รู้จัก “กระต่าย” ต้อนรับปี “เถาะ” (Rabbit)



กระต่ายตาซน (จีน)



กระต่ายตาซน (ไทย)


รู้จัก “กระต่าย” ต้อนรับปี “เถาะ”
สวัสดีปีใหม่ เราก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มปีนักษัตรใหม่ “ปีเถาะ” แม้ว่าปีนักษัตรเราจะนับกันตามปีใหม่ไทย (สงกรานต์) และปีใหม่จีน (ตรุษจีน) แต่ยุคปัจจุบันเพื่อความสะดวก เราก็นับรวมเถลิงศกกันไปพร้อมๆ กับปฏิทินสากล

“เถาะ” ปีนักษัตรลำดับที่ 4 ที่มีกระต่ายเป็นสัญญลักษณ์ ตำราโหราศาสตร์บอกว่า ปีนี้เป็นปีที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดา 12 ปีเลยทีเดียว

ในแง่โหราศาสตร์ดูดวง เสิรมชะตาก็ว่ากันไป แต่เมื่อพูดถึงสัตว์สัญญลักษณ์ประจำปีอย่าง “กระต่าย” แล้ว ทำให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์สนใจศึกษาเรื่องราวของกระต่ายที่จะอยู่กับเรา (ในนาม) ไปถึง 1 ปีเต็มๆ นับจากนี้ …. ดูกันซิว่า เรารู้จักกระต่ายดีแค่ไหน

กระต่ายบ้าน
กระต่ายบ้าน-กระต่ายป่า
“กระต่าย” จัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวขนาดเล็ก ขนปุย หูยาว ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า กระต่ายถือกำเนิดมาในโลกเมื่อ 50 ล้านปีมาแล้ว บริเวณทวีปเอเชีย และอเมริกาเหนือ ทั่วโลกมีอยู่ 58 ชนิด จัดอยู่ใน วงศ์กระต่ายธรรมดา (Leporidae) 44 ชนิด และ วงศ์กระต่ายหูสั้น (Ochotonidae) อีก 14 ชนิด

กระต่ายธรรมดา มีขาหลังที่ยาว ทำให้วิ่งได้เร็ว ใบหูยาวหมุนไปมาได้ และมีหางสั้น
กระต่ายหูสั้น จะมีขาทั้งคู่หน้าและคู่หลังสั้นพอๆ กัน ใบหูจะสั้นเป็นมนกลม และจะไม่เห็นหางจากภายนอก

ในวงศ์กระต่ายธรรมดา ยังแบ่งออกเป็น กระต่ายเลี้ยง (Rabbit) ซึ่งชอบอยู่กันเป็นฝูง และ กระต่ายป่า (Hare) ที่ชอบอยู่โดดเดี่ยว

ทั้งนี้ กระต่ายที่พบอาศัยตามป่าทั่วไปในประเทศไทยมีชนิดเดียว คือ กระต่ายป่า (Lepus peguensis) ซึ่งมีขนสีน้ำตาล ใต้หางสีขาว ขุดดินเป็นโพรงอาศัย ส่วนที่นำมาเลี้ยงตามบ้าน มีหลายชนิดและหลายสี แต่ที่พบมากจะเป็นสีอ่อน เช่นสีขาว

กระต่ายเกือบจะเป็นหนู
แม้ว่ากระต่ายจะเป็น “สัตว์ฟันแทะ” ที่มีฟันหน้าขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายหนู แต่กระต่ายเป็นสัตว์ฟันแทะมีฟันหน้า 2 คู่ (lagomorph) ต่างจากพวกหนูหรือกระรอกที่มีฟันแทะคู่เดียว (rodent)

เดิมทีมีการจัดกระต่ายไว้เป็นสัตว์ฟันแทะในอันดับโรเดนเทีย (Rodentia) ร่วมกับพวกหนูและกระรอก แต่เมื่อพบว่ากระต่ายมีลักษณะหลายอย่างเป็นของตนเอง ที่แตกต่างจากพวกหนูและกระรอกมาก โดยเฉพาะกระต่ายที่มีฟันตัด2 คู่ทางด้านหน้าของขากรรไกรบนคู่ที่สองมีลักษณะเป็นปุ่มเล็กซุกอยู่ภายในคู่หน้า ในขณะที่หนูและกระรอกมีฟันตัดเพียงคู่เดียว

ขยายพันธุ์ว่องไว
ถ้าใครเลี้ยงกระต่ายคงจะทราบกันดีถึงความสามารถในการผลิตประชากรกระต่าย โดยกระต่ายบ้านสามารถผสมพันธุ์ได้บ่อย และตั้งท้องปีละหลายครั้ง

กระต่ายเลี้ยงในยุโรปตอนเหนือผสมพันธุ์ในช่วง ก.พ.-ก.ย. ออกลูกได้ 3-5 ครอก ครอกละ 5-6 ตัว สำหรับกระต่ายป่าในซีกโลกเหนือ ออกลูก 2-4 ครอก ครอกละ 1-9 ตัว ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่ในเขตร้อนกระต่ายป่าผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตัวเมียตั้งท้องเพียง 1 เดือน ปีหนึ่งจึงสามารถออกลูกได้ 4-8 ครอก ลูกกระต่ายที่มีอายุราว 6-8 สัปดาห์จะแยกจากแม่ได้และมีอายุเฉลี่ย 9-12 ปี

ทั้งนี้ ในมดลูกของกระต่ายเพศเมียจะมี 2 ช่อง นั่นหมายความว่า กระต่ายจะสามารถอุ้มท้องตัวน้อยได้ถึง 2 ครอก ที่มีอายุครรภ์ต่างกันได้ในเวลาเดียวกัน

ถ้าไม่ได้กินสิ่งที่ถ่าย มีตายแน่นอน
กระต่ายอยู่ในสภาพแวดล้อมได้หลายแบบทั้งเขตร้อนและหนาว อาหารส่วนใหญ่เป็น หญ้า พืชล้มลุก รากไม้ เปลือกไม้

เวลาอาหารของกระต่าย พวกมันจะกินหญ้าจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และขับถ่ายออกมาเป็นเม็ดแข็ง ส่วนที่เป็นเกล็ดของเสียจะไม่ถูกย่อย และเมื่อผ่านการกินอย่างหักโหมไปประมาณ 8 ชั่วโมงกระต่ายจะถ่ายมูลอ่อนออกมา ซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกับช่วงกลางคืน

มูลอ่อนดังกล่าวจะมีวุ้นเคลือบ และเมื่อเช้ามาถึงกระต่ายก็จะกินมูลอ่อนเหล่านี้ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียในมูลอ่อน เมื่อสัมผัวกับอากาศจะสร้างวิตามินบางชนิดขึ้น วิตามินเหล่านี้จำเป็นมากต่อสุขภาพของกระต่าย หากไม่ได้กินมูลอ่อนกระต่ายจะตายภายในเวลา 3 วัน

กระต่ายขาวนิวซีแลนด์ ตัวขาวตาชมพูนิยมใช้ทดลองและบริโภคเนื้อ
ใช้งานได้ทั้งในครัว-ห้องแล็บ
การบริโภคเนื้อกระต่ายเป็นที่แพร่หลายในหลายพื้นที่ ทั้งในยุโรป อเมริกาทั้งตอนเหนือและใต้ รวมถึงตะวันออกกลาง

แม้ว่าปัจจุบันในอังกฤษจะไม่มีเนื้อกระต่ายวางขายในซุเปอร์มาร์เก็ต แต่ตามร้านขายเนื้อหรือตลาดพื้นเมืองยังมีให้เห็นกันอยู่อย่างแน่นอน โดยร้านจะห้อยกระต่ายตายแล้วที่ยังไม่ได้แล่โชว์กันให้เห็นอันเป็นสไตล์

ที่ซิดนีย์ เคยนิยมกินกระต่ายกันมาก ถึงกับมีชื่อทีมรักบี้ว่า “เซาธ์ ซิดนีย์ แรบบิโทธส์” (South Sydney Rabbithos) แต่ความนิยมบริโภคกระต่ายในซิดนีย์ต้องหมดไป เมื่อเหล่ากระต่ายเลี้ยงโดนโรคระบาดคุกคาม

อย่างไรก็ดี ในแถบภูมิภาคอินโดจีนไม่นิยมกินกระต่าย แต่ก็ใช้กระต่ายเป็นอาหารสำหรับงูใหญ่

กระต่ายทั้งถูกล่าด้วยปืน และส่วนที่เลี้ยงก็จะถูกฆ่าด้วยการทุบด้านหลังหัว เนื้อกระต่ายมีโปรตีนสูง ปรุงอาหารได้หลากหลายชนิดแบบเดียวกับเนื้อไก่ ซึ่งเนื้อกระต่ายที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ “กระต่ายขาวนิวซีแลนด์”

และกระต่ายขาวนิวซีแลนด์นี้ ก็ยังได้รับนิยมนำไปศึกษาและวิจัย ทั้งทางด้านพยาธิวิทยาเพราะเป็นแหล่งของสารที่เร่งให้เกิดลิ่มเลือด ด้านสรีรวิทยาการสืบพันธุ์ ต่อมไร้ท่อ รวมทั้งใช้ทดสอบความปลอดภัยของยาชนิดต่างๆ วัคซีน และทดสอบความเป็นพิษ

บอบบางตายง่าย?
กระต่ายขยายพันธุ์ง่าย และก็ตายง่ายไม่แพ้กัน ผู้เลี้ยงกระต่ายทราบดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน ที่กระต่ายอาจเกิดอาการช็อคตายได้ง่าย เพราะกระต่ายไม่มีต่อมเหงื่อ ระบายความร้อนได้ยาก เมื่ออากาศร้อนกระต่ายจะต้องหายใจถี่ขึ้น ที่จมูกจะสั่นเร็วขึ้น รวมถึงที่เส้นเลือดแดงใหญ่กลางหูจะช่วยทำงานระบายความร้อนมากขึ้น แต่ก็ยังระบายความร้อนไม่ทัน จึงทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงจนช็อคตาย

อย่างไรก็ดี การให้น้ำกระต่ายเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะกระต่ายต้องการใช้ระบายความร้อน แต่ส่วนใหญ่ที่เราเลี้ยงกระต่ายกันก็ให้ผักหญ้า ซึ่งพืชพวกนี้มีน้ำสะสมอยู่ในระดับหนึ่ง ทำให้บางครั้งกระต่ายก็ไม่ต้องการน้ำเพิ่ม แต่หลายคนอาจมีความเชื่อว่าการให้น้ำกระต่าย อาจเป็นเหตุให้กระต่ายตายได้ นั่นอาจจะเป็นเพราะความสะอาดของน้ำหรือภาชนะบรรจุ

นอกจากนี้ ในการจับกระต่าย ไม่ใช่จับที่หูแล้วดึงขึ้นมา เพราะถ้ากระต่ายตัวใหญ่และมีน้ำหนักมาก อาจทำให้เนื้ออ่อนบริเวณหูฉีกขาดได้ แต่ให้ค่อยๆ ประคองตัวลักษณะเหมือนอุ้มเด็ก และให้ทำด้วยความนุ่มนวล โดยเฉพาะหากกอดรัดที่บริเวณท้องอย่างรุนแรงก็จะทำให้กระต่ายได้รับอันตรายถึงตายได้

ปัจจุบัน กระต่ายกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อมนุษย์นำออกจากป่าไปเลี้ยงและกระต่ายขยายพันธุ์เร็วเกินกว่าจะรับภาระไหว จึงพากระต่ายกลับไปปล่อยแต่ก็กลับไปไม่ถึงป่า ส่งผลให้กระต่ายสร้างปัญหาต่อเรือกสวนไร่นา โดยเฉพาะแนวคันนาหรือสวนที่นิยมใช้หญ้าทำเป็นแนว กลับกลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้เหล่ากระต่าย

อย่างไรก็ดี ปัญหาประชากรกระต่ายก็ยังคงสร้างความยุ่งยากให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่แม้ไม่ใช่แหล่งกำเนิดของกระต่าย กลับมีปัญหากับการรุกล้ำพื้นที่ของกระต่ายไม่น้อย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ได้จัดให้กระต่ายเป็น “ศัตรูพืช” ชนิดหนึ่ง เจ้าของที่สามารถจัดการและควบคุมได้โดยถูกกฎหมาย

ส่วนพฤติกรรมของกระต่ายดูเหมือนจะตื่นเต้นตกใจง่ายนั้น เป็นไปตามสัญชาติญาณระวังภัย คำว่า “กระต่ายตื่นตูม” เป็นสำนวนที่มาจากนิทานชาดก อ้างถึงสมัยพระพุทธเจ้า ซึ่งสามารถหาอ่านกันได้


นิทาน ชาดก กระต่ายตื่นตูม ตอนที่ 1


นิทาน ชาดก กระต่ายตื่นตูม ตอนที่ 2

ส่วนปีเถาะหนนี้เราจะเป็น “กระต่ายตื่นตัว” ประกอบกิจการงานและใช้ชีวิตอย่างมีสติก็คงจะดีไม่น้อย.

กระต่าย"ฮอร์แมน" หนัก 7.7 ก.ก. หูยาว 21 ซ.ม. และตัวยาว 1 ม.

ตัวอ่อนกระต่ายที่เพิ่งคลอดได้ 1 ชม.

ดวงจันทร์ (ซ้าย) พร้อมทาบกราฟิกตามจินตนาการกระต่ายบนดวงจันทร์ (ขวา)

ลักษณะการอุ้มกระต่ายที่ถูกต้อง จับคอเพื่อประคองใช้มือช้อนก้น และแนบตัวให้หัวซุกเข้าลำตัว (fauvet.fau.edu)

ปะติมากรรมกระต่ายในแคลิฟอร์เนีย แรงบันดาลใจจากตำนานเทพกระต่าย
(Bill Bowman / champaign411.com)


เรื่องน่าสนของ "กระต่าย"
สถิติโลกบันทึกไว้ว่ากระต่ายกระโดดได้สูงที่สุด 1 เมตร
บันทึกเล่มเดียวกันก็ยังบอกไว้ว่า กระต่ายกระโดดได้ไกลที่สุด 3 เมตร
กระต่ายครอกที่ใหญ่ที่สุด คือคลอดออกมา 24 ตัว มีบันทึกไว้ถึง 2 ครั้งในปี 1978 และ 1999
หูกระต่ายที่ยาวที่สุดในโลกคือ 31.125 นิ้ว เป็นกระต่ายอเมริกัน
กระต่ายที่อายุยืนที่สุดคืออยู่ได้ถึง 19 ปี
กระต่ายที่หนักที่สุดในโลกมีน้ำหนัก 12 กิโลกรัม
กระต่ายป่าที่เล็กที่สุดในโลกคือพันธุ์ปิกมี่ หรือ ลิตเติ้ลไอดาโฮ ในสหรัฐอเมริกา มีน้ำหนักน้อยกว่าครึ่งกิโลกรัม
กระต่ายจะตื่นตัวอย่างยิ่งในช่วงเช้าตรู่และยามเย็นโพล้เพล้
กระต่ายมองเห็นด้านหลังได้โดยไม่ต้องหันหัว
กระต่ายมีสีขนมากถึง 150 สี แต่มีสีตาเพียง 5 สี คือ น้ำตาล, น้ำเงิน-เทา, น้ำเงิน,ชมพู (แดง), และลูกแก้ว
กระต่ายตัวขาวตาแดง เพราะดวงตาของกระต่ายสีขาวอย่างพันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์หรือแคลลิฟอร์เนียน ไม่มีเม็ดสี ทำให้เห็นเส้นเลือดสีแดงในตาซึ่งจะ สะท้อนแสงให้เราเห็นตากระต่ายเป็นสีแดง

กระต่ายในตำนาน และความเชื่อของชนชาติต่างๆ
"กระต่าย" ไม่ได้เป็นตำนานความเชื่อแต่ในแถบบ้านเรา แต่ก็ยังเป็นสัตว์ที่มีเรื่องเล่าและตำนานอยู่ในหลายชาติ ทั้งในแง่ลบและสร้างสรรค์แตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่มีกระต่ายเกี่ยวข้องกับภูมิหลังที่คู่ขนานไปกับการพัฒนาของเผ่าพันธุ์ ไปดูความเชื่อของแต่ละชนชาติที่วิกิพีเดียรวบรวมไว้เกี่ยวกับกระต่ายกัน

* แอซเท็ค มีวิหารเทพกระต่าย 400 องค์ "เซ็นต์ซอน โตต็อชติน" (Centzon Totochtin) และยังมีเทพกระต่ายอีก 2 องค์ชื่อ "โอเมต็อชตลิ"(Ometotchtli) เป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์, การเฉลิมฉลอง และความมึนเมา

* แอฟริกากลาง มีกระต่าย "กาลูลู" (Kalulu) มีบุคคลิกฉลาดแกมโกง มีความสามารถในการต่อรอง

* จีน กระต่ายมีความเกี่ยวพันกับดวงจันทร์ และยังเชื่อมโยงกับปีใหม่จีน กระต่ายยังเป็นหนึ่งในสัตว์ 12 นักษัตริย์ในปฎิทินจีน อีกทั้งเวียดนามก็ยังใช้กระต่ายแทนแมวเป็นสัญญลักษณ์ในปีนักษัตริย์ ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีกระต่ายอาศัยอยู่

*ญี่ปุ่น คนที่นี่เชื่อว่ากระต่ายอยู่บนดวงจันทร์และกำลังทำแป้งโมจิอยู่บนนั้น ความเชื่อนี้มาจากการสังเกตเห็นเงาบนดวงจันทร์ผนวกกับจินตนาการที่มีลักษณะคล้ายกระต่ายกำลังถือสากยักษ์ตำครกกระเดื่อง

*เกาหลี มีตำนานคล้ายกับญี่ปุ่น ที่เห็นกระต่ายกำลังตำแป้งอยู่บนดวงจันทร์ แต่ว่ากระต่ายเหล่านั้นกำลังทำ "ต็อก" เค้กข้าวของชาวเกาหลี

* ตะวันออกไกล ชาวยิวบอกว่ากระต่ายหมายถึงความขี้ขลาด รวมถึงชาวอิสราเอลที่พูดภาษาฮิบรูก็มีคำว่า "กระต่าย" อันหมายถึง "ขี้ขลาด" เช่นเดียวกับคำว่า "ชิกเก้น" ที่แปลตรงๆ ว่าไก่ในภาษาอังกฤษ

* อเมริกากลาง ชนเผ่าโอจิบวี (Ojibwe) ชาวอเมริกันดั้งเดิมมีนานาโบโซ (Nanabozho) หรือเทพกระต่ายผู้ยิ่งใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโลก

* เวียดนาม มองกระต่ายเป็นสัญญลักษณ์แห่งความไร้เดียงสาและอ่อนเยาว์ มีภาพเหล่าทวยเทพขณะกำลังไล่ล่ากระต่าย ก็เพื่อแสดงให้เห็นพละกำลังของเทพทั้งปวง

* เกาะพอร์ทแลนด์ ในดอร์เซ็ต สหราชอาณาจักร ก่อนหน้านี้ชาวเมืองเห็นว่า กระต่ายเป็นสัตว์โชคร้าย และการพูดคำว่า “กระต่าย” จะทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเป็นอันตราย ดังนั้นถ้าใครจะพูดถึงกระต่ายก็จะใช้คำเลี่ยง เช่น เจ้าหูยาว แต่ช่วง 50 ปีหลังมานี้ความเชื่อดังกล่าวก็หายไป ผู้คนบนเกาะสามารถพูดคำว่า “กระต่าย” ได้อย่างเต็มปาก และ “เจ้าหูยาว” ก็กลายเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา

*ตีนกระต่าย เป็นเครื่องรางที่เชื่อว่าจะนำโชคให้แก่ผู้พกพา ซึ่งความเชื่อนี้มีอยู่ทั่วโลก และพบหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในยุโรปช่วง 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช

สัญลักษณ์โบราณกระต่ายป่า 3 ตัว (The Three Hares) มีหูที่เชื่อมกันอยู่เป็นรูปสามเหลี่ยมและกำลังวิ่งไล่กันเป็นวงกลม เป็นความเคลื่อนไหวแบบไม่มีที่สิ้นสุด พบในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายประเทศ

ภาพจารึกเทพเจ้ากระต่าย (Nanabozho) ตามความเชื่อของชาวอเมริกันดั้งเดิม พบบนแผ่นหินในแคนาดา

วิธีการเลี้ยงกระต่ายและทำความเข้าใจกับนิสัยเจ้าตัวน้อย
กระต่ายตัวเล็กๆที่นอนอยู่ในกรงขนาดเดียวกับตัว แทบกระดิกไม่ได้ ถูกวางขายตามตลาดนัด,ริมถนน 95%ล้วนเป็นกระต่ายเด็กทั้งสิ้น ไม่มีคนซื้อก็ไม่มีคนขายนะคะ

กระต่ายเด็ก คืออะไร
คือกระต่ายที่ยังไม่หย่านมแม่ ไม่ได้รับสารอาหารที่ต้องการ ร่างกายจึงยังไม่แข็งแรง กระต่ายที่โตถึงวัยที่เหมาะสมพอจะซื้อมาเลี้ยงต้องอายุ 1 เดือนครึ่งขึ้นไป
แล้วคุณจะรู้ได้ยังไงล่ะ ว่ากระต่ายที่คุณกำลังจะจ่ายเงินซื้อนั้น อายุถึงแล้ว? เอาวางบนฝ่ามือของคุณถ้าเล็กกว่า+ตาปรือๆดูไม่มีแรง ก็คือยังอายุไม่ถึง ทีนี้คนขายก็จะบอกกับคุณ (เพราะเค้าอยากจะขาย)ว่า " น้อง นี่มันกระต่ายแคระตัวก็เลยเล็กน่ะ โตกว่านี้อีกนิดเดียว รับรองตัวไม่ใหญ่ "

หลายๆคนที่หลงเชื่อ ซื้อกลับไปก็จะพบว่า เลี้ยงๆไปตัวมันใหญ่กว่าแมวที่บ้านอีกเนี่ย ส่วนมากแล้วจะเป็นกระต่ายพันธุ์ไทยค่ะ โตมาตัวใหญ่ หูงี้ยาวเชียวแหละ

**กระต่ายแคระจริงๆมีค่ะแต่ไม่ได้ขายราคา80-150 หรอกนะคะ ราคาหลักพันค่ะคือ nd ( Netherland Dwarfs)

คนขายเชื่อไม่ได้ หลังจากโกหกอายุแล้ว เค้าจะบอกวิธีเลี้ยงส่งๆไป เช่น ให้อาหารเม็ดอย่างเดียวก็ได้ หรือถ้าอยากให้ผักก็ให้ได้หมดทุกอย่าง เลี้ยงง่ายค่ะ ขอบอกว่าไม่จริง

ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการเลี้ยงกระต่าย
จับหูกระต่าย ขอบอกว่าถึงตายเชียวค่ะ หูของกระต่ายมีเส้นประสาทเยอะมาก การจับหูหิ้ว จะเจ็บ และถึงกับตายได้

วิธีอุ้มกระต่าย
แต่เดิมตั้งแต่โปราณมา เพื่อนๆ หลายๆนคน คงจะได้ยินกันมาเหมือนเรา ว่ากระต่าย ต้องหิ้วหู และก็จดจำมา แต่ที่จริงแล้ว กระต่าย ห้ามหิ้วหูโดยเด็ดขาดพราะว่าหูกระต่ายบอบบางมาก หากเรามองส่องกับแสงแดด เราจะเห็นเส้นเลือดตรงใบหูเต็มไปหมด นั่นก็เพราะว่าหูกระต่ายบาง การที่เราหิ้วหูนั้น เป็นอันตรายเพราะเท่ากับ เราให้หูกระต่ายที่บางๆ แบบนั้นรับน้ำหนักทั้งตัวของกระต่าย ผลคือ ทำให้กระต่ายบาดเจ็บ โดยในบางกรณีกระต่ายจะดิ้น และทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนและเป็นอัมพาตได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงควรจะเรียนรู้วิธีอุ้มที่ถูกต้อง เพราะว่าการอุ้มแบบถูกวิธี จะทำให้กระต่ายรู้สึกปลอดภัย และไม่ดิ้น หรือข่วนตะกุย กัด

อย่าจับท้อง จริงๆแล้วจับได้ค่ะ แต่พอประมาณนะ จับท้องน่ะเค้ารำคาญ ก็เหมือนคน เวลาใครมาจับท้องเรา เราจะจั๊กกะจี๋หรือรำคาญนิดๆใช่มั้ยล่ะคะ

อย่าจับเค้าบ่อยๆ เดี๋ยวเฉามือ จับได้ค่ะ กระต่ายเค้าชอบให้เราลูบตัวเบาๆ บางตัวถึงกับเคลิ้มเลยนะคะ เอานิ้วเกาหลังคอเบาๆ เพราะส่วนนั้นเค้าเลียตัวเองไม่ค่อยถึงน่ะค่ะ



อาหารของกระต่าย
อาหารของกระต่ายตามช่วงอายุ
แรกเกิดถึง 1 เดือนครึ่ง - นมแม่กระต่าย (ถ้าแม่ไม่เลี้ยงหรือน้ำนมไม่พอให้ป้อนนมแพะแทน)
1 เดือนครึ่ง - 2 เดือน - นมแม่กระต่าย เสริมด้วยหญ้าแห้งแพงโกล่า อัลฟัลฟ่า และอาหารเม็ด
2 เดือน - 4 เดือน - หญ้าแห้งแพงโกลา อัลฟัลฟ่า อาหารเม็ด
4 เดือน - 6 เดือน - หญ้าแห้งแพงโกลา อัลฟัลฟ่า อาหารเม็ด หญ้าขน ผักต่างๆ
6 เดือน - 1 ปี - หญ้าแห้งแพงโกลา หญ้าแห้งทิโมธี หญ้าขน ผักต่างๆ อาหารเม็ดลดน้อยลง งดอัลฟัลฟ่า
1 ปีขึ้นไป - หญ้าแห้งแพงโกลา หญ้าแห้งทิโมธี หญ้าขน ผักต่างๆ อาหารเม็ดแค่หยิบมือเล็กๆหรืองดให้

อาหารของกระต่าย
ผักที่ปลอดภัย - ผักกาดหอม ผักกาดขาว กวางตุ้ง คะน้า ผักชีฝรั่ง ใบบัวบก แครอท (กะเพราให้อาทิตย์ละครั้ง ครั้งละ 2-3 ใบ เพื่อช่วยเสริมในการแก้ท้องอืด)

ผักอันตราย - ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักกาดแก้ว กระถิน
ผลไม้ที่ปลอดภัย - แอปเปิล สาลี่ ฝรั่ง ชมพู่ มะละกอ สับปะรด และผลไม้ตระกูลเบอรี่ต่างๆ
ผลไม้อันตราย - กล้วย ส้ม ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว

การให้ผลไม้กระต่าย ควรให้สัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 1-2 ชิ้นเล็กๆเท่านั้น

หญ้า
หญ้ามีหลายชนิด ที่หาง่ายได้ทั่วไปก็คือ หญ้าขน สามารถจะไปตัดได้จากข้างทาง ลักษณะหญ้าขนก็คือ หญ้าที่เป็นขนๆ นั่นหละ นอกจากหญ้าขนแล้วก็จะมีหญ้าอีกหลายๆชนิดที่มีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด เช่น หญ้า timothy หญ้า แพงโกล่า และ หญ้า อัลฟาฟ่าค่ะ โดยที่หญ้าแต่ละชนิดจะมีสารอาหารไม่เหมือนกัน หญ้าอัลฟาฟ่า จะมีโปรตีน และ แคลเซี่ยมสูงที่สุด เหมาะสำหรับกระต่ายที่กำลังเจริญเติบโต ที่อายุไม่ถึง 1 ปี หรือกระต่ายที่กำลังอุ้มท้องค่ะ ส่วนหญ้าอื่นๆ ก็ควรจะให้ เพราะว่า มีกากใย หรือไฟเบอร์สูง ซึ่งจำเป็นต่อระบบย่อยอาหารของสัตว์กินพืช อย่างกระต่าย 2. อาหารเม็ด
อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายมีหลายยี่ห้อ ควรจะเลือกที่อายุไม่เกิน 6 เดือน การกินอาหารเม็ดมากเกินไป จะทำให้กระต่ายอ้วน และไม่แข็งแรงค่ะ ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อกระต่ายอายุเกิน 7 เดือน เราควรจะเริ่มจำกัดอาหารเม็ด อย่าให้กินมากเกินไป เวลาเลือกอาหารเม็ดควรจะเลือกที่ มีโปรตีน และกากใยสูง และเลือกที่ไขมันไม่สูง โดยทั่วไปจะนิยมให้อาหารเม็ดวันละ 2ครั้งคือเช้าและเย็น

ผักและผลไม้
เมื่อกระต่ายอายุน้อยๆ คืออายุต่ำกว่า 3 เดือนยังไม่ควรให้ผักผลไม้ โดยเฉพาะผักที่มีน้ำมาก เพราะจะทำให้ท้องเสีย ซึ่งภาวะท้องเสีย สำหรับกระต่ายนั้น ถือว่าอันตรายมาก เพราะว่ากระต่ายจะเสียน้ำและมีตายในเวลารวดเร็ว หลังจากกระต่ายอายุเกิน 3 เดือน เราสามารถจะเริ่มให้ผักผลไม้ได้ แต่ว่าควรจะค่อยๆให้แค่น้อยๆ ให้กระต่ายปรับตัวก่อน ผักที่กระต่ายกินได้ ก็เช่น แครอท บร็อคเคอรี่ ผักชีฝรั่ง เป็นต้น

ขนม
ขนม หรือที่ฝรั่งนิยมเรียกเก๋ๆ ว่า Treat นั้น สามารถจะให้ได้ค่ะ แต่ว่าไม่ควรให้บ่อยเกินไป ไม่ใช่ว่าให้กินขนมเป็นอาหารหลัก แบบนี้ไม่ถูกต้อง

น้ำ
น้ำเป็นสิ่งจำเป็น เราต้องมีน้ำสะอาดไว้ในกรงให้กระต่ายกินได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ เราควรจะใช้กระบอกน้ำ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี

ให้กินผักบุ้ง ถั่วฝักยาว กระถิน แตงกวา กะหล่ำปลี ตายแน่ๆค่ะ ผักบุ้งทั้งไทยและจีนมียางค่ะ อย่าไปให้เค้าเลย, แตงกวา น้ำเยอะ ท้องเสียได้ , กระถิน มีพิษ ท้องร่วง , ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ท้องอืด

ให้กระต่ายกินนม ถ้าซื้อมาจากร้านแล้วถึงจะยังไม่หย่านมแม่ แต่เค้าก็ถูกที่ร้านจับหย่านมแล้วค่ะ ห้ามให้นมอีกเด็ดขาด เพราะจุลินทรีย์ในการย่อยนมของเค้าหมดไปแล้ว ถ้าคุณให้นมเค้าจะท้องเสียนะคะ

ให้กินขนมของคน เช่น ป๊อกกี้ หมูปิ้ง ข้าวสุก ขนมปัง เค้ก ช็อกโกแลต ห้ามเด็ดขาดนะจ๊ะ
เนื่องจากเค้าเป็นสัตว์ที่มีกระเพาะหมัก ย่อยได้แต่หญ้าและผัก เนื้อสัตว์และแป้งเป็นของต้องห้าม (บางคนบอกว่ามันน่ารักดีกินขนม บางคนก็รู้ว่าไม่ดี แต่บอกว่าเห็นมาดมๆขอกินก็ใจอ่อนให้ แต่ให้ไม่เยอะหรอกนะ)
จะมากจะน้อยก็ไม่เป็นผลดีกับเค้า คุณอาจบอกว่าให้แล้วก็อยู่ได้ไม่เห็นตายนี่ ถูกค่ะ ยังไม่ตาย แต่อายุก็คงไม่ยืน ถ้าอยากให้เค้าอยู่กับเรานานๆก็หยุดตามใจเค้าเถอะค่ะ กระต่ายเนี่ยส่งอะไรให้เค้าก็กินหมดแหละ

อย่าเปลี่ยนอาหารกะทันหันเค้าอาจท้องเสียได้ ค่อยๆผสมอาหารเดิมกับอาหารใหม่ เพื่อให้ร่างกายเค้าค่อยๆปรับตัวนะคะ

ให้น้ำจากกระบอกดีกว่าใส่ถ้วย นอกจากจะหกง่ายแล้ว การเอาหน้าจุ่มกิน จะทำให้ปากและคอเปียกชื้น เสี่ยงต่อการเป็นหวัดและเชื้อราได้ค่ะ

ข้าวโพดไม่ควรให้กินค่ะ ถ้ากระต่ายยังเด็ก ไม่เกิน 4 เดือน อาหารที่ให้คือ อาหารเม็ด หญ้าแห้ง น้ำ สำหรับอาหารเม็ดให้เป็นเวลานะคะ เช้า เย็น ไม่ใช่ว่าหมดแล้วเทเติมตลอด ไม่ดีค่ะ

ให้อยู่แต่ในกรง ถ้าให้คุณอยู่แต่ในห้องนอนห้ามออกไปไหนจะอึดอัดมั้ยคะ เช่นกันค่ะ เค้าก็อยากออกมาวิ่งเล่นบ้าง เป็นการออกกำลังกายด้วยนะคะ
ปล่อยวิ่งเล่นเป็นบางเวลาก็พอค่ะ เช่น กลับมาจากที่ทำงานแล้วค่อยปล่อยเค้า ก่อนคุณนอนก็ค่อยเก็บเข้ากรง เป็นต้น ทั้งนี้จัดสรรเวลาตามสะดวกนะคะ

นิสัยของกระต่าย
กระต่ายก็คือกระต่าย ไม่ใช่หมาแมว จะให้เรียกแล้วมาหา ยากค่ะ เป็นบางตัวเท่านั้นแล้วแต่อารมณ์ของเค้าด้วยนะ

เนื่องด้วยวงจรชีวิตเค้าจะเป็นสัตว์ที่ถูกล่า ดังนั้นแม้ว่าจะป่วย เค้าก็จะไม่แสดงอาการให้เห็น เมื่อเจ้าของมารู้อีกทีก็จะเป็นมากแล้วหรือบางครั้งก็มักจะสายเกินไป
ดังนั้นจึงควรพาเจ้าตัวน้อยไปตรวจสุขภาพกับคุณหมอเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญสัตว์เล็กนะคะ

ชอบอยู่ในที่แคบๆและมุมมืด เพราะเค้ารู้สึกปลอดภัย

กลางวันนิ่ง กลางคืนคึก เพราะกระต่ายเป็นสัตว์หากินกลางคืนค่ะ กลางคืนเค้าอาจจะซนหรือทำเสียงดัง ให้คุณหงุดหงิด อย่าโกรธเค้าเลยนะคะ ต้องเข้าใจว่าเป็นนิสัยเค้า เหมือนกับคนที่ตื่นเช้า หลับกลางคืนจ้า

กระต่ายเป็นสัตว์อายุยืน 4-10 ปีขึ้นไป ดังนั้นก่อนเลี้ยงต้องคิดให้ดี ถ้าคุณจะต้องย้ายอพาร์ทเม้นท์ หรือไปอยู่ต่างจังหวัด หรือในอนาคตต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ เค้าจะต้องถูกทอดทิ้งซึ่งน่าสงสารมากๆเลยค่ะ

กระต่ายอาจจะออกลูกได้ถึง 1-14 ตัวขึ้นไปในครอกเดียว (กรณี 21 ตัวเคยเกิดมาแล้ว)และถ้ามีการผสมต่อหลังคลอดก็จะติดทันที ดังนั้นหากไม่ต้องการมีภาระเลี้ยงลูกกระต่าย ต้องพาไปทำหมันหรือแยกกันปล่อยวิ่งนะคะ

อึกระต่ายไม่เหม็น (ยกเว้นอึพวงองุ่นซึ่งกระต่ายจะกินเข้าไปใหม่อีกครั้ง กินจากก้นเลยค่ะ ที่อยู่ข้างนอกเก็บทิ้งได้เลยจ้า) ฉี่ถ้าทิ้งไว้นานฉุนเอาเรื่องค่ะ
หมั่นทำความสะอาดก็จะไม่เหม็นนะคะ ตัวเค้าก็ไม่เหม็นค่ะ เพราะกระต่ายจะเลียทำความสะอาดตัวเองตลอด แต่ถ้าสถานที่เลี้ยงเค้าเหม็นเพราะคุณไม่หมั่นทำความสะอาด ตัวเค้าก็จะเหม็นแน่ๆค่ะ

การอาบน้ำกระต่าย สามารถทำได้ แต่ไม่บ่อยนะจ๊ะ 3-4 เดือนอาบสักที และต้องเป่าให้แห้งด้วยนะ เดี๋ยวจะเป็นหวัด

ต้อนรับสมาชิกใหม่ คุณต้องให้เวลาค่ะ การเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ เค้าต้องใช้เวลาในการปรับตัว อย่าไปยุ่ง ไปวิ่งไล่จับ ปล่อยเค้าสักพัก ทำเหมือนไม่มีเค้าอยู่ ปล่อยให้เค้าวิ่งเล่น สำรวจสถานที่ และเข้าหาเราเอง เมื่อเค้ามาดมๆ เกาะขาเรา ก็ค่อยๆลูบตัวเบาๆ คือรอให้เค้าไว้ใจเราก่อนน่ะค่ะ แล้วทีนี้ก็เริ่มทำความรู้จักกับเค้าได้เลยน้า
**แนะนำว่าให้เค้าอยู่ในกรงก่อนสัก 1 อาทิตย์ แล้วค่อยปล่อยออกมา

หากเลี้ยงที่ระเบียง หามุ้งมาครอบกรงกันยุงและแมลงต่างๆ ระวังมดด้วยนะคะ ผิวหนังกระต่ายบอบบางมากค่ะ อย่าลืมทำที่กั้นเพื่อกันฝนด้วยละ
ที่สำคัญกระต่ายเป็นนักกระโดดสูงกว่าที่เราคิดไว้ นำสิ่งของที่คิดว่าเค้าจะกระโดดขึ้นไปถึงระเบียงได้ออกด้วยค่ะ กรณีกระต่ายตกตึกมีมาแล้วหลายราย ส่วนมากไม่รอดค่ะ ที่รอดชีวิตมาก็ขาหัก พิการตลอดชีวิต และอายุไม่ยืน

หมา แมว ศัตรูอันดับ 1 ของกระต่าย
มีหลายรายอีกเช่นกันที่หมาแมวที่ตัวเองเลี้ยงไว้ กัดน้องกระต่ายตาย บางทีเค้าอาจจะเล่น แต่มันแรงไปสำหรับกระต่ายนะคะ แมวข้างบ้านก็เช่นกัน มาคาบไปต่อหน้าต่อตาเจ้าของ หายไปเลยค่ะ
มีหลายรายที่เลี้ยงกระต่ายรวมกับหมา แมวได้ ไม่มีปัญหา จริงค่ะ แต่ส่วนมากจะเลี้ยงกระต่ายก่อนแล้วค่อยเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นทีหลัง แต่ทั้งนี้ก็มีวิธีที่จะเลี้ยงรวมกันได้ ขึ้นอยู่กับนิสัยแต่ละตัว รวมถึงเจ้าของระมัดระวังและควบคุมสัตว์เลี้ยงด้วยค่ะ

เวลาเดินในบ้าน โปรดใช้ความระมัดระวังด้วยนะคะ เนื่องจากเค้าเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ในขณะที่ปล่อยวิ่งเล่น เราอาจจะเผลอเหยียบเค้าได้ เพราะเจ้ากระต่ายเนี่ยวิ่งเร็วมากนะคะ เผลอแปบเดียวมาอยู่ข้างหลังเราแล้ว

สายไฟ กล่องกระดาษ รายงาน ชีทต่างๆ ยางลบ หนังสติ๊ก เศษลวดเย็บกระดาษ และอื่นๆ เก็บให้หมดค่ะ ยกขึ้นไว้ที่สูงเลย สัตว์ฟันแทะเนี่ย เป็นธรรมชาติของเค้าค่ะ เจ้าของจะมาโกรธหรือหงุดหงิดไม่ได้นะคะ
ย้ำค่ะว่าต้องเก็บให้หมด โดยเฉพาะสายไฟ ไฟดูดเค้าได้เลยนะคะ เดี๋ยวนี้มีปลอกพันสายไฟขายแล้วค่ะ แก้ปัญหาได้ง่ายๆเลยนะ ส่วนจุดที่ไม่สามารถ เช่นซอกหลังตู้เย็น เป็นต้น ใช้วิธีหาอะไรมาอุดค่ะ
เค้ามีความสามารถมากๆนะคะ คนเลี้ยงก็ต้องตามอุดรูกันไปแหละ

กระต่ายชอบอากาศปกติ ถ้าเปิดแอร์ก็อย่าให้หนาวจัด จะเป็นหวัดและแพ้อากาศได้ สังเกตุดูว่าเค้าเริ่มจามหรือมีน้ำมูกตอนอากาศเย็นแค่ไหน การจับหูว่าร้อนหรือเย็นเกินไปก็บอกได้ค่ะ
***สำหรับในที่ที่มีลมโกรก ไม่ควรอย่างยิ่งค่ะ ถ้าจะเปิดพัดลมให้ก็อย่าจ่อ แต่ให้เปิดส่ายนะคะ

มาหาของเล่นให้น้องต่ายกันเถอะ
กระต่ายของเพื่อนๆ มีของเล่นหรือยัง ใครๆก็อยากจะให้น้องต่ายของตัวเองมีความสุขกันทั้งนั้นแหละ แต่พอถามถึงของเล่นของกระต่าย ส่วนใหญ่จะอึ้งๆๆๆๆๆ และก็ถามกลับมาว่า “กระต่ายมีของเล่นด้วยเหรอ ไม่ใช่แฮมสเตอร์นะ จะได้ปั่นวงล้อ” ที่จริงแล้ว กระต่ายเอง ก็มีของเล่นได้ การเลือกของเล่น เลือกแบบที่ไม่มีสีดีกว่า หรือหากมีสีก็ควรจะเป็นสีผสมอาหารนะคะ ประเภทไม้ที่ชุบสีทาบ้านเนี่ย ไม่ดี เป็นอันตรายกับกระต่าย


วันนี้มีของเล่นของกระต่ายมาฝาก เผื่อใครสนใจ
- แกนทิชชู่
ใส่เอาไว้ในกรงก็ได้ กระต่ายจะแทะเล่นหรือไม่ก็เอามาเหวี่ยงเล่นอีกด้วย

- กล่องกระดาษ
เอาแบบแข็งๆ แข็งแรงๆ เอามาเจาะเป็นรูประตูเข้าออก แค่ ใช้เป็นที่หลบได้ กระต่ายจะมุดเข้าไปสำรวจ และอาจจะแทะเล่นอีกด้วย ที่อยากให้หาเป็นกล่องแข็งๆ เพราะว่า บางทีกระต่ายจะปีนขึ้นไปบนหลังกล่อง กลัวว่าจะคว่ำลงมา ใครมีไอเดียเจ็งๆ ฝีมือดีๆ จะตกแต่งบ้านกระดาษให้สวยถูกใจน้องกระต่ายก็ทำได้

-ไม้ลับฟัน
ไว้ให้กระต่ายลับฟันเล่น ป้องกันฟันยาวได้อีกด้วย

-พวกผ้าขนหนูเก่าๆ
ก็มีประโยชน์ค่ะ เอาไว้ให้มุดเล่น หรือ ดึงเล่น แต่อย่าทิ้งไว้ในกรง เพราะว่ากระต่ายอาจจแทะเอาผ้าเข้าไป และย่อยไม่ได้ เป็นต้น

รู้ไหมว่า ... มีโรค "ไข้กระต่าย" ด้วย
นอกจากเชื้อไข้หวัดจากนกที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษกันแล้ว สำหรับผู้ที่บริโภคหรือคลุกคลีกับ "กระต่าย" ก็ต้องระวังเชื้อโรคจากกระต่ายเช่นกัน

"โรคไข้กระต่าย" (Rabbit Fever) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ "โรคทูลาเรเมีย" (Tularemia) ตามข้อมูลของ นสพ.ธีรศักดิ์ ชักนำ สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ถึงคน ที่มีอันตรายสูงโรคหนึ่ง เนื่องจากสามารถติดต่อทางละอองฝอยได้ และสามารถใช้เป็นอาวุธชีวภาพที่สหรัฐอเมริกาจัดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545

แม้ว่าโรคจะนี้เกิดในแถบยุโรป เอเซียไมเนอร์ และสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อปี 2551 หลายคนอาจจะคุ้นหู เพราะมีรายงานพบหญิงวัย 37 ปี ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ป่วยเป็นโรคไข้กระต่ายรายแรกของไทย และเสียชีวิตในที่สุด

โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย บาซิลัส ฟรานซิสล่า ทูลารีซิส (Francisella tularensis)
มี 4 ชนิด โดยชนิด A มีความรุนแรงที่สุด มักพบในสัตว์ป่ารวมทั้งสัตว์ฟันแทะ เช่น กระต่าย หนู กระรอก กวาง แพรีด็อก และสามารถติดต่อมายังสัตว์เลี้ยงจำพวกวัว ควาย แกะ และแมว ได้โดยแมลงนำโรค

“ไข้กระต่าย” ติดต่อในสัตว์ป่าด้วยกัน แต่เมื่อนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงก็ทำให้โรคนี้ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน ทั้งโดยแมลงพาหะ หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ เข้าทางบาดแผล หรือถูกสัตว์ป่วยกัดโดยตรง การหายใจ หรือกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนได้เชื้อก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ แต่ยังไม่มีรายงานการติดต่อระหว่างคนสู่คน

เชื้อนี้จะใช้เวลาในการฟักตัวในคนประมาณ 3-5 วัน จึงจะแสดงอาการ
หากเชื้อเข้าทางผิวหนังจะเกิดบาดแผล ต่อมน้ำเหลืองบวมโตตรงที่รับเชื้อ หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจผู้ติด เชื้อจะเป็นไข้แบบไทฟอยด์ คือมีไข้ หนาวสั่น โลหิตเป็นพิษ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ไอแห้งๆ และอ่อนเพลีย หากผู้ป่วยมีอาการปอดบวมร่วมด้วยจะเจ็บหน้าอก มีเสมหะเป็นเลือด อึดอัด หายใจไม่สะดวก จนอาจหยุดหายใจ ลักษณะปอดบวมจากการตรวจทางรังสีทรวงอก

ทั้งนี้ อัตราตายของโรคแบบไข้มีประมาณ 35% สามารถรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ

อย่างไรก็ดี มีรายงานพบว่า เมื่อนำเนื้อกระต่ายที่นิยมบริโภคมาแช่แข็งในอุณหภูมิ -15 องศาเซลเซียส ไม่สามารถฆ่าเชื้อนี้ได้ เว้นแต่จะนำไปปรุงให้สุกในอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที

สำหรับผู้ที่เลี้ยงกระต่ายหรือสัตว์ที่เป็นฟันแทะ เช่น กระรอก หนู กรมควบคุมโรคแนะนำว่า ให้เลือกซื้อหรือนำมาจากแหล่งที่ไม่มีสัตว์ป่วย อีกทั้งหากสัมผัสกับสัตว์เหล่านี้ควรล้างมือทุกครั้ง โดยเฉพาะถ้ามีบาดแผล ไม่ควรคลุกคลีหรือกอดหอม และต้องรักษาความสะอาดทั้งตัวสัตว์และสถานที่เลี้ยง ก็จะสามารถป้องกัน “โรคไข้กระต่าย” ได้.

ข้อมูลจาก pet-rabbit-care-information.com
http://www.manager.co.th/
http://www.skn.ac.th/skl/project1/ra49/rabbit5.htm
http://webboard.sanook.com/forum/2713350