วางแผนรับมืออันตราย!...ทางการเงินในวัยเกษียณ





การวางแผนการเงิน ก่อนเกษียน



วางแผนรับมืออันตราย!...ทางการเงินในวัยเกษียณ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
หลายคนคงจะมีความฝันว่าเมื่ออายุประมาณ 50 - 60 ปี จะมีเงินเก็บสักก้อนไว้ใช้ในยามที่ตัวเองเกษียณอายุแล้ว จะได้ไม่ต้องไปเป็นภาระให้ต้องลำบากลูกหลานในภายหน้า แต่ถ้าเราไม่รู้จักเก็บใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยไปละก็...เชื่อว่าปั้นปลายชีวิตของเราจะต้องประสบกับปัญหาด้านการเงินอย่างแน่นอน หรือถ้าใครมีเงินเก็บแต่เก็บไม่ถูกวิธีก็อาจจะทำให้ค่าของเงินนั้นลดน้อยลงไปได้

วันนี้ "พี่ตู่ - วรวรรณ ธาราภูมิ" แม่ทัพใหญ่
แห่งบลจ.บัวหลวง และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง "นายกสมาคม บลจ." ด้วย และวันนี้ "พี่ตู่" จะมาเล่าสู่กันฟังเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งกับช่วงชีวิตในวัยเกษียณอายุที่อยากให้ใครหลาย ๆ คน เพื่อเป็นอุทาหรณ์ต่อไปสำหรับคนกำลังอยู่ในช่วงทำงานใหม่ ๆ และคนที่กำลังจะก้าวสู่วัยเกษียณอายุต่อไป ว่าต่อจากนี้ไปเราควรบริหารเงินในกระเป๋าอย่างไรเพื่อให้มีใช้ในอนาคตอย่างสบาย ๆ


"พี่ตู่" เริ่มเล่าถึงเรื่องราวของสาวสูงวัยคนหนึ่งให้ฟังว่า เธอชื่อ "สิรี" เธอเกษียณวันนี้ที่อายุ 60 ปี "สิรี" มีลูก 2 คน และเป็น Single Mum เธอเคยคิดเสมอมาว่าพอเกษียณแล้วเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่จะพอใช้จนสิ้นอายุขัย
ในช่วง 30 กว่าปีก่อนเกษียณเธอทำงาน 4 แห่ง ไต่ระดับจากพนักงานเล็กๆ ไปจนถึงระดับบริหารของบริษัท เอกชน 4 แห่งซึ่งมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ทุกแห่ง นอกจากถูกหักเงินเดือนเข้ากองทุนแล้วเธอไม่เคยเก็บสะสมเงินเพิ่มเพื่อการเกษียณของตัวเองเลย และในช่วงที่ลาออกจากบริษัทหนึ่งไปยังอีกบริษัทหนึ่ง "สิรี" ก็เลือกที่จะรับเงินก้อนออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งๆ ที่นายจ้างเสนอให้โอนเงินไปยังกองทุนของที่ทำงานใหม่


"สิรี" เล่าให้ "พี่ตู่" ฟังอีกว่า ...“ ฉันใช้เงินก้อนที่ได้จากการออกจากงานหมดเลย ฉันมีความสุขมาก พาลูกๆ ไปเที่ยวต่างประเทศ ฉันซื้อข้าวของที่อยากได้จนอิ่มใจ“


ณ วันที่ สิรี เกษียณ เธอเพิ่งรู้ว่าเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากการทำงาน 6 ปีสุดท้ายในที่ทำงานล่าสุดมีเพียง 6 แสนบาท มีหนี้จากเครดิตการ์ดก้อนโตรวม 4 บัตร ถึง 1 ล้านบาท "สิรี" ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตที่เหลืออยู่ ลูกๆ ต่างก็แยกบ้านไปมีครอบครัวของตนเองหมดแล้ว


"พี่ตู่" บอกว่า ปัญหาของสิรี เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติของกลุ่มผู้หญิงที่ยังไม่มีใครสนใจเป็นการเฉพาะจากการ จัดสัมมนาแต่ละครั้ง เมื่อสอบถามผู้เข้าฟังการสัมมนา ปรากฏโดยคร่าว ๆ พบว่า 
95% ไม่เคยรู้ว่าตนเองควรมีเงินสะสม ณ วันเกษียณเท่าไร , 
90% ไม่เคยรู้ว่า ณ วันนี้ ตนเองมีสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ รายจ่าย เท่าไหร่ , 
88% ไม่เคยวางแผนการเงิน , 
85% ไม่เคยคิดเรื่องการอยู่รอดในวัยเกษียณ และ 
28% ผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตทุกเดือน


น่าเสียดายที่บ้านเรายังไม่ได้มีการสำรวจเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า


1. ผู้หญิงมีรายได้จากการทำงานตลอดชีวิตต่ำกว่าผู้ชายประมาณ 1 ใน 3 ทำให้การสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอื่นๆ ของผู้หญิงอยู่ในระดับต่ำกว่าผู้ชายไปด้วย ทั้งๆ ที่ผู้หญิงจะมีอายุยืนยาวกว่า
2. การตั้งครรภ์ การเลี้ยงดูบุตรในวัยเริ่มแรก เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงก้าวหน้าทางอาชีพการเงิน รวมถึงการเงินช้ากว่าผู้ชาย
3.การรับภาระดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วย ทำให้ผู้หญิงต้องลาออกจากการทำงาน
4. ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัย Wharton พบว่าผู้หญิงมีความเข้าใจเรื่องหุ้น พันธบัตร และการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงน้อยกว่าผู้ชาย การลงทุนของผู้หญิงจึงอนุรักษ์กว่าผู้ชาย ผู้หญิงกลัวความเสี่ยง ทั้งๆ ที่อยู่ในวัยที่รับความเสี่ยงได้ ทำให้ผลตอบแทนจากการให้เงินทำงานด้วยตัวมันเองต่ำมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย (อันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ)
5. พบว่า 17% ของหญิงโสดที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีรายได้ในวัยเกษียณที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสหรัฐฯ ($10,326 ต่อปี) และอีก 28% อยู่ในกลุ่มใกล้เคียง ($12,907 ต่อปี)
6. มีเพียง 33% ของหญิงในวัยทำงานเท่านั้นที่เชื่อว่าตนเองจะมีรายได้พอใช้ในวัยเกษียณ
7.ตามประเพณีเดิม ผู้ชายจะทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว จ่ายบิลต่างๆ และเป็นผู้ทำบัญชีการเงินครอบครัวกับการบริหารเงิน ส่วนผู้หญิงจะรับผิดชอบดูแลงานบ้าน สุขทุกข์ของครอบครัว แต่สถิติบอกว่า 50% ของชีวิตคู่ในสหรัฐจบลงด้วยการหย่าร้าง จึงหมายความว่าผู้หญิงต้องเผชิญกับการเป็นโสดโดยไม่มีความรู้ความชำนาญในการบริหารเงิน ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเงินอยู่ไหน อ่าน Statement ยังไง ทำบัญชีการเงินของตนเองง่ายๆ ได้อย่างไร และไม่รู้ว่าเงินทำงานด้วยตนเองได้ผ่านการลงทุน
และ 8.ผู้หญิงไม่ได้รับโอกาสให้เรียนรู้และสำเหนียกถึงความเป็นเจ้าของและวิธีจัดการทรัพย์สินในวัยเด็กเท่าผู้ชาย เวลาผู้ชายโตขึ้น จึงมักมีการสนทนากันเรื่องตลาดทุน ตลาดเงิน การลงทุน ความเสี่ยง ฯลฯในขณะที่พวกผู้หญิงมักจะคุยกันเรื่องลูก สามี กับการดูแลคนในครอบครัวที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน ส่วนผู้หญิงไทยวัยน้อยๆ เขาคุยกันเรื่องดารา เรื่องหล่อ สวย กระเป๋าหลุยส์ แอรเมส และเรื่องนาธาน เรื่องพลอย พี่โดม กับ พี่ฟิล์ม ซะเป็นส่วนใหญ่


"พี่ตู่" บอกส่งท้ายว่า การเยียวยาปัญหาของผู้หญิงต่อจากนี้ไป 


1.เรียนรู้เรื่องเงินๆ ทองๆ และวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณเสียแต่วันนี้ ตั้งเป้าหมายว่าเมื่อเกษียณแล้วจะต้องมีเงินได้รายเดือนเท่ากับปัจจุบันเป็นอย่างน้อย 
2.ในการหางานทำหรือการเปลี่ยนงาน ให้เน้นไปที่ผลประโยชน์ที่นายจ้างมีให้เมื่อเกษียณ 
3.สะสมเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่ยังมีอายุน้อยๆ โดยเก็บเงินสัก 10% - 15% เพื่อการเกษียณ พออายุมากขึ้นก็สะสมได้มากกว่านี้ตามภาระหนี้สินที่ลดลงและเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ได้โบนัสก็เก็บอย่างน้อย 50% เพื่อการเกษียณ 
4.วางแผนการเงินให้ปราศจากหนี้สินในวัยเกษียณ 
5. เกษียณให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ 
6. ทำความเข้าใจกับกฏ กติกา เงื่อนไขของกองทุนบำนาญของประกันสังคม เพราะเป็นแหล่งรายได้ในยามเกษียณ 
7. ศึกษาหนทางการบริหารเงินเพื่อมีรายได้ประจำอย่างปลอดภัยเพียงพอในวัยเกษียณ และ
8. ผลักดันปัญหาเรื่องนี้ให้รัฐเห็นความสำคัญเพื่อจะได้ออกแบบโครงการต่อเนื่องเพื่อช่วยผู้หญิงให้พ้นจากบ่วงของความไม่รู้


http://www.manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9530000173633