สอนวาณิชให้เป็นเศรษฐี





เคล็ดลับความรวยกับ 6 หนังสือดังของโลก
Law of attraction




สอนวาณิชให้เป็นเศรษฐี
โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ sawaleet@posttoday.com


ใครล่ะจะไม่อยากเป็น “เศรษฐี” เพราะฉะนั้นแค่เห็นหัวข้อเสวนาพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 35 ปี ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “สอนวาณิชให้เป็นเศรษฐี” ก็ตาโตแล้ว

แต่พอเห็นว่าผู้ที่จะมาสอน “พ่อค้าวาณิช” นักลงทุน นักเล่นหุ้นให้เป็นเศรษฐี กลับไม่ใช่ทั้งนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน แต่เป็น พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ก็ยิ่งตาโต เพราะไม่แน่ใจว่า
“พระ” กับ “การลงทุน” จะเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร แต่รู้อย่างหนึ่งว่างานนี้ต้องไม่ธรรมดา และก็ไม่ธรรมดาจริงๆ


เหมือนว่า
“ท่าน ว.วชิรเมธี” จะพอมองออกว่ามี “ปุจฉา” ระหว่างพระกับการลงทุน ท่านจึงเริ่มต้นคำสอนด้วยประโยคที่ว่า “ตลาดเงินตลาดทุนกับพระดูจะขัดแย้งกัน เป็นคนละเรื่องคนละมุม แต่แท้จริงแล้วนี่คือเรื่องเดียวกัน เพราะการลงทุนต้องใช้ความรู้ ต้องใช้สติอย่างมาก แถมยังต้องมีโบรกเกอร์มาช่วยใช้สติ ไปๆ มาๆ นักลงทุนปฏิบัติธรรมมากกว่าคนทั่วไปเสียอีก”

นั่นเพราะนักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จต้องมีทั้ง
“ความรู้” นั่นคือ “ปัญญา” ตามหลักพุทธศาสนา ควบคู่ไปกับการ“เจริญสติ” มีวินัยทางการเงิน และต้องกัลยาณมิตร

“พอเราแยกธรรมะออกจากการลงทุน เราก็ขาดทุนทันที ดูอย่างวิกฤตทางการเงินที่ผ่านๆ มา เกิดมาจากสิ่งเดียว คือ ประมาท ลงทุนโดยไม่มีความจริงมารองรับ ลงทุนในฟองสบู่ ดังนั้นเมื่อขาดธรรมจึงขาดทุน”

มาถึงตรงนี้ก็ถึงบางอ้อ เพราะ
“ธรรมะ” กับ “การลงทุน” เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นความจริงตามที่ท่าน ว.วชิรเมธี ว่าไว้จริงๆ เพราะนักลงทุนทั้งหน้าใหม่หน้าเก่าถูกสอนอยู่เสมอๆ ว่า ก่อนจะลงทุนอะไรก็ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ ไม่ใช่แค่ซื้อตามๆ กันไป

นักลงทุนที่มีโอกาสจะประสบความสำเร็จต้องศึกษาและติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจและตลาดทุนทั้งในประเทศ ต่างประเทศ สถานการณ์ แนวโน้มกลุ่มธุรกิจและตัวบริษัทจดทะเบียน ทั้งยังต้องพิจารณาตัวเลข อัตราส่วนทางการเงินอีกสารพัด ตั้งแต่มูลค่าหุ้นตามบัญชี ราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น อัตราผลตอบแทนต่อเงินปันผล อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (และอื่นๆ อีกมาก)

นอกจากนี้ การติดตามข่าวสารและสถานการณ์ต่างๆ ในยุคนี้ยังต้องใช้สติอย่างมาก ไม่วูบไหวไปกับข่าวลือ ข่าวลวงที่ออกมาท่วมตลาด ขณะที่นักลงทุนยังต้องมีวินัยการลงทุน ทำตามแผนการลงทุนที่วางไว้ และที่สำคัญต้องยอมตัดใจขายขาดทุน เมื่อการลงทุนไม่เป็นไปตามคาด

และที่สำคัญต้อง “คบคนดี” เพราะท่าน ว.วชิรเมธี บอกว่า ในทางโลกถ้าจะลงทุนก็ต้องเลือกคนที่มีเครดิตดี ซึ่งก็คือความศรัทธา เพราะถ้าไม่น่าเชื่อถือ ไม่ศรัทธา ก็ไม่เข้าไปลงทุน ซึ่งในภาษาพระเรียกว่า กัลยาณมิตร

นอกจากนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี ยังเปรียบเทียบความรู้สึกของนักลงทุนที่ได้กำไรจากการลงทุนว่า “อิ่มอกอิ่มใจ เปี่ยมสุข แบบที่ภาษาพระเรียกว่า เสวยวิมุติสุข”

แต่สำหรับนักลงทุนที่ไม่สมประสงค์ ท่าน ว.วชิรเมธี บอกว่า ต้องใช้ความรู้อีกด้านหนึ่งมาประกอบ ไม่อย่างนั้นจะเรียกว่ามีความรู้ด้านการลงทุน แต่ไม่มีความรู้ทางธรรม

“เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ตาสองข้าง หนึ่ง ตาข้างนอก เท่ากับความรู้ทำมา|หากิน และสอง ตาข้างใน เท่ากับความรู้ทางธรรม เพราะฉะนั้นต้องเรียนรู้หลักธรรมที่ว่าไม่มีใครได้ทุกอย่างที่หวังและไม่มีพลาดหวังทุกอย่างไป เพราะฉะนั้นเมื่อได้กำไรก็รู้ว่าต้องมีขาดทุน เมื่อขาดทุนก็
อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง

ท่าน ว.วชิรเมธี บอกว่า หลักธรรมข้อนี้เรียกว่า
“โลกธรรม” เป็นธรรมประจำโลกที่บอกว่าชีวิตคนเรามีขึ้นมีลง มีสุขมีทุกข์ มีได้มีเสีย “ถ้าเข้าใจ ‘โลกธรรม’ เวลาเกิดอะไรขึ้นก็จะร้อง อ๋อ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็จะถูก โลกกระทำ แล้วถ้ายังไม่เข้าใจอีกก็จะถูก โลกกระทืบ”

แต่หลักธรรมที่นำมาใช้กับการลงทุนเพียงเท่านี้ แม้ว่าจะทำให้ได้กำไรจากการลงทุน แต่ไม่ได้ทำให้กลายเป็น
“เศรษฐี” ตามความหมายที่แท้จริงได้ เพราะท่าน ว.วชิรเมธี บอกว่า คนที่มีเงินมาก มั่งคั่ง ร่ำรวย และถือครองทรัพยากรจำนวนมากจะเป็นได้เพียงแค่ “วาณิช” เท่านั้น

แต่เมื่อใดที่ รวยแล้วให้ ได้แล้วแบ่งปัน เมื่อนั้น “วาณิช” จะขยับขึ้นมาเป็น “เศรษฐี” เพราะเศรษฐีหมายถึง “ผู้ประเสริฐ”

“เงินคือฟองอากาศ ก้อนสมมติ ก้อนอุปาทานที่มนุษย์สมมติขึ้นมาให้เป็นของมีค่า เราอาจจะมีรถยนต์ 10-20 คัน จอดอยู่ในโรงรถ แต่มีแค่รถคันโปรดเพียงคันเดียวที่เราใช้เป็นประจำ เพราะฉะนั้นทรัพย์สินเป็นหมื่นล้านแต่ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ มันก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใคร และก็คงทำให้เป็นได้แค่มหาวาณิชเท่านั้น ยังไม่ใช่มหาเศรษฐี”

เพราะเงินเป็นเพียงปัจจัยที่ใช้นำไปสู่คุณภาพชีวิต เงินไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต

“ไม่ผิดนะที่จะมีเงิน แต่ผิดถ้าจะคิดว่าเงินเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เพราะสถานภาพที่แท้จริงของเงินคือปัจจัย มีเงินเพื่อต่อไปยังคุณภาพชีวิต แต่ถ้ามีเงินแล้วบอกว่าชีวิตสูงสุดแล้ว ประสบความสำเร็จแล้ว อันนี้ผิด เพราะพอไม่รู้จักเงิน เงินก็เป็นต้นทางของวิกฤต ถ้าคิดว่าเงินเป็นสิ่งสูงสุด เงินเป็นศาสดา เงินก็จะเป็นอสรพิษมาแว้งกัดเจ้าของเงิน”


แต่ถ้าสังคมไทยยังคงยึดติดอยู่กับคำว่า
“เศรษฐี” ท่าน ว.วชิรเมธี ให้คาถา “อุ อา กะ สะ” หัวใจเศรษฐีมาไว้ประจำตัว

1.อุฏฐานสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยความหมั่น) คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และการประกอบอาชีพที่สุจริต ฝึกฝนให้มีความชำนิชำนาญและรู้จริง รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาวิธีการที่เหมาะที่ดีจัดการและดำเนินการให้ได้ผลดี

2.อารักขสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการรักษา) คือ รู้จักคุ้มครอง เก็บ รักษาโภคทรัพย์และผลงานที่ตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรมด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย

3.กัลยณมิตตา (คบหาคนดีเป็นมิตร) คือ รู้จักเสวนาคบหาคน ไม่คบไม่เอาอย่างผู้ที่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เลือกเสวนาศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้รู้ ผู้ทรงคุณ ผู้มีความสามารถ ผู้น่าเคารพนับถือ และมีคุณสมบัติเกื้อกูลแก่อาชีพการงาน

4.สมชีวิตา (เลี้ยงชีวิตแต่พอดี) คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่าย เป็นอยู่พอดีสมรายได้ มิให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้

“เวลาไปวัดพระเป่ากระหม่อม ท่อง อุ อา กา สะ รวย แต่สุดท้ายพระรวย โยมจน เพราะโยมต้องถวายปัจจัย จริงๆ แล้วหัวใจเศรษฐี คือ ขยัน หมั่นรักษา กัลยาณมิตร และพอเพียง ซึ่งใครทำคนนั้นก็ได้ไป เพราะเงินทองเป็นของกลาง วางกองอยู่ทุกหนแห่ง ใครขยันหาก็ได้ไป”

เพราะฉะนั้น ท่าน ว.วชิรเมธี บอกว่า เราต้องหันมาเข้าใจเรื่องเงินกันใหม่ โดย “เปลี่ยนเงินเป็นบุญ เปลี่ยนทุนเป็นธรรม” เพราะ “แค่เราเปลี่ยนท่าทีและปฏิสัมพันธ์ต่อเงิน ประเทศจะร่ำรวย สังคมมีสันติสุขร่วมกัน” ตามวิถีทางของเศรษฐีอย่างแท้จริง
http://www.posttoday.com/


อ๋อ !! มันเป็นอย่างนี้เอง...