ให้อภัย Forgive everybody, everything, everynight...





ให้อภัยสักครั้ง ซินเดอเรลล่า Cinderella




ให้อภัย


****************************

มนุษย์ที่มีใจสูงย่อมรู้จักให้อภัย
ไม่เอาเรื่องกับสิ่งเล็กน้อย

****************************

อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่
ทางที่ถูกควรทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก
ถ้าเป็นเรื่องเล็กอยู่แล้วก็ไม่ควรเอาเรื่องเสียเลย
ปล่อยไปเสีย ทำไม่รู้ไม่เห็นเสียบ้าง
ไม่บอดทำเป็นเหมือนบอด
ไม่ใบ้ทำเหมือนใบ้
ไม่หนวกทำเหมือนหนวกเสียบ้าง
จิตใจของเราจะสบายขึ้น

******************************************************
มีเรื่องแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์
คือ คนส่วนมากเผชิญกับเหตุการณ์ใหญ่ ๆ อย่างกล้าหาญได้
แต่กลับขาดความอดทนต่อสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ

******************************************************

ตัวอย่างเช่น ใครมาพูดเสียดสี
กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เขาทนไม่ได้
แต่กลับทนอยู่ในคุกตารางได้เป็น 20-30 ปี
และยินดีรับความทุกข์เหล่านั้นไปตลอดเวลา
ที่ทางราชการกำหนด แม้จะไม่ยินดี ก็เหมือนยินดี
เพราะไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
ถ้าเขายินดีรับความทุกข์เพียงเล็กน้อยเสียก่อน
คือ อดทนต่อคำด่าว่าเสียดสี
หรืออาการทำนองที่เขาคิดว่าเป็นการดูถูกดูแคลน
เพียงเล็กน้อยเสียก่อน
ไหนเลยเขาจะต้องมาทนทุกข์ทรมานอันมากมาย
ยาวนานถึงเพียงนั้น


*********************************************
การให้อภัยเป็นคุณธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในมนุษย์
*********************************************

คนส่วนมากเมื่อจะทำทาน
ก็มักนึกถึงวัตถุทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของ
ให้ได้มาก เตรียมการมาก ยุ่งมาก เขายินดีทำ
แต่ใครมาล่วงเกินอะไรไม่ได้
ไม่มีการให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น
ความจริงเขาควรหัดให้อภัยทานบ้าง
แล้วจะเห็นว่า จิตใจสบาย ขึ้นประณีตขึ้น
สูงขึ้น เป็นเทวดา
ดังสุภาษิตอังกฤษบทหนึ่งว่า
“To err is human , to forgive diving”
แปลว่า การทำผิดเป็นเรื่องของมนุษย์
ส่วนการให้อภัยเป็นเรื่องของเทวดา
ถือเอาความว่ามนุษย์ธรรมดาย่อมมีการทำผิดพลาดบ้าง

*********************************
ส่วน มนุษย์ที่มีใจสูงย่อมรู้จักให้อภัย
ไม่เอาเรื่องกับสิ่งเล็กน้อย

*********************************

หรือ แม้ในสายตาของคนอื่นจะเห็นเป็นเรื่องใหญ่
แต่สำหรับท่านผู้มีใจกรุณา ย่อมเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย

พระพุทธเจ้าที่พวกเรานับถือนั้น
มีผู้ปองร้ายพระองค์ถึงกับจะเอาชีวิตก็มี
เช่น พระเทวทัตและพวกพยายามปลงพระชนม์หลายครั้ง
แต่ไม่สำเร็จเพราะพระองค์ไม่ร้ายตอบ ทรงให้อภัย
มีคนใส่ร้ายด้วยเรื่องที่ร้ายแรง
ทำให้เสียเกียรติยศชื่อเสียงก็มี
เช่น พวกเดียรถีย์นิครนถ์ นางจิญจมาณวิกา
นางสุนทรี เป็นต้น แต่ก็ไม่ทรงทำตอบ ทรงให้อภัย
ในที่สุดคนพวกนั้นก็พ่ายแพ้ไปเอง
เหมือนเอาไข่ไปตอกกับหินไข่แตกไปเอง

พระเยซู ศาสดาของคริสต์ศาสนา
ก็ทรงมีชื่อเสียงมากในการให้อภัย
ไม่ทรงถือโทษต่อผู้คิดร้ายทำร้ายต่อพระองค์
ให้อภัยผู้ทำความผิด เปิดโอกาสให้กลับตัว

อีกท่านหนึ่งคือมหาตมะ คานธี
ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกเรื่องอหิงสา ความไม่เบียดเบียน
การให้อภัย
จนถึงอัลเบิร์ต ไอสไตน์
นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ได้กล่าวสดุดีท่านผู้นี้ไว้ว่า
“ ต่อไปภายหน้ามนุษย์จะเชื่อหรือไม่ก็ไม่ทราบ
ว่าได้เคยมีคนอย่างนี้ (ท่านมหาตมะ คานธี)
เกิดขึ้นแล้วในโลก ”
ทั้งนี้เพราะคุณวิเศษในตัวท่านนั้น
ยากที่คนสามัญจะหยั่งให้ถึงได้


******************************************************
รวมความว่า มหาบุรุษที่โลกยกย่องให้เกียรติเคารพบูชานั้น
ล้วนเป็นนักให้อภัยทั้งสิ้นไม่เอาเรื่องกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ
หรือ เรื่องใหญ่ก็ทำเป็นเรื่องเล็กเสีย
ท่านเหล่านั้นมุ่งมั่นในอุดมคติ
จนไม่มีเวลาจะสนพระทัยหรือสนใจในเรื่องเล็กน้อย
แต่ท่านเหล่านี้จะสนใจในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
อันเกี่ยวกับสุขทุกข์ของผู้อื่นเสมอ
ส่วนเรื่องร้ายที่คนอื่นกระทำแกท่าน ท่านไม่สนใจ

*******************************************************

ลองอ่านประวัติของท่านที่เอ่ย พระนาม
และนามมาแล้วดังกล่าวดูบ้าง
จะเห็นว่าท่านน่าเคารพบูชาเพียงใด
โลกจึงยอมน้อมเศียรให้แก่ท่าน

มีเรื่องเล่าว่าในวัดพุทธศาสนานิกายเซ็นวัดหนึ่ง
มีพระอยู่กันหลายรูป
มีพระรูปหนึ่งมีนิสัยทางขโมย
ได้ขโมยของเพื่อนพระด้วยกันเสมอ ๆ
จนวันหนึ่งพระทั้งหลายพากันขึ้นไปหาเจ้าอาวาสบอกว่า
ถ้าพระรูปนี้ยังอยู่วัดนี้ พวกเขาจะไม่อยู่วัดนี้
ขอให้ไล่พระรูปนั้นออกไป
ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า
พวกคุณนั่นแหละควรจะไปได้แล้วทุกรูป
ส่วนพระรูปนั้นควรจะต้องอยู่กับฉันก่อน เพราะยังไม่ดี
นี่คือเรื่องของผู้มีใจกรุณา


*************************************
คนที่เคยทำความผิดอันยิ่งใหญ่นั้น
ถ้ากลับใจได้เมื่อใด
ก็มักทำความดีอันยิ่งใหญ่เหมือนกัน
เพราะสลดใจในเวรกรรมที่ตนเคยสร้างไว้

***************************************

ดูพระเจ้าอโศกมหาราชและขุนโจรองคุลิมาลเป็นตัวอย่าง
พระองค์เสด็จไปโปรดองคุลิมาลให้กลับเป็นคนดี
ก็ด้วยพระทัยกรุณานั่นเอง
แม้พระเจ้าอโศกมหาราชก็เหมือนกัน
ตามพระประวัติว่า ได้อาศัยพระภิกษุในพุทธศาสนารูปหนึ่ง
จึงกลับพระทัยมาดำเนินชีวิตทางไม่เบียดเบียน
ทรงบำเพ็ญอภัยทานเป็นอันมาก

ถ้าจะเอาเรื่องกับเด็กรับใช้ที่บ้าน
ภารโรงที่โรงเรียนหรือสำนักงาน
ก็ขอให้หยุดคิดสักนิดหนึ่งว่าก็แกแค่นั้น
จะเอาอะไรกับแกนักหนา
ถ้าแกดีเท่าเราหรือเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องอย่างเรา
แกจะมาเป็นคนใช้หรือเป็นภารโรงทำไมกัน
ก็เพราะความคิดอ่านแกมีอยู่เท่านั้น แกก็ทำอย่างนั้น
อย่างที่เรารำคาญ ๆ อยู่นั่นแหละ
คิดได้อย่างนี้ก็ค่อยหายกลุ้มไปหน่อย
สุภาษิตที่ว่า “ ความเข้าใจเป็นมูลฐานแห่งการให้อภัย ” นั้น
ยังเป็นความจริงอยู่เสมอ
เมื่อเข้าใจแล้วก็ให้อภัย
เห็นว่าเขาเป็นคนอย่างนั้นเอง

**********************************************
พระสารีบุตรเคยแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ในการคบคนนั้น ควรถือเอาเฉพาะส่วนดีของเขา
ส่วนไม่ดีก็ตัดทิ้งไป

**********************************************

บางคนการกระทำทางกายไม่ดี แต่วาจาดี
บางคนวาจาหยาบแต่การกระทำทางกายดี
บางคนการกระทำทางกายก็หยาบ วาจาก็หยาบ แต่ใจดี
ควรถือเอาเฉพาะส่วนที่ดีนั้น
ท่านเปรียบว่าเหมือนดึงผ้าออกมาจากดินโคลน
เพื่อจะเอาไปปะต่อใช้สอยเห็นส่วนไหนดีก็ตัดเอาไว้
ส่วนไหนไม่ดีก็ตัดทิ้งไป
ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะช่วยให้สบายใจได้มาก

อนึ่งควรคิดว่า
*************************************************
คนเราเกิดมาด้วยจิตที่ไม่เหมือนกัน
คือพื้นฐานของจิตตอนถือปฏิสนธินั้นไม่เหมือนกัน
จึงมีอุปนิสัยแตกต่างกันมาตั้งแต่เยาว์
เมื่อกระทบกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอีก
ก็ทำให้บุคคลแตกต่างกันไปเป็นอันมาก
การอยู่รวมกันของคนหมู่มาก
ผู้มีอุปนิสัยใจคอพื้นฐานทางใจ
และการอบรมที่แตกต่างกัน จึงมีปัญหามาก
ถ้าเราถือเล็กถือน้อยไม่รู้จักให้อภัย เราก็จะมีทุกข์มาก

**************************************************

บางทีก็เกี่ยวกับช่องว่างระหว่างวัย
ผู้ใหญ่อยากจะให้เด็กทำ พูดและคิดอย่างตน
ส่วนเด็กก็อยากจะให้ผู้ใหญ่ทำ พูด คิด อย่างตนเหมือนกัน
ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแล้วเป็นไปไม่ได้
ฝ่ายผู้ใหญ่ควรให้อภัยว่าแกเป็นเด็ก
ส่วนเด็กก็ควรให้อภัยว่าท่านแก่แล้ว
มาเข้าใจกันเสีย คือ เห็นใจซึ่งกันและกัน
เมื่อเป็นดังนี้เรื่องเล็กไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่
ทุกฝ่ายอยู่กันด้วยความเห็นใจเข้าใจ
มองกันอย่างเป็นมิตร ไม่เป็นศัตรูต่อกัน
นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการผ่อนคลายความทุกข์
ในชีวิตประจำวัน


______________

ที่มา...หนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ 4 ฉบับที่ 46 กันยายน 2547
โดย วศิน อินทสระ
คัดลอกจาก...E-Mail ของคุณสุรีย์


Forgive everybody, everything, everynight...