ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวไทย ที่ถูกผลกระทบจากภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่




ฤดูที่แตกต่าง (บอย_โกสิยพงษ์)

ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวไทย
ที่ถูกผลกระทบจากภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่
หากท้อแท้ แค่ท้อแท้อย่าแพ้พ่าย
หากท้อแท้ จงอย่าหน่ายใจสลาย
หากท้อแท้ ลองพักผ่อนหย่อนใจกาย
หากท้อแท้ แค่ใจหาย ยังหายใจ
หากท้อแท้ ลองมองดูผู้คนอื่น
หากท้อแท้ หลับสักตื่นคืนสดใส
หากท้อแท้ แค่เพราะใจเหนื่อยเกินไป
หากท้อแท้ กำลังใจ สร้างให้ตน
..ใช่ท้อแท้เพราะแพ้พ่ายใครที่ไหน
แต่เพราะใจเราที่แพ้..ต่อหวั่นไหว
แค่เพราะเผลอปล่อยเข้มแข็งหลุดลอยไป
เรียกมาใหม่กำลังใจย้อนกลับคืน..


คนไทยด้วยกัน


'เครียด' จากน้ำท่วม
จากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ นอกจากโรคทางกายแล้ว ผู้ประสบภัยจำนวนมากต่างเกิดความเครียด ซึ่งทางกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดหน่วยสุขภาพจิตเคลื่อนที่ ออกไปให้บริการคลายเครียดแก่ผู้ประสบภัย ตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความเครียดเป็นกลไกทางจิตใจที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉิน จากการออกหน่วยสุขภาพจิตเคลื่อนที่ไปให้บริการผู้ประสบภัย พบว่า บางคนนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ หงุดหงิด ใจสั่น แน่นหน้าอก ไม่มีสมาธิ โมโหง่าย หลง ๆ ลืม ๆ ปวดท้อง หรือที่เรียกว่า เครียดลงกระเพาะอาหาร

วิธีประเมินความเครียด
อ่านหัวข้อข้างล่างนี้ แล้วสำรวจดูว่าในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์ในข้อใด จาก 20 ข้อคำถามที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เกิดขึ้นกับตัวคุณบ้าง ถ้าข้อไหนไม่ได้เกิดขึ้นให้ข้ามไปไม่ต้องตอบ แต่ถ้ามีเหตุการณ์ในข้อใดเกิดขึ้นกับตัวคุณให้ประเมินว่าคุณมีความรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้นและให้คะแนน (ตั้งแต่ 1-5 คะแนน) เป็นข้อ ๆ ไป

1. กลัวทำงานผิดพลาด
2. ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
3. ครอบครัวมีความขัดแย้งเรื่องเงินหรือเรื่องงานในบ้าน
4. เป็นกังวลเรื่องสารพิษ หรือมลพิษในอากาศ น้ำ เสียง และดิน
5. รู้สึกว่าต้องแข่งขันหรือเปรียบเทียบ

6. เงินไม่พอใช้จ่าย
7. กล้ามเนื้อตึงหรือปวด
8. ปวดหัวจากความตึงเครียด
9. ปวดหลัง
10. ความอยากอาหาร เปลี่ยนแปลง

11. ปวดศีรษะข้างเดียว
12. รู้สึกวิตกกังวล
13. รู้สึกคับข้องใจ
14. รู้สึกโกรธ หงุดหงิด
15. รู้สึกเศร้า

16. ความจำไม่ดี
17. รู้สึกสับสน
18. ตั้งสมาธิลำบาก
19. รู้สึกเหนื่อยง่าย
20. เป็นหวัดบ่อย ๆ

การให้คะแนน
1 คะแนน หมายถึง ไม่รู้สึกเครียด
2 คะแนน หมายถึง รู้สึกเครียดเล็กน้อย
3 คะแนน หมายถึง รู้สึกเครียดปานกลาง
4 คะแนน หมายถึง รู้สึกเครียดมาก
5 คะแนน หมายถึง รู้สึกเครียดมากที่สุด

การแปลผล
คะแนนรวมไม่เกิน 100 คะแนน โดยผลรวมที่ได้ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
คะแนน 0–24 เครียดน้อย
คะแนน 25–41 เครียดปานกลาง
คะแนน 42–62 เครียดสูง
คะแนน 63 ขึ้นไป เครียดรุนแรง
คลิกที่นี่เพื่อทำแบบประเมิน online

การประเมิน มี 4 ระดับ คือ
1. ความเครียดในระดับต่ำ หมายถึงความเครียดขนาดน้อย ๆ และหายไปในระยะเวลาอันสั้นเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ความเครียดระดับนี้ไม่คุกคามต่อการดำเนิน ชีวิต บุคคลมีการปรับตัวอย่างอัตโนมัติ เป็นการปรับตัวด้วยความเคยชินและการปรับตัวต้องการพลังงานเพียงเล็กน้อยเป็นภาวะที่ร่างกายผ่อนคลาย

2. ความเครียดในระดับปานกลาง หมายถึง ความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเนื่องจากมีสิ่งคุกคาม หรือพบเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในสังคม บุคคลจะมีปฏิกิริยาตอบสนองออกมาในลักษณะความวิตกกังวล ความกลัว ฯลฯ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติทั่ว ๆ ไปไม่รุนแรง จนก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย เป็น ระดับความเครียดที่ทำให้บุคคลเกิดความกระตือรือร้น

3. ความเครียดในระดับสูง เป็นระดับที่บุคคลได้รับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดสูง ไม่สามารถปรับตัวให้ลดความเครียดลงได้ในเวลาอันสั้นถือว่าอยู่ในเขตอันตราย หากไม่ได้รับการบรรเทาจะนำไปสู่ความเครียดเรื้อรัง เกิดโรคต่าง ๆ ในภายหลังได้

4. ความเครียดในระดับรุนแรง เป็นความเครียดระดับสูงที่ดำเนินติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้บุคคลมีความ ล้มเหลวในการปรับตัวจนเกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดแรง ควบคุมตัวเองไม่ได้ เกิดอาการทางกายหรือโรคภัยต่าง ๆ ตามมา ได้ง่าย

นพ.อภิชัย กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตจะเน้นดูคนที่มี ความเครียดในระดับสูง ไปจนถึงในระดับรุนแรง คือ ตั้งแต่ 42 คะแนนขึ้นไป เพราะอาจเกิดปัญหาตามมาได้ โดยจะให้คำปรึกษา ให้ยาต้านเศร้า ยาคลายกังวล แล้วแต่กรณี

แม้ว่าความเครียดจะไม่เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ผู้ป่วยที่มีความเครียด หากไม่รีบรักษาอาจส่งผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลง ผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการวิตกกังวลมากเกินปกติ เช่น บางคนมีอาการนอนไม่หลับ ใจสั่น ตื่นเต้น ตกใจง่าย เหงื่อออกมากผิดปกติ ปวดศีรษะ แน่นหน้าอก แน่นท้อง ชาตามตัว

การรักษาความเครียดแบบผิด ๆ เช่น เลือกที่จะดื่มเครื่องดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ด้วยความเชื่อที่ว่าช่วยผ่อนคลายจิตใจชั่ววูบหนึ่ง แต่หารู้ไม่ว่าเพียง แค่คุณได้สัมผัสกับแอลกอฮอล์ และควันบุหรี่ เท่ากับว่าได้เปิดประตูต้อนรับโรคร้ายอย่างมะเร็งเข้ามาสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว เพราะร่างกายคนเราเมื่อมีความเครียด สมองจะหลั่งสารคอร์ติซอล ซึ่งจะทำให้เกิดความเครียดขึ้นมา เมื่อเครียดสะสมนาน ก็สะสมฮอร์โมนคอร์ติซอล ทำให้เซลล์ภูมิคุ้นกันอ่อนแอลง ทำให้เซลล์มะเร็งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

คำแนะนำสำหรับผู้มีความเครียดระดับสูง และรุนแรง
1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง และหากจำเป็นควรได้รับยาจากแพทย์เพื่อลดความเครียด
2. การพูดคุยกับคนที่ใกล้ชิดหรือไว้ใจ เป็นการระบาย
3. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสารสุขเอนดอร์ฟิน ลดสารเครียดคอร์ติซอล โดยทำอย่างน้อยวันเว้นวัน วันละ 30 นาที สำหรับการออกกำลังกายในภาวะน้ำท่วม เช่น การบริหารร่างกายอยู่กับที่ เต้นอยู่กับที่ วิ่งเหยาะ ๆ อยู่ในบ้าน
4. เลือกกิจกรรมที่ชอบ เช่น ฟังเพลง ทำสมาธิ
5. ฝึกการหายใจคลายเครียด ในคนปกติหายใจเข้าท้องจะป่อง หายใจออกท้องจะแฟบ แต่คนเครียดจะตรงกันข้าม ดังนั้นควรฝึกโดยหายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 2 หายใจเข้านับ 3 หายใจออกนับ 4 หายใจเข้านับ 5 จากนั้นเริ่มนับหนึ่งใหม่จนถึง 6, 7, 8, 9, 10 ตามลำดับ
6. ฝึกมองโลกเชิงบวก เพราะถ้าสามารถปฏิบัติได้สม่ำเสมอจะทำให้เกิดเป็นนิสัยได้ การมองโลกเชิงบวกจะทำให้คนเรามองเห็นทางออกในทุกปัญหา ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่าง มีความหวัง ในทางตรงข้าม การมองโลกในทางลบจะมองเห็น ปัญหาในทุกทางออก
7. การสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน เพื่อเป็นแหล่งช่วยเหลือซึ่งกันและกันในภาวะวิกฤติ
8. ถ้าไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อการรักษา เพราะความเครียดขั้นรุนแรงนำไปสู่โรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายได้

นพ.อภิชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมส่วนหนึ่งมีภาวะซึมเศร้านั้น บางรายก็เป็นผู้ป่วยเดิมที่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว แต่พอประสบภัย อดนอน อาการกำเริบขึ้นมาอีก แต่บางรายมีความเครียดสูงติดต่อกันนาน ๆ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ โดยจะใช้คำถามคัดกรอง คือ


1. รู้สึกจิตใจหม่นหมองหรือไม่ (เกือบตลอดทั้งวัน)
2. รู้สึกหมดอาลัยตายอยาก
3. รู้สึกไม่มีความสุข หมดสนุก กับสิ่งที่เคยชอบและเคยทำ
4. คิดอะไรได้ช้ากว่าปกติ
5. รู้สึกอ่อนเพลียง่ายเหมือนไม่มีแรง
6. นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หลับไม่สนิท ถ้าตอบว่า “มี” ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป หมายถึง มีภาวะซึมเศร้า ควรได้รับบริการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือพบแพทย์เพื่อการบำบัดรักษา

น้ำท่วม...ภัยธรรมชาติ.....ที่มากับโรคแถมอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
โรคระบาดที่เป็นกันมากหลังเกิดน้ำท่วม


โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา เป็นโรคที่มาจากการเกิดแผลพุพองเป็นหนอง ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดไม่แห้งเป็นเวลานาน ซึ่ง
อาการในระยะแรก นั้นจะเริ่มต้นที่ อาการคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังจะลอกออกเป็นขุย มีผื่น ระยะหลังๆ ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง เท้าเปื่อย และเป็นหนอง ที่สำคัญอาจเกิดโรคผิวหนังอักเสบแทรกซ้อนได้ง่าย
การป้องกัน ก็ทำได้ไม่ยากเลยแค่หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าฝืนไม่ได้จำเป็นต้องย่ำน้ำแล้วละก็ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ และควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ เช็ดให้แห้งเมื่อกลับเข้าบ้าน สวมใส่ถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้นหากมีบาดแผล ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ หรือเบตาดีน เพียงแค่นี้โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อราก็ไม่น่ากังวลแล้ว....

โรคปอดบวม ก็ถือเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงอีกโรคที่สามารถคร่าชีวิตผู้ป่วยได้ภายใน 24ชั่วโมงซึ่ง
โรคนี้สามารถเกิดจากเชื้อได้หลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด ทำให้มีการอักเสบของปอด ผู้ประสบภัยน้ำท่วม หากมีการสำลักน้ำ หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในปอด ก็มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมได้
การติดต่อ เพียงแค่หายใจเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าไป หรือจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยเมื่อ ไอ จามหรือหายใจรดกันหรือในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ อ่อนแอ พิการ มักพบเกิดจากการสำลักเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ปกติในจมูก และลำคอเข้าไปในปอด
อาการทั่วไป นั้นจะมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบเหนื่อยจนเห็นชายโครงบุ๋ม เล็บมือเล็บเท้า ริมฝีปากซีด หรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่าย หรือซึมเมื่อมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคปอดบวมต้องรีบไปพบแพทย์ทันที โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด, หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด, ปอดแตกและมีลมรั่วในช่องปอด หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในผู้ป่วยมีโรคหัวใจอยู่ก่อนอาจหัวใจวายได้
การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการแล้ว ต้องรีบพบแพทย์ และรับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม หรือใส่หน้ากากอนามัยหากมีไข้ ให้กินยาลดไข้ และใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้กินอาหารที่อ่อนย่อยง่าย กินผักและผลไม้ ดื่มน้ำอุ่นมากๆใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่เปียกชื้น และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ

โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิส โรคที่ติดต่อได้จากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรค โดยเชื้อจะออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง พื้นดินที่ชื้นแฉะ หากผู้ที่มีบาดแผล มีรอยขีดข่วน รอยถลอก ย่ำไปโดนก็สามารถติดเชื้อได้ แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้นเชื้อที่ว่านี้สามารถไชเข้าเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานได้อย่างไม่น่าเชื่อ


การรับประทานอาหารที่มีหนูมาฉี่รด ก็สามารถทำให้ติดโรคนี้ได้เช่นกัน เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 4 -10 วัน จะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางคนมีอาการตาแดง อาจมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือท้องเดินหากมีอาการดังกล่าวหลังจากที่สัมผัสสัตว์ หรือลุยน้ำ ย่ำโคลน ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยแพทย์ในพื้นที่ทันที ถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้….
การป้องกัน ควรสวมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ หากต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน โดยเฉพาะถ้ามีบาดแผลหลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องรีบอาบชำระร่างกายให้สะอาดโดยเร็วที่สุด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกทันที และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิดดูแลที่พักให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนูเก็บกวาด ทิ้งขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู....

อหิวาตกโรค เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า วิบริโอ คอเลอเร สำหรับอหิวาตกโรคชนิดแท้ และแบคทีเรียชื่อ เอลเทอร์ วิบริโอ สำหรับอหิวาตกโรคชนิดเทียม ติดต่อโดยอยู่ในอุจจาระหรืออาเจียนของผู้ป่วย แพร่กระจายอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค
อาการทั่วไปนั้น จะปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำวันละหลายครั้ง อาการคล้ายท้องร่วง จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน ถ้าอาการรุนแรง จะปวดท้องรุนแรง ถ่ายอุจจาระเหลวคล้ายน้ำซาวข้าว มีกลิ่นคาว อาเจียน การถ่ายบ่อยทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเบาลง และเสียชีวิตได้
การป้องกัน ควรจัดให้มีส้วมใช้ตามหลักสุขาภิบาล ดื่มและใช้น้ำที่สะอาด ล้างมือทุกครั้งก่อนทานอาหารและหลังจากเข้าส้วม ทานอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ห้ามรับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม หลีกเลี่ยงการกินอาหารสดระหว่างที่มีโรคระบาด เก็บภาชนะที่ใส่อาหารให้มิดชิด ไม่ให้แมลงวันไปตอมได้ ทำลายขยะมูลฝอย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และไม่ให้แมลงวันใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์

โรคตาแดง โรคที่พบได้บ่อยซึ่งเป็นการอักเสบของเยื่อบุตา(conjunctiva)ที่คลุมหนังตาบนและล่างรวมเยื่อบุตาที่คลุมตาขาว โรคตาแดงอาจจะเป็นแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง
สาเหตุอาจจะเกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส Chlamydia trachomatis ภูมิแพ้ หรือสัมผัสสารที่เป็นพิษต่อตา สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส มักจะติดต่อทางมือ ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตัวโดยมากใช้เวลาหาย 2 สัปดาห์ ตาแดงจากโรคภูมิแพ้มักจะเป็นตาแดงเรื้อรัง มีการอักเสบของหนังตา ตาแห้ง การใช้contact lens หรือน้ำยาล้างตาก็เป็นสาเหตุของตาแดงเรื้อรังอาการของโรคตาแดง
อาการที่สำคัญ คือคันตา เป็นอาการที่สำคัญของผู้ป่วยตาแดงที่เกิดจากภูมิแพ้ อาการคันอาจจะเป็นมากหรือน้อย คนที่เป็นโรคตาแดงโดยที่ไม่มีอาการคันไม่ใช่เกิดจากโรคภูมิแพ้ นอกจากนั้นอาจจะมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวเช่นหอบหืด ผื่นแพ้
ขี้ตา ลักษณะของขี้ตาก็ช่วยบอกสาเหตุของโรคตาแดง ขี้ตาใสเหมือนน้ำตามักจะเกิดจากไวรัสหรือโรคภูมิแพ้ ขี้ตาเป็นเมือกขาวมักจะเกิดจากภูมิแพ้หรือตาแห้ง ขี้ตาเป็นหนองมักจะร่วมกับมีสะเก็ดปิดตาตอนเช้าทำให้เปิดตาลำบากสาเหตุมักจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

โรคไข้เลือดออก ก็เช่นกันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากที่ไหนมีน้ำขังที่นั่นก็ต้องมียุง!! ซึ่งโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ติดต่อได้จากยุงลายตัวเมีย ที่ออกหากินในเวลากลางวัน โดย
อาการของโรคในเด็ก นั้นจะมีเพียงอาการไข้และผื่น
ส่วนในผู้ใหญ่ จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อเป็นโรคนี้แล้วได้รับการรักษาช้าผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้
หากมีไข้สูง ต่อเนื่อง 2-7 วัน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย บางรายอาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีกำเดาออกหรือเลือดออกตามไรฟัน และถ่ายอุจาระดำเนื่องจากเลือดออก และอาจทำให้เกิดอาการช็อกได้ ในรายที่ช็อกจะสังเกตได้จากการที่ไข้ลดแล้วแต่ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลง ตัวเย็น หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
การรักษา นั้นทำได้เพียงประคับประคองอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังภาวะช็อก และเลือดออกตามร่างกาย ซึ่งวิธีที่จะป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือการควบคุมการแพร่กระจายของยุงลาย กำจัดแหล่งเพราะพันธุ์ยุงเท่านั้น...

สำหรับการดูแลเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ และอาหารให้สะอาดปลอดภัยปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง ก็ถือเป็นอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เพราะน้ำดื่มเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย โดยปกติร่างกายของคนเราต้องการน้ำประมาณวันละ 2 ลิตร หากอยู่ในภาวะน้ำท่วม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพจึงต้องทำน้ำให้สะอาดก่อนดื่ม
วิธีที่สามารถทำได้ง่าย ก็คือ การต้มให้เดือดเพื่อทำลายเชื้อโรคในน้ำนั่นเอง ส่วนในกรณีใช้น้ำดื่มบรรจุขวด จะต้องดูตราเครื่องหมาย อย. ก่อนดื่มทุกครั้ง หากเป็นน้ำดื่มในภาชนะควรบรรจุปิดสนิท น้ำต้องใส สะอาด ไม่มีตะกอน และไม่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน ...หลังดื่มน้ำหมดแล้วควรทำลายขวด/ภาชนะบรรจุ โดยทุบหรือบีบให้เล็กลงก่อนนำไปทิ้งถุงดำ เพื่อสะดวกต่อการนำไปกำจัด ส่วนน้ำใช้ ต้องสะอาด หากไม่แน่ใจให้ใช้คลอรีนทำลายเชื้อโรคในน้ำก่อนโดยใช้คลอรีน100มิลลิกรัมต่อน้ำ1ลิตรทิ้งไว้ 10 นาทีก็จะสามารถนำน้ำไปใช้ได้อย่างสบายใจ

เรื่องการขับถ่ายในภาวะน้ำท่วม หากไม่สามารถถ่ายในส้วมได้ ห้ามถ่ายลงในน้ำโดยตรงเด็ดขาด... ให้ถ่ายใส่ถุงพลาสติกแล้วใส่ปูนขาวพอสมควร ปิดปากถุงให้แน่น ใส่ลงถุงขยะอีกครั้ง แล้วนำไปทิ้งบริเวณที่จัดไว้หรือรวบรวมไว้เพื่อรอการนำไปจัดการอย่างถูกวิธี

การระวังสัตว์มีพิษ อย่าง งู แมลงป่อง ตะขาบ ที่หนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่บนบ้านเรือน ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ททุกครั้งนอกจากจะช่วยป้องกันสัตว์มีพิษเหล่านี้แล้วยังช่วยป้องกันการเหยียบวัสดุอันตราย เช่น เศษแก้ว เศษกระเบื้อง ตะปู ที่อยู่ใต้น้ำจนได้รับบาดเจ็บ ที่สำคัญควรถือไม้นำทางตลอดเวลา เพราะอาจพลัดตกหลุมบ่อที่น้ำท่วมจนมองไม่เห็นได้

หลังเกิดน้ำท่วม เมื่อระดับน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ให้เก็บกวาด ทำความสะอาดถนนหนทาง บ้านเรือน รวมถึงซ่อมแซมบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างที่ได้รับความเสียหายให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว หากเสียหายมากจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ให้รีบรื้อถอน เพราะอาจเกิดอันตรายได้ รวมถึงแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาดำเนินการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคและเส้นทางคมนาคมที่ได้รับความเสียหาย อีกทั้งจัดเก็บซากสัตว์ที่ตายแล้วด้วยการฝังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากน้ำท่วม ควรเตรียมรับมือด้วยการติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้อยู่ในสภาพพร้อมรับมือภัยน้ำท่วม จัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภคและสิ่งของจำเป็นไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดน้ำท่วม ควรเรียนรู้วิธีการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายที่มักเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม...

เพียงเท่านี้ไม่ว่าน้ำจะท่วมบ่อยแค่ไหน แต่เมื่อเรารู้จักวิธีป้องกันตัวที่ดีแล้ว เราก็ใช้ชีวิตร่วมกับน้ำท่วมได้อย่างสบายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และอันตรายที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน.....


http://www.thaihealth.or.th/node/17814
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=101146&categoryID=532