออกเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำที่ควรจะลงทุน โดยไม่ได้นึกถึงเหตุผลที่เป็นตัวผลักดันให้พวกเขาตัดสินใจเข้ามาลงทุนในครั้งแรก แต่มักจะปล่อยให้
ความตื่นตระหนกมาครอบงำจิตใจแทน

ทฤษฏีการทำกำไรจากราคาที่ผิดปกติ
(Arbitrage Pricing Theory: APT)

การบริหารการลงทุนแนวนี้เชื่อว่า ในบางขณะเวลาราคาหลักทรัพย์ในตลาดทุนอาจมีราคาผิดปกติ และไม่ตรงกับมูลค่าในอนาคตของหลักทรัพย์นั้น ซึ่งอาจเกิด มาจากราคาหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้สะท้อนถึงข้อมูลปัจจุบันอย่างสมบูรณ์ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ที่ผู้ลงทุน
ไม่ได้คาดการณ์มาก่อน เป็นต้น แต่ในที่สุด ผู้ลงทุนในตลาดจะเป็นผู้กำหนดราคาสมดุลของหลักทรัพย์ ในแต่ละตัวโดยการ

- ขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับหลักทรัพย์อื่น

- ซื้อหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับหลักทรัพย์อื่น จนในที่สุดการซื้อขายข้างต้น จะทำให้ราคาที่ผิดปกติ ของหลักทรัพย์ทั้งหลายวิ่งเข้าสู่ภาวะราคาสมดุล



รู้ไว้ใช่ว่า! ธุรกิจจัดการลงทุนเกิดขึ้นครั้งแรกที่ไหน?
ธุรกิจจัดการลงทุนถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ช่วงปี พ.ศ. 2423 ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีลักษณะเป็น กองทุนปิดซึ่งระดมเงินทุนจากคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อไปลงทุนในหุ้นของกิจการที่เพิ่งเปิดดำเนินการ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการออกกฎหมายใดๆ คอยคุ้มครองผู้ลงทุน การดำเนินงานของกองทุนรวมจึงขึ้นกับผู้จัดการกองทุนเพียงผู้เดียวเท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2443 นายโรเบิร์ต เฟลมมิ่ง (Mr. Robert Fleming) นักธุรกิจชาวสก๊อตได้รวบรวมเงินทุนจากคนใกล้ชิด และข้ามไปลงทุนในอเมริกา ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย จึงได้จัดตั้งบริษัทจัดการลงทุนขึ้นเป็นแห่งแรกในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยใช้ชื่อว่า Robert Fleming & Co. ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ก็ได้มีการจัดตั้งกองทุนรวมขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทจัดการ Massachusetts Investment Trust และ State Investment Trust ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจจัดการลงทุนเติบโตอย่างมากในโลกก็คงหนีไม่พ้นที่ว่าตลาดทุนมีความผันผวนมากขึ้น และตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ มีความซับซ้อนขึ้น จึงเป็นการยากที่ผู้ลงทุนรายย่อยจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้


รู้ไว้ใช่ว่า !!
ตราสารหนี้ภาครัฐจะมีความเสี่ยงในลักษณะนี้ต่ำกว่าเนื่องจาก ผู้ออกเป็นหน่วยงานภาครัฐ จึงเสมือนมี ภาครัฐรับประกัน ความสามารถในการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ดีกว่า
ดังนั้น กองทุนรวมตราสารหนี้ส่วนใหญ่จึงนิยมใช้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเป็นอัตราผลตอบแทนอ้างอิงที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk-free Rate)

คุณรู้มั้ย!
ยังมีกองทุนรวมชนิดเฉพาะเจาะจง (Specific Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆโดยมีการดำรงอัตราส่วนการลงทุนแตกต่างไปจากที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดไว้ จึงต้องมีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงเป็นพิเศษ

คุณรู้มั้ย!
กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นไม่ได้รับประกันการจ่ายคืนเงินต้นแต่อย่างใด แต่จะมุ่งลงทุนในนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินต้นคืนจากการลงทุน

รู้ไว้ใช่ว่า !!
ก่อนที่จะมีกองทุน FIF เกิดขึ้น ผู้ลงทุนไทยถูกจำกัดการลงทุนอยู่ภายในประเทศเท่านั้น ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ระบุว่า บุคคลธรรมดาไม่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ ต่างประเทศโดยตรงได้ หากมีการฝ่าฝืนถือว่ากระทำผิดกฎหมาย

รู้ไว้ใช่ว่า !!
เคล็ดลับในการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ
- มีเป้าหมายที่ชัดเจน และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
- สร้างวินัยในการออมและการลงทุน
- เริ่มต้นออมทันทีเมื่อมีโอกาส
- ปรับปรุงงบประมาณให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

รู้ไว้ใช่ว่า!!
เกี่ยวกับหนังสือชี้ชวน กรณีของกองทุนเปิด บริษัทจัดการลงทุนต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนขึ้นใหม่ทุกรอบปีบัญชี โดยต้องแสดงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ณ วันสิ้นปีบัญชีนั้นๆ อีกทั้งยังต้องระบุวันที่จดทะเบียน กองทุนรวมในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมด้วย

ข้อสังเกต
ผู้ลงทุนหลายท่านนิยมใช้ข้อมูลมูลค่าต่อหน่วยลงทุน เพื่อพิจารณาเลือกสรรหากองทุนรวมที่เหมาะสมกับตน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มูลค่าต่อหน่วยลงทุนนั้นไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของหน่วยลงทุนเลย เพียงแต่บอกว่า ณ ขณะนั้นหน่วยลงทุนมีมูลค่าเท่าใด
แต่อัตราการเติบโตของมูลค่าต่อหน่วยลงทุนต่างหาก ที่เป็นผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับและเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับการตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม

มองวิกฤตให้เป็นโอกาส !!
จังหวะในการลงทุนที่ดี เป็นอีกประการหนึ่งที่ผู้จัดการกองทุนสามารถใช้เพื่อเปลี่ยนวิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือความคาดหวังของตลาดทุนที่มีต่อข้อมูลใหม่ซึ่งประกาศออกมา เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจ ข่าวการเมืองว่าได้สะท้อนในราคา (Priced in) มากหรือน้อยเกินไป ให้เป็นโอกาสในการเข้าซื้อ/ขายหลักทรัพย์ที่มี มูลค่าต่ำ/สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=19537&p=168605#post168605
http://www.set.mut.ac.th/
 
เทคนิครับมือกับตลาดหุ้นขาลง