พระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย








พระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย

ประวัติ

พระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย เป็นพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู


เป็นการรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์ เป็นเวลา 10 วัน ปัจจุบันประกอบการพระราชพิธีในเทวสถานสำหรับพระนคร 2 หลัง ได้แก่ สถานพระอิศวร (สถานใหญ่ หรือโบสถ์ใหญ่) สถานพระมหาวิฆเนศวร (สถานกลาง หรือโบสถ์กลาง)

โดยมีกำหนดพิธี เริ่มตั้งแต่คณะพราหมณ์ผู้ประกอบ พระราชพิธี เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเทวรูปหลวง ประกอบด้วย พระอิศวร พระอุมา และมหาวิฆเนศ ระหว่างนั้น คณะพราหมณ์ผูกพรต กระทำ การสวดบูชาสรรเสริญ และยกอุลุบ (การถวายเครื่องบูชาใส่โตก สวดคำถวาย) เป็นการพิเศษทุกคืน โดยมีเครื่องถวายสักการะ ประกอบด้วย ข้าวตอก กล้วย ส้ม เป็นต้น

(เทวรูปหลวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน
เพื่อเข้ามาร่วมพิธีตรียมปวาย-ตรีปวาย)


จากนั้น จึงเชิญกระดานแกะสลักรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี ลงวางในหลุม หมายถึงการเชิญเทวดาเหล่านั้นมารับเสด็จ เดิมมีกำหนด วันสำหรับโลกบาลทั้งสี่ (นาลิวัน) กระทำการโล้ชิงช้าถวาย และมีการรำเสนงสาดน้ำเทพมนต์
ปัจจุบัน วันสุดท้ายของพระราชพิธี มีการเชิญเทวรูปขึ้นภัทรบิฐบูชากลศ สังข์ เบญจคัพย์ แล้วจึงเชิญขึ้นหงษ์ ทำช้าหงษ์ส่งพระเปนเจ้า รุ่งขึ้น เชิญเครื่องบูชาพวกข้าวตอก กล้วย ส้ม เข้าไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการยกอุลุบ สวดถวายพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับหน้าเทวรูป เป็นเสร็จการพระราชพิธี

(การจัดเครื่องบูชาพระเป็นเจ้าในพระราชพิธีตรียมปวาย-
ตรีปวายภายในสถานพระอิศวร เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์)

ในรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีตรียัมพวายให้พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยตั้งเครื่องบูชา ข้าวตอก กล้วย ส้ม เช่นตั้งหน้าเทวรูปในเทวสถาน และให้ราชบัณฑิตสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ และยกอุลุบถวายเช่นในเทวสถาน แต่เปลี่ยนคำเป็น การถวายบูชาพระพุทธเจ้า
แต่เดิมนั้นพระราชพิธีตรียัมปวายจะจัดในเดือนอ้าย (ธันวาคม) ครั้นล่วงเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนมาจัดในเดือนยี่ (มกราคม) พิธีนี้ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์


พิธีโล้ชิงช้ามีที่มาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพกล่าวไว้ว่าพระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำ แล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัวโดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาค ไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลงแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรง พระอิศวรจึงทรงชนะพนัน ดังนั้นพิธีโล้ชิงช้าจึงเปรียบเสาชิงช้าเป็น 'ต้นพุทรา' ช่วงระหว่างเสาคือ'แม่น้ำ' นาลีวันผู้โล้ชิงช้าคือ'พญานาค' โดยมีพระยายืนชิงช้านั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศ


อีกตำนานหนึ่งเชื่อว่า พระพรหมเมื่อสร้างโลกแล้ว ได้เชิญให้พระอิศวรทดสอบความแข็งแรงของโลก พระอิศวรจึงใช้วิธีการเช่นเดียว กันกับข้างต้น ในการทดสอบ คตินี้สอนเรื่องการไม่ประมาท
พิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีได้ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ปัจจุบันการประกอบ พระราชพิธีนี้จะกระทำภายในเทวสถานเท่านั้น

นางกระดานกับพระราชพิธีตรียัมปวาย

ในคตินิยมทางศาสนาพราหมณ์นั้นเชื่อว่า พระอิศวรจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ในช่วงเดือนบุษยมาส (เดือนยี่)ทุกปี เมื่อพระอิศวรผู้เป็นเจ้าเสด็จมาก็จะประทานพรให้โลกมนุษย์อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข พระองค์จะบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าบริบูรณ์ ดังนั้นจึงได้จัดประเพณีโล้ชิงช้าหรือประเพณีตรียัมปวายขึ้นในเดือนยี่ทุกปี และก่อนที่จะถึงเวลาที่พระอิศวรจะเสด็จมาถึงนั้น ก็จะทำพิธีอัญเชิญเทพสี่องค์ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี และพระคงคา มาเตรียมการรอรับเสด็จพระอิศวรก่อนด้วย


(ภาพนางกระดานใน"โรงชมรม" ซึ่งเป็นเสาสี่ต้น
ดาดเพดานด้วยผ้าขาวล้อมรอบด้วยราชวัตรฉัตรธง)

ในการอัญเชิญเทพทั้งสี่องค์ดังกล่าวนั้น ได้มีการแกะสลักพระรูปของเทพดังกล่าวลงบนแผ่นไม้กระดานเป็นสัญลักษณ์สมมุติจำนวน 3 แผ่น คือ พระอาทิตย์และพระจันทร์แผ่นหนึ่ง พระธรณีแผ่นหนึ่ง และพระคงคาอีกแผ่นหนึ่ง จากนั้นจะมีการทำพิธีอัญเชิญไม้กระดานสัญลักษณ์เทพทั้งสี่จากในเทวสถานไปยังหลุมที่ขุดขึ้นจำนวนสามหลุมซึ่งอยู่ด้านข้างระหว่างสถานพระอิศวรหรือโบสถ์ใหญ่กับสถานพระคเณศหรือโบสถ์กลาง โดยแต่ละหลุมจะมีการตั้งเสาจำนวนสี่เสาดาดเพดานด้วยผ้าขาว ข้างนอกมีราชวัตรสี่มุม ปักฉัตรกระดาษ ผูกยอดกล้วยยอดอ้อยเพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ สำหรับกระดานรูปพระอาทิตย์และพระจันทร์ลงหลุมตะวันออก กระดานรูปพระแม่ธรณีลงหลุมกลาง และกระดานรูปพระแม่คงคาลงหลุมตะวันตก ซึ่งทั้งสามกระดานหันหน้าออกมาทางทิศใต้ โดยจะเชิญนางกระดานตั้งอยู่ในหลุมเป็นเวลา 3 วันจากนั้นจึงทำพิธีเชิญนางกระดานขึ้นจากหลุมกลับไปรักษาไว้ในเทวสถานตามเดิม

ช้าเจ้าหงส์ : การขับกล่อมถวายพระเป็นเจ้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย

การช้าหงส์ มีลักษณะการอ่านเวทเป็นทำนองฉันท์ใช้ขับกล่อมบูชาเทวรูปพระอิศวรหรือเทวรูปพระนารายณ์ ที่ถูกนำไปประดิษฐานอยู่ในบุษบกหงส์รูปร่างคล้ายเปล พร้อมกับแกว่งไกวไปด้วยในพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย จึงเรียกอีกอย่างว่า กล่อมหงส์


(พราหมณ์กำลังประกอบพิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมปวาย ภายในสถานพระอิศวร)

ทำนองฉันท์กล่อมหงส์มีทั้งหมด 4 ทำนอง แต่ละทำนองก็มีท่วงทำนองลีลาเฉพาะตัว ผู้ที่เคยได้ฟังมักกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นลีลาของเสียงอันไพเราะนุ่มนวลยากจะหาฟังจากที่อื่น พราหมณ์ทั้งหลายมักจะกล่าวอ้างว่า ฉันท์กล่อมหงส์ดังกล่าวได้รจนามานับเป็นพันๆ ปีก่อนพุทธกาลแล้ว โดยยังคงรักษาท่วงทำนองการออกเสียงของอักขระและพยัญชนะ (เป็นอักษรคฤนถ์) อย่างโบราณไว้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าลือต่อกันมาว่าน้ำตาเทียนที่หยดจากเทียนติดตามไฟที่จุดอยู่ที่ปากหงส์ตลอดพิธีที่เรียกกันอย่างติดปากว่า "สีผึ้งปากหงส์" เป็นที่ปรารถนาของเหล่าขุนนางข้าราชการ ตลอดจนประชาชนที่เข้าร่วมพิธี เพราะถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลให้สำเร็จสิ่งต่างๆ ได้นั่นเอง


(พระมหาราชครูประกอบพิธีตรียัมปวายก้าวข้ามหินบด ซึ่งเรียกเป็นการเฉพาะว่า "บัพโต"ถือเป็นสัญลักษณ์แทนโลก อันเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย)

การสวดมุไรย : บทบูชาพระเป็นเจ้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย

จากหนังสือเก่าของเทวสถานที่ใช้ในการสวดขณะประกอบพิธีตรียัมปวายในสถานพระอิศวรและสถานพระคเณศคือ “บูชามุไรยโบสถ์ใหญ่” และ “บูชามุไรยโบสถ์กลาง” ตามลำดับ ข้อความที่ปรากฏอยู่ในตำราทั้งสองฉบับ เป็นข้อความเดียวกับที่ปรากฏในบทสวดภาษาทมิฬของคัมภีร์ “ติรุวาจกม” ซึ่งประพันธ์ขึ้นทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย


(การสวดมุไรยภายในสถานพระคเณศ ที่เรียกว่า “บูชามุไรยโบสถ์กลาง”)

ตำราที่ชื่อ “เปิดประตูศิวาลัย” ใช้ในการสวดสำหรับเปิดประตูศิวาลัยไกรลาศในตอนต้นของพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย มีข้อความแบ่งออกเป็นสามบทคือ เปิดประตูศิวาลัย เปิดประตูศิวาลัยตำหนักแก้วไกรลาศ และเปิดประตูไกรลาส ซึ่งทั้งหมดก็มีที่มาจากบทสรรเสริญพระศิวะเป็นภาษาทมิฬอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพราหมณ์ทางอินเดียใต้เรียกว่า “เทวารมฺ” ด้วย

พราหมณ์ในไศวนิกายทางอินเดียใต้ นิยมที่จะสวดมนต์ที่เขียนอยู่ในคัมภีร์ติรุวาจกมควบคู่ไปกับเทวารมฺ ในการบูชาพระศิวะหรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า พระอิศวร ภายในศาสนสถานของพระองค์เป็นพิเศษ ทั้งนี้ชาวทมิฬนิยมเรียกชื่อคัมภีร์สำคัญทั้งสองฉบับดังกล่าวรวมเข้าด้วยกันว่า “ติรุมุไรย”

คำว่า “ติรุ” เป็นคำที่ชาวทมิฬใช้นำหน้าชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสิ่งที่ตนเคารพสักการะ ส่วนคำว่า “มุไรย” แปลว่า คำวิงวอน ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าพราหมณ์ที่เข้ามาในสยามตั้งแต่ดั้งเดิมยังพอจดจำเค้าความแต่เก่าก่อนของต้นฉบับได้บางส่วน จึงเรียกชื่อตำราที่ใช้ในการสวดขณะประกอบพิธีตรียัมปวายในสถานพระอิศวรและสถานพระคเณศดังกล่าวว่า “บูชามุไรยโบสถ์ใหญ่ และบูชามุไรยโบสถ์กลาง” นั่นเอง

ส่วนในพิธีตรีปวาย พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีจะใช้หนังสทอที่มีชื่อว่า “สวดมุไรยสถานพระนารายณ์” ในการสวดประกอบพิธี ข้อความในตำราโบราณฉบับนี้ตัดตอนมาจากบทมนต์ภาษาทมิฬในคัมภีร์ “มาลายิรทิวฺย ปฺรพนฺธมฺ” หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “ทิวฺยปฺรพนฺธมฺ” ที่พราหมณ์ไวษณพนิกายในอินเดียใต้ใช้สวดหรือขับร้องบูชาพระวิษณุหรือที่เรียกอีกอย่างว่าพระนารายณ์ในศาสนสถานของพระองค์ เช่นเดียวกับที่พราหมณ์สวดบูชาติรุมุไรย

หนังสือ “ปิดประตูศิวาลัย” ที่ใช้ในการสวดตอนปลายพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย นั้นน่าจะเป็นการตั้งชื่อให้รับกับบทเปิดประตูศิวาลัยที่ใช้ในตอนต้นของพิธี ได้ปรากฏคำว่า “เทวะเมาะฬิ” อยู่ที่ตอนปลายของบท คำดังกล่าวอาจจะพร่องมาจาก “ติรุวายโมฬิ” ที่แปลว่า คำปากอันประเสริฐ โดยถือเป็นคาถาบทหนึ่งในคัมภีร์ทิวฺยปฺรพธมฺ เช่นเดียวกับข้อความในหนังสือสวดมุไรยสถานพระนารายณ์


โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม

(ซ้าย) ภาพถ่ายเก่าเสาชิงช้าที่โบสถ์พราหมณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
(ขวา) ภาพพิธีโล้ชิงช้า ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร

หลักฐานเชื่อได้ที่เก่าแก่ที่สุดของพระราชพิธีตรียัมปวายปรากฏอยู่ในกฎพระมณเฑียรบาลของกฎหมายตราสามดวงที่น่าจะเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาว่าพิธีตรียัมปวายกลายมาจาก "ติรุเว็ม/ปาไว" ซึ่งเป็นการสวดกล่อมเทพเจ้า ก็จะเห็นได้ว่าดั้งเดิมนั้นพิธีนั้นคงจะไม่เกี่ยวกับการ โล้ชิงช้าใหญ่

หลักฐานจากดินแดนต้นแบบคือประเทศอินเดีย จะพบได้ว่ามีเฉพาะการนำเทวรูปมาไกวในชิงช้า เช่น พระราชพิธีมาฆวิธานำ ที่ชาวเมืองพาราณสีจะประกอบขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 และงานโล้ชิงช้าสำหรับพระอิศวรในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือนไจต (ร(เดือน 5) เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ชวนให้นึกถึงพิธีการช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมปวายด้วย

แม้ว่าจะไม่มีการกล่าวถึงการโล้ชิงช้าในกฎมณเฑียรบาล แต่เอกสารที่น่าจะกำหนดอายุได้ในช่วงที่ใกล้เคียงกับฉบับอื่นคือ โคลงทวาทศมาส ได้กล่าวถึงพระราชพิธีตรียัมปวายโดยพรรณนาความเปรียบภาพในพระราชพิธีดังกล่าวกับหญิงอันเป็นที่รัก โดยบรรยายภาพบางส่วนในเทศกาลว่าประกอบพิธีในเดือนหัวกวางคือเดือนอ้าย มีพราหมณ์ทำพิธีแขวนแผ่นกระดาน มีขบวนรำและการรำเสนง เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติอยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ดี การแขวนกระดานดังกล่าวไม่สามารถใช้พิสูจน์หรือยืนยันได้อย่างชัดเจนว่ามีการให้พราหมณ์นาลิวันขึ้นไปโล้ชิงช้า เนื่องจากโคลงดังกล่าวไม่ได้อ้างไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับที่หลักฐานบางส่วนได้ระบุให้ทราบว่าการแขวนกระดานที่เสาชิงช้าไม่จำเป็นต้องมีการโล้ชิงช้าเสมอไป เช่น หนังสือตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชที่มีข้อความที่กล่าวถึงพระราชพิธีตรียัมปวายในเขตพื้นที่ดังกล่าวโดยระบุว่า "...ฝั่งเสาชิงช้าผูกต้นกล้วยอ้อยแขวนบรมหงษ์..."

(ซ้าย) บรรยากาศในพิธีโล้ชิงช้า ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 (ไม่ทราบปี พ.ศ.)
(ขวา) นาลิวันรำเสนง ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
วัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ข้อความในพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.2476 ที่กล่าวถึงการเสด็จชมโบสถ์พราหมณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่ามีนางกระดานสามแผ่น แต่เมื่อพระองค์ทรงถามพราหมณ์ผู้เฝ้ารักษากลับตอบว่า ไม่มีการถีบชิงช้า เพียงแต่นำกระดานขึ้นแขวนเท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชอรรถาธิบายมาก่อนแล้วว่า การที่พราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชประกอบพิธีตรียัมปวายโดยการนำกระดานขึ้นแขวนเพียงสังเขปนั้น เป็นการทำพิธีพราหมณ์อย่างย่อๆ ตามมีตามเกิด แต่หากพิจารณาในมุมกลับกันแล้วก็อาจเป็นไปได้ว่า พิธีตรียัมปวายอย่างที่กลุ่มพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชประกอบนั้นเป็นพิธีอย่างเก่า ส่วนการประกอบพิธีโดยมีการให้พราหมณ์นาลิวันขึ้นไปโล้ชิงช้านั้นคงจะเป็นการขยายให้เกิดขึ้นภายหลังโดยมีหลักฐานยืนยันได้เก่าสุดในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิตที่เขียนขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองแล้วเล่าย้อนไปในช่วงก่อนหน้า


บรรยากาศในพิธีโล้ชิงช้า ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 (ไม่ทราบปี พ.ศ.)

ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับดังกล่าวมีข้อความที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า พระเจ้าแผ่นดินแห่งเมืองรามรัฐ (Rammaradt) ชายฝั่งโจฬะมณฑล (Coromandel) ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะหมายถึงเมืองราเมศวรัม ที่มีลักษณะเป็นเกาะ ได้ขอเจริญสันถวไมตรีหลังจากพ่ายแพ้ต่อบุญญาธิการของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ผู้สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ) โดยได้ถวายกระดานโล้ชิงช้าและชิงช้า

พงศาวดารฉบับดังกล่าวอ้างว่าการโล้ชิงช้าเป็นการละเล่นไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนในสยาม พร้อมกันนี้ได้ส่งพราหมณ์ผู้ทรงความรู้อีกสองท่านให้แสดงวิธีโล้ชิงช้าเพื่อเป็นที่รู้จักและคงอยู่ในสยามตลอดไป ความตอนนี้คงจะเกี่ยวกับพระราชพิธีโล้ชิงช้าค่อนข้างแน่เนื่องจากฟาน ฟลีต หรือที่เรียกอย่างไทยว่าวันวลิต ได้อธิบายต่อไปว่าในสมัยที่ท่านเข้ามา (ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) ยังมีการละเล่นชนิดนี้อยู่ในอยุธยา โดยจัดเป็นงานฉลองพิเศษประจำปีที่ใช้เวลาหลายวัน

ข้อความข้างต้นชวนให้นึกไปได้ว่าพิธีโล้ชิงช้าอย่างไทยคงจะรับมาจากแขกอินเดียในสมัยดังกล่าว อย่างไรก็ดี เรื่องราวที่อ้างถึงการถวายชิงช้าดังกล่าวในเอกสารของฟาน ฟลีต ยังมีลักษณะเป็นตำนานที่เต็มไปด้วยพระกฤดาภินิหารของกษัตริย์อยุธยา


ตำนานดังกล่าวยังมีรายละเอียดที่ใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่งกับข้อความในช่วงต้นของตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชที่กล่าวถึงการเข้าสู่ราชอาณาจักรสยามของพวกพราหมณ์ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เว้นแต่ว่าชิงช้าที่กล่าวถึงนั้นกลายเป็นชิงช้าทองแดงที่ใช้ในการไกวขับกล่อมเทวรูป ดังนั้นข้อความที่ปรากฏในเอกสารของฟาน ฟลีต จึงน่าจะมีลักษณะเป็นตำนานที่ชาวอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองใช้ในการอธิบายเหตุของการโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโลกทรรศน์ของชาวอยุธยาในช่วงสมัยนั้นว่าการโล้ชิงช้าเป็นพิธีการที่รับมาจากพราหมณ์อินเดียในช่วงต้นกรุงฯนั่นเอง

จากหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงอาจจะอนุมานได้ว่าการโล้ชิงช้าใหญ่นั้นควรเกิดขึ้นในดินแดนอุษาคเนย์มากกว่า โดยแต่แรกเริ่มอาจจะมีที่มาจากการรับประเพณีการขับกล่อมเทพเจ้าบนชิงช้าขนาดเล็กจากอินเดียมาในสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่เป็นและขยายกลายเป็นพิธีการโล้ชิงช้าใหญ่ซึ่งมีหลักฐานจากการบอกเล่าของฟาน ฟลีต อย่างน้อยตั้งแต่ในรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง

ทั้งนี้เมื่อสืบค้นจากหลักฐานต่างๆ แล้วพบว่าประเพณีการโล้ชิงช้าอย่างพราหมณ์มีปรากฏเฉพาะในสยามประเทศเท่านั้น


โล้ชิงช้า : พิธีสำคัญในพระราชพิธีตรียัมปวาย

พิธี “โล้ชิงช้า” ได้เริ่มมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ “เสาชิงช้า” ที่เห็นในปัจจุบันนั้นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2327 มูลเหตุของการสร้างเสาชิงช้าเนื่องมาจาก มีพราหมณ์ชาวเมืองสุโขทัยผู้หนึ่งได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ว่า ตามธรรมเนียมของการประกอบ “พิธีตรียัมปวาย” นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการ “โล้ชิงช้า” ด้วย แต่ด้วยความที่ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่เพิ่งจะสร้างกรุงเทพฯ เสร็จใหม่ๆ ยังไม่มี “เสาชิงช้า” ให้ประกอบพิธี พระองค์จึงทรงโปรดฯ ให้สร้างเสาชิงช้าขึ้นในบริเวณที่ดินหน้าวัดสุทัศน์เทพวรารามในปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมที่ดินในบริเวณนี้เป็นเพียงป่ารก ยังไม่มีผู้คนอาศัยอยู่มากนัก

(เสาชิงช้าซึ่งใช้เป็นที่ประกอบพิธีโล้ชิงช้า อันเป็นพิธีสำคัญในพระราชพิธตรียัมปวาย)

“พิธีการโล้ชิงช้า” มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน การโล้ชิงช้าก็คือการแสดงการละเล่นอันสนุกสนานเพื่อถวายต่อองค์พระอิศวร โดยเป็นการสรรเสริญบูชาคุณของพระองค์เนื่องในวาระที่เสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์ปีละครั้ง

การกำหนดวันประกอบพิธี “โล้ชิงช้า” นั้นถือนับเอาตามระบบจันทรคติซึ่งตรงกับเดือนอ้าย ขึ้น 7 ค่ำ 8 ค่ำ และ 9 ค่ำ รวม 3 วัน สำหรับวันแรกและวันสุดท้ายจะเป็นการประกอบพิธีโล้ชิงช้า ส่วนวันที่สองเป็นการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพียงอย่างเดียวที่โบสถ์พราหมณ์ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เสาชิงช้าข้างวัดสุทัศน์เทพวราราม

ก่อนเริ่มพิธีโล้ชิงช้าในวันแรก ตอนเช้าจะมีการจัดริ้วขบวนแห่งพระยายืนชิงช้าออกจากวัด ซึ่งแล้วแต่จะกำหนดว่าเป็นวัดใด จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนเข้าสู่ปะรำพิธี พระยาจะจุดเทียนชัยส่งไปบูชาที่เทวสถาน ต่อจากนั้นพระยายืนชิงช้าก็จะนั่งเป็นประธานดูนาลิวัน (นักบวชพรามหณ์) ขึ้นโล้ชิงช้าจนครบ 3 กระดาน แล้วจึงเคลื่อนขบวนกลับเข้าวัดเป็นอันเสร็จพิธี และในวันสุดท้ายก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับวันแรกทุกประการ

การโล้ชิงช้าเป็นพระราชพิธีที่ปกติจะต้องทำการโล้ชิงช้าหน้าพระที่นั่ง แต่เนื่องจากบางปี พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชภารกิจมากมาย จึงทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ระดับชั้นพระยามาเป็นผู้แทนพระองค์ในงานพระราชพิธีตรียัมปวาย ตัวแทนที่ทรงตั้งขึ้นนี้จึงเรียกว่า “พระยายืนชิงช้า” ดังนั้นเมื่อถึงวันประกอบพระราชพิธีจึงต้องมีการจัดริ้วขบวนเกียรติยศโดยมีพระยานั่งอยู่บนเสลี่ยงแห่มาตลอดทาง ตามด้วยขบวนของข้าราชการ กระทรวง กรม ต่างๆ ที่ได้รับการจัดแต่งอย่างสวยลามอลังการ

(มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล (คออยู่เหล ณ ระนอง) ขณะเป็นพระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวายในปีมะแม พ.ศ.๒๔๗๔ (ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)ถือเป็นพระยายืนชิงช้าคนสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์)

การแต่งตั้งพระยายืนชิงช้าในสมัยนั้นมักแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพรเทพซึ่งอยู่ในตำแหน่งเกษตราธิบดีแต่เพียงผู้เดียว ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงมีพระราชดำริเปลี่ยนแปลงว่า ถ้าเจ้าพระยาพลเทพจะต้องแห่ทุกปีอาจทำให้ขบวนแห่ดูจืดชืด ไม่ครึกครื้นเท่าที่ควร จึงโปรดฯให้บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานพานทอง (พระยาพานทอง) ได้มีโอกาสแห่แหนเป็นเกียรติยศกันคนละครั้ง หมุนเวียนไปทุกปี และได้ยึดถือเป็นประเพณีสืบมา

ส่วนการแต่งกายของพระยายืนชิงช้านั้น กำหนดให้นุ่งผ้าเยียระบับ (เป็นผ้าทอด้วยไหมกับทองแล่ง) วิธีนุ่งนั้นเรียกว่าบ่าวขุน คือมีชายผ้าห้อยอยู่ตรงกลางเบื้องหน้า สวมเสื้อเยียระบับ คาดเข็มขัด สวมเสื้อครุยและลมพอกเกี้ยว (หมวกยอดแหลมคล้ายชฎา)

สำหรับพิธีการสำคัญของพิธีตรียัมปวายคือ “การโล้ชิงช้า” ซึ่งผู้ที่ขึ้นไปทำหน้าที่โล้ชิงช้านั้นเรียกว่า “นาลิวัน” โดยจะเลือกจากพราหมณ์หนุ่มที่มีอายุระหว่าง 18-20 ปี และมีร่างกายแข็งแรง ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี สำหรับแผ่นไม้กระดานนั้นจะขึงโยงลงมาจากคานบนของเสาด้วยเชือก 8 เส้น ตัวเชือกทำด้วยหนังวัวเผือก โดยถือเคล็ดว่าวัวเป็นพาหนะของพระอิศวร ที่แผ่นกระดานมีรูสำหรับร้อยเชือก 8 รู มีช่วงระยะห่างเท่าๆ กัน เชือกทั้ง 8 เส้นนี้ นอกจากจะใช้ผูกติดกระดานแล้ว ยังช่วยยึดเหนี่ยวในขณะโยกตัวมิให้ร่วงหล่น ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ การโล้ชิงช้าจะแบ่งเป็น 3 ชุด หรือเรียกว่า 3 กระดาน คือ

กระดานเอก มีเงินรางวัลสูงสุดถึง 12 บาท กระดานโท 10 บาท และกระดานตรี 8 บาท ในแต่ละกระดานจะมี “นาลิวัน” ขึ้นไปโล้โลดโผนถึงครั้งละ 4 คน รวม 3 ชุด 12 คน ส่วนเงินรางวัลจะบรรจุในถุงซึ่งแขวนอยู่บนหัวเสาไม้ที่ปักไว้ข้างเสาชิงช้า ก่อนที่ “นาลิวัน” ทั้ง 4 คน จะขึ้นไปโล้ชิงช้า ทุกคนจะต้องนั่งลงกราบถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัว 3 ลา แล้วจึงสวมหัวนาคโดยสมมติว่าเป็นพญานาค เมื่อขึ้นบนแผ่นกระดานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวก “นาลิวัน” ที่อยู่เบื้องล่างจะช่วยกันดึงเชือกให้แผ่นกระดานแกว่งตัวไปมาทีละน้อยจนแรงขึ้นสูงขึ้นทุกขณะ ส่วน “นาลิวัน” ที่ยืนอยู่บนกระดานเริ่มกระแทกน้ำหนักส่งจังหวะให้เกิดแรงเหวี่ยง จนเมื่อกระดานโยกตัวสูงขึ้นใกล้กับยอดเสาไม้ไผ่ที่ปักล่อเงินรางวัล แต่มีกฎเกณฑ์ว่าห้ามใช้มือเอื้อมหยิบ ต้องใช้ปากคาบอย่างเดียว

ดังนั้นคนที่ยืนอยู่หัวกระดานจะต้องยื่นศีรษะคอยคาบถุงเงินออกมา ส่วนคนหลังจะบังคับกระดานให้โยนตัวตรงเป้า ในช่วงนี้จะเป็นนาทีระทึกใจ เพราะผู้ชมที่อยู่เบื้องล่างจะส่งเสียช่วยลุ้นช่วยเชียร์กันอยางกึกก้อง เมื่อคาบถุงเงินได้สำเร็จในแต่ละกระดานก็จะมีเสียงโห่ร้องแสดงอาการดีอกดีใจดังไปทั่วบริเวณ หลังจากโล้ชิงช้าจนครบ 3 กระดานแล้ว “พวกนาลิวัน” ทั้ง 4 คน ก็จะไต่ลงมาข้างล่าง เพื่อกราบถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้งหนึ่งตามประเพณี

พระราชพิธีตรียัมปวาย “โล้ชิงช้า” มาสิ้นสุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อปี พ.ศ. 2474 โดยมี พระยาปฏิพัทธ์ภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) เป็นพระยายืนชิงช้าคนสุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุที่รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกเลิกพระราชประเพณีนี้เป็นเพราะในขณะนั้นสภาพบ้านเมืองประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการจัดพิธีนี้ในแต่ละครั้งก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ในขณะนั้นประเทศจำเป็นต้องประหยัดงบประมาณแผ่นดิน จึงทรงเห็นสมควรให้ยกเลิกพระราชพิธีตรียัมปวาย“โล้ชิงช้า” ตั้งแต่นั้นตราบจนปัจจุบัน...

โล้ชิงช้า ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของพราหมณ์สยาม
โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
มติชนรายวัน หน้า 34 วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10772
http://www.srichinda.com/index.php?mo=3&art=181442
http://th.wikipedia.org/wiki/