8 ข้อเตือนภัยก่อนใช้ Internet Banking






E-banking





8 ข้อเตือนภัยก่อนใช้ Internet Banking


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้คนเราต่างต้องใช้อินเตอร์เน็ตกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งต่างคิดค้นบริการทางอินเตอร์เน็ตหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้บริการลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์ของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าลูกค้าหรือผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน แถมยังได้รับบริการที่รวดเร็วทันใจเพียงแค่คลิกเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อทำธุรกรรมการเงินต่างๆ เมื่อมีข้อดีมากมาย ก็มีข้อควรระวังในเรื่องของความปลอดภัย ที่แม้ว่าธนาคารจะมีระบบป้องกันความปลอดภัยให้กับลูกค้าเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีเหล่ามิจฉาชีพที่พยายามหาช่องโหว่ด้วยวิธีการต่างๆ ล่อล่วงเอาข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำไปใช้ในทางมิชอบ ซึ่งผู้ใช้บริการเองก็ต้องรู้เท่าทัน เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ


1. ผู้สมัครใช้บริการทางการเงินผ่านทางอินเตอร์เน็ต ต้องเก็บรักษารหัสชื่อผู้ใช้บริการ (User ID) รหัสผ่าน (Password) และรหัสรักษาความปลอดภัย (Security Password) เป็นความลับ
2. หมั่นเปลี่ยนรหัสผ่านอยู่เสมอ และไม่ควรใช้รหัสผ่านที่บุคคลอื่นคาดเดาได้ง่าย
3. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง เช่น รหัสชื่อผู้ใช้บริการ (User ID) รหัสผ่าน (Password) รหัสเอทีเอ็ม (ATM PIN) รหัสบัตรเครดิต หมายเลขบัญชี หมายเลขบัตร หรือข้อมูลส่วนบุคคลผ่านทางอีเมล์ใดๆ
4. อย่าตอบกลับอีเมล์ที่ส่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ มาให้ปรับปรุงข้อมูลหรือยืนยันความถูกต้อง
5. หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์ (link) ที่แนบมากับอีเมล์ที่ไม่ทราบชื่อผู้ส่ง หรืออีเมล์ที่ขอข้อมูลส่วนบุคคล เพราะอาจมีโปรแกรมสอดแนม (Spyware) แนบมากับลิงค์เหล่านั้นเพื่อโจรกรรมข้อมูล
6. คลิก ออกจากระบบ (Log out) เมื่อเลิกใช้อีเมล์หรือทำรายการทางการเงินต่างๆ แต่ละครั้งเรียบร้อยแล้ว
7. ตรวจสอบความถูกต้องของรายการธุรกรรม และยอดเงินในบัญชีของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันรายการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

8. หลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับผู้อื่น เช่น ในร้านอินเตอร์เน็ต เพราะอาจไม่มีระบบความปลอดภัยที่ดีพอ


คลิกนิ้ว...สูญเงิน e-Banking
ความเสี่ยงที่อย่าไว้ใจใคร


ธนาคารพาณิชย์ของไทยทั้งแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ ต่างพาเหรดกันปรับตัว ปรับเทรนด์เพื่อการแข่งขันและให้บริการลูกค้า ความทันสมัยยุคนี้อย่างหนึ่งคือ การใช้เทคโนโลยี เข้ามาเป็นเครื่องมือบริหาร จัดการ เอทีเอ็ม เคยคิดว่าง่าย สะดวก รวดเร็ว เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันสมัยของการเบิกจ่ายเงิน วันนี้ พลิกหน้ามาเป็น บริการ e-Banking ซึ่งแม้แต่ทำธุรกรรมที่บ้านก็ยังได้


ธนาคารปรับตัวใช้ e-Banking เป็นเรื่องที่ดี ถือว่าใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน แต่การให้บริการก็เกิดปัญหาได้เช่นกัน ไม่ใช่ว่า "เครื่องรวน คอมพิวเตอร์เกเร" แต่เพราะ "คนฉ้อฉล ขี้โกง" ทำให้การทำงานของเทคโนโลยีมีความเสี่ยงเกิดความไม่มั่นใจในการให้บริการ หลายธนาคารมีคำเตือนถึงลูกค้าในการใช้บริการ e-Banking หลากประเภท หลายวิธีการ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ต้องแจ้งเตือนผู้ใช้บริการว่า มีมิจฉาชีพส่งอี-เมลหลอกลวงให้เข้าใจผิดถึงเว็บไซต์ของธนาคาร โดยการเปิดเว็บไซต์ www.kasikornbankin.com kosikornbank.com kasikornbanking.com kasikornbanking.org และ kasikornbanking.info หรือชื่ออื่นๆ ที่ใกล้เคียงเหตุที่กระทำ เพื่อล่อลวงลูกค้าให้กรอกรายละเอียด เช่น User ID และ password (ทั้ง PIN 1 และ PIN 2) ของบริการออนไลน์ จึงต้องมีบริการแจ้งเตือนให้ระวังกัน นอกจากการปลอมแปลงอี-เมล ยังรวมถึงส่งข้อความสั้น SMS แอบอ้างธนาคารพาณิชย์ด้วย นี่เรียกว่า วิธีทุจริตผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

วิธีพิชชิ่ง (Phishing) ซึ่งคือ การหลอกลวงในรูปแบบของการปลอมแปลงอี-เมลและทำการสร้างเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อหรือผู้รับอี-เมลเปิดเผยข้อมูลทางด้านการเงิน ข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ อาทิ หมายเลขบัตรเครดิต บัญชีผู้ใช้ (Username) รหัสผ่าน (Password) หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และอื่นๆ หรือวิธีการมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร โทรศัพท์สอบถามรหัสรักษาความปลอดภัยแบบ OTP (One Time Password) อันนี้ก็เคยเกิดปัญหามาแล้วเช่นกัน ข้อความที่ปลอมแปลง มีดังนี้ "ขณะนี้ธนาคารกำลังทดสอบระบบ ขอให้ลูกค้าตอบกลับข้อมูล User ID Passwords (ทั้ง PIN1 และ PIN2) รวมถึงรหัส OTP (One Time Password) ที่ได้รับตอบกลับไปยังผู้ส่งอี-เมล์ หรือข้อความ SMS นั้นๆ" หากมีการปฏิบัติตาม จะเป็นผลให้มิจฉาชีพรู้รหัสข้อมูลต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการกระทำการทุจริตในทางมิชอบได้ หนทางป้องกันและดูแลการโจรกรรมข้อมูลออนไลน์ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ผู้ใช้บริการออนไลน์จึงควรปฏิบัติดังนี้.....


1. พิมพ์ที่อยู่เว็บไซต์ธนาคารด้วยตนเอง เมื่อต้องการเข้าใช้บริการผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของธนาคาร โดยไม่ควรใช้ลิงค์การเชื่อมโยงที่แนบมากับอี-เมล
2. ตรวจสอบความถูกต้องของรายการธุรกรรม เช่น จำนวนเงิน วันที่ทำรายการ เลขที่บัญชี และตรวจสอบยอดเงินในบัญชีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันรายการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
3. อย่าส่งข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสำคัญทางการเงินไปกับอี-เมลที่มีข้อความน่าสงสัยว่ามีการแอบอ้างจากสถาบันการเงินต่างๆ และควรติดต่อธนาคารโดยเร็วเมื่อพบอี-เมลลักษณะนี้
4. ธนาคารส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายติดต่อลูกค้าผ่านเครือข่าย จึงควรตระหนักเป็นพิเศษ
หาไม่แล้วบริการแค่คลิกนิ้ว อาจทำให้คุณเสียเงินเป็นหมื่น แสนหรือถึงล้านก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

http://www.arip.co.th