ปัจจัยที่ขับเคลื่อนราคาทองคำ







ปัจจัยที่ขับเคลื่อนราคาทองคำ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทองคำดูเหมือนจะเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง (Safe Haven) และ สามารถรักษาความมั่งคั่งในระยะยาวได้ดี (Wealth Preservation) ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ดังจะสังเกตได้จากรูปด้านล่างว่า ราคาทองคำแท่งได้ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 8,000 บาท ต่อทองคำหนักหนึ่งบาท เมื่อต้นปี พ.ศ. 2548 เป็นประมาณ 17,450 บาท ต่อทองคำหนักหนึ่งบาท ในปัจจุบัน คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 23.6 ต่อปี สำหรับการลงทุนประมาณ 5 ปี จัดได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจทีเดียว


อย่างไรก็ดี ราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวผันผวนต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากมีแรงซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นเข้ามามากขึ้น นักลงทุนจึงควรต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน ในสัปดาห์นี้ ทาง บลจ. บัวหลวง จึงขอเรียนเสนอรายละเอียดของปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาทองคำ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีข้อมูลที่ครบถ้วนในการประกอบการพิจารณาลงทุน


ปัจจัยที่ขับเคลื่อนราคาทองคำ

1. ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ

ราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น เมื่อค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลง โดยปัจจัยอื่นคงที่ เพราะการซื้อทองคำเป็นการป้องกันความเสี่ยงมูลค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจาก ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯเป็นเงินสกุลหลักที่ใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินต่างๆทั่วโลก ดังนั้น เมื่อค่าเงินเหรียญสหรัฐฯมีสัญญาณอ่อนค่าลง ธนาคารกลางประเทศต่างๆที่ถือครองเงินเหรียญสหรัฐฯมักจะกระจายความเสี่ยง โดยแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น เช่น เงินสกุลอื่นๆ รวมถึงทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นด้วย

2. ความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ

ราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยปัจจัยอื่นคงที่ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่มีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปแล้ว เราอาจสังเกตทิศทางอัตราเงินเฟ้อได้จากทิศทางราคาพลังงาน (น้ำมัน) และราคาอาหารต่างๆ เพราะเป็นปัจจัยมีผลต่อภาวะเงินเฟ้อโดยตรง

3. ความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศ และระบบการเงิน

ราคาทองคำมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ในช่วงที่มีความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ และความไม่แน่นอนสูงในระบบการเงินโลก เนื่องจากในระหว่างช่วงที่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้น ความต้องการในการถือทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นตามความรุนแรงของเหตุการณ์แต่ละครั้ง

4. อุปสงค์และอุปทานในตลาด

ราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีผู้ต้องการซื้อมากกว่าปริมาณทองคำในตลาด โดยปัจจัยอื่นคงที่ เช่น ความต้องการใช้ทองคำจากประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ จีน อินเดีย ฯลฯ
อุปสงค์ คือ ความต้องการใช้ทองคำ ส่วนใหญ่มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคเครื่องประดับภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์ และภาคการลงทุน
อุปทาน คือ ความต้องการขายทองคำ ส่วนใหญ่มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผลผลิตทองคำจากเหมืองทอง แรงขายจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ และ ปริมาณทองคำเก่าที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ

5. ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ

ราคาทองคำในประเทศไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลง เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถผลิตทองคำได้เอง จึงต้องนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งตลาดทองคำโดยทั่วไปมักจะใช้เงินสกุลเหรียญสหรัฐฯเป็นสกุลเงินอ้างอิงในการซื้อขาย ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐฯจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำในประเทศไทย

แต่ละปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อราคาทองคำมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์ นอกจากนี้ ปัจจัยหลายๆตัวก็ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องต่อกันด้วย ท่านผู้อ่านจึงควรศึกษาและติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับปัจจัยข้างต้นอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะสามารถคาดการณ์ทิศทางของราคาทองคำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงได้รับผลตอบแทนในระยะยาวที่คุ้มค่า

ครรชิด พิสุทธิชินวงศ์
บลจ . บัวหลวง


http://www.bblam.co.th/web2/articleDetail.php?artID=269&langsel=th