ต้อกระจก' โรคฮิตในผู้สูงอายุ รู้เท่าทัน ช่วยได้ทัน!








ต้อกระจก' โรคฮิตในผู้สูงอายุ รู้เท่าทัน ช่วยได้ทัน!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


อาการตามัวในผู้สูงอายุ ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนหลายๆ คนไม่ได้ให้ความใส่ใจเท่าที่ควร เพราะคิดว่า “ท่านแก่แล้ว หูตาก็ฝ้าฟางเป็นธรรมดา” แต่นั่นคุณกำลังมองข้ามความสำคัญบางอย่างไป ซึ่งไม่ควรนิ่งนอนใจ ถ้าคุณ หรือญาติผู้ใหญ่ของคุณบอกกับเป็นนัยๆ ว่า ทำไมช่วงนี้มองอะไรไม่ค่อยชัดเลย หรือเวลาให้มองอะไรมักจะมองไม่ค่อยเห็นเหมือนแต่ก่อน

อาการดังกล่าวข้างต้น เป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง ที่จะเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า ต้อกระจกอาจจะเริ่มปิดบังความสว่างในการมองเห็นของญาติผู้ใหญ่แล้วก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจ และรู้เท่าทันกับโรคต้อกระจกก่อนจะคุกคามดวงตาไปมากกว่านี้ เริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ ทีมงาน Life and Family มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากโรงพยาบาลกรุงเทพ นำมาส่งต่อความรู้ให้ลูกหลาน รวมถึงตัวผู้สูงอายุได้รับทราบเกี่ยวกับโรคนี้กันครับ

หากอธิบายให้เข้าใจถึงโรคต้อกระจก เป็นภาวะที่เลนส์แก้วตาขุ่น แสงจึงผ่านเลนส์เข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง หรือบางครั้งการขุ่นนั้น จะก่อให้เกิดการหักเหแสงที่ผิดปกติไปโฟกัสผิดที่ ทำให้จอประสาทตารับแสงได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจึงมีสายตาพร่ามัว โดยไม่มีอาการอักเสบ หรือเจ็บปวดใดๆ และยิ่งเลนส์แก้วตาขุ่นยิ่งขึ้น การมองเห็นก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ

สำหรับข้อเท็จจริงเบื้องต้นของโรคต้อกระจกนั้น หากเข้าใจให้ดี โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อแต่อย่างใด และจะไม่ลุกลามจากตาข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งด้วย แต่ส่วนใหญ่ต้อกระจกจะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองตา โดยมีอาการอาจรุนแรงที่ไม่เท่ากัน ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ดังนั้น กว่าสายตาของผู้ป่วยส่วนมากจะขุ่นมัวจนรู้สึกได้ อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน หรือหลายปี

นอกจากนี้ การใช้สายตา และสภาวะของอาหารการกิน ไม่เป็นสาเหตุของต้อกระจก และไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น ที่สำคัญ ต้อกระจก ไม่ใช่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ส่วนใหญ่ที่พบว่าญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวหลายคนเป็นต้อกระจกนั้น เพราะว่าการขุ่นของเลนส์แก้วตาในโรคต้อกระจก ที่เกิดจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามวัย คล้าย ๆ กับที่ผู้สูงอายุทุกคนจะมีผมหงอกขาวนั่นเอง

*** หนทางการรักษาต้อกระจก

ด้านแนวคิดเกี่ยวกับการรักษาต้อกระจกนั้น ได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่ว่า ต้องรอให้ต้อกระจกสุกก่อนถึงจะทำการรักษาได้ผลดี โดยปัจจุบันมีวิทยาการในการรักษาโรคต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ที่เรียกว่าวิธี “สลายต้อกระจก” หรือย่อ ๆ ว่า “เฟโค” (Phacoemulsification) ซึ่งสามารถใช้รักษาต้อกระจกได้โดยไม่ต้องรอให้ต้อสุกก่อน และให้ผลการรักษาดีมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องทนทรมานกับสายตาที่มัวลงเพื่อรอให้ต้อสุก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัยและได้ผลดี โดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์ไปสลายเลนส์แก้วตาที่ขุ่นแล้วดูดออกจนหมด เหลือแต่เยื่อหุ้มเลนส์ด้านหลังไว้เป็นถุงสำหรับให้จักษุแพทย์สอดเลนส์แก้วตาเทียมเข้าแทนที่

ขอบคุณภาพประกอบจาก www.kkict.org
การสลายต้อกระจกนี้ สามารถทำได้โดยการให้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องให้ยาสลบ นอกจากนี้ แผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาวิธีนี้จะมีขนาดเล็กมากเพียง 3 ม.ม. จึงสมานตัวได้เป็นปกติอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล สามารถมองเห็นได้ชัดเจนอย่างรวดเร็ว และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

แต่ทั้งนี้ ยังต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลความสะอาด และระวังไม่ให้มีอุบัติเหตุกระทบกระแทกต่อดวงตา ขณะที่การรักษาด้วยการใช้ยาใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นยาหยอดตา หรือยารับประทาน ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสามารถรักษา หรือยับยั้งการเกิดต้อกระจกได้

*** ทำไมต้องใส่แก้วตาเทียม?

ภายหลังจากการนำเลนส์แก้วตาที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออกแล้ว ดวงตาจะไม่มีเลนส์แก้วตาทำหน้าที่รวมแสงอีกต่อไป การมองเห็นจึงยังไม่ชัดเจนเปรียบเหมือนกล้องถ่ายรูปที่ไม่มีเลนส์ ภาพจึงยังไม่โฟกัส จักษุแพทย์จะต้องใส่เลนส์แก้วตาเทียม เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน โดยเลนส์แก้วตาเทียมมีคุณสมบัติใส ทำมาจากสารพิเศษที่ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบหรือปฏิกิริยาใด ๆ กับดวงตา มีอายุการใช้งานได้นานตลอดชีพ และจะอยู่ภายในถุงเยื่อหุ้มเลนส์กลายเป็นส่วนหนึ่งของดวงตาคุณ โดยไม่ต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยน้อยรายมากที่ไม่เหมาะสมในการใส่เลนส์แก้วตาเทียม ภายหลังนำต้อกระจกออกแล้ว เนื่องจากคนเหล่านั้นมีโรคของดวงตาบางชนิด ในกรณีนี้ผู้ป่วยอาจต้องใช้แว่นสายตาพิเศษหรือคอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษทดแทนการใส่เลนส์แก้วตาเทียม

การมองเห็นเริ่มผิดปกติ
ทั้งนี้ การเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดใดในผู้ป่วยแต่ละรายนั้น จักษุแพทย์สามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่คุณ เพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมกันระหว่างคุณและจักษุแพทย์ผู้รักษาต่อไป แม้ว่าทุกคนจะหลีกเลี่ยงการเป็นต้อกระจกไปไม่พ้น แต่ด้วยวิทยาการอันทันสมัยของยุคปัจจุบัน ทำให้ต้อกระจกไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป ภายในเวลาไม่กี่นาทีของการสลายต้อกระจก คุณก็สามารถกลับมามองโลกได้สดใสอีกครั้งหนึ่ง

*** ต้อหิน ต่างกับต้อกระจกอย่างไร?

ในประเด็นนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเคยสงสัยกันว่า ต้อกระจก กับต้อหิน ต่างกันหรือไม่ เพื่อให้คลายสงสัย ทีมงานได้ทำการบ้านหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ต้อหินเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคต้อ ตามที่คนเรียกกันโดยทั่วๆ ไป ที่พบได้บ่อย จะมีต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม และต้อหิน แต่ต้อหินเป็นต้อเพียงชนิดที่ไม่มีตัวต้อให้เห็น เพราะต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีการทำลายขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำกระแสการมองเห็นไปสู่สมอง ซึ่งเมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้สูญเสียลานสายตา เมื่อเป็นมากๆ ก็สูญเสียการมองเห็นในที่สุด ซึ่งเป็นการสูญเสียชนิดถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมามองเห็นได้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่จะต้องดูแล และควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอวัยวะส่วนอื่นๆ ดังนั้นเมื่อมีอาการตามัว หรืออาการอื่นที่สงสัยว่าจะเป็นต้อกระจก ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยดวงตาโดยละเอียด เพื่อแยกชนิด และความรุนแรงของต้อกระจก โดยจักษุแพทย์จะต้องตรวจวัดความดันลูกตา และหยอดยา ขยายรูม่านตา เพื่อตรวจประสาทตาให้ทราบแน่ชัดว่าต้อกระจกเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้ผู้ป่วยตามัวลง หรือมีโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การรับประทานอาหารบำรุงสายตาที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผัก หรือผลไม้ รวมทั้งการพักผ่อนสายตาให้เหมาะสม เมื่อต้องจ้องหน้าจอโทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะช่วยถนอมดวงตาได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ เมื่อเกิดการอักเสบของดวงตา ไม่ควรใช้ยาหยอดตาใดๆ ทั้งสิ้น โดยไม่ได้คำปรึกษาจากแพทย์ เพราะอาจเกิดการแพ้ ไปจนถึงขั้นตาบอดได้