หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท



โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท




หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
ชื่ออาการที่ได้ยินกันมานาน แต่สักกี่คนที่จะรู้จักความผิดปกติอันนำมาซึ่งอาการปวดหลัง แขน และขาบ้าง


หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ...

สารพันวันละโรค วันนี้จึงขอเริ่มจากการแนะนำให้คุณผู้อ่านรู้จัก หมอนรองกระดูก อวัยวะรูปร่างคล้ายหมอนหนุนศีรษะ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 1 นิ้วเศษๆ และหนาราว 1 เซนติเมตร เชื่อมต่อระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ตั้งแต่คอไปจนถึงก้นกบ ทำหน้าที่รองรับแรงกดจากกระดูกสันหลังทั้งหมด


หมอนรองกระดูก ยังมีไส้ด้านในอ่อนนุ่มอยู่ตรงกลาง เรียกว่า นิวเคลียส พัลโพสุส ในวัยเด็กไส้นุ่ม ๆ นี้จะมีลักษณะคล้ายเจล แต่จะแห้งลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้คุณสมบัติการยืดหยุ่นลดลงและปริแตกฉีกง่ายตามวัยที่มากขึ้น เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท


ด้วยความที่อวัยวะส่วนนี้อยู่ใกล้เส้นประสาท เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังแตกเคลื่อนจึงทำให้ นิวเคลียส พัลโพสุส ถอยหลังออกมากดทับเส้นประสาท เกิดอาการปวดร้าวตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ รู้สึกปวดหลัง ขา หรือแขน

โอกาสที่หมอนรองกระดูกสันหลังจะเคลื่อนทับเส้นประสาทนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ หากคุณเคลื่อนไหวร่างกายผิดวิธี ตกจากที่สูง ลื่นล้มหลังกระแทกพื้น มีน้ำหนักตัวมากจนทำให้กระดูกสันหลังต้องแบกรับน้ำหนักมากเกินไป อายุที่มากขึ้นทำให้เกิดความเสื่อม ขาดการออกกำลังกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างจำกัด เช่น นั่งทำงานเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ รวมทั้งภาวะตึงเครียด


สำหรับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากขณะไอหรือจาม โดยผู้ป่วยจะรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้นอนราบ แต่ถ้ามีอาการปวดหลังเจ็บร้างลงขา (ต่ำกว่าเข่า) เพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ร่วมกับอาการชาและอ่อนแรง เกิดความผิดปกติกับระบบขับถ่าย เช่น ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือท้องผูก แม้จะใช้ยาแก้ปวดหลังนานกว่า 1 สัปดาห์ก็ยังไม่หาย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน


ทั้งนี้ นายแพทย์วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการปวดดังกล่าวว่า เป็นหมู่โรคเกี่ยวกับหลังและคอ ในการวินิจฉัยของแพทย์จะพบว่า อาการปวดนั้นจะเกิดขึ้นกับ 2 บริเวณ ประกอบด้วย ช่วงเอว-ก้นกบ จะลามลงไปที่ขา และช่วงคอ-สะบัก-หัวไหล่ ซึ่งความเจ็บปวดจะแผ่ซ่านไปที่แขน

สำหรับการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทนั้นมีหลายวิธี
โดย นพ.วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุว่า อาการปวดด้วยโรคดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด เริ่มจากการให้ยาระงับปวดลดการอักเสบ ทำกายภาพ และฉีดยาลดการอักเสบที่เส้นประสาท หรือการฝังเข็มสลายจุดปวด แต่วิธีเหล่านี้จะต้องรักษาแล้วหายภายใน 6-12 สัปดาห์


กรณีที่ยังไม่หาย วิธีการรักษาขั้นต่อไปคือการผ่าตัด เนื่องจากอาการเข้าสู่ขั้นเรื้อรัง หากไม่รีบแก้ไขจะส่งผลให้เส้นประสาทช้ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรงและลีบลง

สำหรับการผ่าตัดที่นิยมนำมาใช้รักษาหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท มักทำโดยการผ่าตัดส่องกล้องเอ็นโดสโคป ที่มีเลนส์กำลังขยายสูงและให้แสงสว่างช่วยให้แพทย์เห็นลักษณะภายในได้ชัดเจน โดยหลังจากผ่านการเอ็กซเรย์เพื่อกำหนดจุดของแผลแล้ว แพทย์จะให้ยาสลบแก่ผู้ป่วย ก่อนกรีดแผลยาวเพียงแค่ 8 มิลลิเมตร เพื่อสอดเครื่องมือเข้าไปจัดการกับหมอนรองกระดูกส่วนที่กดทับเส้นประสาทโดยไม่ต้องเลาะกล้ามเนื้อ หรือตัดกระดูกสันหลังบางส่วนทิ้งเพื่อสอดเครื่องมือ และไม่ทำให้เสียเลือดมาก


ประโยชน์ของการผ่าตัดส่องกล้องเอ็นโดสโคปที่ใช้เวลาเพียง 30 นาที ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ยังช่วยลดระยะเวลาการพักฟื้นของผู้ป่วยให้เหลือเพียง 12-24 ชั่วโมง โดยหลังผ่านการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถลุกเดินได้ด้วยตนเองทันที

แม้การผ่าตัดรักษาจะช่วยแก้ไขอาการปวดหลัง แขนและขาที่ต้นเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ คุณผู้อ่านก็ไม่ควรมองข้ามวิธีการนอน นั่ง ยืนอย่างถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หากอยากปรับอิริยาบถให้ถูกวิธี




สาเหตุหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทก็เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายผิดวิธี ไม่ว่าจะเป็นท่าทางการนอน การนั่ง หรือการยืน และเพื่อเป็นการป้องกันอาการปวดหลังที่ลุกลามไปสู่แขนและขา คุณผู้อ่านควรปรับท่าทางต่าง ๆ ให้มีลักษณะดังต่อไปนี้

เริ่มจากท่านอน หากนอนหงาย ควรงอสะโพกและเข่า ให้มีหมอนรองใต้โคนเข่า บริเวณแผ่นหลังจะต้องเหยียดราบติดที่นอน ส่วนการนอนตะแคงข้างนั้น เข่าจะต้องงอ และต้องกอดหมอนข้าง


ส่วนท่าทางการนั่ง ให้นั่งจนเต็มที่รองก้น กรณีที่รองก้นยาวให้นั่งแล้วข้อพับขาชิดกับที่นั่งได้พอดี ส่วนหลังต้องตั้งตรงและพิงพนัก ความสูงของเก้าอี้ที่เลือกนั่งจะต้องให้ผู้นั่งสามารถวางฝ่าเท้าขนานกับพื้นได้ทั้งฝ่าเท้า พนักพิงต้องสูงถึงสะบัก แต่ทำมุมเอียงไม่เกิน 100 องศากับส่วนรองก้น


สำหรับท่านั่งขณะขับรถ ยิ่งถ้าเป็นการขับในระยะไกล ไม่ควรเลื่อนเบาะให้ไกลเกินไป เพราะจะทำให้หลังงอ โดยจะต้องนั่งให้หลังส่วนล่างชิดกับเบาะ พนักพิงไม่เอียงเกิน 30 องศา ทั้งนี้เบาะนั่งควรยกด้านหน้าให้สูงกว่าด้านหลังเล็กน้อย ที่สำคัญควรพักทุก ๆ 1 ชั่วโมง และอย่ายกของหนักทันทีที่หยุดขับ

ถ้าเป็นการนั่งอ่านหรือเขียนหนังสือ ต้องสามารถวางแขนและข้อศอกบนโต๊ะได้อย่างสบาย ช่วยลดความเมื่อยล้า เก้าอี้ที่นั่งควรมีระดับความสูงที่พอเหมาะกับการวางแขน และควรมีที่วางเท้ากว้าง ๆ ให้เท้าสามารถเคลื่อนไหวได้

มาถึงท่ายืน ให้น้ำหนักตัวค่อนมาทางส้นเท้า แขม่วท้องอกผายไหล่ผึ่ง จะทำให้หน้าอกยื่นไปข้างหน้า แต่บริเวณสะโพกจะแอ่นน้อยที่สุด กรณีที่ยืนเป็นเวลานาน ให้ลงน้ำหนักที่ขาข้างใดข้างหนึ่งและสลับกันไป หรือวางพักเท้าบนที่สูงราว 1 คืบ

การสะพายกระเป๋าเป้ ควรจัดให้สายเป้ตึงกระชับกับหลัง และควรเลือกแบบที่มีสายรัดส่วนเอวช่วยถ่ายเทน้ำหนัก โดยไม่บรรจุของจนกระเป๋ามีน้ำหนักมากเกินไป

สุดท้ายเป็นการก้มเก็บของหรือยกของหนัก จะต้องย่อตัวและงอเข่าทั้งสองข้าง โดยใช้แรงขาช่วยยกของขึ้น ขณะลุกขึ้นให้ลุกด้วยกำลังของขาสองข้าง หลังเหยียดตรงตลอดเวลา

หากปรับอิริยาบถตามคำแนะนำร่วมกับการจัดสรรเวลาในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าคุณจะนอน นั่ง หรือยืนอย่างไร คุณก็จะไม่ต้องพบกับปัญหากวนตัวอย่างอาการปวดหลังอีกต่อไป.

takecareDD@gmail.com
ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์