เงินทองต้องวางแผน







เงินทองต้องวางแผน


ภูมิปัญญาทางการเงิน 10 ประการ


1. กินอยู่อย่างพอเพียง
2. เก็บก่อนใช้ แบ่งรายได้เก็บไว้ส่วนหนึ่ง แล้วค่อยใช้ส่วนที่เหลือ
3. ใช้เงินกู้อย่างฉลาดรอบคอบ
4. หาข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนซื้อสินค้าทางการเงินใด ๆ
5. ซื้อเฉพาะสิ่งที่เราเข้าใจดี
6. เข้าใจกรมธรรม์ประกันของเราว่าคุ้มครองอะไรบ้าง
7. ระวัง อย่าซื้อสินค้าทางการเงินด้วยแรงกระตุ้น
8. รู้จักปฏิเสธการขายแบบใช้เล่ห์กล
9. วางแผนเกษียณอายุแต่เนิ่น ๆ
10. กระจายเงินลงทุนในหลายประเภท

4 ขั้นตอนในการเตรียมงบประมาณของครอบครัว

1. ทำบัญชีรายรับประจำเดือน (รายได้ทั้งหมดของคุณ)
2. ทำบัญชีรายการที่คิดว่าจะใช้จ่าย (วางแผนว่าจะใช้) เปรียบเทียบกับรายจ่ายจริงของแต่ละเดือน รายการใดที่ไม่ได้จ่ายเป็นรายเดือน ให้หารออกมาเป็นรายเดือน
3. กันเงินจำนวนเท่า ๆ กันเป็นเงินออมในแต่ละเดือน (เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่ากับรายได้ประมาณ 6 เดือน)
4. ทำงบประมาณ และใช้เงินตามงบอย่างมีวินัย

การวางแผนการเงิน ประกอบด้วย 6 เรื่องใหญ่ ๆ

1. การวางแผนเงินสดหมุนเวีย เป็นเรื่องของการจัดสรรรายได้เพื่อการใช้จ่ายประจำวัน และการเก็บออมเงิน และสินทรัพย์ของเราให้มากพอสำหรับเป้าหมายในอนาคต
2. การบริหารความเสี่ยง ก็เป็นหัวข้อสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการรับประกันว่าเราจะมีรายได้สำหรับครอบครัวมากพอ ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เช่น การจากไปก่อนเวลาอันควร การทุพพลภาพ หรือเจ็บป่วยนาน ๆ
3. การวางแผนลงทุน เป็นเรื่องของการกระจายสินทรัพย์ของเรา โดยใช้เครื่องมือทางการเงินหลายชนิด เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลงทุน และเพื่อให้ทรัพย์สินงอกเงยขึ้น
4. การวางแผนเกษียณ เป็นเรื่องของการสร้างสมทรัพย์สินในวัยทำงาน เพื่อจะได้มีอิสระทางการเงินตอนเกษียณอายุ
5. การวางแผนภาษี ว่าด้วยการประหยัดภาษีให้มากที่สุด โดยใช้ประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนต่าง ๆ ของรัฐบาล
6. การวางแผนมรดก เป็นการวางแผนถ่ายโอนทรัพย์สินให้แก่ทายาท โดยให้มีอุปสรรคน้อย และเสียภาษีมรดกน้อยที่สุด

การจัดการทางการเงินของคนในช่วงวัยต่าง ๆ เพื่อใช้เงินทองของเราอย่างมีประสิทธิผลที่สุด

วัย 20 ในวัยนี้เป็นวัยที่เพิ่งเริ่มทำงาน เรื่องสำคัญคือ การตอบสนองความจำเป็นแบบวันต่อวัน และกันเงินเก็บไว้ส่วนหนึ่งสำหรับแต่งงานและซื้อบ้านหลังแรก แม้คนวัยนี้จะไม่ค่อยมีภาระทางการเงินมากนัก แต่ก็ควรจะให้ความสำคัญอันดับแรกในเรื่องของการคุ้มครองรายได้ ทั้งควรมีประกันให้มากพอเผื่อเอาไว้ในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่นเจ็บไข้ได้ป่วย โรคร้ายแรงและการทุพพลภาพ ฉะนั้นหลังจากเก็บออมเงินสดเพื่อเป้าหมายระยะสั้นแล้ว ส่วนที่เหลือควรนำไปลงทุนในตราสารการเงินที่ให้ผลตอบแทนดีขึ้น
วัย 30 และ 40 คนวัยนี้มักจะมีครอบครัว และมีลูกแล้ว มีภาระทางการเงินและความรับผิดชอบต่อครอบครัวอย่างเด่นชัด การคุ้มครองรายได้สำหรับครอบครัวยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น จึงควรทบทวนวงเงินประกันคุ้มครองที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับรายได้และความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังต้องเป็นห่วงเรื่องเงินเก็บที่มากพอ เพื่อทุนการศึกษาของลูก เงินส่วนที่เหลือควรจะเป็นกองทุนเพื่อเกษียณอายุ เพราะยิ่งเริ่มต้นเร็ว ก็ยิ่งบรรลุเป้าหมายได้เร็ว
วัย 50 และมากกว่า เมื่อลูก ๆ เริ่มพ้นอกไปแล้ว ภาระค่าผ่อนบ้านและอื่น ๆ ก็เบาบางลงแล้ว นี่เป็นเวลาทบทวนวงเงินประกันอีกครั้ง เพราะวัยนี้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากที่สุด จึงควรพิจารณาแผนดูแลรักษาพยาบาลแบบระยะยาว เผื่อกรณีที่เราช่วยตัวเองไม่ได้ เพราะเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพ และตอนนี้ก็ใกล้เวลาเกษียณแล้ว จึงควรทบทวนว่าเรามีเงินพอใช้ตอนเกษียณหรือไม่

การประกันชีวิต ทำให้คุณและครอบครัวมีหลักประกันทางการเงิน เมื่อต้องจากไปก่อน ทุพพลภาพ หรือเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ต่อไปนี้เป็นแบบประกันทั่วไปที่พบเห็นในปัจจุบัน

แบบคุ้มครองตลอดชีพ ด้วยการประกันชีวิตแบบตลอดชีพ คุณจะได้รับความคุ้มครองตลอดชีวิต (หรือคุ้มครองถึงอายุ 90 ปี สมัยนี้ไม่จำเป็นต้องชำระเบี้ยตลอดชีพอีกต่อไป ชำระในระยะเวลาสั้น แต่ยังได้ความคุ้มครองตลอดชีวิตเหมือนเดิม คลิกที่นี่สิครับ) กรมธรรม์แบบตลอดชีพส่วนใหญ่จะมีมูลค่าเงินสดสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสามารถถอนมาใช้ได้กรณีที่ต้องใช้เงินฉุกเฉิน ด้วยวิธีกู้จากมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ และยังสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมที่คุ้มครองการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ โรคร้ายแรงและทุพพลภาพ แนบเข้าไปกับกรมธรรม์ได้ด้วย
แบบคุ้มครองพร้อมกับสะสมทรัพย์ กรมธรรม์แบบนี้มีวัตถุประสงค์ในการออมเงินภายในระยะเวลาที่แน่นอนที่ได้กำหนดไว้ โดยเมื่อครบอายุกรมธรรม์ก็จะจ่ายคืนทุนประกันและโบนัสพิเศษให้(ถ้ามี) เป็นวิธีการออมแบบเอนกประสงค์ แล้วแต่ความจำเป็นของคุณ เช่น เป็นทุนการศึกษาบุตร หรือกองทุนเกษียณอายุ
แบบคุ้มครองชั่วระยะเวลกรมธรรม์แบบนี้ให้ความคุ้มครองแค่ชั่วระยะเวลาที่กำหนด (เริ่มตั้งแต่ 1 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปี เป็นต้น) โดยจะจ่ายทุนประกันเฉพาะเมื่อมีการเสียชีวิตเท่านั้น และไม่มีมูลค่าเงินสดใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเบี้ยประกันจึงต่ำกว่าแบบอื่น ๆ
แบบคุ้มครองควบการลงทุนอื่น (Unit Link) กรมธรรม์แบบนี้นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นหลายอย่าง(แล้วแต่กำหนด) ทั้งยังให้โอกาสคุณเลือกรับความคุ้มครองในวงเงินต่างกันตามแต่ความจำเป็นของคุณในแต่ละช่วงวัย

พลังของดอกเบี้ยทบต้น

• การใช้วิธีเก็บเงินที่ได้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า ช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงินโดยออมเงินต่อปีน้อยกว่า และยิ่งเริ่มต้นเร็ว ก็ยิ่งสะสมได้มาก แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีใด ทุกวิธีย่อมมีความเสี่ยงระดับหนึ่งเสมอ
• คุณรู้ไหมว่าถ้าต้องการเก็บเงิน 500,000 บาทภายในเวลา 20 ปี โดยใช้วิธีเก็บเงินที่ให้ผลตอบแทน 1% คุณต้องเก็บเงิน 1,875 บาทต่อเดือน แต่ถ้าคุณเริ่มต้นช้าไปอีก 10 ปี คุณต้องเก็บเงินเพิ่มเป็น 3,950 บาทต่อเดือน !!!
• ดังนั้นจึงควรเก็บเงินแต่เนิ่น ๆ ด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้น เพียงเก็บเงิน 1,000 บาทต่อเดือน ถ้าได้ดอกเบี้ย 5% ต่อปี คุณจะมีเงินถึง 253,000 บาทภายใน 20 ปี

คุณรู้ไหมว่า คุณต้องการเงินเท่าไหร่ สำหรับเกษียณอายุ ?

• สมมติว่าปัจจุบันคุณอายุ 45 ปี ถ้าทำงานต่อไปจนเกษียณที่อายุ 60 ปี คุณก็จะมีเวลาเก็บเงินอีก 15 ปี
• คุณอยากมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณปีละ 500,000 บาท (ค่าเงินปัจจุบัน) เนื่องจากปัจจัยค่าเงินเฟ้อ เมื่อคุณเกษียณอายุจริง ๆ ยอดเงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 x 1.35 = 675,000 บาท (อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 2% ภายใน 15 ปี)
• สมมติว่าคุณอยู่ไปจนถึงอายุ 80 ปี เท่ากับว่าคุณจะต้องมีรายได้หลังเกษียณไปอีก 20 ปี นั่นหมายถึงจะต้องเก็บเงินให้ได้ = 13,106* x 675,000/1,000 = 8,846,550 บาทเมื่ออายุ 60 ปี (*ผลตอบแทน 1,000 บาทต่อปี ต้องมีเงินต้น 13,106 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี)
• คุณ ๆ ทั้งหลายสามารถคำนวณเงินที่คุณต้องการได้เมื่อเกษียณอายุ ตามตัวอย่างข้างต้นครับ
• ผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนการเงินกล่าวโดยทั่วไปว่า คุณต้องมีรายได้อย่างน้อย 70% ของรายได้ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ จึงจะสามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้หลังเกษียณ
• ถ้าคุณต้องการรายได้เพิ่มยามเกษียณ อาจจะซื้อประกันบำนาญรายปี เพื่อรับประกันเงินบำนาญที่แน่นอนไว้แต่เนิ่น ๆ และลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย


การลงทุนอย่างรอบคอบเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เงินของเราเติบโต แต่อำนาจการซื้อของเราลดลงเรื่อย ๆ จากภาวะเงินเฟ้อ คนเรามักมองการลงทุนว่าเป็นการเสี่ยง ที่จริงแล้วการลงทุนคือ การเก็บออมด้วยวิธีที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด โดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลายหลาย นี่คือหลักพื้นฐาน 6 ประการในการลงทุน

1. กำหนดวัตถุประสงค์ในการลงทุน และระยะเวลาที่ต้องการ
2. พิจารณาระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้ และอัตราผลตอบแทนที่คุณต้องการ
3. ตัดสินใจจัดสรรการกระจายทรัพย์สินให้เหมาะสม หมายถึงการกระจายเงินออมของคุณไว้ในหลายรูปแบบ เช่น ซื้ออสังหาริมทรัพย์ หุ้น พันธบัตร ทองคำ และเก็บเป็นเงินสด
4. พิจารณาการลงทุนที่หลากหลาย รวมถึงหาที่ปรึกษาการลงทุนมืออาชีพ
5. พิจารณาค่าธรรมเนียมของการลงทุนที่คุณเลือก
6. ติดตามตรวจสอบการลงทุนอย่างใกล้ชิด และทบทวนเป้าหมายในการลงทุนเป็นระยะ

บัญญัติ 10 ประการ เพื่ออนาคตทางการเงินที่สดใสของคุณและครอบครัว

1. ฉันจัดทำงบประมาณรายเดือน
2. ฉันมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่ากับรายได้ 6 เดือน
3. ฉันกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางการเงินอย่างชัดเจน
4. ฉันรู้มูลค่าสุทธิของตนเอง (ทรัพย์สินลบด้วยหนี้สิน)
5. ฉันมีแผนที่ดีเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายทางการเงินของฉัน
6. ฉันและครอบครัวมีความคุ้มครองจากการประกันต่าง ๆ อย่างพอเพียง เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันการสูญเสียรายได้
7. ฉันรู้ว่าจะมีเงินออมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. ประกันสังคม ฯลฯ เท่าไหร่เมื่อเกษียณอายุ
8. ฉันรู้ว่าฉันต้องการเงินเท่าไหร่เมื่อเกษียณอายุ และเริ่มเก็บเงินเพื่อกองทุนเกษียณอีกก้อนหนึ่ง
9. ฉันแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุน เพื่อให้เงินเติบโต
10. ฉันทบทวนแผนการเงินอย่างสม่ำเสมอ

วันนี้คุณวางแผนการเงินเพื่ออนาคตหรือยังคะ?


http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=bestchoiceinsure&date=03-12-2009&group=20&gblog=5