“คิดบวก” หลักคิดเชิงจิตวิทยา ผสานแนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์ ช่วยจัดสรรชีวิตให้สมดุลและลงตัว



มองโลกในแง่ดี



“คิดบวก” หลักคิดเชิงจิตวิทยา
ผสานแนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์
ช่วยจัดสรรชีวิตให้สมดุลและลงตัว

เวลาเจองานหนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือ โอกาสในการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ
เวลาเจอปัญหาซับซ้อน ให้บอกตัวเองว่า นี่คือ บทเรียนที่จะสร้างปัญญาได้อย่างวิเศษ
เวลาเจอความทุกข์หนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือ แบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต
เวลาเจอนาย จอมละเมียด ให้บอกตัวเองว่า นี่คือ การฝึกตนให้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ
เวลาเจอคำตำหนิ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือ การชี้ขุมทรัพย์มหาสมบัติ
เวลาเจอคำนินทา ให้บอกตัวเองว่า นี่คือ การสะท้อนว่า เรายังคงมีความหมาย
เวลาเจอความผิดหวัง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือ สิ่งที่ธรรมชาติกำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิต
เวลาเจอวิกฤต ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทพิสูจน์สัจธรรม "ในวิกฤตย่อมมีโอกาส"

ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดท่าน ว.วชิรเมธี จากหนังสือ “คิดบวก ชีวิตบวก” ตามที่ทราบกันว่า จะสุขหรือจะทุกข์ ก็อยู่ที่ใจเราทั้งนั้น การคิดบวก หรือ Positive thinking เป็นพลังขับเคลื่อนที่ดีอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เรามีจิตใจดียิ่งขึ้น และทำให้เรามีความสุขได้อย่างไม่น่าเชื่อ การคิดบวก เป็นสิ่งดีที่สำคัญมากในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องงาน ยกตัวอย่าง การคิดบวกในชีวิตการทำงาน เริ่มตั้งแต่ ก้าวเข้ามาในออฟฟิศทุกเช้า ถ้าเราคิดว่าการมาทำงานในแต่ละวัน เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า เราก็จะเริ่มต้นทำงานอย่างมีความสุข เพราะสนุกกับทุกงานที่ทำ และในความคิดของเราก็จะคิดดีตลอดว่า งานที่เราทำมันดีกับเรานะ มันให้ประสบการณ์และทำให้ชีวิตเรามีคุณค่าขึ้น ก็จะทำให้เราทำงานอย่างมีความสุข ต่อให้เจอปัญหาอุปสรรรคแค่ไหน ก็จะเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ท้าทาย ทั้งเป็นบทเรียนให้พัฒนาตัวเองและเป็นสิ่งที่ช่วยให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ต่อไป

เมื่อการคิดบวกสำคัญขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกที่ในปัจจุบัน องค์กรส่วนใหญ่จะเลือกรับคนที่มีความคิดแง่บวกหรือทัศนคติที่ดี ก่อนที่จะรับพวกที่ทำงานเก่งจริง แต่กลับมีทัศนคติแย่ๆ เพราะองค์กรที่มีพนักงานซึ่งมีความคิดเชิงบวก จะเป็นใบเบิกทางของความสำเร็จในการทำงาน ทั้งจะส่งผลถึงความสำเร็จขององค์กรนั้นๆ
การนำหลักคิดเช่นนี้มาใช้ ยังจะช่วยให้เราผ่านพ้นสถานการณ์ที่คิดว่าย่ำแย่ไปได้ เพราะความมหัศจรรย์ของการคิดบวก นอกจากจะช่วยให้ไม่กดดันตัวเองแล้ว ยังเป็นการสร้างกำลังใจให้พร้อมลุยกับปัญหาได้อย่างมั่นใจ

ขณะเดียวกัน การนำหลักคิดแบบเศรษฐศาสตร์เข้ามาผสานใช้ด้วยกัน ก็จะยิ่งมีส่วนช่วยจัดสรรเวลาและชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันได้แก่

- ใช้เวลาตอบสนองความต้องการไม่มากเกินความจำเป็น
แนวคิดบางอย่าง เช่น แนวคิด “สุขนิยม” ซึ่งสอนให้เราหาความสุขบนโลกนี้ให้มากที่สุดนั้น อาจเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างเอนเอียงไปบ้าง เพราะโดยทั่วไปมนุษย์ไม่ได้เกิดมา เพื่อแสวงหาความสุขบนโลกนี้เท่านั้น แต่เกิดมาพร้อมภารกิจและหน้าที่ที่ต้องทำให้สำเร็จ หากใช้เวลาเพื่อตอบสนองความต้องการที่เกินจำเป็น ย่อมทำให้เสียเวลาและโอกาสในการทำงานหรือการลงทุน

-ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยการลดเวลาที่สูญเสียไปให้น้อยที่สุด เช่นว่า ลดเวลาการเดินทาง ทานอาหาร ฯลฯ ให้น้อยลง เพื่อจะได้มีเวลาเหลือสำหรับทำสิ่งอื่นๆ มากขึ้น หรือว่าอาจต้องยอมเสียทรัพยากรอื่นทดแทน เช่น ยอมเสียเงินนั่งรถแท็กซี่ เพื่อแลกกับเวลาที่ต้องสูญไปในการรอคอยรถโดยสารประจำทาง

-แบ่งเวลาระหว่างการทำงานและการลงทุนให้เหมาะสม
ควรใช้เวลาเพื่อการทำงานที่เหมาะสม ไม่มากไป น้อยไป การให้เวลากับการทำงานมากที่สุด ไม่ได้ทำให้ผลงานออกมามากที่สุดเสมอไป เนื่องจากกฎข้อหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ ชื่อ “กฎการลดน้อยถอยลงของผลผลิตส่วนเพิ่ม” (law of diminishing marginal product) กล่าวไว้ว่า “เวลาการทำงานในชั่วโมงหลังๆ จะให้ผลผลิตที่น้อยกว่าการทำงานในชั่วโมงแรกๆ” ดังนั้น ชั่วโมงทำงานที่มากเกินไป จะทำให้ผลการทำงานในชั่วโมงหลังๆ ลดลง จนไม่มีประโยชน์ ยิ่งกว่านั้นอาจทำให้ผลงานแย่ลงไปกว่าเดิมก็เป็นได้ แต่ว่าชั่วโมงงานที่น้อยเกินไป ก็ไม่สามารถทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

-“อายุ” มีอิทธิพลในการใช้เวลา
อายุ เป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการตัดสินใจในการให้เวลากับการลงทุนหรือพัฒนาตนเอง เด็กหรือวัยรุ่นที่อายุยังน้อย หากลงทุนพัฒนาตนองจะทำให้มีระยะเวลาของการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนนานกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น หากเราให้เวลากับการลงทุนพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ ตั้งแต่อายุยังน้อย ย่อมเป็นการได้เปรียบกว่าเริ่มต้นเมื่ออายุมาก เช่น ผู้ใหญ่ที่อายุ 55 ปีแล้วเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี ก็จะมีเวลาเพียง 5 ปีที่เหลือในการทำงาน โดยใช้ความรู้ที่ได้มาก่อนถึงวัยเกษียณในเวลาค่อนข้างสั้น

-ใช้เวลาในการลงทุนและตอบสนองความต้องการได้พร้อมๆ กัน
เพื่อประสิทธิภาพในการจัดสรรเวลา เช่น แทนที่จะดูรายการทีวีทั่วๆ ไป ก็ควรเลือกดูรายการที่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อพยายามฝึกฟังและฝึกพูดตาม ย่อมจะได้ประโยชน์ควบคู่กันไป ทั้งด้านความบันเทิงและพัฒนาตนเอง

หลักคิดแบบเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว น่าจะเป็นแนวทางสำคัญที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างความเข้าใจและวางแผนการใช้เวลา หากยิ่งได้ผสานเข้ากับการคิดในเชิงบวกด้วยแล้ว จะยิ่งช่วยให้สามารถจัดสรรชีวิตที่สมดุลและลงตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พรศิลป์ ชิโนเรสโยธิน
บลจ.บัวหลวง จำกัด