"เงินตาย" ขายคนเป็น โดย วรากรณ์ สามโกเศศ
"เงินตาย" และ "เงินเป็น" มีลักษณะแตกต่างกัน หากไม่พิจารณาดูให้ดีจะมองไม่เห็นและอาจทำให้เสียประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งไปกว่านั้น "เงินตาย" อาจขายคนเป็นได้ด้วย
เงินนั้นเป็นได้ทั้งศัตรูและมิตร ถ้าเงินนั้นเป็นเงินกู้ ไม่ว่าเป็นคนรวยหรือคนจน ทุกวินาทีไม่ว่าหลับหรือตื่น อาศัยอยู่ใต้น้ำหรือใต้ดินลึกไปกี่กิโลเมตรก็ตาม ดอกเบี้ยจะบานอยู่ตลอดเวลา เช่นนี้ถือว่าเงินเป็นศัตรูในพื้นฐาน
หากเงินที่กู้มานั้นสามารถช่วยให้เงินงอกงามคุ้มกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย เงินกู้ก้อนนั้นก็กลายสภาพจากศัตรูเป็นมิตร แต่ถ้าเงินกู้ถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า ความเป็นศัตรูของเงินก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเงินนั้นเป็นเงินของเราที่ได้มาจากการทำงานและสามารถ อดออมไว้ได้ส่วนหนึ่ง เงินนั้นก็เป็นมิตรกับเรา
หากเอาไปฝากในธนาคารหรือซื้อหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคง เงินก็จะงอกงามยิ่งขึ้น เงินก้อนนั้นจะยิ่งเป็นมิตรกับเรา แต่ถ้านำเงินนั้นไปใช้อย่างไม่เกิดประโยชน์มันก็จะกลายร่างจากมิตรเป็นศัตรูได้เช่นกัน
การเป็นมิตรและศัตรูของเงินจึงขึ้นอยู่กับที่มาของเงิน และลักษณะของการนำเงินนั้นไปใช้ เงินที่เป็นศัตรูสามารถเปลี่ยนเป็นมิตรได้หากนำไปใช้อย่างคุ้มค่า และเงินที่เป็นมิตรซึ่งมาจากการอดออมก็สามารถเป็นศัตรูได้หากนำไปใช้อย่างไม่เกิดประโยชน์
นอกจากลักษณะของการเป็นมิตรและศัตรูของเงินแล้ว เงินยังสามารถแบ่งออกได้เป็น "เงินตาย" และ "เงินเป็น" อีกด้วย
ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ ค่าเช่าบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็น "เงินตาย" ส่วนค่าผ่อนบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็น "เงินเป็น"
สถานการณ์ที่เศร้าก็คือบุคคลหนึ่งสามารถทำให้ "เงินตาย" กลายเป็น "เงินเป็น" ได้ แต่ไม่ทำเพราะไม่รู้จนเสียโอกาส
ค่าเช่าบ้านคือค่าบริการสำหรับการเช่าบ้าน ทุกเดือนที่จ่ายไปมิได้ทำให้เข้าไปใกล้ความเป็นเจ้าของมันเลยแม้แต่น้อย
แต่สำหรับเงินที่จ่ายในแต่ละเดือนด้วยจำนวนเดียวกัน บ้านหลังเดียวกัน แต่จ่ายเป็นค่าผ่อนบ้านแล้ว เงินนั้นก็คือ "เงินเป็น" เพราะทำให้เข้าใกล้ความเป็นเจ้าของบ้านซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และหากไม่อยู่เองเอาไปให้คนอื่นเช่าก็ได้ ค่าเช่าเป็นรายได้โดยไม่ต้องทำงาน
ข้อแตกต่างของสองสถานการณ์ก็คือเงินดาวน์บ้านซึ่งสามารถเปลี่ยนสภาวะจากการเช่ามาเป็นการผ่อนส่ง ถ้าไม่มีเงินดาวน์บ้านเพราะรายได้น้อยจนไม่สามารถออมได้ หรือเช่าอยู่ชั่วคราวก็พอฟังได้เพราะไม่มีทางหลีกเลี่ยงการเป็น "เงินตาย" ได้ แต่สำหรับคนที่สามารถออมได้ แต่ไม่ได้ออม จนต้องตกอยู่ในสภาวะการเช่าแล้ว เรียกได้ว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพราะเงินจะตายอยู่อย่างนั้นอย่างไม่อาจเป็น "เงินเป็นได้"
สถานการณ์ที่น่าเศร้าที่สุดก็คือบ้านก็ยังเช่าอยู่จ่ายค่าเช่าบ้านเป็น "เงินตาย" อยู่ทุกเดือน แต่เมื่อมีโอกาสกู้เงินก็กลับเอามาผ่อนซื้อรถยนต์เพื่อความ "หน้าบาน" ของตนเอง อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนถูกทำร้ายสองต่อคือ "เงินตาย" (ค่าเช่าบ้าน) ทำร้าย และค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ทำร้าย (ตอนซื้อมาราคา 800,000 บาท หากจะขายเมื่อซื้อมาได้ 1 ปี ก็ได้ราคาแค่ 650,000 บาท ดังนั้น จึงหายไป 150,000 บาท ในเวลา 1 ปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 12,500 บาท)
"เงินตาย" อีกลักษณะหนึ่งก็คือค่าเสื่อม ซึ่งเป็นเปรียบเสมือนกับ "เงินตาย" ชนิดที่มองไม่เห็น ค่าเสื่อมไม่ใช่เงินสดที่ไหลออกจากกระเป๋าอย่างจับต้องได้ คนจึงมักมองข้าม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเงินหรือค่าใช้จ่ายซึ่งมนุษย์ที่มีทรัพย์สินเสื่อมค่าได้ต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลาและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย
ยิ่งมีทรัพย์สินมากเพียงใดยิ่งมีค่าเสื่อมมากเพียงนั้น ระหว่างทางที่มันเสื่อมผู้คนมักมองไม่เห็นเพราะจับต้องไม่ได้ จะเห็นก็ต่อเมื่อขายทรัพย์สินนั้น และเรียนรู้ว่ามูลค่าของมันลดลงไปมากกว่าเมื่อตอนซื้อมา
มูลค่าที่แตกต่างนี่แหละคือมูลค่าที่สูญหายไปหรือ "เงินตาย"
กล่าวโดยสรุปคือ "เงินตาย" คือเงินที่จ่ายหรือสูญเสียไปโดยมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นในอนาคตดังเช่นค่าเช่าบ้านที่ต้องจ่ายไปโดยไม่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ซึ่งต่างจากเงิน ค่าผ่อนบ้านซึ่งเป็น "เงินเป็น" เพราะทำให้ได้เป็นเจ้าของในที่สุดและได้ประโยชน์อีกนานาประการ
ค่าเสื่อมเป็น "เงินตาย" เพราะเป็นเงินที่สูญไปในสภาวะจำยอม โดยเงินที่สูญไปนั้นมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต (ถึงแม้ว่ามันคือราคาของการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินก็ตาม)
"เงินตาย" นั้นหลีกเลี่ยงได้ในกรณีของการเช่าบ้าน แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในกรณีของการเสื่อมค่า
"เงินเป็น" นั้นคือเงินที่เมื่อใช้ไปแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคตดังเช่นการผ่อน ส่งบ้าน การลงทุนในโครงการที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างคุ้มค่า
ถ้าบุคคลหนึ่งใช้เงินของตนเองไม่ว่ามาจากการออมหรือกู้เขามาอย่างไร้ความหมาย เงินที่จ่ายออกไปคือ "เงินตาย" ดังนั้น ถ้าจะหลีกเลี่ยงสภาวะดังกล่าวและต้องการทำมันเป็น "เงินเป็น" แล้ว ก็จำต้องใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลโดยคำนึงถึงประโยชน์ของมันในอนาคต
การใช้จ่ายเงินสำหรับการบริโภคยาเสพติด การบริโภคที่ทำลายตนเองด้วยการสร้างนิสัยที่ไม่พึงปรารถนา (สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน) การบริโภคสิ่งที่ตนเองไม่อยู่ในฐานะที่จะซื้อหามาได้ (การบริโภคเกินฐานะ) ฯลฯ คือการใช้จ่าย "เงินตาย"
"เงินตาย" ขายคนเป็นเพราะทำร้ายและทำลายเจ้าของเงินเนื่องจากไม่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในอนาคต ซึ่งต่างจาก "เงินเป็น" ซึ่งโยงใยกับประโยชน์ในอนาคต
การมีเงินมากมิได้แก้ไขปัญหาชีวิต หากอาจทำให้ชีวิตยุ่งยากและมีปัญหามากขึ้นก็เป็นได้ ตราบที่ไม่รู้จักข้อแตกต่างระหว่าง "เงินตาย" และ "เงินเป็น"
"เงินตาย" จะลดน้อยลงหรือแปรเปลี่ยนสภาพเป็น "เงินเป็น" ได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจว่าอะไรคือ "เป็น" และอะไรคือ "ตาย"
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1266460702&catid=02
|
|