ไข่ในตะกร้า ( การกระจายความเสี่ยง )









ไข่ในตะกร้า ( การกระจายความเสี่ยง )

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR


กฎของการลงทุนข้อที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่ง ก็คือ
"การกระจายความเสี่ยง" หรือที่เรียกว่า Diversify ในภาษาอังกฤษ

การกระจายความเสี่ยง จะเป็นการป้องกันอันตรายร้ายแรง ที่อาจจะเกิดขึ้น จากความผันผวน หรือความผิดพลาดในการลงทุนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ในแวดวงการเงินมีคำเปรียบเปรยเรื่องการกระจายความเสี่ยง ว่า เหมือนกับการ
"ใส่ไข่ไว้ในตะกร้าหลายใบ" นั่นก็คือ หากตะกร้าใบใดใบหนึ่ง ตกลงพื้นทำให้ไข่แตกหมด ไข่ในตะกร้าใบอื่นๆ ก็ยังอยู่ แต่ถ้าใส่ไข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว และตะกร้าใบนั้นตกลงพื้น ความเสียหายก็มหาศาล

ดังนั้น เขาจึงบอกว่า
"อย่าใส่ไข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว" ความหมาย ก็คือ เงินทั้งหมดที่มีอยู่ อย่าลงทุนในทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว ให้กระจายเงินลงทุนไปในทรัพย์สินต่างๆ ทุกอย่างให้มากที่สุด เวลาทรัพย์สินอย่างหนึ่งเสียหาย ทรัพย์สินอื่นก็ยังอยู่ และมักให้ผลตอบแทนชดเชยกับความเสียหายได้ ถ้าทำแบบนี้ โดยรวมแล้ว เราจะไม่เสี่ยงหรือเสี่ยงน้อยมาก และผลตอบแทนที่ได้จะ "ดีพอใช้"


วิธีการใน การ Diversify หรือกระจายความเสี่ยง
มีหลักการใหญ่ๆ อยู่ 4 ข้อ ซึ่งถ้าเราทำตามแล้ว รับประกันได้ว่า ความเสี่ยงของเราจะน้อยลง ลงทุนแล้วนอนตาหลับและได้ผลตอบแทนน่าพอใจ อย่าหวังรวยจากการลงทุนด้วยกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงมากๆ

ข้อแรก กระจายการถือหลักทรัพย์ในหลายๆ กลุ่ม หรือที่เรียกว่าหลาย Asset Class
โดยกลุ่มหลักทรัพย์ที่สำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มตราสารหนี้ ซึ่งรวมถึงเงินฝากในสถาบันการเงิน ที่กำหนดผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน กับกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนไม่แน่นอน โดยเฉลี่ยแล้วให้ผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่มแรก ซึ่งตัวใหญ่ ก็คือ หุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การกระจายการถือหลักทรัพย์ เป็นสองกลุ่มใหญ่ ช่วยให้เราไม่เสี่ยงเกินไป เพราะในบางช่วงหุ้นอาจจะตก

ถ้าเรามีพันธบัตรอยู่ครึ่งหนึ่ง หรือ 60% ส่วนนี้เราจะไม่เสียหาย เพราะเวลาหุ้นตก ราคาพันธบัตรมักจะไม่ลดลง ที่จริงมักจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

ดังนั้น เราไม่เสียหายมาก ในทางตรงกันข้าม ในกรณีที่หุ้นขึ้น เราก็ได้กำไรจากการที่หุ้นขึ้น ซึ่งทำให้ผลตอบแทนรวมของเราดีกว่าการถือพันธบัตร หรือเงินฝากเพียงอย่างเดียว

ข้อสอง กระจายความเสี่ยง โดย "การลงทุนในหลายช่วงเวลา"
นี่คือ การลดความเสี่ยงเรื่องของเวลาเข้าลงทุน เหตุผล ก็คือ ถ้าเรามีเงินก้อนโตก้อนหนึ่งแล้ว เราเข้าซื้อหลักทรัพย์เช่นหุ้นในเวลาใดเวลาหนึ่งด้วยเงินทั้งหมด ถ้าช่วงนั้นราคาหุ้นต่ำ หลังจากหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงมาก ผลตอบแทนของเราก็ดีมาก

ถ้าตรงกันข้าม เราเข้าลงทุนในช่วงที่หุ้นราคาสูงติดดอย หลังจากลงทุนแล้วหุ้นตกลงมามาก ผลตอบแทนของเราก็จะแย่มาก นี่คือ ความเสี่ยงของการเน้นการลงทุนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

วิธีการลดความเสี่ยง ก็คือ ค่อยๆ กระจายการลงทุนเป็นช่วงๆ
โดยไม่ต้องสนใจว่าเวลานั้น หุ้นจะสูงหรือต่ำ ยิ่งทยอยลงทุนเป็นช่วงเวลายาวนาน ยิ่งช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้นเท่านั้น อย่าไป "เก็ง" ว่าช่วงไหนเป็นเวลาที่ดี เพราะเรามักจะเก็งไม่ถูก หลักการกระจายการลงทุนข้อนี้ เหมาะสมกับคนกินเงินเดือนประจำที่มีเงินเข้าลงทุนเรื่อยๆ ตามเวลาเงินเดือนออก ซึ่งเขาควรนำมาลงทุนโดยไม่ต้องคำนึงถึงภาวะตลาดหุ้น

ข้อสาม กระจายการลงทุนในหลายๆ ตลาด
นี่คือ การลดความเสี่ยงจากการที่ตลาดหนึ่งตลาดใดจะแย่ผิดปกติ เช่น ถ้าคิดว่าตลาดหุ้นของประเทศไทย มีความเสี่ยงจากอะไรบางอย่างเป็นพิเศษ การกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ก็เป็นทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงได้ เพราะหุ้นของประเทศอื่น มักจะมีความเสี่ยงไม่เหมือนเมืองไทย ซึ่งจะช่วยชดเชยผลตอบแทนได้ กรณีที่เกิดความเสียหายจากประเทศไทยเช่นเดียวกัน บางครั้งหุ้นในตลาดไทยก็อาจให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นในตลาดต่างประเทศ โดยรวมแล้ว การลงทุนในหลายประเทศ จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนได้

ข้อสุดท้าย ของการกระจายความเสี่ยง ก็คือ "การปรับพอร์ต" หรือ Rebalance
นั่นก็คือ เมื่อกระจายความเสี่ยงโดยการถือครองหลักทรัพย์ แต่ละกลุ่มในอัตราที่เหมาะสมกับตนเองดีแล้ว เช่น มีหุ้นคิดเป็น 60% ในตอนต้นปี แต่พอถึงปลายปี หุ้นอาจจะมีราคาเพิ่มขึ้นมาก

ในขณะที่ตราสารหนี้ยังมีราคาเท่าเดิม กลายเป็นว่า หุ้นมีน้ำหนักมากขึ้นเป็น 80% ของพอร์ต สิ่งที่เราควรทำ ก็คือ ลดปริมาณหุ้นลงให้กลับมาเป็น 60% เหมือนเดิม นั่นก็คือ ให้ขายหุ้นบางส่วนแล้วนำเงินที่ได้ไปลงทุนในตราสารหนี้

ตรงกันข้าม ถ้าถึงสิ้นปีหุ้นมีราคาลดลงมาก หุ้นเหลือเพียง 40% ของพอร์ต สิ่งที่เราควรทำ ก็คือ ให้เอาเงินที่เป็นตราสารหนี้ หรือเงินฝากไปซื้อหุ้นเพิ่ม ซึ่งจะทำให้หุ้นกลับขึ้นมาเป็น 60% เหมือนเดิมโดยไม่ต้อง กลัวว่า "หุ้นกำลังตก" ถ้าเราทำแบบนี้ก็เท่ากับว่าเวลาหุ้นขึ้นเรามักจะขาย และเวลาที่หุ้นตก เรามักจะซื้อหุ้นเพิ่ม โดยเฉลี่ยแล้ว เราจะ ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ความเสี่ยงจะลดลง


สรุปสุดท้าย ก็คือ การกระจายความเสี่ยงโดยการ Diversify และ Rebalance
เป็นยุทธศาสตร์การลงทุนที่ เน้นความปลอดภัย โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีความรู้ความสามารถในการลงทุนไม่มาก เหมาะกับคนชั้นกลางที่กินเงินเดือน และต้องการสร้างหลักประกัน ในการที่จะสามารถเกษียณได้อย่างมีความสุข Model หรือรูปแบบหนึ่ง ก็คือ การที่คนกินเงินเดือนกันเงินรายได้ประมาณ 10% มาลงทุนทุกเดือน โดยการลงทุนอาจจะกระจายซื้อหน่วยลงทุนหุ้นที่อิงดัชนีเช่น TDEX จำนวน 40% อีก 20% อาจจะซื้อหน่วยลงทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ รวมเป็นหุ้น 60% เงินอีก 30% ลงทุนในพันธบัตร หรือหุ้นกู้ของบริษัทระดับบลูชิพ หรือรัฐวิสาหกิจชั้นนำ ที่เหลือประมาณ 10% อาจจะเก็บเป็นเงินฝากในธนาคาร

ทั้งหมดนั้น ต้องทำการปรับพอร์ต หรือ Rebalance ทุกปี ปีละครั้ง
โดยที่ทั้งหมดต้องทำโดยอัตโนมัติ ไม่ใช้ความรู้สึก หรือพยายามเก็งภาวะตลาด และนี่คือ Model ที่น่าจะพาให้ผู้ลงมือทำไปถึงเป้าหมายอย่างไม่เครียด และมีความสุขตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ของการลงทุนได้


ทำไมเอาไข่ทั้งหมดใส่ในตะกร้าเดียว
(Put whole Eggs in One Basket)

ในทางทฤษฎี มีคนมากมายที่ว่ากันว่า “อย่าเอาไข่ทั้งหมดใส่ในตะกร้าเดียว” เพราะหากตกลงไปจะเสียหายหมด ควรแบ่งกระจายความเสี่ยงธุรกิจ เช่นลงทุนในหลายธุรกิจ แต่ในทางธุรกิจมีเรื่องถกเถียงเรื่องนี้ ไม่รู้จบ ถามว่าถ้าคุณทำธุรกิจรายเล็ก ๆ ส่งให้กับร้านสะดวกซื้อรายใหญ่รายเดียว เสี่ยงที่จะถูกเลิกสัญญาเมื่อไรก็ได้ อำนาจต่อรอง ที่จะขอขายส่งให้เพียงบางส่วน แล้วเอาสินค้าไปแบ่งขายคนอื่นบางส่วนก็ไม่ได้ จะเพิ่มกำลังการผลิตก็เสี่ยงไม่กล้าลงทุนเพิ่ม ถึงเวลานั้นก็ต้องยอมเสี่ยง เพื่อโกยกำไรที่ได้เป็นกอบเป็นกำ ดีกว่านั่งรออนาคตหาตลาดผู้ซื้อที่ไม่แน่ไม่นอน การเอาไข่ทั้งหมดมากองในตะกร้าเดียว ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะที่สุดในขณะนั้น แน่นอน
เคยมีคนรู้จัดทำการค้าส่งปลาแห้งไปเมืองนอกเอาทุนทั้งหมดซื้อของขายส่งไป แรก ๆ ก็ค้ากันดี กำไรได้เยอะไปซื้อบ้าน ซื้อรถ อยู่อย่างสบาย กำไรส่วนที่เหลือก็ขยายตามยอดซื้อขายที่เพิ่มขึ้น วันดีคืนร้าย ทางเมืองนอกเบี้ยวไม่จ่ายเงินมา ของก็รอเสียหาย จะเอาไข่ที่มีเหลือคือขายบ้านขายรถ มันก็ยากที่จะเยียวยาแล้ว ถามว่าผิดไหมไม่รู้ เพราะทำกำไรมาหลายปีดีดักไม่มีทางรู้อนาคต

ดังนั้น หากเชื่อเรื่องกระจายความเสี่ยงก็ต้องเชื่อในทฤษฎีการแข่งขันสมบูรณ์
อำนาจการต่อรองที่เท่าเทียมกัน หาไม่ก็ต้องเชื่อเรื่องการประกันความเสี่ยง และการค้าที่ต้องหมูไปไก่มา อย่าเชื่อเพราะค้ากันมานาน เพื่อนกันขอกันครั้งเดียวก็ไม่ได้ในธุรกิจนะ ขอให้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจกันทุกท่าน

http://www.bangkokbiznews.com/home/
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=n-n&date=02-06-2009&group=3&gblog=2