วันตรุษจีน ปีใหม่จีน (Chinese New Year)


988 《福星高高照》Chinese New Year Song



ประวัติวันตรุษจีน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่าวันตรุษจีนคือวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ดังนั้นชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง และมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองแตกต่างกันไป

สำหรับที่มาของวันตรุษจีนนั้น เชื่อกันว่าประเพณีนี้มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เดิมที่ไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัย นั่นคือเมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตศักราชจะเรียกว่า "ซุ่ย" ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ จนกระทั่งต่อมาในยุค 1000 กว่าปีก่อนคริสตศักราช เทศกาลตรุษจีนจะถูกเรียกว่าว่า "เหนียน" หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์นั่นเอง

นอกจากนี้วันตรุษจีนยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันชุงเจ๋" ซึ่งหมายถึงเทศกาลดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง


ส่วนการกำหนดวันตรุษจีนนั้น ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน และถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 คือวันชิวอิก หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ





การเตรียมงานเพื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) โดยผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่างๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนลงชั้นล่าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป ภายในบ้านทั้งประตู หน้าต่าง จะประดับประดาไปด้วยสีแดง และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ

จากนั้นครอบครัวจะร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น กุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่าย จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง



นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของวันตรุษจีนคือ "อั่งเปา" ซึ่งมีความหมายว่า "กระเป๋าแดง" หรือจะใช้คำว่า "แต๊ะเอีย" ซึ่งมีความหมายว่า "ผูกเอว" จากที่คนสมัยก่อนชอบร้อยเงินเป็นพวงผูกไว้ที่เอว 

โดยการให้อั่งเปานี้ คู่แต่งงานจะให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว จะออกมาจากบ้านเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ในหมู่ญาติ และด้วยเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป)



ตำนานวันตรุษจีน


ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า "กว้อชุนเจี๋ย" หรือ "กว้อเหนียน" เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า "เหนียน"มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมันอนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน

ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อ ถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย



ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกัน เมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป 
เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก



เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง

เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย 

เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน


ต่อมา วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองที่มีแต่ความสุขที่เรียกกันว่า "ตรุษจีน" 


แนะนำวัดจีน สถานที่ทำบุญช่วงตรุษจีน

วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

"ตรุษจีน"
เป็นเทศกาลสิริมงคลของคนไทยเชื้อสายจีนและบุคคลทั่วไปที่มีความเชื่อในสิ่งศรัทธา ซึ่งชาวจีนสืบทอดเป็นประเพณีมายาวนาน โดยในแต่ละปี แต่ละคน แต่ละครอบครัวอาจประสบอุปสรรคชีวิตไม่เหมือนกัน เมื่อมาถึงปีใหม่ก็ต้องการขจัดปัดเป่าอุปสรรค และให้ชีวิตในปีใหม่มีความสมปรารถนา ด้วยเหตุนี้จึงมีการไหว้เทพเจ้า ไหว้สิ่งสิริมงคล เพื่อเสริมดวงชะตาและโชคลาภให้กับชีวิต . . . 
ว่าแล้วตรุษจีนปีนี้เราขอแนะนำและขอพาไปรู้จักวัดจีนสถานที่น่าไปทำบุญ น่าไปไหว้เทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันค่ะ



วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่
เป็นวัดสังกัดจีนนิกาย ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ หลายคนรู้จักวัดแห่งนี้ในนาม "วัดมังกร" เพราะคำว่า "เล่ง" หรือ "เล้ง" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่ามังกร ส่วนคำว่า "เน่ย" แปลว่า ดอกบัว และคำว่า "ยี่" แปลว่า วัด แต่ชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ "วัดมังกรกมลาวาส" ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

วัดนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2414 (ประมาณ 130 ปี ล่วงมาแล้ว) ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปีกว่า มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทางจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวังหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ





จากประตูทางเข้า เข้าไปจะถึงวิหารท้าวจตุโลกบาล จะเห็นเทพเจ้า 4 องค์ (ข้างละ 2 องค์)
ในชุดนักรบจีน และถืออาวุธและสิ่งของต่างๆ กัน เช่นเครื่องดนตรี ดาบ พิณ เจดีย์ทรงสูง คนจีนเรียกว่า "ซี้ไต๋เทียงอ้วง" หมายถึง เทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครองทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ






ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า คนจีนเรียก "ทีหุกโจ้ว" มีทั้งหมด 3 องค์ พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ เรียกว่า "ตึ่งนั้ง" หรือคนจีนว่า "จับโป่ยหล่อหั่ง"



ทางด้านขวามีเทพเจ้าต่างๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา คนจีนเรียกว่า "ไท้ส่วยเอี๊ย" เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา "หั่วท้อเซียงซือกง" และที่นิยมไหว้ขอพรมากคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ"ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ" เทพเจ้าเฮ่งเจีย คนจีนเรียกว่า "ไต่เสี่ยหุกโจ้ว" พระสังขจาย หรือ "ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว" "กวนอิมเนี้ย" หรือ เจ้าแม่กวนอิม "แป๊ะกง" และ "แป๊ะม่า" รวมเทพเจ้าในวัด จะมีทั้งหมด 58 องค์ กลิ่นธูปและควันเทียนยังไม่เคยจางหายไป ตราบเท่าความศรัทธาของมนุษย์ยังอยู่คู่โลก



ทั้งนี้ วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) เปิดให้สะเดาะเคราะห์ทุกวัน
ตั้งแต่เวลา 06.00น. - 18.00 น. สถานที่ตั้ง 423 ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ 10100 โทร. 0-2222-3975, 0-2226-6553



วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์
วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ ตั้งอยู่ที่ตำบลโสนน้อย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พื้นที่เดิมก่อนเคยเป็นโรงเจขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่เศษ
เป็นโรงเจที่ชาวบ้านบางบัวทองให้ความศรัทธามาช้านาน ต่อมาคณะสงฆ์จีนนิกายมีปณิธานจะพัฒนาที่ส่วนนี้ให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ เพื่อสร้างเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสเถลิงถวัลย์ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี วัดนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 12 ไร่ โดยคณะสงฆ์จีนนิกายมอบให้

ทั้งนี้ พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (พระอาจารย์เย็นเชี้ยว) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและมีพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร เป็นประธานที่ปรึกษา พร้อมทั้งพุทธบริษัทไทย - จีน ร่วมกันสร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลสมัยปีกาญจนาภิเษก

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชานุญาตให้สร้างวัด และพระราชทานนามว่า "วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์" ท่านแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการสำนักพระราชวัง เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตสร้างวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ จึงนำมาซึ่งความปิติยินดีของชนชาวไทยเชื้อสายจีน และความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อคณะสงฆ์จีนมาโดยตลอด



วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00 - 18.00 น.


วัดกัมโล่วยี่

วัดกัมโล่วยี่ หรือ วัดทิพยวารีวิหาร สร้างในสมัยกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2319 รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชทานที่ดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่อาศัย ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องค์เชียงสือนัดดาเจ้าเมืองเว้ ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและได้ลักลอบหนีกลับเมืองกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงแคลงพระทัยชาวญวนจึงได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กลุ่มชนชาวญวนซึ่งมีอยู่มากในบริเวณนั้น ย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่อื่น

เพื่อให้ห่างจากพระนคร ชุมชนบริเวณนี้ซึ่งเคยเป็นที่อาศัยของคนไทย คนจีน และคนญวน เชื้อสายพุทธจึงอยู่ในความเงียบสงบ
วัดทิพยวารีวิหาร (กัมโล่วยี่) ในขณะนั้นจึงมีสภาพคล้ายรกร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเลยอีกนานหลายปี

จนถึงประมาณปี พ.ศ.2439 พระอาจารย์ไหซัน พระภิกษุจีนชาวมณฑลหูหนาน ได้จาริกมาจำพรรษาที่วัดทิพยวารีวิหารแห่งนี้ ท่านจึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ และได้ชักนำคนไทย -คนจีนในเขตนั้น อันมีนายเช็งเต็ก แซ่เจี่ย และนางซิ่วออม แซ่ตัน สองสามีภรรยาคหบดีผู้กว้างขวางในกลุ่มชาวจีน ในย่านตลาดมิ่งเมืองเป็นแกนนำ ต่อมาทายาทของครอบครัวท่านทั้งสองนี้ ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่6 ว่า
"เศวตมาลย์"



พระอาจารย์และประชาชนในครั้งนั้น ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งวัด จนวัดอยู่ในสภาพสมบูรณ์สวยงาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงได้ทรงพระราชทานสมณศักดิ์ให้อาจารย์ไหซัน เป็นหลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ปลัดซ้ายจีนนิกายดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และได้ทรงพระราชทานนามวัดกัมโล่วยี่ให้ใหม่ว่า "วัดทิพยวารีวิหาร" ตรงกับ พ.ศ.2452 เหตุที่ให้ชื่อวัดเป็นเช่นนี้ เพราะที่วัดนี้มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือบ่อน้ำทิพย์อยู่นั่นเอง
ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงเรียกวัดกัมโล่วยี่ หรือวัดน้ำทิพย์นี้เป็น
"วัดทิพยวารีวิหาร" อันเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายจนถึงปัจจุบัน



สำหรับท่านที่สนใจจะไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดทิพยวารีวิหารหรือวัดกัมโล่วยี่ ไปได้ที่ สถานที่ตั้ง 119 ซอยทิพยวารี ถนนตรีเพชร เขตพระนคร (บ้านหม้อ) กรุงเทพฯ 10200 โทร. 0-222-5988

ศาลเจ้าพ่อเสือ

ศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่เลขที่ 468 ถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เป็นศาลเจ้าชาวจีนที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย เป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐานเฮี้ยงเทียนเซียงตี่ และรูปเจ้าพ่อเสือ หรือที่คนจีนเรียกว่า "ตั่วเล่าเอี้ย" (บ้างก็เรียกเฮี๊ยงเทียนเสี่ยงตี) เป็นศาลที่ทั้งค จีนและคนไทยให้ความเคารพ และมากราบไหว้กันนานเป็นร้อยปี ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างโดยชาวจีนแต้จิ๋ว เดิมตั้งอยู่บริเวรถนนบำรุงเมือง เมื่อมีการขยายถนนในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงย้ายมาสร้างใหม่ที่บริเวณทางสามแพร่ง ถนนตะนาว เขตพระนคร

ลักษณะอาคารสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน เทพเจ้าประจำศาลคือ "เสียนเทียนซั่งตี้" หรือที่คนไทยเรียกว่า "เจ้าพ่อเสือ" นั่นเอง เรื่องราวตำนานของเจ้าพ่อเสือที่ชาวบ้านย่านนี้เล่าขานนั้น เชื่อมโยงกับหลวงพ่อพระร่วง วัดมหรรณพ์ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องชาวไทย และชาวจีนในละแวกนี้ที่มีมาช้านาน



วิธีสักการะ
ไหว้ด้วยธูป 18 ดอก ปัก 6 กระถาง เทียนแดง 1 คู่ และพวงมาลัย 1 พวง
การสักการะเจ้าพ่อเสือ จะต้องซื้อเครื่องเซ่น ซึ่งประกอบด้วย หมูสามชั้น
ไข่ดิบ และข้าวเหนียวหวาน ชุดเล็กราคา 20 บาท และชุดใหญ่ ราคา 50 บาท





สำหรับเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเดินทางไปสักการะ คือ ช่วงเวลา 06.00 - 17.00 น. ทุกวัน ควรเดินทางด้วยรถประจำทางหรือรถแท็กซี่จะสะดวกกว่า เนื่องจากสถานที่จอดรถมีจำนวนจำกัด


เจ้าพ่อเห้งเจีย

เจ้าพ่อเห้งเจีย หรือซุนหงอคง เป็นเทพผู้ประทานความสุขและเป็นผู้กำจัดเหล่าปีศาจร้าย ชนชาวจีนจึงนิยมกราบไหว้และบูชามาก ปัจจุบันศาลเจ้าหลายแห่งจะมีรูปเคารพของเทพวานร หรือเจ้าพ่อเห้งเจีย เพื่อไว้ให้คนที่เลื่อมใสศรัทธามีโอกาสเข้าไปสักการะขอพร

ตำนานเจ้าพ่อเห้งเจียกล่าวกันว่า กำเนิดจากหินชนิดหนึ่งที่ถูกแสงสุริยันจันทราอาบมานานกว่าพันปี และแล้ววันหนึ่งก็แตกออก และมีลิงตัวหนึ่งกระโดดออกมาจากหินก้อนนั้น เจ้าลิงตัวนั้นได้บุกขึ้นไปเขาฮัวกั่วซาน (เขาผลไม้)ซึ่งมีลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และตั้งตัวเป็นใหญ่มีฉายานามว่า
"มุ้ยเกาอ๋อง"

วันหนึ่งมุ้ยเกาอ๋องเห็นลิงในฝูงตัวหนึ่งตายลงด้วยความแก่ชรา จึงเกิดความวิตกและคิดจะหาทางแก้ไขที่จะทำให้ตนเองไม่ต้องเจ็บหรือตาย จึงออกจากฝูงเดินทางเสาะแสวงหาไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็พบกับเซียน
"โผเถโจ๊ซือ" (สุภูติ) และได้ฝึกวิชาคาถาอาคมต่างๆ จนมีอิทธิฤทธิ์สามารถแปลงกายได้ 72 ร่าง กระโดดตีลังกาคราหนึ่งได้ไกลกว่า 300 ลี้ พร้อมกับได้ชื่อใหม่ว่า "ซุนหงอคง" เมื่อฝึกวิชาสำเร็จแล้วก็เกิดลำพองใจ เกิดร้อนวิชาออกอาละวาดไปทั่วไม่เว้นแม้กระทั่งสวรรค์หรือบาดาล ทำให้ 3 โลกปั่นป่วนไปหมด

ร้อนถึงเง็กเซียนฮ่องเต้ต้องส่งทหารสวรรค์และเทพต่างๆ ไปจับซุนหงอคง นอกจากจะจับไม่ได้แล้ว กลับถูกซุนหงอคงเล่นงานจนแตกกระจายไปหมด ในที่สุดเง็กเซียนฮ่องเต้ต้องยอมแพ้ให้ยกซุนหงอคงขึ้นเป็นใหญ่พร้อมแต่งตั้งให้เป็น "มหาเทพฉีเทียนต้าเซิ้น"

แต่ซุนหงอคงก็ยังเหิมเกริมไม่เลิก ในที่สุดองค์ยูไลต้องเสด็จมากำราบด้วยตัวเอง โดยจับซุนหงอคงไว้ให้ภูเขาหินทับขังไว้นานถึง 500 ปี และกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะช่วยออกมาได้คือพระถัมซังจั๋งและซุนหงอคงต้องยอมบวชเป็นลูกศิษย์รับใช้พระถังซัมจั๋งไปชมภูทวีป (อินเดีย) และต้องคุ้มครองพระถังซัมจั๋งไปตลอดทางด้วยจึงจะเป็นอิสระ


ทั้งนี้ ศาลเจ้าเง็กฮกตึ๊ง (เจ้าพ่อเห้งเจีย) ตั้งอยู่ที่สวนผัก ตลิ่งชัน ซอย 19 กรุงเทพฯ โทร. 02 435-1143, 02 8842522-3

ศาลเจ้าพ่อกวนอู

ท่านกวนอู หยุน ฉาง (ภาษาจีนกลางเรียกนามท่านว่า กวนอี่ว์) เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับเล่าปี่ และเตียวหุย ตามพงศาวดารเรื่องสามก๊ก หน้าท่านแดงตลอดเวลาเหมือนพุทราสุก มีหนวดเครางดงาม มีง้าวเป็นอาวุธคู่กาย ท่านมีความรอบรู้ด้านการทหารมาก มีพาหนะสุดยอด คือ ม้าเซ็กเทา ท่านร่วมชีวิตในการศึกร่วมกับเล่าปี่ด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดีและกล้าหาญ หลังจากท่านสิ้นชีวิตลง ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งคุณธรรม และมีความซื่อสัตย์สูงส่ง

ภายในศาลเจ้าพ่อกวนอู ประดิษฐานรูปปั้นของท่าน และด้านข้างมีรูปปั้นเทพเจ้าม้า (เบ๊เอี๊ย)
เซ่นไหว้รูปม้าพร้อมกับเขย่าลูกกระพรวน ซื้อผักให้เทพเจ้าม้า และถวายของไหว้ได้ ณ ศาลแห่งนี้ ศาลเจ้าพ่อกวนอู (บางคนเรียกศาลเจ้าพ่อม้า) ผู้หลักผู้ใหญ่เก่าๆ มักแนะนำให้ลูกหลานมาไหว้ท่านทุกปี


การไหว้เจ้าพ่อกวนอู สำหรับบุคคลเกิดดวงชะตาธาตุต่างๆ
เจ้าพ่อกวนอูเป็นธาตุไฟ คนที่เกิดธาตุน้ำมาไหว้แล้วจะดี
เจ้าพ่อกวนอูเป็นธาตุไฟ คนที่เกิดธาตุทองหากเป็นข้าราชการมาไหว้จะดี
เจ้าพ่อกวนอูเป็นธาตุไฟ คนที่เกิดธาตุดินมาไหว้แล้วจะเกิดอำนาจบารมี
เจ้าพ่อกวนอูเป็นธาตุไฟ คนที่เกิดธาตุไฟมาไหว้แล้วจะทำให้มีความเชื่อมั่นดีขึ้น
เจ้าพ่อกวนอูเป็นธาตุไฟ คนที่เกิดธาตุไม้มาไหว้แล้วจะทำให้ใจเย็นขึ้นรอบคอบมากขึ้น


สถานที่ตั้งศาลเจ้าพ่อกวนอู : ตรอกโรงโดม ซอยอิสรานุภาพ เดินตรงจากศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยมาเล็กน้อย ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ

วัดจีนประชาสโมสร

วัดจีนประชาสโมสร จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือวัดเล่งฮกยี่
ที่ขยายมาจากวัดมังกรกมลาวาสในจังหวัดกรุงเทพมหานคร เริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2449 เป็นวัดจีนเก่าแก่แห่งศาสนาพุทธนิกายมหายาน ภายในวัดจีนมี พระพุทธรูปเทพเจ้า เจ้าแม่กวนอิม และเทพอื่นๆ ภายในวัด ถือเป็นวัดจีนเพียงแห่งเดียวในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีระฆังใบใหญ่หล่อจากชาวจีนแต้จิ๋ว มีน้ำหนักกว่า 1 ตัน ที่รอบระฆังมีอักษรมหาปรัชญาปารมิตราสูตร ถ้าผู้ใดตีระฆังก็ฟังเหมือนกับการสวดมนต์ธรรมะ ในวัดมีพระประธาน
ซึ่งได้นำมาจากประเทศจีน เมื่อครั้ง 100 กว่าปีมาแล้ว

ทั้งนี้ วัดจีนประชาสโมสร ตั้งอยู่ที่ ถนนศุภกิจ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา



ตรุษจีนในประเทศไทย


ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันปีใหม่
วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก
คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้ายหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ หรือ ตี่จู๋เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้ว


วันไหว้ คือ วันสิ้นปี จะมีการไหว้ 3 ครั้ง คือ
ตอนเช้ามืด จะไหว้ ไป๊เล่าเอี๊ย เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์ 3 อย่าง (ซาแซ ได้แก่ หมูสามชั้นต้ม ไก่ เป็ด ปรับเปลี่ยนเป็นชนิดอื่นได้ หรือมากกว่านั้นได้จนเป็นเนื้อสัตว์ห้าชนิด) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง

ตอนสาย จะไหว้ไป๊เป้บ๊อ คือการไหว้บรรพบุรุษ พอ่แม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว 
เป็น การแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว

ตอนบ่าย จะไหว้ ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทับเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเป็นสิริมงคล


วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันเที่ยว หรือ วันถือ
คือวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี (ชิวอิก) วันนี้ ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน คือ ไป๊เจีย คือ การไปไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "กา" ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำโชคดีไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ

เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น

ตรุษจีนในภาษาจีน


ตรุษจีน หรือ เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ
(ตัวเต็ม: 春節, ตัวย่อ: 春节, พินอิน: Chūnjíe ชุนจีเหย๋) หรือ ขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ (ตัวเต็ม: 農曆新年, ตัวย่อ: 农历新年, พินอิน: Nónglì Xīnnián หนงลี่ ซินเหนียน) และยังรู้จักกันในนาม วันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของชาวจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ และชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก เทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ของปีตามจันทรคติ (正月 พินอิน: zhèng yuè เจิ้งยวี่เย่) และสิ้นสุดในวันที่ 15 ซึ่งจะเป็นเทศกาลประดับโคมไฟ (ตัวเต็ม: 元宵節, ตัวย่อ: 元宵节, พินอิน: yuán xiāo jié หยวนเซียวจีเหย๋)

คืนก่อนวันตรุษจีน ตามภาษาจีนกลางเรียกว่า 除夕 (พินอิน: Chúxì ฉูซี่)
หมายถึงการผลัดเปลี่ยนยามค่ำคืน และคืนนี้จะเป็นวันสุดท้ายของปีนั่นเอง

ซึ่งเป็นคืนที่ครึกครื้นที่สุด ใครที่ไปทำงานห่างจากบ้านเกิด ต่างก็พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะกลับมาฉลองวันปีใหม่ที่บ้าน ตอนกินอาหารมื้อค่ำ คืนก่อนขึ้นปีใหม่จีน ทุกคนในครอบครัวต่างนั่งกันพร้อมหน้าล้อมโต๊ะอาหาร ต่างชนแก้วอวยพรปีใหม่กัน ทานมื้อค่ำเรียบร้อยแล้ว บางคนก็ดูทีวี บางคนก็ฟังเพลง บางคนก็นั่งคุยกัน บางคนก็เล่นหยอกล้อกับเด็กๆ บ้านเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ


พอถึงเที่ยงคืน คนจีนทางเหนือก็จะเริ่มทำเกี๊ยว (เจี้ยวจึ) คนจีนทางใต้ ก็จะปั้นลูกอี๋ทำน้ำเชื่อม ทำไป ชิมไปทานไป ครึกครื้นอย่างยิ่ง เช้าวันรุ่งขึ้นแต่เช้า ทุกคนจะตื่นแต่เช้า เยี่ยมเพื่อนบ้าน เพื่อนฝูงอวยพรปีใหม่


ไหว้พระ-ไหว้เจ้า วันตรุษจีน



เช้าวันนี้ (วันสิ้นปีของคนเชื้อสายจีน) หลายท่านอาจตื่นจากฝันดีด้วยเสียงประทัดของเพื่อนบ้านที่มีเชื้อสายจีน พอตกกลางคืนถ้าผ่านไปแถวสำเพ็ง เยาวราช ท่านจะเห็นผู้คนไปเข้าแถวไหว้เจ้ากันตอนห้าทุ่มเที่ยงคืน (จนถึงพรุ่งนี้เช้า-วันขึ้นปีใหม่) ตามวัดหรือศาลเจ้าจีนต่างๆ
กลับเข้าบ้านหลายท่านจะเห็นข้างบ้านคนเดิมตั้งโต๊ะไหว้เจ้า (อีกแล้ว) ที่ระเบียง หรือสนามหญ้า


หลายท่านไม่มีดีเอ็นเอ-จีนผสม ก็แปลกใจว่าคนจีนไหว้เจ้าอะไรเยอะขนาดนั้น สำหรับท่านที่มีดีเอ็นเอ-จีน ทั้งมีประสบการณ์ยืนอยู่ข้างหลังดูพ่อแม่ไหว้เจ้ามาแต่เด็ก พอเห็นบ้านอื่นเขาไหว้เอาจริงจังก็เริ่มเขว บ้างก็ไหว้เจ้าจนล้าไปเลยทีเดียว

แล้วคำถามต่างๆ จึงเกิดขึ้นว่า
"ตรุษจีนต้องไหว้พระอะไร ไหว้เจ้าที่ไหน?"
"ของไหว้ควรมีอะไร?...ควรใช้มากน้อยเท่าไร?"
"เราต้องไปเข้าแถวไหว้พระคืนวันสิ้นปีด้วยหรือเปล่า?" ฯลฯ

หลวงจีนธรรมารักษ์จีนประจิต (เย็นอี) รักษาการเจ้าอาวาสวัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่) ช่วยอธิบายประเด็นต่าง ตั้งแต่ภาพของญาติโยมมาเข้าแถวยาวตามวัด ตามศาลเจ้าในเยาวราชในช่วงตรุษจีน

เขามาไหว้พระขอพร ส่วนใครจะไหว้อะไรหรือไปไหว้ที่ไหน แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน
แต่ละครอบครัว ส่วนใหญ่พ่อแม่เคยไหว้พระที่ไหนลูกหลานก็ไปที่นั้น อย่างที่เห็นคนที่เข้าแถวยาวเหยียดหน้าวัดจีน หรือศาลเจ้า ในคืนวันที่สิ้นปีและเช้าปีใหม่ เขามาไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ยะ
(เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) มักไปไหว้ตั้งแต่ยามแรก (เริ่มแต่ 23.00 น.) ห้าทุ่มจนถึงโมงเช้า บางคนตระเวนไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แต่ละคนนับถือต่อไปเรื่อยๆ จนถึง 6 โมงเช้า ไปตามวัด/ศาลเจ้าที่มีชื่อเสียง เช่น
วัดเล่งเน่ยยี่ วัดกัลยาณมิตร ศาลเจ้าไต้ฮงกง ศาลเจ้าพ่อเสือ-เสาชิงช้า ฯลฯ



ถ้าไปไหว้พระที่วัดจีน
(แต่ละแห่งการประดิษฐานพระคล้ายๆ กัน) เขาจะไปไหว้ซำป้อฮุก (พระรัตนตรัยของมหาชน) นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระศากยมุนี (ตามแบบวัดไทย) ที่เป็นองค์ประธาน จะมีเอี๊ยะซือฮุก-พระด้านยา (พระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า) และออหมี่ถ่อฮุก (พระอมิตาภะพุทธเจ้า)


นอกจากไหว้พระพุทธแล้ว ก็ไหว้ไฉ่ซิ่งเอี๊ย-เทพโชคลาภ ไท้ส่วยเอี้ย-เทพประจำชะตาชีวิต หั่วท้อเซียนซือ-หมอเทวดา เวลาจะขอพรพระ/เจ้าเรื่องอะไรก็ดูว่าท่านเป็นเทพด้านใด แต่ถ้าไม่รู้ว่าจักว่าท่านเป็นเทพด้านใดก็ขอพรทั่วไป" ท่านเย็นอีกล่าว

แต่สำหรับลูกหลานจีนที่อยู่ต่างจังหวัดไม่มีวัดเล่งเน่ยยี่ ไม่มีศาลไต้ฮงกง ท่านเย็นอีแนะนำให้ไปไหว้พระขอพรที่วัดไทย หรือศาลเจ้าอื่นๆ ที่เรานับถือได้เช่นกัน

แล้วกับลูกหลานจีนที่ทางบ้านไม่เคยมีการมาไหว้พระขอพรในคืนสิ้นปี วันนี้ควรทำเช่นไร ซือเจ้กท่านก็ให้ความเห็นว่า " ถ้าพ่อแม่ ปู่ย่าไม่เคยมาไหว้เราก็ไม่ต้องมาไหว้ แต่ถ้าอยากไหว้ให้ไปวัดไหนที่เดินทางสะดวก หรือจะตั้งโต๊ะกลางแจ้งไหว้ไฉ่ซิ่งที่บ้านก็ได้ "


นั่นคือการไหว้พระเจ้าตามวัดตามศาลเจ้า แล้วการไหว้ในบ้านชาวจีนเราไหว้อะไรกัน คุณสมชัย
กวางทองพาณิชย์-คนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่สำเพ็ง ให้ความคิดเห็นว่า


ตรุษจีนเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ หลักเราจะไหว้ 3 สิ่ง คือ
1.ไหว้พระไหว้เจ้าต่างๆ ในบ้านเรา ไหว้ทีกง (เทพสวรรค์) ในฐานะผู้สร้างสรรพสิ่ง ไหว้ปึงเท้าในฐานะผู้คุ้มครอง ไหว้ตี่จู่หรือตี่จู่เอี๊ยในฐานะเจ้าที่ของบ้าน รวมถึงพระพุทธบนหิ้ง ศาลพระภูมิเจ้าที่ตั้งแต่เช้า
2. พอสายหน่อยไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
3.จากนั้นจึงไหว้ผีไม่มีญาติ ตกค่ำคืนสิ้นปีจึงไปไหว้พระวัดที่วัด
เจ้าที่ศาล"

แม้ฟังดูทั้งพระและเจ้า ที่ไหว้มีมากมายเหลือเกิน แต่คุณสมชัยให้เหตุผลที่น่าคิดว่า
"คนจีนมีเจ้า มีพระที่นับถือเยอะมาก เช่น เทพโชคลาภ เทพคุ้มครอง เทพการศึกษา เทพการค้า ฯลฯ บางองค์เป็นบุคคลจริงๆ ที่มีคุณความดี บางองค์ไม่มีตัวตนจริงมีแต่เรื่องเล่าที่ทำให้เชื่อถือกันมา แต่สิ่งสำคัญคือนี้เป็นวิธีการสอนคนให้รู้จักความกตัญญู ความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ทนงตน การที่คุณค้าขายมีกำไร ที่คุณเรียนเก่ง ที่คุณ...ฯลฯ ไม่ได้จากมาจากตัวคุณทั้งหมด แต่มีพระมีเจ้าช่วยเหลือ มีคนอื่นค่อยเกื้อกูลอยู่"

ส่วนของไหว้พระเจ้าในบ้านนั้นคุณสมชัยเสนอว่า
"ของไหว้จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่าง บางคนบอกต้องทำกับข้าว 8 อย่าง 10 อย่าง ก็ลองไหว้ดู มันจะปรับกันไปเองในแต่ละบ้านตามฐานะ ตามขนาดและจำนวนสมาชิกของครอบครัว ถ้าปีนี้มีของไหว้เยอะแล้วกินเหลือมากมาย ปีหน้าเขาก็ลดเอง แน่นอนว่าการไหว้ตามประเพณีที่ต้องจัดซาแซ(เนื้อสัตว์ 3 ชนิด) ต้องมีผลไม้ 3 อย่าง ฯลฯ เป็นสิ่งดีจากคนโบราณ
เป็นเรื่องของชื่อมงคลซึ่งอยู้ที่ใจเราเป็นเกณฑ์ ถ้าเราตั้งใจไหว้ด้วยจิตใจที่ดีย่อมเป็นมงคล"


แล้วกับคนที่กำลังขัดสนขอแค่จุดธูปเทียนได้หรือไม่
"จะจนอย่างไรคนเราก็ต้องกินข้าว ก็เตรียมแค่ที่คุณต้องกินนั้นแหละไหว้ มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยพูดให้ฟังว่า ตรุษจีนแต่ละปีท่านได้ระลึกถึงพ่อแม่ ผ่านโต๊ะอาหารที่เคยนั่งร่วมกันมา พอไหว้บรรพบุรุษเสร็จ เชิญกระถางธูปขึ้นหิ้งก็จัดโต๊ะตัวเดิมนั้นจากโต๊ะเซ่นไหว้เป็นโต๊ะกินข้าวแทน" คุณสมชัยกล่าว
แม้วันนี้คนจะยังไม่เข้าแถวยาวเหยียดไหว้พระ หรืองานตรุษจีนเยาวราชไชน่าในแต่ละปีที่ผ่านมามีผู้คนไปร่วมงานกันอย่างคับคั่ง หาก "ตรุษจีน" ก็ถูกท้าทายจากสังคมรอบข้างไม่น้อย การสืบทอดประเพณีเหล่านี้ของคนรุ่นลูก รุ่นหลานจะเป็นอย่างไร

สำหรับลูกจีนที่พ่อแม่เคยไหว้ตรุษจีนแต่ขาดช่วง แล้วเกิดสนใจอยากจัดไหว้ตรุษจีนควรทำอย่างไร? ท่านเย็นอีให้ข้อคิดเห็นว่า

"การจัดไหว้ตรุษจีนนั้นขึ้นอยู่กับฐานะ และการรับสืบทอดของเราว่ามีความรู้เรื่องเหล่านี้แค่ไหน
ซึ่งคงเป็นเรื่องที่จะไปกะเกณฑ์ไม่ได้ เรารู้เราเห็นว่าพ่อแม่ทำมาอย่างไร ก็แนะนำว่าให้ทำไปตามท่าน ถ้าเราไม่รู้ไม่ต้องทำก็ไม่ผิด แม้บางอย่างมันต้องสูญหายไปบ้างมันเป็นสัจจะธรรม
เหมือนกับการเผากระดาษเงินกระดาษทอง และเครื่องกระดาษต่างๆ ที่หลายฝ่ายมองว่าอันตรายต่อสุขภาพ ก่อมลภาวะ ไม่เผากระดาษเลยก็ได้ โยมหลายคนก็ไม่เผากระดาษ แต่นี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะบอกให้เลิกเลยคงเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน เราก็ช่วยกันลดจาก 10 อัน
ก็เหลือ 8 เหลือ 7 ได้"
ท่านเย็นอีกล่าว

แล้วกับลูกหลานที่บ้านเล่าเราจะทำอย่างไร ให้เขายังไหว้ตรุษจีน? คุณสมชัยให้ข้อคิดเห็นว่า

"โดยส่วนตัวไม่บังคับถ้าต่อไปรุ่นลูกเราเขาจะไม่ไหว้ เด็กรุ่นนี้บังคับไม่ได้ แต่เราเพียงทำหน้าที่ให้ความเข้าใจ,เมื่อเขาถามเรื่องเหล่านี้ เราต้องมีคำตอบให้ บางครั้งต้องมีเรื่องราวที่มีสาระ
มีเหตุผลที่ทำให้เกิดมุมสะท้อนให้เขาได้เห็นนัยยะสำคัญ เห็นแก่นของงานไม่ใช่เปลือก และคิดจะสืบสานต่อไป"


15 วัน แห่งการฉลองตรุษจีน



วันแรกของปีใหม่ของชาวจีนหรือวันตรุษจีน
เป็นการต้อนรับเทวดาแห่งสวรรค์และโลก หลายคนงดทานเนื้อ ในวันนี้ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการต่ออายุ และนำมาซึ่งความสุขในชีวิตให้กับตน
วันที่สอง
ชาวจีนจะไหว้บรรพชนและเทวดาทั้งหลาย และจะดีเป็นพิเศษกับสุนัข เลี้ยงดูให้ข้าว อาบน้ำให้แก่มันด้วยเชื่อว่าวันที่สองนี้เป็นวันที่สุนัขเกิด
วันที่สามและสี่
เป็นวันของบุตรเขย ที่จะต้องทำความเคารพแก่พ่อตาแม่ยายของตน
วันที่ห้า
เรียกว่า พูวู ซึ่งวันนี้ทุกคนจะอยู่กับบ้านเพื่อต้อนรับการมาเยือน ของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย
ในวันนี้จะไม่มีใครไปเยี่ยมใครเพราะจะถือว่าเป็นการนำโชคร้าย มาแก่ทั้งสองฝ่าย
วันที่หก
ถึงสิบชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของ ครอบครัว และไปวัดไปวาสวดมนต์เพื่อความร่ำรวยและความสุข
วันที่เจ็ด
ของตุรุษจีนเป็นวันที่ชาวนานำเอาผลผลิตของตนออกมาชาวนาเหล่านี้จะทำน้ำที่ทำ มาจากผักเจ็ดชนิดเพื่อฉลองวันนี้ วันที่เจ็ดถือเป็นวันเกิดของมนุษย์ ในวันนี้อาหารจะเป็นหมี่ซั่วกินเพื่อชีวิตที่ยาวนานและปลาดิบเพื่อความสำเร็จ
วันที่แปด
ชาวฟูเจียน จะมีการทานอาหารร่วมกันกับครอบครองอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนทุกคนจะสวดมนต์ของพรจาก เทียนกง เทพแห่งสวรรค์
วันที่เก้า
จะสวดมนต์ไหว้และถวายอาหารแก่ เง็กเซียนฮ่องเต้
วันที่สิบถึงวันที่สิบสอง
เป็นวันของเพื่อนและญาติๆ ซึ่งควรเชื้อเชิญมาทานอาหารเย็น และหลังจากที่ทานอาหารที่อุดมไปด้วยความมัน
วันที่สิบสาม
ถือเป็นวันที่เราควรทานข้าวธรรมดากับผักดองกิมกิ ถือเป็นการชำระล้างร่างกาย
วันที่สิบสี่
ความเป็นวันที่เตรียมงานฉลองโคมไฟซึ่งจะมีขึ้นในคืนของวันที่สิบห้าแห่งการฉลองตรุษจีน



อาหารไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ

ในวันฉลองตรุษจีนอาหารจะถูกรับประทานมากกว่าวันไหนๆในปี อาหารชนิดต่างๆที่ปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี จะถูกจัดเตรียมเพื่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมไปถึงคนรู้จักที่ได้เสียไปแล้ว ในวันตรุษครอบครัวชาวจีนจะทานผักที่เรียกว่า ไช่ ถึงแม้ผักชนิดต่างๆ ที่นำมาปรุง จะเป็นเพียงรากหรือผักที่มีลักษณะเป็นเส้นใยหลายคนก็เชื่อว่าผักต่างๆ มีความหมายที่เป็น มงคลในตัวของมัน

เม็ดบัว - มีความหมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย
เกาลัด - มีความหมายถึง เงิน
สาหร่ายดำ - คำของมันออกเสียงคล้าย ความร่ำรวย
เต้าหู้หมักที่ทำจากถั่วแห้ง - คำของมันออกเสียงคล้าย เต็มไปด้วยความร่ำรวย และ ความสุข
หน่อไม้ - คำของมันออกเสียงคล้าย คำอวยพรให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข


เต้าหู้ที่ทำจากถั่วสดนั้นจะไม่นำมารวมกับอาหารในวันนี้เนื่องจากสีขาวซึ่ง เป็นสีแห่งโชคร้าย สำหรับปีใหม่และหมายถึงการไว้ทุกข์

อาหาร อื่นๆ รวมไปถึงปลาทั้งตัว เพื่อเป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกัน และความอุดมสมบรูณ์ และไก่สำหรับความเจริญก้าวหน้า ซึ่งไก่นั้นจะต้องยังมีหัว หางและเท้าอยู่ เพื่อ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ เส้นหมี่ก็ไม่ควรตัดเนื่องจากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว






ทางตอนใต้ ของจีนจานที่นิยมที่สุดและทานมากที่สุดได้แก่ ข้าวเหนียวหวานนึ่ง บ๊ะจ่างหวาน ซึ่งถือเป็นอาหารอันโอชะ

ทางเหนือ หมั่นโถและติ่มซำเป็นอาหารที่นิยม

อาหารจำนวน มากที่ถูกตระเตรียมในเทศกาลนี้มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวยของบ้าน

ของไหว้เจ้าที่ ประกอบด้วย

ของคาว หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา แล้วแต่ว่าจะไหว้มากหรือน้อย
- ไหว้ 3 อย่าง เรียกว่า ชุดซาแซ ประกอบด้วย หมู เป็ด ไก่
- ไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า ชุดโหงวแซ ประกอบด้วยหมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา
 ข้าว ข้าวสวยใส่ชาม พร้อมตะเกียบ จำนวนชุดตามจำนวนบรรพบุรุษ นิยมนับถึงแค่รุ่นปู่ย่า
 ขนมไหว้ ฮวกก้วยหรือขนมถ้วยฟู คักท้อก้วยหรือขนมกุยช่าย(เป็นไส้ชนิดใดก็ได้)
ขนมจันอับ ซาลาเปา ขนมไหว้นี้ต้องมีสีชมพู หรือมีแต้มจุดแดง
ขนมไหว้พิเศษ ขนมเข่ง ขนมเทียน ต้องยืนเป็นหลัก
ผลไม้ ส้ม กล้วยทั้งหวีเลือกเขียวๆ องุ่น แอปเปิล ชมพู่ ลูกพลับ
เครื่องดื่ม น้ำชา 5 ที่หากมีไหว้ของคาวจะไหว้เหล้าด้วยก็ได้ก็จัด 5 ที่เช่นกัน
กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดไหว้เจ้าที่ ธุปไหว้ คนละ 5 ดอก
ทองแท่งสำเร็จรูป แบงก์กงเต็ก ค้อซี ฯลฯจะมากหรือน้อยแล้วแต่เรา
กระถางธูป โดยเอาข้าวสารใส่ในแก้วไว้สำหรับปักรูป หลังจากที่เสร็จพิธีก็นำเข้าไปผสมกับถังข้าวสารในบ้านไว้สำหรับหุงทนเพื่อให้เฮง ๆ

จำนวนชนิดของขนมไหว้ นิยมให้สอดคล้องกับของคาว เช่น ไหว้ ของคาว 3 อย่าง ขนม 3 อย่าง ผลไม้ 3 อย่าง



ของไหว้บรรพบุรุษ ประกอบด้วย

หมู มีความหมายถึงความมั่งคั่ง ด้วยความอ้วนของตัวหมู สะท้อนถึงความกินดีอยู่ดี
ไก่ มีมงคล 2 อย่างคือ

- หงอนไก่สื่อถึงหมวกขุนนาง ความหมายมงคลจึงเป็นความก้าวหน้าในงาน

- ไก่ขันตรงเวลาทุกเช้า สะท้อนถึงการรู้งาน
ตับ คำจีนเรียกว่า กัว พ้องเสียงกับคำว่า กัว ที่แปลว่าขุนนาง
ปลา คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ฮื้อ โดยมีวลีมงคล อู่-ฮื้อ-อู่-ชื้ง แปลว่า ให้เหลือกินเหลือใช้ ไหว้ปลาเพื่อให้มีเงินเหลือกินเหลือใช้มาก ๆ
กุ้งมังกร ไหว้ด้วยรูปลักษณ์ของกุ้งที่หัวใหญ่ มีก้ามให้ความรู้สึกถึงอำนาจวาสนา
ต่อมากุ้งมังกรหายาก จึงเปลี่ยนเป็นเป็ดสำหรับคนจีนแต้จิ๋ว และเปลี่ยนเป็น ปลาหมึกแห้ง สำหรับคนจีนแคะ)
 ชุดกับข้าว ซึ่งทำไหว้ผีบรรพบุรุษและไว้รับประทาน
 ลูกชิ้นปลา จีนแต่จิ๋วออกเสียงว่า ฮื้อ-อี๊ แปลว่า ลูกปลากลมๆ - ฮื้อ หรือปลา คือให้เหลือกินเหลือใช้
- อี๊ แปลว่า กลม ๆ หมายถึงความราบรื่น
ผัดต้นกระเทียม เพราะคนจีนแต้จิ๋ว เรียกกระเทียมว่า สึ่ง พ้องเสียงกับสึ่งที่แปลว่านับ ไหว้ต้นกระเทียม เพื่อให้มีเงินมีทองให้ได้นับอยู่เสมอ
ผัดตับกับกุยช่าย ตับคือ การเรียกว่า กัว พ้องเสียงกับกัวที่แปลว่า ขุนนาง กุยช่ายเป็นการพ้องเสียงของคำว่ากุ่ย แปลว่า แพง รวย
แกงจืด คนจีนเรียกว่า เช็ง-ทึง เช็ง แปลว่า ใส หวาน ซดคล่องคอ การไหว้น้ำแกงก็เพื่อให้ชีวิตลูกหลานหวานราบรื่น
เป๊าฮื้อ เป๊า หรือ เปา แปลว่า ห่อ ส่วน ฮื้อ คือเหลือกินเหลือใช้ ไหว้เป๊าฮื้อ เพื่อห่อความมั่งคั่เหลือกินเหลือใช้มาให้ลูกหลาน
ผัดถั่วงอก คน จีนแต้จิ๋วเรียกถั่วงอกว่า เต๋าแหง๊ แต่ภาษาวิชาการเรียกว่า เต้าเหมี่ยว
เหมี่ยว แปลว่า งอกงาม ไหว้ถั่วงอกเพื่อให้งอกงามรุ่งเรือง
เต้าหู้ เป็นคำเรียกแบบชาวบ้านที่อาจเรียกเป็นเต้าฮกก็ได้ ฮก คำนี้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว จีนกลางออกเสียงเต้าหู้ว่า โตฟู ฟู แปลว่า บุญ ความสุข
สาหร่ายทะเล เรียกว่า ฮวกฉ่าย ถ้าออกเสียงเป็นฮวดไช้ ก็แปลว่า โชคดี ร่ำรวย

ชุดของหวาน
ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว เล่นเฉพาะคำว่า เปา แปลว่า ห่อ ไหว้ซาลาเปาเพื่อให้เปาไช้ แปลว่า ห่อโชค ห่อเงินห่อทองมาให้ลูกหลาน
ขนมถ้วยฟู คือไหว้เพื่อให้เฟื่องฟู คนจีนแต้จิ๋วเรียกขนมถ้วยฟูว่า ฮวกก้วย ก้วย แปลว่า ขนม ฮวก แปลว่างอกงาม
ขนมคัดท้อก้วย คือขนมไส้ต่าง ๆ เช่น ไส้ผักกะหล่ำ มันแกว ไส้กุยช่าย ทำเป็นรูปลูกท้อสีชมพู ลูกท้อ เป็นผลไม้มงคลมีนัยอวยพรให้อายุยืนยาว
ขนมไข่ คนจีนเรียกว่า หนึงก้วย ไข่คือบ่อเกิดแห่งการได้เกิดและเติบโต ไหว้ขนมไข่เพื่อให้ได้มีการเกิดและการเจริญเติบโต
ขนมสาลี่ คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู 
ขนมจับกิ้ม หรือ แต้เหลียง ก็เรียกคือ ขนมแห้ง 5 อย่าง จะเรียกว่า โหงวเส็กทึ้ง หรือ ขนม 5 สี ก็ได้ ประกอบด้วย ถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบ ฟักเชื่อม และข้าวพอง
 ฟัก เพื่อฟักเงินฟักทอง ฟักเชื่อม คือการฟักความหวานของชีวิต
ข้าว ถั่ว งา คือ ธัญพืช ธัญญะ แปลว่า งอกงาม ไหว้เพื่อให้งอกงามและชีวิตหวานอย่างขนม
 ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์ 
 ขนมเทียน คือ เป็นขนมที่ปรับปรุงขึ้นจากชาวจีนโพ้นแผ่นดินดัดแปลงมาจากขนมท้องถิ่นของไทย จากขนมใส่ไส้เปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิมาเป็นแป้งข้าวเหนียวแทน มีความหมายหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
 ขนมอี๊ อี๊ หรือ อี๋ แปลว่ากลม ๆ ขนมอี๊ทำจากแป้งข้าวเหนียว นวดจนได้ที่เจือสีชมพู ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ต้มกับน้ำตาล เพื่อให้ชีวิตเคี้ยวง่ายราบรื่น เหมือนขนมอี๊ที่เคี้ยวง่ายและหวานใส ซึ่งขนมอี๊นี้อาจใช้เป็นสาคูหรือลูก เดือยก็ได้ คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่าอี๊เหมือนกัน

 โหงวเส็กที้ง แปลว่า ขนม 5 สี อันได้แก่ ถั่วตัด งาตัด ข้างพอง ถั่วเคลือบ น้ำตาล และฟักเชื่อม บางทีก็เรียกว่า "ขนมจันอับ" จันอับ (จั๋งอั๊บ) หมายถึง ปิ่นโต หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป

ชุดผลไม้
ส้ม คนจีนแต้จิ๋วเรียกแบบชาวบ้านว่า กา แต่ส้มมีอีกคำเรียกว่า ไต้กิก (ส่วนมากนิยมไหว้ 4 ผล เพราะเลขสี่พ้องเสียงคำ "สี่" ที่แปลว่าดี)
- ไต้ แปลว่า ใหญ่ กิก แปลว่า มงคล
- ไต้กิก จึงแปลว่า มหาสิริมงคล แต่ถ้าแปลง่าย ๆ แบบชาวบ้านก็คือ โชคดี
กล้วย จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า เก็ง-เจีย จะเล่นเสียงว่า เก็ง-เจีย-เก็ง-ไล้ แปลว่า ถึงโชคเข้ามา กับอีกความหมายว่า กล้วย มีผลมากมายแถมเป็นเครือ จึงมีมงคลให้ลูกหลานมาก ๆ มีวงศ์วานว่านเครือสืบสกุล
องุ่น จีนแต้จิ๋วเรียกว่า พู่-ท้อ
- พู่ ก็คือ งอก หรืองอกงาม
- ท้อ ก็คือ พ้องเสียงกับลูกท้อ ที่เป็นผลไม้มงคล อายุยืน

สับปะรด คนจีนแต้จิ๋วเรียก อั้งไล้ แปลว่า เรียกสีแดงมา สีแดงเป็นสีของโชค ก็ประมาณว่าเรียกโชคเข้ามา คนจีนทางใต้นิยมไหว้สับปะรดมาก


สิ่งที่ไม่ควรทำวันตรุษจีน


ห้ามทำความสะอาด เนื่องจากการทำงานบ้าน เช่น การซักล้าง หรือ การกวาดบ้านปัดฝุ่น จะเป็นการขับไล่ความโชคดีออกไป ดังนั้นการทำความสะอาดบ้านจึงควรเริ่มทำตั้งแต่ก่อนที่วันขึ้นปีใหม่จะมาถึง

ห้ามสระผม ไม่ควรสระผมในวันเริ่มต้นและวันสุดท้ายของวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากการสระผมถือเป็นการชะล้างความโชคดีที่มาถึงในวันขึ้นปีใหม่
ห้ามใช้ของมีคม ไม่ควรใช้ของมีคมในวันขึ้นปีใหม่ ของมีคมต่างๆ เช่น มีด, กรรไกร,
ที่ตัดเล็บ เนื่องจากถือว่าการกระทำของของมีคมนี้ จะเป็นการตัดสิ่งหรืออนาคตที่ดี ที่จะนำมาในวันขึ้นปีใหม่
ห้ามโต้เถียง ควรระมัดระวังในการใช้คำพูดที่มีความหมายไปในทางลบ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการโต้เถียงกัน คำที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยหรือความตาย เป็นคำที่เราควรหลีกเลี่ยงในวันขึ้นปีใหม่
เลี่ยงเรื่องเกี่ยวกับความตาย หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานศพ และการฆ่าสัตว์ปีก
ห้ามซุ่มซ่าม ควรระมัดระวังในการทำสิ่งใดๆ ไม่ควรที่จะให้เกิดการสะดุด หรือ ทำสิ่งของตกแตก ซึ่งนั่นจะหมายถึงการนำความโชคไม่ดีเข้ามาในอนาคต



การไหว้เจ้าที่ในวันตรุษจีน


การไหว้เจ้าเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษ เพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุข ความเจริญแก่ครอบครัว

ในปีหนึ่งมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง เรียกว่า โป๊ยโจ่ย แปลว่า 8 เทศกาล ดังนี้

ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 (เป็นการกำหนดวันทางจันทรคติของจีน) คือ ตรุษจีน เรียกว่า ง่วงตั้งโจ่ย
ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า ง่วงเซียวโจ่ย
ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า ไหว้เช็งเม้ง เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย
ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า โหงวเหว่ยโจ่ย เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง

ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีน เรียกว่า ตงง้วงโจ่ย
ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า ตงชิวโจ่ย ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์
ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า ไหว้ตังโจ่ย
ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ ก๊วยนี้โจ่ย



นอกจากนี้บางบ้านยังมีการไหว้พิเศษ คือ การไหว้เทพยดาที่ตนเองเคารพนับถือ เช่น

ไหว้เทพยดาฟ้าดิน เช่น การไหว้วันเกิดเทพยดา ฟ้าดิน เรียกว่า ทีกงแซ หรือ ทีตี่แซ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ของจีน
ไหว้อาเนี๊ยแซ คือ ไหว้วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง คือวันที่ 19 เดือน 2 วันที่ 19 เดือน 6 และวันที่ 19 เดือน 9
ไหว้แป๊ะกงแซ ตรงกับวันที่ 14 เดือน 3
ไหว้เทพยดาผืนดิน คือ ไหว้โท้วตี่ซิ้ง ตรงกับวันที่ 29 เดือน 3
ไหว้ อาพั๊ว คือ การไหว้วันเกิดอาพั๊ว หรืออาพั๊วแซ ซึ่งอาพั๊ว หมายถึง พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี
ไหว้เจ้าเตา คือ ไหว้วันที่ 24 เดือน 12 เรียกว่า ไหว้เจ๊าซิ้ง


เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันตรุษจีน


สัญลักษณ์อีกอย่างของเทศกาลตรุษจีน คือ อั่งเปา (ซองแดง) คือ ซองแดงใส่เงินที่ผู้ใหญ่แล้วจะมอบให้ผู้น้อย และมีการแลกเปลี่ยนกันเอง หรือจะใช้คำว่า แต๊ะเอีย (ผูกเอว) ที่มา คือ ในสมัยก่อนเหรียญจะมีรูตรงกลาง ผู้ใหญ่จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และนำมามอบให้เด็กๆ เด็กๆ ก็จะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว

ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะกล่าวคำ ห่ออ่วย หรือคำอวยพรภาษาจีนให้กัน หรือมีการติดห่ออ่วยไว้ตามสถานที่ต่างๆ คำที่นิยมใช้กัน ได้แก่

- แต้จิ๋ว : ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ จีนกลาง: ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย แปลว่า ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่
- จีนกลาง: กงฉี่ฟาฉาย
- เกียฮ่อซินนี้ ซินนี้ตั้วถั่น แปลว่า สวัสดีปีใหม่ ขอให้ร่ำรวยๆ
- อีกฝ่ายก็จะกล่าวตอบว่า ตั่งตังยู่อี่ แปลว่า ขอให้สุขสมหวังเช่นกัน


รวมคำอวยพรวันตรุษจีน พร้อมคำแปล


คำอวยพร : ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวกใช้
คำแปล : ปีใหม่ขอให้ทุกอย่างสมหวัง ปีใหม่ขอให้ร่ำรวย

คำอวยพร : ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ
คำแปล : ปีใหม่ขอให้ทุกอย่างสมหวัง ปีใหม่ขอให้ร่ำรวย

คำอวยพร : เจาไฉจิ้นเป้า
คำแปล : เงินทองไหลมาเทมา ทรัพย์สมบัติเข้าบ้าน

คำอวยพร : ฟู๋ลู่ซวงฉวน
คำแปล : ศิริมงคลเงินทองอำนาจวาสนา

คำอวยพร : จู้หนี่เจี้ยนคัง
คำแปล : ขอให้คุณสุขภาพแข็งแรง

คำอวยพร : จู้หนี่ฉางโส่ว
คำแปล : ขอให้คุณอายุยืนยาว

คำอวยพร : จู้หนี่ซุ่นลี่
คำแปล : ขอให้คุณประสบความสำเร็จ

คำอวยพร : จู้เห้อซินเหนียน
คำแปล : การอวยพรปีใหม่



การจุดประทัด และเชิดสิงโตในวันตรุษจีน


"การจุดประทัด" เกิดจากในอดีตมีคนหัวใสนำดินระเบิด ไปบรรจุในบ้องไม้ไผ่เล็กๆ แล้วจุด เสียงไม้ไผ่ระเบิดก็ดังสนั่นหู เด็กเล็กได้ยินก็ร้องจ้า บรรดาสุนัขและสัตว์เลี้ยงทั้งหลายต่างพากันกลัวเสียงประทัดวิ่งหนีกันได้ ทำให้ มีคนคิดว่าเสียงดังโป้งป้างของประทัด น่าจะไล่เจ้าตัวเหนียนได้ ซึ่งเหนียน คำนี้เป็นเสียงจีนกลาง จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า นี้ แปลว่า ปี คนจีนโบราณเชื่อว่าช่วงสิ้นปีที่อากาศหนาวเย็นจัดคนไม่สบายกันมาก เพราะเจ้าตัวเหนียนออกมาอาละวาด การจุดประทัดเสียงดังน่าจะไล่เจ้าตัวเหนียน และโรคภัยไข้เจ็บให้ตกใจกลัวหนีไปได้

แล้วต่อมาธรรมเนียมนี้ก็ปรับไปว่า จุดประทัดให้เสียงดังๆ นี้จะเรียกโชคดีให้มาหา
บ้างก็ว่าเพื่อให้สะดุดหูเทพเจ้า ท่านจะได้มาช่วยคุ้มครอง

ส่วนการเชิดสิงโตวันตรุษจีน ที่บางท้องที่จัดเป็นพิธีแห่มังกรใหญ่โต โดยคน จีนเรียกการแสดงเชิดสิงโตว่า ไซ่จื้อบู่ แปลง่ายๆ ว่า ระบุลูกสิงโต จัดอยู่ในหมวดการแสดงสวมหน้ากากสัตว์

จาก บันทึกของราชวงศ์เหนือ...ใต้ (พ.ศ.850 – 1132) เมื่อชาวบ้านในมณฑลกวางตุ้ง
มีการแสดงเชิดสิงโตเพื่อไล่ผีที่เชื่อว่า มาลงกินผู้ชายและสัตว์เลี้ยง ก่อเกิดเป็นความเชื่อว่า เชิดสิงโตช่วยไล่ภูต ผีปีศาจได้ ก็เลยเข้าคู่กันเหมาะมากกับการจุดประทัดวันตรุษจีน


ส่วน การแห่มังกร ก็เริ่มจากในสมัยราชวงศ์จิ๋นหรือฉิน (พ.ศ.254 – 339) จัดเป็นการแสดงเล็กๆ แล้วมาจัดเป็นโชว์ใหญ่ที่สวยตระการตาในสมัย ราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ.337 – 763) โดยเริ่มต้นจะมาจากตำนานปลาหลีฮื้อ กระโดดข้ามประตูสวรรค์ ก็จะกลายเป็นปลามังกรมีฤทธิ์เดช โดยปลามังกรนี้ คือ สัตว์ยิ่งใหญ่มีพลังอำนาจ ใครได้พบได้ชมก็จะได้รับพลังช่วยเสริมให้เจ้าตัว โชคดีทำมาหากินได้ผลบริบูรณ์

แต่ เนื่องจากทั้งการเชิดสิงโตและแห่มังกรนี้ ผู้แสดงต้องมีความสามารถพิเศษใน เชิงกายกรรมต่อตัว การสมดุลตัวที่สุดของการเชิดสิงโตคือการได้ซองอั่งเปา สุดยอดของการแห่มังกร
คือการต่อตัวขึ้นไปเพื่อหยิบซองอั่งเปาบนไม้สูงที่เมื่อทำได้ ความหมายของการได้ซองอั่งเปานี้คือ การจะได้โชคดีกันถ้วนหน้าตลอดปีทีเดียว



ไหว้ตรุษจีน ให้เฮง..เฮง


โหรจีนชื่อดังแนะไหว้ตรุษจีนอย่างไรให้ เฮง เฮง เฮง ทั้งปี เปิดธรรมเนียมการไหว้ที่ถูกต้องและความหมาย นายพิชัยวัฒน์ อภิชาติธนกิจ โหราจารย์ผู้มีความรู้ในเรื่องวิชาโหราศาสตร์จีนอย่างลึกซึ้ง

เจ้าของผลงาน "ลี่ไท่ฟู่ เสริม 12 นักษัตรปีชวด" กล่าวว่า ตรุษจีนหรือปีใหม่ของพี่น้องชาวจีนเป็นเทศกาลสิริมงคลซึ่งจะมีการไหว้เทพเจ้าเพื่อความมีโชคลาภและเป็นสิริมงคล คือ เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี้ย

เขากล่าวว่า การไหว้ตรุษจีนมีประวัติยาวนานย้อนหลังกลับไปถึงสมัยราชวงศ์โจวเมื่อกว่า
3,000 ปีมาแล้ว แต่เดิมมีการไหว้ยาวนานถึง 15 วัน แต่ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป ธรรมเนียมการไว้ตรุษจีนจึงลดลงเหลือเพียง 3 วันคือ


1. วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก
คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ หรือ ตี่จู้เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน

2. วันไหว้ หรือวันสิ้นปี
จะมีการไหว้ 3 ครั้ง ตอนเช้ามืดจะไหว้ไป๊เล่าเอี๊ยเป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ ตอนสายจะไหว้ ไป๊เป้บ๊อ หรือการไหว้บรรพบุรุษ ตอนบ่ายไหว้ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ เป็นการไหว้ผีพี่น้อง

3. วันขึ้นปีใหม่ หรือวันเที่ยว
หรือวันถือ คือวันที่ 1 ของเดือนที่ 1 ของปี หรือชิวอิก ซึ่งจะมีการไหว้เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี้ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยในปีนี้ท่านจะเสด็จลงมาบนโลกเวลา 00.00 น. ของวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ทางทิศตะวันตก อันเป็นเวลาแห่งขุมทรัพย์ตกบัลลังก์ทอง ทำมาหากินรุ่งเรือง ได้โลคลาภมากมาย ควรไหว้ในช่วงเวลา 03.00-05.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ โดยหันหน้าไปทางทิศดังกล่าว
เครื่องสักการะเทพเจ้าแห่งโชคลาภได้แก่ ผลไม้ 5 อย่าง ที่ควรเลือกไหว้เป็นลำดับต้นๆ คือ


กล้วยหอม หมายถึงความหอมสดชื่น และเหมือนเล็บมือของพระพุทธองค์
ส้ม หมายถึงโชคลาภหรือมหาโชค
แอปเปิ้ล หมายถึงความร่มเย็นเสมอภาค
องุ่น หมายถึงความร่มเย็น การไหลมาของเงินทอง
สาลี่ หมายถึงให้ได้ผลโดยเร็ว เป็นผลไม้ตามฤดูกาล

ที่ห้ามคือ มะเฟือง มะไฟ แตงโม แคนตาลูป มะละกอ
นอกจากนี้ยังมีอาหารเจ หรือเรียกว่า เจไฉ่ ประกอบด้วย เห็ดหอม สาหร่ายทะเล ดอกไม้จีน วุ้นเส้น ฟองเต้าหู้ หมายถึงความมีอายุยืน มีสติปัญญา ฉลาด อุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับของหวานที่ใช้ไหว้ เช่น ถั่วตัด ข้าวพอง ถั่วเคลือบน้ำตาลต่างๆ หรือที่คนไทยเรียกว่าขนมจันอับ 1 ถาด
มีความหมายว่าอุดมสมบูรณ์เหมือนเจไฉ่


ของไหว้ที่ขาดไม่ได้ คือ
สาคูแดง หรือขนมบัวลอย จำนวน 3 ถ้วย หมายถึงความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเครือญาติ
น้ำชา 3 ถ้วย หมายถึงความสัมพันธ์ที่ดี สำหรับผู้ที่ไหว้เทพเจ้าเป็นครั้งแรกนายพิชัยวัฒน์
แนะนำว่าควรใช้กุยช่ายสดไหว้ จะช่วยให้สมปรารถนาเร็วขึ้น
กระถางธูป 1 ใบ เทียนแดง 1 คู่ แจกันดอกไม้สด 1 คู่ หมายถึงงานมงคลแสดงยศถาบรรดาศักดิ์ กระดาษไหว้หรือเครื่องบรรณาการ น้ำเปล่า 1 แก้ว ข้าว 3 ถ้วย
นอกจากของไหว้เทพเจ้าแห่งชาติลาภดังที่กล่าวแล้ว ยังมี ซาแซ หรือโหงวแซ หมายถึงให้มีพร 3 หรือ 5 ประการ ได้แก่

เป็ด ไก่ หมายถึงความเจริญก้าวหน้า
หมู 3 ชั้น หมายถึงโชค 3 ชั้น เจริญรุ่งเรือง
ปลาต้มและปลาหมึกแห้ง หมายถึงให้เหลือกินเหลือใช้ สามารถนำซาแซและโหงวแซไปไหว้เทพเจ้าชั้นรองลงมาจากเทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี้ยได้



ความเชื่อและอาหารมงคล เทศกาลตรุษจีน


เทศกาลตรุษจีนที่ทั้งคนไทยเชื้อสายจีน และที่ไม่ใช่คนไทยเชื้อสายจีนคุ้นเคยกันนั้น ใช่จะเตรียมการด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน หากแต่เตรียมงานกันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเดือน

1 เดือนก่อนถึงตรุษจีน ผู้คนจะเริ่มซื้อหาของขวัญไว้ให้สมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หาซื้อสิ่งต่างๆ มาประดับบ้านเรือน เริ่มทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการกวาดสิ่งชั่วร้ายออกไป ทาประตูและหน้าต่างของบ้านด้วยสีแดงอันเป็นสีมงคล เสร็จแล้วก็ประดับประดาบ้านด้วยกระดาษสีแดงเขียนตัวอักษรจีนสีทอง มีความหมายไปในทางที่ดี เช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย อายุยืน เป็นต้น


เรื่องของเสื้อผ้าก็เช่นกัน ชาวจีนนิยมใส่เสื้อผ้าสีแดงในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้ตนพบแต่ความโชคดี และเป็นการขับไล่ปีศาจร้ายออกไป ส่วนการสวมใส่เสื้อผ้าสีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากถือว่าเป็นสีของการไว้ทุกข์

ช่วงเทศกาลตรุษจีน ต้องไม่โกรธ ริษยา หรือไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต



ขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลนี้ที่เด็กๆ ตั้งหน้าตั้งตารอคอย คือ "อั้งเปา" หมายถึง ซองแดง ไว้ให้ในงานมงคลต่างๆ ซึ่งหมายรวมถึงเทศกาลตรุษจีน โดยผู้ใหญ่จะนำเงินใส่ในซองแดง แล้วมอบให้กับลูกหลานที่อยู่ในวัยเด็ก วัยรุ่น หรือมอบให้ลูกหลานที่โตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังไม่แต่งงาน


ถึงวันขึ้นปีใหม่ หรือวันตรุษจีน สมาชิกในครอบครัวจะกล่าวสวัสดีปีใหม่ และอวยพรให้กันและกัน แล้วต่อด้วยการไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง

ถึงช่วงเย็นย่ำ คนในครอบครัวจะรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งเป็นอาหารที่มีนัยของความเป็นมงคลแฝงอยู่ เช่น


กุ้ง หมายถึงชีวิตที่รุ่งเรือง มีความสุข
เป๋าฮื้อแห้ง หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี
สลัดปลาสด จะนำความโชคดีมาให้
จี้ไช่ (ผมเทวดา) ซึ่งเป็นสาหร่ายที่มีลักษณะคล้ายผม จะนำความร่ำรวยมาสู่ ขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพรลูกหลาน ฯลฯ

ปีนี้เยาวราชยังคงเป็นแหล่งรวมสิ่งมงคลต่างๆ ในเทศกาลตรุษจีนเช่นเคย
ไม่ว่าจะเป็นกระดาษสีแดงเขียนตัวอักษรมงคล เครื่องแต่งกายสีแดงสิ่งของประดับตกแต่งบ้าน
รวมไปถึงอาหารและผลไม้มงคลที่มีให้เลือกมากมายค่ะ. . .


ของไหว้ตรุษจีน


ประเพณีวันตรุษจีน หรือ วันขึ้นปีใหม่จีน
เป็นประเพณีที่สืบทอดจากปฏิทินตามจันทรคติของจีน ซึ่งถือเป็นวันแรกของปี
หรือวันแรกของเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ คนจีนจะถือวันแรกของเดือนแรก หรือ
วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 เป็น
"วันตรุษจีน" โดยคนจีนจะถือ "วันตรุษจีน" เป็นวันไหว้เพื่อต้อนรับเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ไฉ่ซิงเอี๊ย

ซึ่งในคืนก่อนวันตรุษจีนคนจีนถือเป็นวันครอบครัวญาติพี่น้องที่อยู่แดนไกลจะถือเอาวันนี้กลับมาพบปะสังสรรค์กัน และจะไหว้เจ้า ไหว้ฟ้าดิน รวมถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากคนจีนถือว่าผู้ล่วงลับไปแล้ว จะคอยอยู่ปกป้องครอบครัวให้มีความเจริญผาสุก รวมถึงนำโชคลาภสู่สมาชิกในครอบครัวด้วย นอกจากนี้ การเลือกเวลาไหว้ให้เหมาะกับปีเกิดของแต่ละบุคคลก็มีความสำคัญมาก เพราะมีความเชื่อว่าการไหว้ให้ถูกเวลามีฤกษ์ดี
ไหว้ให้ถูกทิศมีชัยภูมิที่ดี ไหว้ให้เหมาะกับบุคคลมีนักษัตรปีเกิดที่ดี และยังไหว้ให้ถูกขั้นตอนประเพณี






ทั้งนี้วันตรุษจีนจะมีการเตรียมของไหว้อย่างพิถีพิถัน แบ่งเป็นเนื้อสัตว์ ผลไม้ ขนมหวาน กับข้าวคาว กับข้าวเจ อย่างละ 3 หรือ 5 ชนิด พร้อมสุรา น้ำชา ข้าวสวย และกระดาษเงินกระดาษทองประเภทต่างๆ โดยจะจัดเรียงตามลำดับความสำคัญตามชนิดของอาหาร ซึ่งจะมีเสียงเรียกพ้องกับเสียงของคำมงคล และผลไม้ที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะไหว้ก็คือ ส้มมหามงคลสีทอง ที่ชาวจีนเรียกว่าส้มไต่กิก เพราะมีความหมายหมายถึงความสวัสดีมงคลอย่างยิ่ง

สำหรับ "วันไหว้" จะทำกันในวันสิ้นปี ซึ่งปกติมีการไหว้ 3-4 ชุด เริ่มจาก
"ไหว้เจ้าที่" ในช่วงเช้าด้วยชุดซาแซ คือ หมู เป็ด ไก่ ที่อาจเปลี่ยนเป็นไข่ย้อมสีแดงได้ ขนมเทียน และขนมถ้วยฟู หรือขนมอื่นๆ ผลไม้ไหว้มีส้มสีทอง องุ่น แอปเปิ้ล พร้อมกับกระดาษเงิน กระดาษทอง 

ต่อด้วยช่วงสายๆ ไม่เกินเที่ยง "ไหว้บรรพบุรุษ" เครื่องไหว้จะประกอบด้วยชุดซาแซ อาหารคาวหวาน ส่วนมากก็ทำตามที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบ เต็มที่จะมี 10 อย่าง นิยมว่าต้องมี

น้ำแกง เพื่ออวยพรให้ชีวิตราบรื่น และกับข้าวเลือกที่มีความหมายมงคล ส่วนขนมไหว้บรรพบุรษต่างๆ ก็มีความหมายมงคลเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม หลังจากไหว้บรรพบุรษแล้ว ช่วงเที่ยงหรือบ่ายก็จะไหว้ผีไม่มีญาติ จากนั้นก็เป็นช่วงกลางดึกของคืนวันสิ้นปีย่างเข้าตรุษจีน ที่จะมีการไหว้ ไฉ่ซิงเอี๊ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยให้หันโต๊ะไหว้ไปทางทิศตะวันตก ซึ่งช่วงเวลาไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภที่ดีที่สุดของปีนี้อยู่ระหว่างเวลา 03.00 - 05.00 น. เป็นช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 26 มกราคม ทั้งนี้ ชาวจีนจะเตรียมจัดของไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภอย่างพิถีพิถัน เพราะในช่วงเวลาที่กำลังจะเข้าวันตรุษจีน โลกกำลังหมุนไปทางทิศนี้ แล้วเมื่อย่างเข้าวันปีใหม่จีนหรือวันตรุษจีน ก็ยังนิยมไปไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่ โดยจะนำส้มสีทองจำนวน 4 ใบ ไปมอบให้ด้วยเสมือนนำโชคดีไปให้
เพราะเสียงไปพ้องกับคำว่าทองในภาษาจีนแต้จิ๋ว

ทั้งนี้ สำหรับความหมายของ "ของไหว้วันตรุษจีน" ได้แก่...



ความหมายของผลไม้ไหว้วันตรุษจีน

- กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภเข้ามา และขอให้มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
- แอปเปิ้ล หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ
- สาลี่ หมายถึง โชคลาภมาถึง (ควรระวังไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ)
- ส้มสีทอง หมายถึง ความสวัสดีมหามงคล
- องุ่น หมายถึง ความเพิ่มพูน

ความหมายของอาหารไหว้วันตรุษจีน

- ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ และความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ต้องเป็นไก่เต็มตัว หมายถึง มีหัว ตัว ขา ปีก มีความหมายถึง ความสมบูรณ์
- เป็ด หมายถึง สิ่งบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสามารถอันหลากหลาย
- ปลา หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ อุดมสมบูรณ์
- หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้
- ปลาหมึก หมายถึง เหลือกิน เหลือใช้ (เหมือนปลา)
- บะหมี่ยาวหรือหมี่ซั่ว หรือ ฉางโซ่วเมี่ยน ตามชื่อหมายถึง อายุยืนยาว
- เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายจำนวนมาก
- ถั่วตัด หมายถึง แท่งเงิน
- สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
- หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ร่ำรวยผาสุก


สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง คือ เต้าหู้ขาว เนื่องจากสีขาว คือ สีสำหรับงานโศกเศร้า



ความหมายของขนมไหว้วันตรุษจีน

- ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
- ขนมเทียน คือ เป็นขนมที่ปรับปรุงขึ้นจากชาวจีนโพ้นแผ่นดินดัดแปลงมาจากขนมท้องถิ่นของไทย จากขนมใส่ไส้เปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิมาเป็นแป้งข้าวเหนียวแทน
มีความหมายหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
- ขนมไข่ คือ ความเจริญเติบโต
- ขนมถ้วยฟู คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู
- ขนมสาลี่ คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู
- ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว คือ ไหว้เพื่อให้เปาไช้ แปลว่าห่อโชค
- จันอับ (จั๋งอั๊บ) หมายถึง ปิ่นโต หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป

รู้ถึงความหมายของ "ของไหว้ตรุษจีน" กันแล้ว ก็อย่าลืมนำไปปฏิบัติ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัวนะคะ


มงคลเสริมบารมี รับเทศกาลตรุษจีน


ช่วงเทศกาลตรุษจีนทุกปี ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของลูกหลานเชื้อสายจีนที่จะเตรียมตัวพร้อมดำเนิน ชีวิตให้ดีเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ คำอวยพร "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้" จึงเป็นคำอวยพรให้เงินทองเพิ่มพูน สุขภาพแข็งแรง เสริมสิริมงคลให้ชีวิตเฮงกันแบบยกครัวตลอดปี การก้าวย่างสู่ปีใหม่ ทุกบ้านจึงต้องเตรียมปัดกวาดเช็ดถูทุกห้องหับให้สะอาดหมดจดเพื่อขับไล่สิ่ง อัปมงคล พร้อมเตรียมของไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษเพื่อวอนขอโชควาสนาเพื่อเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน โดยนับถอยหลังจากวันจ่ายที่เป็นวันจับจ่ายของไหว้และเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อใช้ในวันไหว้

เริ่มด้วยการไหว้เจ้าที่ (เช้า) บรรพบุรุษ (สาย) สัมภเวสี (บ่าย) และเทพเจ้าแห่งโชคลาภหรือ "ไฉสิงเอี๊ย" (กลางคืน) เพื่อเข้าสู่วันถือ หรือวันปีใหม่ (วันชิวอิค) ที่ทุกคนต้องคิดดี ทำดี ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดแต่สิ่งดีๆ รวมทั้งติดอักษรมงคลสีสดที่ประตูบ้านด้วยเพื่อกวักมือเรียกความเฮงเข้าบ้าน

อาจารย์ วิศิษฐ์ เตชะเกษม ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์จีน กล่าวว่า การไหว้ในทุกช่วงเวลาต่างสำคัญทั้งนั้น แถมต้องอาศัยความตั้งใจและจิตใจที่ผ่องแผ้ว โดยเฉพาะการไหว้ไฉสิงเอี๊ย ที่นิยมไหว้เทพแห่งโชคลาภในคืนวันสุดท้ายคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาแรกสุดของวันใหม่ปีใหม่ ถือเป็นประเพณีสำคัญขาดมิได้

ประเพณี การไหว้นั้น ชาวจีนแทบทุกบ้านจะขะมักเขม้นเตรียมจัดของ อาหารชั้นเลิศ ผลไม้ชื่อมงคล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมจัดข้าวของบนโต๊ะอย่างเป็นระเบียบ เรียงตามลำดับความสำคัญตามชนิดของอาหาร ซึ่งอาหารแต่ละชนิดจะมีเสียงเรียกพ้องกับเสียงของคำมงคลทั้งสิ้น

การไหว้
"ไฉสิงเอี๊ย" ไม่ควรขาดผลไม้มงคล 5 ชนิด ได้แก่ องุ่น ลูกพลับ ส้ม ทับทิม และกล้วยหอม อาหารเจ ได้แก่ วุ้นเส้น ดอกไม้จีน เห็ดหูหนู สาหร่าย เห็ดหอม และของหวานได้แก่ บัวลอย ขนมแห้งข้าวเหนียว และขนมจันอับ ที่สำคัญ กระดาษเงินกระดาษทองเพื่อบูชาขอความรุ่งเรืองจากเทพเจ้าแห่งโชคลาภ

การเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนตามธรรมเนียมจะจัดให้อยู่ในระยะ 15 วัน โดยมีอีกวันที่มีเกร็ดน่าสนใจ คือหลังจากวันขึ้นปีใหม่ 7 วัน จะถือเป็นวัน "ชิก เอี่ย ฉ่าย" หรือวันผักเจ็ดชนิด ซึ่งชาวจีนจะนิยมบริโภคผัก 7 ชนิดเพื่อเสริมสิริมงคลให้ชีวิตรุ่งเรือง เสริมบารมี

ผัก ที่ว่าทั้ง 7 ชนิดเป็นผักที่หาได้ง่าย เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ 
ผักกวางตุ้ง แสดงถึงความรุ่งเรืองเฟื่องฟู 
ผักชุมฉ่าย ผักแห่งการเก็บออม กะหล่ำปลี แสดงถึงความมั่นคงเป็นปึกแผ่น 
ขึ้นช่าย ผักในความเชื่อแห่งความเหลือเฟือในทรัพย์ 
ต้นกระเทียม เพื่อมีเงินทองให้นับตลอด 
ไชเท้า ผักที่นำมาซึ่งโชคลาภ และ
ผักกาดขาว แสดงถึงความบริสุทธิ์

นอก จากนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการความสบายใจตลอดปีก็ควรแก้เคล็ดตามปีเกิดด้วยการไหว้สิ่ง
ศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคล พร้อมบูชาเทพเจ้าประจำนักษัตรของตัวเอง ดังนี้
.
ปีชวด บูชาเทพไฉ ซิ้ง-ไท้ซุ้ย ขจัดเคราะห์ภัย
ปีฉลู บูชาเทพฮกซิ้ง วาสนาบารมี
ปีขาล บูชาเจ้าแม่ทับทิม กระตุ้นกิจการงานการค้าให้ก้าวหน้ารุ่งเรือง
ปีเถาะ บูชาเทพไฉ ซิ้ง ประทานโภคทรัพย์
ปีมะโรง บูชาพระตรีรัตนโพธิสัตว์ พัฒนากิจการงานการค้าให้ก้าวหน้า
ปีมะเส็ง บูชาเจ้าพ่อเสือ ช่วยขจัดเหตุวิบัติ บังเกิดทรัพย์สมมุติมงคลสถาน
ปีมะเมีย บูชาเทพเจ้ากวนอู สยบมาร ช่วยสลายกำลังต่อสู้ปะทะกันของปีเกิดท่าน และปีจอ
ปีมะแม บูชาเทพ ฮก ลก ซิ่ว มั่งคั่งทรัพย์อนันต์
ปีวอก บูชาพระตี่จั่งอ๊วงประทับสิงโต เพิ่มพูนสิ่งอันเป็นสิริมงคล
ปีระกา บูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมทรงมังกร ปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อน
ปีจอ บูชาพระอรหันต์จี้กงคุ้มกันภัย
ปีกุน บูชาเทพสังกัจจายน์ประทานอำนาจลาภผล


สิ่งมงคลคู่ตรุษจีน...ไม่มีไม่เฮง


ในเทศกาลตรุษจีน จะเห็นการจับจ่าย ตระเตรียมบรรดาอาหารสำคัญไม่ว่า หมู ไก่ ผลไม้ ขนมเทียน ขนมเข่ง เพื่อไหว้บรรพบุรุษแล้ว ในวาระสำคัญเทศกาลปีใหม่ และถือเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก นั่นคือ ฤดูใบไม้ผลิ แฝงไว้ด้วยว่าขอให้การทำมาหากินเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง

รศ. พรพรรณ จันทโรนา นนท์ อาจารย์สาขาภาษาจีน ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บอกเล่าว่า เมืองจีนกับประเทศไทยไม่ต่างกันในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ ชาวจีนสร้างชาติด้วยความเป็นเกษตรกร ฤดูกาลที่ผันเปลี่ยนสัมพันธ์กับการเพาะปลูก ชาวจีนมี 4 ฤดู คือใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ซึ่งฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูกาลแรกแห่งปีเทศกาลตรุษจีนจะมาถึง" แผ่นดินจีนมีหลากหลายชนเผ่า แต่ละท้องถิ่นมีประเพณีแตกต่างกัน เช่น ชาวจีนทางภาคเหนือเมื่อใกล้วันตรุษจีน 8 ค่ำ เดือน 12 จะเริ่มกินโจ๊ก ที่เรียกว่า ลาบปาโจว โดยนำเอาธัญพืชมาต้มรวมกัน แต่ขณะที่คนทางใต้จะไม่มีประเพณีนี้"



รศ. พรพรรณ เท้าความ ให้ฟังว่าชาวจีนในบ้านเราส่วนใหญ่มาจาก มณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ กลุ่มเชื้อชาตินี้จะมีประเพณีปฏิบัติในวันตรุษจีนคล้ายๆ กัน อย่างเช่นของเซ่นไหว้ เลือกใช้หมู ไก่ ปลา กุ้ง เหตุผลที่ไหว้ด้วย "ไก่"เพราะเป็นสัตว์ที่มีความบู๊และบุ๋นอยู่ในตัว อีกทั้งหงอนไก่ ซึ่งเรียกว่า "จีกวน" หมายถึงข้าราชการ ดังนั้นไก่จะสื่อถึงความเป็นคหบดี เจ้าคนนายคน และ มีลักษณะอยู่ 4 ประการที่คนเป็นเสนาบดีจะมีคล้ายกับไก่

1. คือมีเดือยแหลมคมสามารถต่อสู้ได้
ประการที่ 2 สามารถบอกเวลาได้หมายถึงมีประโยชน์
ประการที่ 3 รักเพื่อนพ้อง นิสัยของไก่เมื่อมีของกินจะเรียกพรรคพวกมาร่วมกินด้วยเสมอ ประการที่ 4 มีความกล้าหาญ เพราะจะสู้ยิบตาเมื่อเจอศัตรู

ส่วน "กุ้ง" เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล คิดจะทำการใดก็ไม่มีอุปสรรคมาขวางกั้น "ปู" หมายถึงความเป็นที่หนึ่ง



ประเพณี ตรุษจีนนอกจากจะเห็นบรรดาอาหารที่มีความหมายมีความนัยดีงามแฝงไว้แล้วนั้น
ในวันสำคัญนี้บรรดาอาคารบ้านเรือนจะมีสิ่งของมงคลเป็นเครื่องห้อยเครื่อง แขวนประดั ประดิดประดอยไว้ด้วย ทำออกมาเป็น น้ำเต้า,หยก,พัด,ถั่วลิสง,โคมไฟ หรือ ภาพเขียนจีน แม้กระทั่ง "ตุ้ยเลี้ยง" สิ่งมงคลที่ต้องซื้อหามาเป็นเจ้าของในเทศกาลนี้

ผู้รู้ด้านจีนคนเดิมถอดรหัสของบรรดาข้าวของสิ่งเหล่านี้ให้ฟังว่าสิ่งของประดับ เหล่านี้จะมีสิ่งละอันพันละน้อยประกอบเข้าด้วยกัน ที่พบเห็นทั่วไป คือ "ยันต์แปด" หรือภาษาจีน ออกเสียงว่า "ผันฉัง" เป็นของสิริมงคลสื่อความหมายถึงอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป

ขณะที่มีเชือกถักอีกแบบที่พบเห็นตามศาลเจ้า เรียกว่า "กังสดาล" ถือเป็นสิ่งมงคลเช่นกันแต่ทำหน้าที่คล้ายกับยันต์คือขจัดสิ่งอัปมงคลทั้งหลายภูตผีปิศาจให้ออกไปจาก อาคารบ้านเรือน

"หยก" คนจีนเชื่อว่า เป็นหินพิเศษที่สามารถปกป้องขจัดสิ่งอัปมงคล และยังเชื่อด้วยว่าเมื่อมีหยกอยู่ในบ้าน หรือสวมใส่หยกติดตัว หยก จะช่วยรับเคราะห์ร้ายต่างๆ แทน และยังทำให้เกิดมงคลขึ้นอีกด้วย

วันตรุษจีน เป็นวันที่ทุกคนขอให้ได้เงินเยอะๆ ร่ำรวย เฮงๆ บางครั้งในสิ่งของเหล่านี้จะมีลวดลายหรือรูปของเงินตราจีนโบราณเรียกว่า "หยวนเป่า" หน้าตาคล้ายกับเรือลำเล็กๆ หมายถึง โชคกำลังมาถึงท่านแล้ว มีแต่ความร่ำรวยมาถึงท่านในเร็ววัน



ส่วน "พัด" ภาษาจีนเรียกว่า "ซ่าน" พ้องกับคำที่มีความหมายว่าเมตตากรุณา ของจีน นอกจากนี้บางครั้งเราจะเห็น "ถั่งลิสง" ติดมาด้วย หมายถึง ความมีลูกหลานมากมาย มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง มีเงินทองมากมายไม่รู้จักหมดสิ้น

"น้ำเต้า" มีความเป็นสิริมงคลอย่างหนึ่งของศาสนาเก่า แปลว่า มีอายุยืนยาว มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง และยังเชื่อว่าจะช่วยขจัดภูตผีปิศาจออกไปด้วย

"รูปพระยิ้ม" เรียกว่า "เจ้าโขง ถัง ขว่าย" สิ่งสิริมงคลของศาสนาเก่า เชื่อว่า ยิ้มเมื่อไหร่โชคเข้ามา "ดอกบัว" สิ่งมงคลในทางพุทธศาสนา พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ประทับอยู่ในดอกบัว อย่างเช่นเจ้าแม่ กวนอิมเป็นต้น

ขณะที่ "โคมไฟ" เป็นสิ่งสิริมงคลอีกอย่างหนึ่ง โคมไฟแดง เมื่อเทศกาลจีนผ่านไป 15 วัน จะมีเทศกาล "เหยือน เซียว" เทศกาลประกวดโคมไฟ ในวัน 15 ค่ำ เดือน 1 ถือเป็นวันสุดท้ายของปีที่ฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในขณะที่ชาวจีนแต้จิ๋ว เรียกเทศกาลนี้ว่า "เหยือน เซียว เจอะ" จะประกวดกันว่าบ้านไหนมีลูกชาย จะนำผ้าสีแดงติดที่ประตูบ้านจะมีคนมาแสดงความยินดีด้วย

ใน วันนี้จะนำลูกชายไปไหว้เจ้าด้วย จะต้องเอาตะเกียงสีแดงไปแขวนไว้ที่ศาลเจ้า บอกกล่าวกับเทพเจ้าว่า บ้านนี้มีลูกชายไว้สืบสกุลแล้ว ขณะที่บ้านไหนมีลูกผู้หญิงจะปิดประตูเงียบเชียบ
บรรดาของมงคลหรือเครื่องรางเหล่านี้บางทีมีตัวหนังสือภาษาจีนเขียนติดไว้ เล็กๆ เช่น "ชู หิ้ว ผิง อาน" หมายถึง อยู่เป็นสุขทุกที "ว่าน ซื่อ หยูว อี้" หมายถึงให้สมปรารถนาในทุกประการ

นอกจากสิ่งของบรรดาเครื่องห้อยแขวนนำสิ่งมงคลมาประดิษฐ์ร้อยรวมกันให้ดูงามตา แล้ว ในเทศกาลตรุษจีนสิ่งที่ต้องซื้อหาคือ ตุ้ยเลี้ยง คือการเขียนคำอวยพรลงในกระดาษสีแดง เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนจีน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นและมีความหมายอย่างสูง คำที่ใช้จะมี 4 คำมีความหมายเน้นไปทาง สิริมงคล สมบูรณ์พูนสุข โชคลาภ ร่ำรวย



"คนจีนจนแค่ไหนก็ตามพอถึงวันตรุษจีนขอให้มีตุ้ยเลี้ยงดีๆ หนึ่งคู่ติดไว้ตรงทางเข้าบ้านทั้งสองข้าง และต้องมีภาพวาดตรุษจีนที่มีความหมายดีๆ เป็นภาพที่แปลว่าให้มีเหลือมีใช้ทุกปี มีเงินทองมากๆ เช่นภาพปลา หมายถึงมีเหลือมีใช้ตลอดปี ภาพตรุษจีนจะเปลี่ยนทุกปี ตัวภาพจะมีสีสันสวยงาม สีแดง สีเขียวแล้วแต่" รศ.พรพรรณ บอกเล่า

ย่านเยาวราช บริเวณริมทางเท้าตรงข้ามตลาดใหม่ มีร้านจำหน่ายสิ่งของมงคลอยู่ หลายร้านไม่ว่าจะเป็นเชือกถัก น้ำเต้า โคมไฟ เหล่านี้เป็นสินค้าขายดิบขายดีอีกอย่างนอกจากอาหารไหว้เจ้า

สถาพร แซ่ลี่ พ่อค้าขายสินค้ามงคล บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ไชน่าทาวน์มานาน 5 ปี บอกเล่าว่าราคาของที่เริ่มต้นตั้งแต่ 35 บาท จนถึงพันบาทแล้วแต่ขนาดเล็กใหญ่ แต่ที่ ขายดีคือถุงใส่ส้ม เพราะเป็นสินค้าราคาถูกราคา 20 บาท ในเทศกาลตรุษจีนทุกคนต้องซื้อ


นอกจากนี้ยังนิยมซื้อตุ้ยเลี้ยงสำเร็จต่างจากตุ้ยเลี้ยงแบบเก่าที่นิยมเขียนสดๆ เพราะมีสีสันสวยงามมีสีทองคนซื้อจะเป็นคนรุ่นใหม่เสียมากกว่า ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป และยังมีจำพวก ถังเงิน ถังทอง ถุงเงินถุงทองนำไปแขวนที่บ้านแล้วเชื่อว่า เงินทองไหลมาเทมา

"เมื่อเทียบกับปีที่แล้วปีนี้ขายไม่ค่อยดีเท่าไร ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเน้นซื้อของที่ราคาไม่สูงนัก" พ่อค้าสินค้ามงคลบอกเล่า

ตรุษจีนปีนี้หลายสำนัก ฟันธงข้าวของแพงขึ้นปริมาณการจับจ่ายซื้อขายลดลงไปตามกัน แต่สินค้าที่สื่อความหมายให้ชีวิตรุ่งเรืองร่ำรวยยังเป็นสินค้าจำเป็น ด้วยความหวังให้ปีนี้ทั้งปีร่ำรวยๆ โชคดีตลอดปีตลอดไป


ความเชื่อโชคลางในวันตรุษจีน


ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล ความหมายเป็นนัย และคำว่า สี่
ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่
ไม่ร้องไห้
หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่ คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน
แต่งกายสะอาด แต่ไม่ควรสระผม
การแต่งกายและความสะอาด ในวันตรุษจีนเราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออก ไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี
ปรึกษาชินแสเกี่ยวกับการเดินออกจากบ้าน
ตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมาก ๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อเป็นความเป็นสิริมงคล
บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก
ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี
ห้ามเข้าไปในห้องนอนคนอื่น
การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษถือเป็นโชคร้าย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก
ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษ
เพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดีทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ทุกคนก็ ยังคงยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็นครอบครัวและเอกลักษณ์ของตน


วันตรุษจีน...ทำอะไรดี - ไม่ดี


วันสำคัญของน้องๆ ที่มีเชื้อสายจีนจะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้ นั่นคือ "วันตรุษจีน" หรือวันขึ้นปีใหม่จีน ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ของจีน ซึ่งแต่ละปีจะไม่ตรงกัน

การไหว้ตรุษจีนจะนิยมเรียกกันว่า "วันชิวอิด" แปลว่าวันที่ 1 มีความน่าสนใจตรงที่ว่า คนจีนจะไหว้ "ไช้ซิ้งเอี๊ย"หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไช้ แปลว่า โชค ซิ้ง และเอี๊ย แปลว่า เจ้า)
ในเวลากลางดึก เมื่อเวลาย่างเข้าวันตรุษหรือวันชิวอิด

ในวันสิ้นปีจะมีการไหว้หลายอย่าง นิยมเรียกว่า "วันไหว้" มักเรียกวันก่อนหน้าวันไหว้ว่า "วันจ่าย" เพราะเป็นวันสุดท้ายที่จะจับจ่ายซื้อของไหว้และของใช้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าจะปิดธุรกิจในช่วงปีใหม่หลายวัน

ของไหว้ง่ายๆ คือ ส้ม โหงวเส็กทึ้ง และน้ำชา โดย ล้วนเป็นสิ่งที่มีความหมาย ส้ม คนจีนเรียกว่า กา หรือ "ไต้กิก" แปลว่า โชคดี เพื่ออวยพรให้ลูกหลานโชคดี หากใช้ให้เป็นของขวัญ
ก็จะแสดงถึงการนำโชคมามอบให้
โดยมากนิยมไหว้ 4 ผล เพราะเลขสี่พ้องเสียงคำ "สี่" ที่แปลว่าดี


ส่วน โหงวเส็กทึ้ง แปลว่า ขนม 5 สี ได้แก่ถั่วตัด งาตัด ข้าวพอง ถั่วเคลือบน้ำตาล และฟักเชื่อมบางทีก็เรียกว่า "ขนมจันอับ" หรือ "แต่เหลียง"




นอกจากนี้เวลาไหว้ยังมีฤกษ์ยาม และทิศที่จะตั้งโต๊ะไหว้ ซึ่งจะเป็นฤกษ์เฉพาะในแต่ละปี
เช้าของวันไหว้สิ้นปี เริ่มจากไหว้เจ้าที่ตามศักดิ์ฐานะของผู้ถูกไหว้ ตอนสายจึงไหว้บรรพบุรุษ บางบ้านจะมีการไหว้ผีไม่มีญาติ หากมีการไหว้ผีไม่มีญาติ จะต้องมีขนมเข่ง ขนมเทียน ที่น่าสนใจคือ การไหว้ผีไม่มีญาติจะต้องไหว้ที่นอกบ้าน บริเวณหน้าบ้านของเรา อาจปูเสื่อวางของไหว้ หรือไหว้บนโต๊ะเตี้ยๆ เช่นเดียวกับของไหว้เจ้าที่ ปริมาณอาจมากหรือน้อยขึ้นตามกำลัง

คนไทยเชื้อสายจีนทราบดีว่า วันตรุษจีน คือ "วันถือ" เป็นวันถือที่จะทำในสิ่งที่ดี และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดี ใส่เสื้อผ้าชุดใหม่สวยงาม ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดแต่ "“หออ่วย" แปลว่า คำดีๆ ไม่อารมณ์เสียหงุดหงิด ไม่ทำงานหนัก เพื่อที่ว่าตลอดปีจะได้ไม่ต้องทำงานหนักนัก ไม่กวาดบ้าน เพราะอาจปัดสิ่งดีๆ มีมงคลออกไป แล้ว กวาดความไม่ดีเข้ามา

เริ่มต้นเช้าวันตรุษ คนในบ้านก็จะทักทายกันด้วยคำอวยพร "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้" หมายถึง เวลาใหม่ให้สมใจ ปีใหม่ให้สมปรารถนา

สิ่งที่ถือไม่ควรทำในวันขึ้นปีใหม่ คือ ไม่ซักล้าง หรือ กวาดบ้านปัดฝุ่น ถือว่าจะเป็นการขับไล่ความโชคดีออกไป

ไม่ควรสระผมในวันเริ่มต้นและวันสุดท้ายของวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากเป็นการชะล้างความโชคดีที่จะมาถึงในปีใหม่ ไม่ควรใช้ของมีคมในวันขึ้นปีใหม่ จำพวก มีด กรรไกร ที่ตัดเล็บ เพราะถือว่าการใช้ของมีคมนี้จะเป็นการตัดสิ่งดีๆ หรืออนาคตที่ดี ที่จะนำมาในวันขึ้นปีใหม่

ส่วนสิ่งที่ต้องระมัดระวังห้ามตัวเองว่าอย่าทำ คือ
การใช้คำพูดที่มีความหมายไปในทางลบ การโต้เถียงกัน
การใช้คำที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยหรือความตาย
การเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานศพ และการฆ่าสัตว์ปีก
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรหลีกเลี่ยงในวันขึ้นปีใหม่

นอกจากนี้ควรระมัดระวังในการทำสิ่งใดๆ ไม่ควรให้เกิดการสะดุด หรือ ทำสิ่งของตกแตก ซึ่งจะหมายถึงการนำความโชคไม่ดีเข้ามาในอนาคต




วันตรุษจีน ยังมีธรรมเนียมถือปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เด็กๆ จะถูกใจและมีความสุขมากคือ การได้เงินอั่งเปา เงินอั่งเปาในวันตรุษจีน มีคำจีนโบราณเรียกว่า เงินเอี๊ยบ ซ้วยจี๊ เป็นเงินสิริมงคลที่ผู้ใหญ่ให้แก่ลูกหลานเพื่ออวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง และ เจริญก้าวหน้า

วันตรุษจีนจึงเป็นวันที่ลูกหลานจีนมีความสุข ได้แต่งตัวสวย ได้อยู่ในบรรยากาศที่ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส บ้านสะอาด ตกแต่งสวยงาม มีดอกไม้สดชื่น มีขนมพิเศษ มีหมู เป็ด ไก่ อร่อยๆ รับประทานอีกด้วย


ผลไม้มงคลกินแล้วโชคดีตลอดปี


“ผลไม้มงคล 8 อย่าง” ที่มีความหมายดีๆ


สาลี่ ; ทราบกันรึเปล่าจ๊ะว่าเจ้าผลไม้ลูกสีเหลือง ที่มีรสชาติหวานอร่อยนั้น ชาวจีนถือว่าเป็นผลไม้มงคล เพราะมันมีความหมายว่า “การรักษาคุณงามความดีเอาไว้อย่างมั่นคง และรักษาโชคลาภเงินทองไม่ให้เสื่อมถอยไปไหน



องุ่น ; ผลไม้ที่มากันเป็นช่อพวง และมีรสชาติหวานนั้น มีความหมายว่า “ความเจริญรุ่งเรืองทั้งหน้าที่การงานและชีวิต”


แอปเปิ้ล ;
“มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง” นี่คือความหมายของผลไม้ชนิดนี้ และการกินแอปเปิ้ลเป็นประจำทุกวัน ยังช่วยเรื่องสุขภาพได้มากมายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การบำรุงหัวใจ ช่วยลดคอเลสเตอรอล และลดความอยากอาหารซึ่งจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย

ลูกท้อ ; สำหรับชาวตะวันตกแล้ว พวกเขารู้จักผลไม้ชนิดนี้ในชื่อว่า Peach แต่สำหรับชาวจีนแล้ว พวกเขาเชื่อว่าผลไม้ชนิดนี้เป็นเครื่องหมายของ “ความยั่งยืน” และเป็นผลไม้ชั้นสูง สำหรับบูชาเทพบนสวรรค์

พลับ ; เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ ที่ผลพลับนั้นจะมีรสชาติหอม หวาน อร่อย และมีความหมายที่เป็นมงคลว่า “จิตใจที่หนักแน่นอย่างมั่นคง สามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ได้ไปอย่างราบรื่น มีความขยันมั่นเพียรเป็นที่ตั่ง”

ทับทิม ; เพราะทับทิมเป็นผลไม้ที่มีเมล็ดมาก ดังนั้นจึงมีความหมายว่า “การมีลูกชายมากๆ” นั้นเอง นอกจากนี้ชาวจีนยังมีความเชื่อว่า ใบทับทิม เป็นใบไม้สิริมงคลที่ใช้พรมน้ำ และเอาไว้ติดตัวเพื่อคุ้มครองกันภัยจากภูติผีปีศาจอีกด้วย


ส้ม ; เป็นผลไม้ที่มีความหมายว่า
“โชคดี ประสบแต่สิ่งดีๆ เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว” ซึ่งในส้มนั้นนอกจากจะมีวิตามินซีที่สูงแล้ว เปลือกส้มที่มองภายนอกว่าไม่มีค่าก็สามารถนำมาบีบหรือคั้นเอาน้ำมันหอมระเหยออกมาดม หรือนวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ซึ่งจะช่วยในเรื่องการผ่อนคลาย และกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทได้อีกด้วย

เกาลัด และพุทรา ; สำหรับในงานแต่งงานแล้ว ผลไม้ 2 ชนิดนี้จะมีความหมายว่า “ขอให้มีบุตรที่ดี สุภาพ มีมารยาทดีในเร็ววัน” ซึ่งเกาลัด มีสรรพคุณช่วยบำรุงไต เสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระเพราะอาหารและลำไส้ ส่วนพุทรา เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีมาก ช่วยบำรุงเลือด และร่างกาย

เรียบเรียบข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก thaiweekender.com วิกีพีเดีย Fwd และ ทางอินเทอร์เน็ต