เอกซเรย์ผลงาน..กองทุน 'ทองคำ & น้ำมัน'




จัดสำรับลงทุน



เอกซเรย์ผลงาน..กองทุน 'ทองคำ - น้ำมัน'


การทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคา "ทองคำ"- "น้ำมัน" ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่ายังคงอยู่ใน “ทิศทางขาขึ้น” ค่อนข้างชัดเจน

Fundamentals สัปดาห์นี้ จะพามาเจาะลึกเรื่องราวของ “กองทุนทองคำ” และ “กองทุนน้ำมัน” ผ่านมุมมองของนักวิเคราะห์กองทุนรวมกันอีกครั้ง

@ กองทุนทองคำ
“สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล” นักวิเคราะห์กองทุนรวม บมจ.หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) บอกว่า ปัจจุบัน “กองทุนทองคำ” ได้รับความนิยมจากนักลงทุนไทยเป็นจำนวนมากและมี บลจ.ต่างๆ สนใจออกกองทุนทองคำมาเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนอยู่หลาย บลจ.เช่นเดียวกัน

โดยกองทุนทองคำทั้งหมดของทุก บลจ.นี้จะนำเงินไปลงทุนในกองทุนแม่กองทุนเดียวกันทั้งหมดนั่นก็คือ “กองทุน SPDR GOLD TRUST” ซึ่งเป็นกองทุนอีทีเอฟ (EXCHANGE TRADED FUND : ETF) ที่ลงทุนในทองคำแท่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จัดตั้งและจัดการโดย WORLD GOLD TRUST SERVICES, LLC ที่ถือหุ้นโดย WORLD GOLD COUNCIL (WGC) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดย “กองทุน SPDR GOLD TRUST” มีนโยบายมุ่งเน้นลงทุนในทองคำแท่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำหักด้วยค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุน

“แม้ว่ากองทุนทองคำของทุก บลจ.จะไปลงทุนในกองทุนหลักคือกองทุน SPDR GOLD TRUST กองเดียวกันก็จริง แต่ผลการดำเนินงานของกองทุนทองคำที่ออกมาของแต่ละ บลจ.ก็ยังแตกต่างกันออกไป ซึ่งมาจากหลายปัจจัยด้วยกันแต่ที่สำคัญที่สุดคือ นโยบายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ในการป้องกันความเสี่ยงของค่าเงิน ซึ่งในบางช่วงอาจจะทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนทองคำต่างกันได้ 2 - 5% เลยทีเดียว”

ปัจจุบันกองทุนทองคำมีนโยบายเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ 3 ประเภท ด้วยกัน คือ
1) กลุ่มที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน (NON HEDGE)
ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของกองทุนทองคำแม้ว่าบางกองทุนจะเปิดโอกาสให้ผู้จัดการกองทุนสามารถทำการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้ก็ตาม แต่ในภาวะปกติจะไม่มีการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้

2) กลุ่มที่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน (FULLY HEDGE)
ซึ่งมีเพียง 2 กองทุน ได้แก่ “กองทุนเปิดเคโกลด์ (K-GLOD)” ของ บลจ.กสิกรไทย และ “กองทุนเปิดแอสเซทพลัสโกลด์ (ASPGOLD)” ของ บลจ.แอสเซท พลัส และ 3) กลุ่มที่มีการป้องกันความเสี่ยงแบบไดนามิค (DYNAMIC HEDGING) มี 1 กองทุน ได้แก่ “กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล โกลด์ ฟันด์ (I-GOLD)” ของ บลจ.เอ็มเอฟซี

สานุพงศ์ ยังบอกอีกว่า “กองทุน SPDR GOLD TRUST” ยังเป็นกองทุน ETF ทองคำที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ถึง 4 ประเทศ ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ “นิวยอร์ก” ตลาดหลักทรัพย์ “ญี่ปุ่น” ตลาดหลักทรัพย์ “ สิงคโปร์ ” และตลาดหลักทรัพย์ “ฮ่องกง” ซึ่งแต่ละ บลจ.อาจจะเลือกกองทุนที่จดทะเบียนในตลาดที่แตกต่างกันไปก็ส่งผลให้ผลการดำเนินงานแตกต่างกันได้เช่นเดียวกัน เพราะกองทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ต่างกันก็จะมีการใช้เงินลงทุนในสกุลเงินที่ต่างกันด้วย โดยกองทุนทองคำในไทยส่วนใหญ่จะเลือกไปลงทุนในกองทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งซื้อขายไป “ฮ่องกงดอลลาร์” และตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ที่ซื้อขายเป็น “ดอลลาร์สหรัฐ” มากกว่า

จะมีเพียง “กองทุนเปิดทหารไทยโกลด์ฟันด์ (TMBGOLD)” ของบลจ.ทหารไทย เพียงกองทุนเดียวที่เลือกไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ซึ่งจะลิงก์ไปถึงในเรื่องของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่างกันของแต่ละกองทุนด้วย

การที่กองทุนทองคำในไทยเลือกลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นส่วนใหญ่ ก็จะทำให้ราคาที่นำมาใช้ในการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนใช้เวลาปิด (T) ของวันนั้นได้เลย เพราะอยู่ใน TIME ZONE เดียวกัน จะมีเพียงกองทุน TMBGOLD เท่านั้น ที่ต้องใช้ราคา ETF ที่นำมาคำนวณราคาเป็นวันทำการถัดไป คือ T+1 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนทองคำต่างกันได้ นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องต้นทุนในการลงทุนในกองทุนทองคำต่างๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกองทุนทองคำแม้จะลงทุนในกองทุนหลักเดียวกันออกมาแตกต่างกันได้

“อย่างไรก็ตามในมุมมองของนักวิเคราะห์กองทุนรวมเราแนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะมากินผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำไปได้ และแนะนำให้เลือกลงทุนในกองทุนที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำ โดยปัจจุบันกองทุนทองคำที่บริษัทแนะนำได้แก่ กองทุน K-GOLD ของ บลจ.กสิกรไทยและ กองทุน I-GOLD ของ บลจ.เอ็มเอฟซี ซึ่งในแง่ของผลการดำเนินงานของกองทุนเองก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเช่นกัน”

@ กองทุนน้ำมัน
ปัจจุบันนอกจากกองทุนทองคำแล้ว สานุพงศ์ บอกว่า “กองทุนน้ำมัน” ถือเป็นกองทุนอีกประเภทที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนไทยค่อนข้างมาก และมีหลาย บลจ.ที่นำเสนอกองทุนน้ำมันเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน โดยกองทุนน้ำมันของทุก บลจ.ต่างไปลงทุนในกองทุนหลักกองเดียวกันนั่นก็คือ
“กองทุน POWERSHARES DB OIL FUND” ซึ่งเป็นกองทุน ETF ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ “นิวยอร์ก” ที่มีนโยบายลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ WEST TEXAS INTERMEDIATE (WTI) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี DEUTSCHE BANK LIQUID COMMODITY INDEX - OPTIMUM YIELD CRUDE OIL EXCESS RETURN ซึ่งเป็นดัชนีที่มุ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าน้ำมันดิบ WTI บริหารจัดการโดย DB COMMODITY SERVICES LLC. ทั้งนี้การลงทุนในกองทุนหลักจะลงทุนในสกุลเงิน “ดอลลาร์สหรัฐ”

แม้ว่ากองทุนน้ำมันของแต่ละ บลจ.จะไปลงทุนในกองทุนหลักกองเดียวกันก็ตาม แต่ผลการดำเนินงานก็แตกต่างกันได้เนื่องมาจากเหตุผลที่สำคัญ 2 เรื่องหลัก คือ
1) นโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และ
2) การใช้ราคาในการคำนวณ NAV ที่แตกต่างกันของแต่ละ บลจ.นั่นเอง”

สานุพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า
แม้ว่ากองทุนน้ำมันของทุก บลจ.จะไปลงทุนในกองทุนหลักกองเดียวกัน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เดียวกัน และลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเหมือนกันก็ตาม แต่รายละเอียด
นเรื่องของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละ บลจ.จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
1) กลุ่มที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ( NON HEDGE)
ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของกองทุนทองคำแม้ว่าบางกองทุนจะเปิดโอกาสให้ผู้จัดการกองทุนสามารถทำการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้ก็ตาม แต่ในภาวะปกติจะไม่มีการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้

2) กลุ่มที่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน (FULLY HEDGE)
ซึ่งมีเพียง 2 กองทุน ได้แก่ “กองทุนเปิดเคออยล์ (K-OIL)” ของบลจ.กสิกรไทย และ “กองทุนเปิดแอสเซทพลัสออยล์ (ASP-OIL)” ของ บลจ.แอสเซท พลัส และ 3) กลุ่มที่มีการป้องกันความเสี่ยงแบบไดนามิค ( DYNAMIC HEDGING) มี 1 กองทุน ได้แก่ “กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล ออยล์ ฟันด์ (I-OIL)” ของ บลจ.เอ็มเอฟซี

“นโยบายป้องกันความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ก็จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันให้แตกต่างกันด้วยเช่นกัน”

อีกปัจจัยที่สำคัญได้แก่ การนำราคาที่มาใช้คำนวณ NAV ของกองทุน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
1) “ใช้ราคาคืนนี้” มี 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด K-GOLD, กองทุนเปิด ASP-GOLD, “กองทุนเปิดซีมิโก้ ออยล์ แทรคกิ้ง ฟันด์ (S-OIL)” ของ บลจ.ซีมิโก้ และ “กองทุนเปิดทหารไทย ออยล์ฟันด์ (TMBOIL)” ของ บลจ.ทหารไทย และ
2) “ใช้ราคาเมื่อคืน” มี 4 กองทุน ได้แก่ “กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล ออยล์ ฟันด์ (I-OIL)” ของ บลจ.เอ็มเอฟซี, “กองทุนเปิดกรุงศรีอออยล์ (KF-OIL)” ของ บลจ.อยุธยา, ”กองทุนเปิดทิสโก้ออยล์ฟันด์ (OIL-FUND)” ของ บลจ.ทิสโก้ และ “กองทุนเปิดเคแทม ออยล์ ฟันด์ (KT-OIL)” ของ บลจ.กรุงไทย

การใช้ราคาคืนนี้นักลงทุนก็ต้องรอให้ตลาดที่นิวยอร์กปิดก่อนถึงจะรู้ว่าจะซื้อหรือขายได้ที่ราคาเท่าไร ส่วนการใช้ราคาเมื่อคืนข้อดี คือนักลงทุนจะได้เห็นราคาที่จะซื้อหรือขายก่อน แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือในภาวะที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนอาจไม่เป็นผลดีต่อกองทุนได้เช่นกัน ยกตัวอย่างสมมติเมื่อคืนราคาน้ำมันปิดที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล นักลงทุนเข้าไปซื้อวันนี้เห็นแล้วว่าตัวเองจะซื้อได้ที่ราคา 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่กว่าจะเข้าไปซื้อนั้นมีกระบวนการในการลงทุนอยู่ มาวันนี้ราคาน้ำมันเป็น 76 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ วันที่ลงทุน กองทุนอาจจะต้องไปซื้อหน่วยในราคาที่แพงขึ้นเพราะไม่ใช่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว

นั่นอาจจะทำให้ผู้ที่ลงทุนอยู่เดิมและไม่มีการซื้อขายหน่วยเสียประโยชน์ไปได้ เพราะกองทุนอาจจะต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อไปซื้อหน่วยลงทุนมาให้กับผู้ลงทุนที่สั่งซื้อที่ราคา 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นต้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อ NAV ของกองทุนได้ในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวน ดังจะเห็นได้จากผลการดำเนินงานของกองทุน OIL-FUND ของ บลจ.ทิสโก้ที่ออกมาไม่ค่อยดีนักในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็เกิดจากปัญหาดังกล่าวนี้เช่นกัน ถ้านักลงทุนจะลงทุนในกองทุนน้ำมันที่ใช้ “ราคาเมื่อคืน” ในการคำนวณ NAV ก็ต้องรับความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวนี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน

“สำหรับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในกองทุนน้ำมัน บริษัทแนะนำให้เลือกลงทุนในกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพราะมองในระยะยาวค่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท และควรเลือกกองทุนที่ใช้ราคาคืนนี้ในการคำนวณมากกว่าเพื่อจะได้ไม่ต้องมาแบกรับความเสี่ยงในเรื่อง NAV ที่ผันผวนในกรณีที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนมาก นอกจากนี้ยังควรเลือกลงทุนในกองทุนที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำในการลงทุนด้วย โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันที่บริษัทแนะนำให้ลงทุนได้แก่ กองทุน K-OIL และกองทุน I-OIL ซึ่งในแง่ของผลการดำเนินงานก็อยู่ในเกณฑ์ดี”

@ แนะเล่นรอบทองคำ-น้ำมัน
สานุพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า จากปัญหาความกังวลในเรื่องหนี้ของยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (SAFE HEAVEN) ทั้งทองคำและดอลลาร์สหรัฐมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น จะเห็นได้จากปริมาณการถือครองทองคำของกองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีการถือครองทองคำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2553 ที่ผ่านมาจนทำสถิติสูงสุดที่ 1,306.14 ตัน (ณ วันที่ 11 มิ.ย.2553) ที่ผ่านมา และหากปัญหาหนี้ในยุโรปยังมีความต่อเนื่องก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ปริมาณการถือครองทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์ในตลาดทองคำที่มองราคาทองคำในปี 2554 สูงกว่าปี 2553 ทั้งสิ้น แสดงถึงทิศทางขาขึ้นของทองคำชัดเจน โดยราคาทองคำได้ขึ้นมาทดสอบแนวต้าน 1,250 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ มา 2 ครั้งแล้วแต่ไม่ผ่าน

“ดังนั้นแนะนำนักลงทุนรอเข้าลงทุนในกองทุนทองคำเมื่อราคาทองคำอ่อนตัวลงมา ต่ำกว่า 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยมีแนวรับที่น่าสนใจที่ 1,160 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่ที่ผ่านมาราคาทองคำก็ไม่เคยลงมาถึงระดับนี้เลย พอแตะ 1,170 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ก็เด้งกลับตลอด ดังนั้นนักลงทุนที่สนใจอาจจะรอรับหากหลุดระดับ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ลงมาแล้วเป็นสำคัญ เพื่อรอราคาขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญที่ 1,250 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์อีกครั้ง อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าไม่มีนักวิเคราะห์รายใดมองราคาทองคำต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์เลย โดยในปี 2554 มีมองสูงสุดที่ 1,425 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และต่ำสุด 1,150 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์”

ส่วนราคาน้ำมันเองก็ปรับตัวลดลงจากความกังวลปัญหาหนี้ในยุโรปที่อาจจะกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้ในอนาคต แต่บริษัทยังมองกรอบราคาน้ำมันปีนี้เคลื่อนไหวระดับ 75 - 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้นนั่นเอง โดยในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันลงไปต่ำกว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ปัจจุบันก็เด้งกลับมายืนอยู่ที่ระดับ 76 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อยู่ในกรอบที่มองไว้ได้อีกครั้ง และมีแนวต้านถัดไปที่ 82 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

“ทั้งนี้จะเห็นว่าสถาบันต่างๆ ได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันในเดือนพ.ค.2553 ขึ้นจากเดือนก.พ.2553 ทั้งสิ้นในทุกไตรมาส สะท้อนถึงแนวโน้มทิศทางราคาน้ำมันขาขึ้นได้เป็นอย่างดี นักลงทุนจึงสามารถเข้าไปลงทุนในกองทุนน้ำมันและกองทุนทองคำในลักษณะของการเล่นรอบได้ อย่างไรก็ตามคาดการณ์ราคาน้ำมันในกรอบ 75 - 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นี้ บนสมมติฐานที่ปัญหาหนี้จำกัดวงในกลุ่ม PIGS เท่านั้น แต่หากขยายวงไปทั่วยุโรป เราอาจจะได้เห็นราคาน้ำมันกลับไปอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เหมือนในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาอีกครั้งก็ได้”

@ แนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
โดยสานุพงศ์ มองว่า ในอนาคต “กองทุนทองคำ” และ “กองทุนน้ำมัน” มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันต้องยอมรับว่านักลงทุนผ่านกองทุนรวมส่วนใหญ่ยังคงเน้นการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้เป็นหลัก ในส่วนของกองทุนหุ้นเองก็มีกลุ่มผู้ลงทุนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ลงทุนอยู่ไม่ได้เป็นกลุ่มนักลงทุนในวงกว้างเหมือนกองทุนตราสารหนี้ การเติบโตของกองทุนหุ้นเองจึงมีค่อนข้างจำกัด ในส่วนของนักลงทุนผ่านกองทุนรวมเองปัจจุบันเม็ดเงินที่ลงทุนผ่านกองทุนทองคำและกองทุนน้ำมันก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ของธุรกิจกองทุนรวมทั้งหมด หากนักลงทุนแบ่งเงินมาลงทุนในกองทุนทองคำและกองทุนน้ำมันมากขึ้นก็จะทำให้กองทุนทั้ง 2 มีโอกาสเติบโตขึ้นได้อีกมากทีเดียวในอนาคต

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นโดยตรงผ่านโบรกเกอร์เขาก็ไม่ชอบที่จะมาลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวมแม้จะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่เป็นกองทุนหุ้นก็ตาม เพราะเขามีช่องทางการลงทุนในหุ้นรายตัวในต่างประเทศได้แล้วในปัจจุบันก็มักจะไปเลือกใช้ช่องทางนั้นมากกว่าถ้าจะไป แต่ “กองทุนทองคำ” และ “กองทุนน้ำมัน” กลับเป็นโปรดักท์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนกลุ่มที่ลงทุนในหุ้นโดยตรงเพราะ “เข้าใจง่าย” และ “สะดวกในการลงทุน”

“แม้ปัจจุบันจะมีโกลด์ ฟิวเจอร์ส (GOLD FUTURES) แต่ก็เหมือนเป็นโปรดักท์ใหม่ที่ต้องเรียนรู้และอาจมีความยุ่งยากในการทำความเข้าใจสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นโดยตรงกลุ่มเดิม แทนที่เขาจะไปลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ส ส่วนหนึ่งจึงหันมาลงทุนในโกลด์ สปอท (GOLD SPOT) ผ่านกองทุนทองคำแทน ในกรณีของน้ำมันก็เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามทั้งทองคำและน้ำมันจัดเป็น “สินทรัพย์เสี่ยง” เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้น ดังนั้นนักลงทุนควรจะมีการจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสมเพื่อลงทุนเช่นเดียวกัน”

ปัจจุบัน “กองทุนทองคำ” และ “กองทุนน้ำมัน” ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นตามลำดับ เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนในการตัดสินใจเลือกกองทุนเพื่อลงทุนได้ดียิ่งขึ้น
http://bit.ly/bEYc6E