ฉีกหน้ากากเฟซบุ๊ค (Face off Facebook!)





หนังตัวอย่าง The Social Network(ไทย)

The Social Network
2 ธันวาคม 2553 ในโรงภาพยนตร์
โคลัมเบีย พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ ภาพยนตร์แห่งศตวรรษ The Social Network ภาพยนตร์ที่ถูกบอกเล่าจากหลายมุมมองเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่กลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ผู้ที่เปลี่ยนโลกทั้งใบให้เล็กลงด้วยอัจฉริยะภาพของเขา ใน The Social Network ผู้กำกับเดวิด ฟินเชอร์ และมือเขียนบทแอรอน ซอร์กิน ได้ล้วงลึกถึงช่วงเวลาที่ Facebook ปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในแวดวงสังคมแห่งศตวรรษใหม่ ถูกประดิษฐ์ขึ้น ผ่านทางมุมมองของกลุ่มเด็กหนุ่มผู้ฉลาดปราดเปรื่อง ที่แต่ละคนล้วนอวดอ้างว่าตัวเองมีส่วนร่วมกับการถือกำเนิดของ facebook ผลที่ได้คือ การสร้างสรรค์และการทำลายล้าง เรื่องราวที่สะท้อนความจริงที่ขัดแย้งกัน และความสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในค่ำคืนแห่งความเมามายในเดือนตุลาคม ปี 2003 หลังจากที่เพิ่งเลิกรากับแฟนสาว มาร์คได้แฮ็คเข้าไปในคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างเว็บไซต์รวบรวมดาต้าเบสของผู้หญิงทุกคนในมหาวิทยาลัย ก่อนจะจับคู่รูปสองรูปมาอยู่ข้างๆ กัน และให้ยูสเซอร์เลือกว่าใคร "ฮ็อตกว่ากัน" เขาตั้งชื่อเว็บไซต์นี้ว่า Facemash และมันก็กระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว ทำเอาระบบของฮาร์วาร์ดทั้งหมดพังครืนลงมา ก่อให้เกิดการถกเถียงกันทั่วมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับประเด็นที่ดูเหมือนจะแสดงถึงการเกลียดชังผู้หญิงของเว็บไซต์ และกล่าวหามาร์คว่า ในการสร้าง Facemash ของเขา เขาได้จงใจบุกรุกการรักษาความปลอดภัย ละเมิดลิขสิทธิ์และการเคารพในสิทธิส่วนบุคคล แต่จังหวะนั้นเองที่โครงสร้างสำคัญสำหรับ Facebook ได้ถือกำเนิดขึ้น ไม่นานหลังจากนั้น มาร์คก็ได้ก่อตั้งเว็บ thefacebook.com ซึ่งแพร่กระจายราวไฟลามทุ่งจากหน้าจอหนึ่งไปสู่อีกหน้าจอหนึ่งทั่วฮาร์วาร์ด ผ่านจากไอวี ลีกสู่ซิลิคอน วัลลีย์ ก่อนที่จะแพร่ไปทั่วโลก


ฉีกหน้ากากเฟซบุ๊ค (Face off Facebook!)
โดย : รณพงศ์ คำนวณทิพย์


บางครั้งความโกรธอาจกลายเป็นพลังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และเฟซบุ๊ค (facebook.com) ถือกำเนิดมาจากความโกรธของเด็กหนุ่มชื่อ "มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก"
ซึ่งผิดหวังอย่างแรงจากการปฏิเสธของแฟนสาว ทำให้เขาเริ่มเขียนบล็อกต่อว่าต่อขานอดีตแฟน


หลังจากนั้น เขาก็ได้ทำเว็บ facemash.com ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับเว็บที่รวบรวมข้อมูลหนังสือรุ่นของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีรูปและข้อมูลของนักศึกษา โดยให้เฉพาะเพื่อนในมหาวิทยาลัยเข้ามาดู และได้พัฒนาจนมาเป็นเฟซบุ๊คในที่สุด


ภาพยนตร์เรื่อง The Social Network ได้สะท้อนให้เห็นว่า จากวันที่เขาและเพื่อนๆ ที่ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊คนั่งลุ้นจำนวนสมาชิกจนถึง 500 คนแรก มาถึงวันที่เฟซบุ๊คเปิดตัวไปทั่วโลกจนมีสมาชิก 500 ล้านคนนั้น เฟซบุ๊คไม่เคยหยุดที่จะพัฒนารูปแบบและเพิ่มลูกเล่นใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้


ทุกอย่างเกิดขึ้นมาจากธรรมชาติของคนที่ต้องการแชร์รูปและความคิดเห็นบางเรื่องกับเพื่อนผู้รู้ใจหรือคนใกล้ตัว เฟซบุ๊คยังตอบโจทย์ธรรมชาติของคน ที่มีความอยากรู้อยากเห็น สนใจในเรื่องของเพศตรงข้ามด้วย เช่น เขามีแฟนหรือยัง ชอบคนแบบไหน ต่างเพศ หรือเพศเดียวกัน


อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็น DNA ของเฟซบุ๊คเลย ก็คือ ความ cool หรือความเท่ห์ เจ๋ง อินเทรนด์ เมื่อเริ่มก่อตั้งเฟซบุ๊คใหม่ๆ จนมีสมาชิกถึง 1 แสนคน หุ้นส่วนของมาร์ค "เอ็ดดูอาร์โด เซเวอริน" (Eduardo Saverin) พยายามที่จะขายโฆษณาผ่านเอเยนซี มาร์คกลับไม่เห็นด้วย เขาอดทนรอคอยจนถึงเวลาที่เหมาะสม คือ เมื่อมีจำนวนผู้ใช้ผ่านด่านหลักล้าน จนเป็นที่แน่ใจว่าเจ๋งจริง เดินมาถูกทาง และแจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัวแล้ว จึงเริ่มที่จะสร้างรูปแบบทางธุรกิจเพื่อหารายได้ในรูปแบบต่างๆ และแน่นอนว่า วิธีการการหารายได้นั้นต้องไม่ทำให้ประสบการณ์การใช้เฟซบุ๊คแย่ลง ในทางตรงกันข้ามต้องทำให้ผู้ใช้รู้สึกดีอีกด้วย


เฟซบุ๊คอาจเป็นเว็บไซต์เดียวในโลกก็ว่าได้ ที่มีผู้คนเต็มใจที่จะโฆษณา URL หรือ web address ให้อย่างฟรีๆ ทั้งนี้ ก็เพราะการสร้าง fan page หรือหน้าสำหรับแฟนๆ ในเฟซบุ๊ค เป็นเรื่องที่ cool นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น ศิลปินดารา นักร้อง ทีมกีฬา หรือแม้แต่บริษัท หรือองค์กรใดๆ ต่างก็ยินยอมพร้อมใจที่จะลงโฆษณาประชาสัมพันธ์หน้าแฟนเพจของตัวเอง เช่น www.facebook.com/universalmusicthailand


นอกจากนี้ เฟซบุ๊คยังได้รับการแนะนำแบบปากต่อปากจากเพื่อนสู่เพื่อน หรือคนในครอบครัว มิหนำซ้ำกลุ่มหรือองค์กรต่างๆ ยังให้คำแนะนำในการใช้เฟซบุ๊คให้กับชุมชนหรือประชาชนทั่วไป เนื่องจากมองเห็นว่าเป็นแหล่งข้อมูลและช่องทางการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุก Platform หรืออุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด


เฟซบุ๊คยังพยายามตอบโจทย์การสื่อสารของผู้คนในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การแชท การส่งข้อความแบบ inbox ที่มีลักษณะคล้ายอีเมล แต่สะดวกรวดเร็วและมีรูปแบบที่กระชับกว่า การทักทายผ่าน wall post การ tag รูปและอื่นๆ


เฟซบุ๊คมีรายได้จากการขายโฆษณาในสิ่งที่ตรงกับความสนใจของผู้ใช้ การขาย item หรือสิ่งของจากเกมต่างๆ จากการคลิกซื้อสินค้าหรือของขวัญให้เพื่อนผ่านเว็บไซต์ของพันธมิตรอย่าง อะเมซอน (amazon.com) และอื่นๆ ล่าสุดยังมีข่าวว่าเฟซบุ๊คมีแผนที่จะออก "เฟซบุ๊ค มันนี่" หรือระบบการชำระค่าสินค้าของตัวเองอีกด้วย


ขณะที่ทวิตเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร เฟซบุ๊คกลับพยายามที่จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงผู้คน จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่เราจะเห็นเฟซบุ๊คมีสมาชิกถึง 1 พันล้านคน และเป็นเว็บไซต์ที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในอนาคตอันใกล้นี้


ที่น่าสงสารก็คือไม่ว่า "มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก" จะประสบความสำเร็จและมีเพื่อนมากมายเพียงใด แต่สุดท้ายคนเดียวที่เขาอาจไม่มีวัน add friend หรือขอเป็นเพื่อนได้สำเร็จ ก็คือ แฟนเก่าของเขานั่นเองครับ


http://bit.ly/eTrdW6




"The Social Network" เรื่องจริงหรือหลอก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


โปสเตอร์ภาพยนตร์ The Social Network
ไม่น่าแปลกใจที่ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กจะคอยย้ำหนักหนาว่าภาพยนตร์เรื่อง "The Social Network" เป็นเรื่องแต่งที่เฟซบุ๊ก (Facebook) ไม่มีส่วนร่วมใดๆ และขอให้นักข่าว-นักเขียนเลือกใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเมื่อต้องการเขียนถึงเฟซบุ๊ก


เพราะมีโอกาสสูงมากที่ผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะเผลอคิดว่านี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อร่างสร้างตัวของเว็บไซต์เครือข่ายสังคมชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก


ประวัติศาสตร์เฟซบุ๊กระบุไว้อยู่แล้วว่า ก่อนจะมี Facebook ตัว Zuckerberg ได้สร้างเว็บไซต์ Facemash เมื่อศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ซึ่งเป็นช่วงที่ Zuckerberg กินเหล้า-เบียร์เพราะการผิดหวังจากแฟนสาว และเริ่มระบายออกด้วยการเขียน Blog พร้อมกับการสร้างเพจสังคมสำหรับหอพักของ Zuckerberg เอง


ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เริ่มขึ้นที่ช่วงเวลานี้เช่นกัน ข้อมูลและภาพยนตร์ระบุตรงกันว่าตอนนั้น Zuckerberg มองว่ารูปถ่ายบางรูปแปลกประหลาดมากจนสามารถนำไปเปรียบเทียบกับพวกสัตว์ต่างๆได้ จุดเริ่มต้นของ Facemash จึงเกิดขึ้นในฐานะเว็บไซต์ที่นำรูปของนักศึกษาจากหอพักทั้งหมด 9 หอ มาเขียนโปรแกรมสุ่มรูปขึ้นมาคู่กันสองรูป แล้วให้คนโหวตว่าใครสวยกว่ากัน


แน่นอนว่า Zuckerberg ไม่ได้เดินไปขอรูปมาจากนักศึกษาตัวต่อตัว แต่ใช้วิธีเจาะระบบคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยเพื่อคัดลอกรูปทั้งหมด


อย่างที่ทุกคนรู้กันดี Facemash เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงมีผู้เข้ามาร่วมสนุกมากกว่า 400 คน รูปมากกว่า 22,000 รูป ถูกเรียกดูขึ้นมาประชันกันอย่างรวดเร็ว และไม่กี่วันต่อมา มหาวิทยาลัยลงดาบปิดเว็บไซต์ Facemash แล้วสอบสวน Zuckerberg ในข้อหาละเมิดความเป็นส่วนตัวและจงใจลักลอบเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในทางที่ผิด Zuckerberg หวิดถูกไล่ออกจน The facebook ได้ถือกำเนิดขึ้นในภาคเรียนต่อมา


ข้อมูลระบุว่า Zuckerberg เริ่มสร้าง The facebook เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากบทความในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยที่รายงานถึง Facemash โดยบทความนั้นกล่าวว่า "แท้จริงแล้ว เว็บไซต์ส่วนกลางลักษณะนี้น่าจะมีประโยชน์มากมาย"


แฟ้มภาพตัวละครใน The Social Network เทียบกับบุคคลที่มีตัวตนจริงในสหรัฐฯ

มีหลักฐานว่า Zuckerberg เคยพูดถึง The facebook ว่ามหาวิทยาลัยต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะทำระบบลักษณะนี้ขึ้นมาได้ แต่ตัวเค้าสามารถทำได้ดีกว่าในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว แน่นอนว่าประโยคนี้ก็ปรากฏในภาพยนตร์ด้วย โดยเรื่องจริงคือภายในเวลา 24 ชั่วโมง The facebook มีสมาชิกเข้ามาลงทะเบียนถล่มทลายถึง 1,500 คน


ในปี 2005 คำว่า The ถูกถอดออกจากชื่อ The facebook ชื่อโดเมน facebook.com จึงเป็นยูอาร์แอลที่ผู้ใช้คุ้นเคยในวันนี้


ฐานเรื่องเหล่านี้ปรากฏอยู่ใน The Social Network แต่ในรายละเอียด Eduardo Saverin ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลในหนังสือเรื่อง The Accidental Billionaires: The Founding Of Facebook, A Tale of Sex, Money, Genius, and Betrayal ว่าด้วยเรื่องการก่อตั้ง Facebook เซ็กซ์ เงิน อัจฉริยะ และการทรยศ) เขียนโดย Ben Mezrich ที่ถูกดัดแปลงจนกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ ยืนยันว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงล้วนๆ


Saverin ให้ความเห็นหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์ว่า การที่ใครพูดอะไรกับใครจนทำให้เกิดเหตุการณ์ใดในเรื่องจะเป็นความจริงหรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือบทเรียนของการเป็นผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแม้จะซับซ้อน ยุ่งยาก และทรมานในการดำเนินงานเพียงไร สิ่งเหล่านี้ก็จะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของธุรกิจในวันนี้ นำไปสู่การเติบโตของระบบเศรษฐกิจโลก


ดูเหมือนว่านี่คือหนึ่งในหลายสิ่งที่ผู้กำกับ David Fincher (ผู้กำกับ Fight Club, Panic Room และ The Curious Case of Benjamin Button) ต้องการให้ผู้ชมได้เห็นใน The Social Network ยังไม่รวมความเป็น"คนจริง"ที่ชัดเจนของ Zuckerberg ซึ่งฉายแววจรัสแสงโดยไม่ต้องใช้เวลากล่อมเกลา ความสำเร็จของเฟซบุ๊กที่สื่อผ่านคำว่า "ประเทศที่ไม่มีถนน ยังมีเฟซบุ๊ก" ความโดดเดี่ยวไร้เพื่อนสนิทของผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก รวมถึงแนวคิดที่ว่า "สร้างเทพต้องสร้างมารก่อน"


อย่าหวังว่า The Social Network จะให้คำตอบว่า Zuckerberg คือเทพหรือมาร หรือ Zuckerberg สร้าง Facebook เพราะต้องการผู้หญิงหรืออำนาจจริงหรือไม่ แต่ให้หวังว่า The Social Network จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คุณได้ไม่มากก็น้อย
http://www.manager.co.th/CBiZReview/ViewNews.aspx?NewsID=9530000166935