คาถามหาเสน่ห์


เสน่หา [คีย์ vs ตุ้ม vs ปุ้ย]

ข้าคือแม่มดขอสะกดให้เจ้ายิ้มหวาน ๆ รักข้านาน ๆ
และอยู่กับข้าตลอดไป


คาถามหาเสน่ห์
ทำตัวดี อยู่ที่ไหนก็น่ารัก
................คำว่า “เสน่ห์” หมายถึง ลักษณะที่ชวนให้รัก บุคคลผู้มีเสน่ห์ จึงหมายถึง ผู้มีลักษณะที่ให้เกิดความรักความชอบใจแก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นปกติของมนุษย์เราที่ย่อมปรารถนาให้ผู้อื่นรักเป็นธรรมดา แม้ว่าระดับชั้นของความรักจะแปลกแตกต่างกันไป เช่น รักระหว่างพ่อแม่และลูก รักระหว่างญาติพี่น้อง รักระหว่างเพื่อนพ้อง รักระหว่างครูกับศิษย์ รักระหว่างเจ้านายกับลูกน้องและ รักระหว่างคู่ครอง เป็นต้น


หากว่ากันในทางไสยศาสตร์ การจะมีลักษณะที่ชวนให้คนรักหรือมีเสน่ห์นั้น ต้องอาศัยคาถามหาเสน่ห์ หรือการทำเสน่ห์ยาแฝด ด้วยขั้นตอนวิธีต่าง ๆ แต่ในทางพุทธศาสตร์ สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่วิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญและสนับสนุนให้กระทำ เพราะพระพุทธศาสนาเน้นเรื่องเหตุผล หรือเรื่องการกระทำเป็นหลัก หากต้องการที่จะให้มีเสน่ห์ดี เป็นที่รัก เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้อื่นได้ ก็ต้องมีธรรมะ ๔ ประการ ซึ่งเรียกว่า “สังคหวัตถุ ๔” (หลักยึดเหนี่ยวใจ) ได้แก่


๑. เจือจาน ภาษาพระเรียกว่า ทาน แปลว่า การให้ คือ มี น้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อุดหนุนจุนเจือผู้อื่นด้วยการให้สิ่งต่างๆ ตามสมควรทั้งอามิสทาน คือ ให้สิ่งของและธรรมทาน คือ ให้ข้อคิดหรือให้ความรู้ ในโอกาสอันควร ไม่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก” อยากมีเสน่ห์ให้คนรัก จึงต้องรู้จักเจือจาน…น่ะท่านเอย


๒. ปากหวาน ภาษาพระเรียกว่า ปิยวาจา แปลว่า การพูดจาน่ารัก คือ ต้องพูดจากับผู้อื่นด้วยคำอ่อนหวาน หรือภาษาดอกไม้ เช่น พูดจามีหางเสียงน่ะค่ะ น่ะครับ พูดจามีน้ำใจ ไม่เป็นไรครับ ผมช่วยไม่ครับ พูดจามีสัมมาคารวะ สวัสดีค่ะ ท่านครับ คุณครูครับ คุณลุงค่ะ ขออนุญาตน่ะครับ พูดจามีความปรารถนาดี โชคดีน่ะครับ ยินดีด้วยน่ะค่ะ ขอให้ประสบความสำเร็จน่ะครับ ดังนี้เป็นต้น เพราะปกติของคนโดยทั่วไป ไม่มีใครชอบให้คนอื่นพูดคำหยาบกับตน แม้เราก็เป็นเช่นนั้นมิใช่หรือ ?… “อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย” อยากให้คนรักนับหน้านับถือ ก็ต้องปากหวานเข้าไว้ (แต่ต้องจริงใจด้วยน่ะคุณ ถึงจะหวานนาน)


๓. ช่วยงาน ภาษาพระเรียกว่า อัตถจริยา แปลว่า การบำเพ็ญประโยชน์ คือ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่น โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นการ เป็นงาน เป็นหน้าที่ของเขา หากช่วยได้ก็ควรช่วย ยิ่งในคราวที่เขาต้องการความช่วยเหลือด้วยแล้ว หากเราไม่นิ่งดูดายช่วยขวนขวายตามสมควร แม้ไม่ได้หวังให้เขารักหรืออยากให้เกิดเสน่ห์แก่ตน แต่ผลของความไม่เห็นแก่ตัว เอาตัวเข้าช่วยงานเขานั้น ย่อมทำให้เกิดความรักความหวังดีขึ้นโดยธรรมชาติ

๔. สมานตน ภาษาพระเรียกว่า สมานัตตตา แปลว่า การวางตนเสมอ คือ วางตนให้เสมอภาค เข้ากับเขาได้ หากมีบางอย่างที่เข้ากันไม่ได้ ก็ต้องสมาน ปรับเปลี่ยน ปรับปรุงให้ลงรอยกัน ทั้งด้านพฤติกรรมและความคิดเห็น ไม่แสดงอาการโอ้อวด ถือดี ยกตนข่มท่าน อีกนัยหนึ่ง หากอยู่ในฐานะผู้น้อย ก็คือวางตนให้เหมาะสมกับฐานะ มีสัมมาคารวะ นอบน้อมถ่อมตน เสมอต้นเสมอปลาย ผู้ประพฤติได้ดังนี้ ย่อมเป็นที่รักของคนทั้งหลายแน่นอน…

สรุปว่า คาถามหาเสน่ห์อย่างชาวพุทธนั้น อยู่ที่ตัวของทุกคนเอง หากอยากมีเสน่ห์ไม่ต้องไปแสวงหาจากภายนอก ให้ค้นหาจากภายในตัวเอง โดยมีหลักง่าย ๆ ๔ อย่าง ประดุจเป็นคาถา ๔ คำเท่านั้น หากกล่าวเป็นภาษาไทยก็คือ “เจือจาน ปากหวาน ช่วยงาน สมานตน” และหากกล่าวเป็นภาษาธรรมก็คือ “ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา” นั่นเอง ท่องไว้ให้จำ และทำให้เป็นนิสัยเถิดจักเกิดผลชะงักนักแล…

อันคาถามหาเสน่ห์นั้น ไม่ต้องสรรหาให้มั่วนอกตัวหนา
ในตัวเรามีอยู่ล้นจงค้นคว้า บทคาถามีสี่คำจำง่ายดาย

หนึ่ง เจือจาน มีน้ำใจไม่ตระหนี่ สิ่งใดมียินดีให้ไม่เสียหาย
สอง ปากหวาน พูดจาอย่ามักง่าย ทั้งหญิงชายย่อมชอบชมคารมดี
สาม ช่วยงาน การธุระเป็นประโยชน์ ขอได้โปรดกรุณาอย่าแหนงหนี
สี่ สมานตน เข้าไว้ในทุกที่ วางท่าทีมีนอบน้อมถ่อมตัวตน

อยู่แห่งใดอยู่กับใครอยู่ที่ไหน หากหวังให้เสน่ห์ดีมีคนสน
จงจดจำคำคาถาอย่าฉงน แล้วทำตนตามที่ว่าน่ารักเอย ฯ

(ณ.ยอดแก้ว)