ธปท.เตือนแบงก์ปลอมระบาด มิจฉาชีพฉวยโอกาสช่วงเทศกาล, วิธีสังเกตแบงก์ปลอม Thai money (Baht)



วิธีตรวจสอบธนบัตรปลอม



ธปท.เตือนแบงก์ปลอมระบาด มิจฉาชีพฉวยโอกาสช่วงเทศกาล
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
แบงก์ชาติเตือนระวังธนบัตรปลอมระบาดช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่ เพราะเป็นช่วงที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสมีการซื้อขายจับจ่ายสินค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเช้าตรู่ และโพล้เพล้ที่มีแสงสว่างน้อยๆ โดยมือรับธบัตรให้ตรวจสอบด้วยวิธีสัมผัสตัวพิมพ์นูน คำว่า รัฐบาลไทย และตัวเลขแสดงชนิดราคา

นางจิตติมา ดุริยะประพันธ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่มีการจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก ทำให้ส่วนใหญ่กลุ่มมิจฉาชีพจะพยายามฉวยโอกาสนำธนบัตรปลอมมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ ฉะนั้น ธปท.ขอเตือนให้ประชาชนทั่วไป พร้อมด้วยพ่อค้าและแม่ค้าต้องเพิ่มความระมัดระวังในการรับหรือจ่ายธนาคารในการซื้อสินค้าหรือบริการตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เทศกาลคริสมาสต์ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 ในเร็วๆ นี้

“ช่วงเทศกาลจะเป็นช่วงที่มีเงินใช้จ่ายในแต่ละวันจำนวนมาก โดยเฉพาะในแหล่งชุมชน และย่านธุรกิจ จึงเป็นโอกาสให้กลุ่มมิจาชีพนำธนบัตรปลอมมาใช้จ่าย ธปท.จึงอยากเตือนให้ประชาชน พ่อค้าแม่ค้าเพิ่มความระมัดระวังในการรับจ่ายธนบัตรเพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และเสียทรัพย์สินให้กับคนเหล่านี้ได้”

ทั้งนี้ จากการข้อมูลที่ ธปท.ตรวจสอบ พบว่า นอกเหนือจากกลุ่มมิจฉาชีพจะใช้ช่วงเวลาที่มีการซื้อขายมากๆ มีคนเบียดเสียดแย่งกันซื้อของนำธนบัตรปลอมออกมาใช้ เพราะความระมัดระวังของคนน้อยลงแล้ว กลุ่มมิจฉาชีพยังจะใช้ช่วงเวลาที่แสดงสว่างน้อยๆ การยกส่องธนบัตรเพื่อตรวจสอบทำได้ลำบาก เช่น ช่วงเช้าตรู่ และช่วงโพล้เพล้ ไปจนถึงช่วงกลางคืน ในการนำธนบัตรปลอมออกมาใช้จ่ายด้วย

สำหรับวิธีที่จะตรวจสอบธนบัตรในแสงสว่างน้อยๆ นั้น นางจิตติมา กล่าวว่า
วิธีที่ดีที่สุดคือ การจับธนบัตรสะบัดๆ ดู เสียงของเนื้อกระดาษจะแน่น เพราะเป็นกระดาษชนิดพิเศษ ต่างจากกระดาษธรรมดาที่นำมาปลอม
อีกจุดที่สำคัญ คือ ให้ลูบตรวจคำว่ารัฐบาลไทย และตัวเลขที่แสดงราคาธนบัตรชนิดนั้นๆ ซึ่งจะพิมพ์เป็นตัวนูน ซึ่งปลอมแปลงได้ยาก รวมถึงการสังเกตแถบฟอล์ย ซึ่งสะท้อนแสง และทำเลียนแบบได้ยาก

อย่างไรก็ตาม สถิติการนำธนบัตรปลอมมาใช้จ่ายในปี 2553 ลดลงจากปี 2552 เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการออกประชาสัมพันธ์วิธีการตรวจสอบธนบัตรปลอมตามสถานที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็กวดขัน และติดตามจับกุมอย่างจริงจัง โดยการจับผู้นำธนบัตรปลอมจำนวน 300,000 บาทมาแลกที่ธนาคารพาณิชย์ เมื่อ 2 วันที่ผ่านมานั้น

ถือเป็นความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ธนาคารพาณิชย์ และ ธปท.เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มมิจฉาชีพกลุ่มนี้ ได้นำธนบัตรปลอมบางส่วนมาแลกกับธนาคารพาณิชย์ครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้จึงถือเป็นล่อให้นำธนบัตรปลอมมาแลกคืนอีกครั้งเพื่อทำการจับกุม

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ประชาชนก็สามารถที่ช่วยยับยั้งการนำธนบัตรปลอมมาใช้ได้ด้วยการสังเกตธนบัตรก่อนรับไว้ทุกครั้ง โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคาสูง และหากได้รับธนบัตรปลอม ควรนำมามอบให้ตำรวจ หรือธปท.ไม่นำธนบัตรปลอมที่รับไว้แล้วออกใช้อีก เพราะมีความผิดตามกฎหมาย

นอกจากนี้ หากมีผู้นำธนบัตรปลอมมาใช้กับท่าน ควรสอบถามรายละเอียด เช่น ได้มาอย่างไร จากใคร ที่ใด รวมถึงพยายามจดจำลักษณะรูปพรรณและสิ่งอื่นๆ เกี่ยวกับผู้นำมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลในการสืบสวนจับกุม โดยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ หรือโทรศัพท์แจ้งไปยังสถานีตำรวจท้องที่ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 0-2282-7409 และ 0-2356-7987 โดยโทษของผู้ปลอมแปลงเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

วิธีสังเกตธนบัตร

ธนบัตรเป็นสิ่งพิมพ์มีค่าประเภทหนึ่ง มีความพิเศษแตกต่างจากสิ่งพิมพ์มีค่าประเภทอื่น เพราะนอกจากลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่ต้องบรรจุไว้ในพื้นที่พิมพ์อันจำกัดแล้ว ลวดลายในธนบัตรยังต้องมีคุณค่าทางศิลปะ มีความประณีตสวยงาม และเน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทย ดังนั้น เพื่อคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือสมเป็นสื่อกลางสำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยน ธนบัตรต้องมีลักษณะพิเศษที่ยากต่อการปลอมแปลง แต่ประชาชนสามารถสังเกตจดจำได้ดี และแยกแยะความแตกต่าง ด้วยวิธีสังเกตง่าย ๆ ๓ วิธี ได้แก่ สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง

อย่างไรก็ดี เพื่อความมั่นใจจึงควรสังเกตจุดสำคัญต่าง ๆ บนธนบัตรอย่างน้อย ๓ จุด ขึ้นไป สำหรับธนบัตรแบบที่ใช้ในปัจจุบัน มีรายละเอียดการสังเกต ดังนี้

จุดสังเกตในธนบัตรรัฐบาล


นอกจากวิธี สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียงแล้ว ธนบัตรรัฐบาลยังมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่สังเกตได้เพิ่มขึ้น หากนำอุปกรณ์มาช่วยในการตรวจสอบ ดังนี้

อุปกรณ์ช่วยตรวจสอบธนบัตร

หลอดไฟแบล็กไลท์
เมื่อนำธนบัตรรัฐบาลส่องภายใต้รังสีเหนือม่วง (Ultraviolet Light) หรือหลอดไฟแบล็กไลท์จะปรากฎ

เส้นใยเรืองแสง สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน ในเนื้อกระดาษธนบัตร
หมวดอักษรและเลขหมาย เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีส้มเรืองแสง
ลวดลายสีพื้นบางส่วนจะเปลี่ยนสีและเรืองแสงแตกต่างกันไปตามชนิดราคา



แว่นขยาย
ลวดลายของธนบัตรประกอบด้วยลายเส้นที่มีลักษณะคมชัด สวยงาม และมีความละเอียดซับซ้อนสูง โดยลวดลายบางส่วนได้ออกแบบให้มีตัวเลขหรือตัวอักษรขนาดจิ๋วซ่อนไว้อย่างกลมกลืน เพื่อทำให้ยากต่อการปลอมแปลง ซึ่งจะมองเห็นได้ชัดเจนเมื่อใช้แว่นขยาย


ตัวเลขขนาดจิ๋วที่มองเห็นได้ชัดเจนเมื่อใช้แว่นขยาย

สังเกตธนบัตรด้วยวิธี สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง

สัมผัส
กระดาษธนบัตร
ธนบัตรรัฐบาลทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีความแกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย เมื่อจับสัมผัสจะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกระดาษทั่วไป ธนบัตรปลอมทำจากกระดาษคุณภาพต่ำ เมื่อถูกใช้เปลี่ยนมือเพียงไม่กี่ครั้งเนื้อกระดาษก็จะนิ่มเป็นขุยและยุ่ยง่าย

ดอกฝ้าย : วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตกระดาษธนบัตร


เมื่อจับสัมผัสจะรู้สึกถึงความแกร่งของเนื้อกระดาษ

ลวดลายเส้นนูน
เกิดจากการพิมพ์เส้นนูนโดยใช้แม่พิมพ์ที่มีร่องหมึกลึกและใช้แรงกดพิมพ์สูงหมึกพิมพ์จึงนูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ อีกทั้งภาพและลายเส้นที่ได้จะมีรายละเอียดคมชัด เหมาะสำหรับการพิมพ์ภาพประธาน เช่น พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ หรือส่วนที่ต้องการเน้นให้เด่นชัด ลวดลายเส้นนูนสามารถสัมผัสและรู้สึกได้ที่ตัวเลขแจ้งชนิดราคามุมขวาบน ตัวอักษรคำว่า รัฐบาลไทย ตัวอักษรและตัวเลขไทยแจ้งชนิดราคาด้านหน้าธนบัตร เมื่อใช้ปลายนิ้วมือลูบสัมผัสบริเวณดังกล่าว จะรู้สึกถึงการนูนของหมึกพิมพ์มากกว่าบริเวณอื่น

พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ที่เกิดจากการพิมพ์เส้นนูน
จะมีลายเส้นละเอียดคมชัด

ภาพขยายลวดลายเส้นนูน



เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือจะรู้สึกถึงการนูนของหมึกพิมพ์

ยกส่อง
ลายน้ำ
เมื่อยกธนบัตรรัฐบาลขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง จะเห็นลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภาพลายน้ำนี้เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตกระดาษที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน จึงทำให้เห็นเป็นภาพที่มีการไล่ระดับของแสงเงาอ่อนแก่คล้ายภาพสามมิติ ไม่ใช่ภาพแบนราบเหมือนธนบัตรปลอมที่เลียนแบบด้วยการพิมพ์ภาพลงบนผิวกระดาษ นอกจากลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วยังมีลายน้ำรูปลายไทยที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษประดับควบคู่ไว้อีกด้วย


การยกธนบัตรส่องกับแสงสว่าง และภาพที่ปรากฎเมื่อยกธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท ส่องกับแสงสว่าง

แถบสีโลหะในเนื้อกระดาษ
ธนบัตรรัฐบาลทุกชนิดราคามีแถบสีโลหะฝังในเนื้อกระดาษตามแนวตั้งบนแถบมีตัวเลขและตัวอักษรโปร่งแสงขนาดเล็กแจ้งชนิดราคาธนบัตรสามารถมองเห็นและอ่านได้ทั้งสองด้านเมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่าง


สำหรับธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท และ ๑๐๐๐ บาท จะมีบางส่วนของแถบสีโลหะปรากฎให้เห็นเป็นระยะ ๆ ที่ด้านหลังของธนบัตร เมื่อยกขึ้นส่องดูกับแสงสว่างจะเห็นเป็นเส้นต่อเนื่อง มีตัวเลขและอักษรโปร่งแสงขนาดเล็กแจ้งชนิดราคาธนบัตรเช่นเดียวกัน

ภาพขยายตัวเลขและอักษรโปร่งแสงบนแถบสีโลหะในเนื้อกระดาษธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท และ ๑๐๐๐ บาท

ภาพซ้อนทับ
เกิดจากการพิมพ์สีพื้นด้วยเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพได้ทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน ทำให้ส่วนของลวดลายที่ออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันของด้านหน้าและด้านหลังธนบัตรทับกันสนิทหรือประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายหรือภาพที่สมบูรณ์

เมื่อส่องกับแสงสว่างลวดลายทั้งสองด้านจะซ้อนทับกันเป็นเลข 100 ที่สมบูรณ์

เมื่อส่องกับแสงสว่างลวดลายทั้งสองด้านจะซ้อนทับกันเป็นรูปดอกพุดตานที่สมบูรณ์

เมื่อส่องกับแสงสว่างลวดลายทั้งสองด้านจะซ้อนทับกันเป็นรูปดอกบัวที่สมบูรณ์

พลิกเอียง
หมึกพิมพ์พิเศษสลับสี
ที่ตัวเลขแจ้งราคามุมขวาบนของธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท และ ๑๐๐๐ บาท พิมพ์ด้วยหมึกชนิดพิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรไปมา
สีของตัวเลข 500 จะเปลี่ยนสลับจากสีเขียวเป็นสีม่วง
ส่วนสีของตัวเลข 1000 ด้านบนจะเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว



แถบฟอยล์สีเงิน
ผนึกอยู่บนด้านหน้าเบื้องซ้ายของธนบัตรชนิดราคา ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาท และ ๑๐๐๐ บาท จะมองเห็นเป็นหลายมิติแตกต่างกันตามชนิดราคา และจะเปลี่ยนสีสะท้อนแสงวาววับ เมื่อพลิกเอียงธนบัตรไปมา



ตัวเลขแฝง
ซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์มุมล่างซ้ายของธนบัตรทุกชนิดราคา เมื่อยกธนบัตรเอียงเข้าหาแสงสว่างและมองผ่านจากมุมล่างซ้ายเข้าหากึ่งกลางธนบัตรในมุมที่เหมาะสม จะเห็นตัวเลขอารบิกแจ้งชนิดราคาธนบัตรฉบับนั้น



นอกจากวิธีสัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียงแล้ว ธนบัตรรัฐบาลยังมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่สังเกตได้เพิ่มขึ้น หากนำอุปกรณ์มาช่วยในการตรวจสอบ ดังนี้

ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในธนบัตร
ธนบัตรจัดเป็นสิ่งพิมพ์มีค่าประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความพิเศษแตกต่างจากสิ่งพิมพ์มีค่าประเภทอื่น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพยายามค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคนิคใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลงและการลอกเลียนแบบ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการผลิตธนบัตรก็คือ ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่นำ
มาใช้ ธนบัตรรัฐบาลไทยที่หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบันประกอบด้วยลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง ๓ ประการ ได้แก่
๑. ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในวัสดุพิมพ์
๒. ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในหมึกพิมพ์
๓. ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในลวดลายธนบัตร


ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในวัสดุพิมพ์
วัสดุที่ใช้พิมพ์ธนบัตร ได้แก่ กระดาษธนบัตร ซึ่งเป็นกระดาษชนิดพิเศษ มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก มีความเหนียวแกร่ง ทนทานต่อการพับดึง ไม่ยุ่ยง่าย และเนื้อกระดาษไม่เรืองแสงภายใต้รังสีเหนือม่วง (UV) นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ในเนื้อกระดาษธนบัตรยังมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่สำคัญ ได้แก่

๑. ลายน้ำ สร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อกระดาษ เกิดจากขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนา-บางไม่เท่ากัน ทำให้เกิดโทนภาพตามที่ต้องการ สำหรับธนบัตรไทยมีลายน้ำเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่างจะเห็นลายน้ำได้อย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร โดยภาพที่เห็นจะมีลักษณะไล่ระดับเข้มจางของแสงเงาคล้ายภาพสามมิติ นอกจากนี้ ยังมีลายน้ำรูปลายไทยที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษประดับควบคู่ไว้ ซึ่งจะมีรูปลักษณ์แตกต่างกันไปตามชนิดราคาของธนบัตร

ลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และลายน้ำรูปลายไทยในกระดาษธนบัตรแต่ละชนิดราคา


๒. แถบสีโลหะในเนื้อกระดาษ เกิดจากขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ฝังแถบพลาสติกขนาดเล็กเคลือบด้วยสีโลหะไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง บนแถบจะมีตัวเลขและตัวอักษรขนาดเล็กแจ้งชนิดราคาธนบัตร เมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่างจะมองเห็นและอ่านได้ทั้งสองด้าน


ภาพขยายตัวเลขและตัวอักษรแจ้งชนิดราคาบนแถบสีโลหะในเนื้อกระดาษ

๓. เส้นใยเรืองแสง เป็นเส้นใยชนิดพิเศษที่โรยไว้ในเนื้อกระดาษธนบัตรทุกชนิดราคา ซึ่งไม่สามารถมองเห็นในแสงธรรมดา แต่จะมองเห็นเรืองแสงเป็นสีแดง สีเหลือง
และสีน้ำเงิน เมื่ออยู่ภายใต้รังสีเหนือม่วงหรือรังสีอัลตราไวโอเลต


เส้นใยเรืองแสงที่ปรากฎให้เห็นเมื่ออยู่ภายใต้รังสีเหนือม่วง

ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในหมึกพิมพ์
หมึกพิมพ์สำหรับใช้พิมพ์ธนบัตร นอกจากจะผลิตให้มีคุณสมบัติพิเศษเหมาะสมกับกระดาษและชนิดของการพิมพ์แล้ว หมึกพิมพ์บางชนิดยังมีคุณสมบัติในการต่อต้านการปลอมแปลง อาทิ
๑. หมึกพิมพ์พิเศษสลับสี เป็นหมึกพิมพ์ซึ่งสามารถเปลี่ยนจากสีหนึ่งสลับเป็นอีกสีหนึ่งเมื่อมองจากต่างมุม สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยการพลิกเอียงธนบัตร


ตัวเลข 500 จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วง

ส่วนบนของตัวเลข 1000 จะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียวอ่อน

๒. หมึกพิมพ์พิเศษเรืองแสง เป็นหมึกพิมพ์ซึ่งสามารถมองเห็นการเรืองแสงเมื่ออยู่ภายใต้รังสีเหนือม่วง หมึกพิมพ์พิเศษเรืองแสงนำมาใช้บริเวณลวดลายสีพื้น หมวดอักษรและเลขหมายของธนบัตรทั้งสองตำแหน่ง


การเรืองแสงของลวดลายสีพื้น หมวดอักษรและเลขหมาย ภายใต้รังสีเหนือม่วง

ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในลวดลายธนบัตร
ลวดลายของธนบัตรประกอบด้วยเส้นที่มีลักษณะคมชัด สวยงาม และมีความละเอียดซับซ้อน โดยเฉพาะภาพประธานด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตรซึ่งเป็นภาพที่เกิดจากงานแกะโลหะสำหรับงานพิมพ์เส้นนูนที่มีรายละเอียดมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงอื่น ๆ ในลวดลายธนบัตรอีก อาทิ


๑. ภาพแฝง เป็นตัวเลขที่ซ่อนอยู่ในลวดลายเส้นนูน ไม่สามารถมองเห็นในแนวราบปกติ แต่จะมองเห็นได้เมื่อพลิกเอียงธนบัตรในมุมมองที่เหมาะสม


๒. ตัวเลขและตัวอักษรขนาดจิ๋ว ลวดลายของธนบัตรประกอบด้วยลายเส้นที่มีลักษณะคมชัด สวยงาม และมีความละเอียดซับซ้อนสูง โดยลวดลายบางส่วนออกแบบให้มีตัวเลขหรือตัวอักษรขนาดจิ๋วซ่อนไว้อย่างกลมกลืน เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลง จะมองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อใช้แว่นขยาย


ตัวเลข 500 ขนาดจิ๋ว จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อใช้แว่นขยาย

๓. ภาพซ้อนทับ เกิดจากเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพได้ทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน ทำให้ลวดลายที่ออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังซ้อนทับกันสนิท หรือประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายหรือภาพที่สมบูรณ์ สามารถสังเกตได้ด้วยการยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงแสงสว่าง


เมื่อส่องกับแสงสว่างลวดลายทั้งสองด้านจะซ้อนทับกันเป็นตัวเลข 100 ที่สมบูรณ์

เมื่อส่องกับแสงสว่างลวดลายทั้งสองด้านจะซ้อนทับกันเป็นรูปดอกพุดตานที่สมบูรณ์

เมื่อส่องกับแสงสว่างลวดลายทั้งสองด้านจะซ้อนทับกันเป็นรูปดอกบัวที่สมบูรณ์

นอกจากลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่นำเสนอ ๓ ประการแล้ว ยังเพิ่มลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง และจุดสังเกตสำหรับผู้พิการทางสายตา ดังนี้

๑. แถบฟอยล์สีเงิน ที่ผนึกอยู่บนด้านหน้าธนบัตรมีลักษณะพิเศษ เป็นภาพที่มีมิติเมื่อพลิกเอียงธนบัตรไปมาจะเห็นองค์ประกอบต่าง ๆ ในแถบฟอยล์เคลื่อนไหว และเปลี่ยนสีสันสะท้อนแสงวาววับสวยงาม




๒. ลายดุนนูนแจ้งชนิดราคา เป็นการดุนนูนที่เกิดจากการพิมพ์ สำหรับให้ผู้พิการทางสายตาใช้สัมผัสเพื่อจำแนกชนิดราคาของธนบัตร
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9530000177079
http://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/production_and_security/Pages/identify.aspx