Thinking School




Thinking School


การเรียนที่ทำให้เด็กเพลิดเพลินคือ การเรียนผ่านการเล่น
และด้วยการลงมือทำ หลายโรงเรียนในต่างประเทศมีวิชาการออกแบบ
และเทคโนโลยีการออกแบบทำให้เด็กต้องใช้จินตนาการ
และถ่ายทอดออกมาเป็นแบบและลงมือทำ บางโรงเรียนก็มีวิชาการทำครัวด้วย
เด็กๆ สนุกสนานมากเพราะได้ลงมือทำปรุงรสและชิมกันเอง
เมื่อผมยังเด็กอายุสัก 8-9 ขวบ ผมก็ชอบทำข้าวผัดแล้วกินเองรู้สึกอร่อยมาก

คุณอนันต์ อนันตกูล
คุยกับผมว่าเด็กสมัยนี้ถูกกักกันอยู่ในโรงเรียนนานเกินไป
แม้จะเลิกเรียนบ่ายสามโมงครึ่ง แต่ก็ยังต้องอยู่ที่โรงเรียนรอพ่อแม่
บางคนก็ต้องไปเรียนพิเศษต่อ

ความคิดในการปฏิรูปการศึกษานั้น มีอยู่สองแนวทางคือ
เน้นการพัฒนาการสอนของครู และเน้นเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง
จะว่าไปแล้วก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนทัศนคติ
และพฤติกรรมของครูผู้สอนนั่นเอง

การสอนของครูนั้น
ไม่ควรมีเป้าหมายอยู่เฉพาะการให้นักเรียนรู้สาระวิชาการเพื่อไปสอบแข่งกัน
เข้ามหาวิทยาลัย แต่ควรเป็นการให้เด็กได้มีเทคนิค
และทักษะที่ช่วยให้เขาได้นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิต
ไม่ว่าเขาจะประกอบอาชีพอะไร

การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน และทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง
จากการสังเกตของนักวิจัยพบว่า ผลสำเร็จของการศึกษานั้น
ขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการคือ

ประการแรก ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีความตั้งใจ
มีส่วนร่วมให้ความสนับสนุนทรัพยากรอย่างพอเพียง ถ้าจะให้ดีต้องจัดตั้ง
"กลุ่มพลัง" ไว้คอยผลักดันการเปลี่ยนแปลง

เราจะเริ่มสร้าง Thinking School ได้อย่างไร

ขั้นแรกก็คือสร้างความตระหนักในความสำคัญของทักษะการคิด
และสอนทักษะการคิดให้ทั้งโรงเรียน
โดยครูผู้สอนจะไม่ใช่ผู้สอนเฉพาะสาระวิชา
แต่ต้องสอนเทคนิคและวิธีการคิดที่มีมากมายหลายวิธีด้วย

การจะทำ Thinking School นั้น ต้องเป็นโครงการระยะยาวประมาณ 5 ปี
โดยผู้บริหารจะต้องให้ความสนับสนุนอย่างจริงจัง
ทีมผู้อบรมจะต้องอธิบายให้ครูทั้งโรงเรียนเข้าใจว่า

- ทำไมการคิดจึงมีความสำคัญ
- ครูจะได้รับประโยชน์อย่างไร
- หลักสูตรทั่วไปต่างจากหลักสูตรการคิดอย่างไร
- มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร
- จะพัฒนาสภาพแวดล้อม และบรรยากาศที่ทำให้นักเรียนรู้จักคิดได้อย่างไร
- จะสร้างสภาพแวดล้อมของห้องเรียนให้เกิดการใช้ความคิดได้อย่างไร
- วิธีการคิดง่ายๆ เช่น PMI (Plus, Minus, Interesting) และ 6
Hats ของ Edward de Bono



เวลานี้มี อบจ.ที่เชียงรายและอุดรธานี
ที่ให้ทีมงานที่ประกอบด้วยครูนิวซีแลนด์ และทีมฝึกอบรมอีก 3 คนช่วยทำ
Thinking School ให้โรงเรียนภายในสังกัด อบจ.หลังจาก
สพฐ.ได้เคยสนับสนุนโครงการนำร่องไปแล้ว และต้องมีอุปกรณ์การศึกษา
ให้เวลากับครูในการฝึกอบรมคอยติดตามดูแลความก้าวหน้าอยู่เสมอๆ

ประการที่สอง
จะต้องมีบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค
และความยากลำบากในการปรับปรุงการเรียนการสอน

ประการที่สาม จะต้องส่งเสริมให้ครูทั้งโรงเรียนมีส่วนร่วม

ประการที่สี่ จะต้องมีระบบข้อมูลข่าวสาร
และเอกสารที่สนับสนุนการวางแผน การประเมินผล และกระบวนการรายงานผล

ประการที่ห้า จะต้องมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
โดยมีนโยบายระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน มีการคัดสรรครูที่ดี มีการฝึกอบรม

ขณะนี้ในประเทศนิวซีแลนด์ที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง
ได้มีการพัฒนาการศึกษาไปอีกระดับหนึ่ง นั่นคือ การสร้าง
"Thinking
Scho
ol" การผลักดันให้มี Thinking School นั้น มาจากกลุ่มครูซึ่งสอน
"ทักษะการคิด" ในโรงเรียนซึ่งทำเป็นวิชาเลือก

สำหรับนักเรียนแล้ว
จะเรียนรู้เทคนิคที่เกี่ยวกับการคิดอย่างมีคุณภาพ
สำหรับครูก็จะใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้น
มีการกระตุ้นให้นักเรียนได้ขบคิดปัญหาทั้งใกล้และไกลตัว

การจะเกิด Thinking School ได้นั้น
ผู้บริหารและครูจะต้องมีความเข้าใจร่วมกัน มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน
และมีการตั้งทีมขึ้นมาผลักดันเรื่องนี้โดยเฉพาะ การประเมินผลแล้ว
ผลปรากฏว่าสิ่งแรกที่ต้องทำอย่างรีบด่วนคือ
การจัดการชั้นเรียนให้นักเรียนตั้งใจเรียนมากขึ้น ทำงานในห้อง
และมีการถกเถียงปัญหากัน
ควรมีการตกแต่งห้องเรียนให้น่าสนใจแทนที่จะเป็นห้องโล่งๆ

ครูที่เชียงรายมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นว่า Thinking School
เป็นอย่างไร เห็นความสำคัญของการจัดสภาพแวดล้อม และบรรยากาศของห้องเรียน
ครูครึ่งต่อครึ่งรู้สึกว่ามีความเข้าใจทักษะการคิดมากขึ้น

เวลานี้มีแต่โรงเรียนในสังกัด อบจ.อุดรฯ
และอบจ.เชียงรายเท่านั้นที่ทำเรื่องนี้ โรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ
ที่ตื่นตัวและมีการฝึกอบรมเรื่องนี้ได้แก่ โรงเรียนอำนวยศิลป์

หากโรงเรียนในประเทศไทยส่งเสริมให้มีการสอนทักษะการคิดอย่างทั่วถึงแล้ว
การศึกษาของเราคงก้าวไปไกลกว่านี้

ในสิงคโปร์มีการสอนทักษะการคิดอย่างจริงจัง
จนการแข่งขันการแก้ปัญหาในอนาคตที่ทำเป็นประจำทุกปีนั้น ปีนี้โรงเรียน
St. Andrew Girls School และโรงเรียน Raffle Girls School
ได้รับรางวัลที่หนึ่ง
แล้วไทยเราล่ะจะทำอย่างไร

ชัยอนันต์ สมุทวณิช
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์





ทักษะการคิด


เมื่อวันก่อนมีครูจากโรงเรียน King ’s มาพูดเรื่อง Thinking School ให้ครูไทยฟัง King ’s School เป็นโรงเรียนประถมตั้งอยู่ที่เมือง Auckland นิวซีแลนด์ David Mc Ewan ที่มาพูดเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำ Thinking School คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนของครูจากการบรรยายไปเป็นการสร้างบรรยากาศของ การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้

วิธีการที่ใช้ก็คือ ครูจะไม่นั่งหรือยืนพูดอยู่กับที่ แต่จะเดินไปทั่วห้อง คอยสังเกตอากัปกิริยาของเด็กแต่ละคน และถามคำถามมากๆ ครูพยายามบรรยายให้น้อย โดยให้เด็กเป็นฝ่ายพูด บางทีก็มีการยกประเด็นมาโต้เถียงกัน เด็กๆ จะตื่นตัวและเพลิดเพลินจนเวลาล่วงไปหมดคาบเรียนโดยไม่รู้ตัว

การฝึกการคิดไม่ได้หมายความว่าจะไม่สอนให้เด็กท่องจำ การจำเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะความรู้พื้นฐาน แต่ระบบการเรียนการสอนที่เราไม่ต้องการก็คือ การท่องจำและทดสอบความจำมากจนเกินไป

ที่จริงคนไทยเราเป็นคนช่างคิดอยู่แล้ว หาไม่เราจะมีอาหารมากมายหลายอย่างได้อย่างไร ผิดกับฝรั่งมีอาหารไม่กี่อย่าง ของเราในแต่ละภาค และแต่ละจังหวัดก็มีอาหารแปลกๆ เมื่อคิดดูแล้วก็จะพบว่า อาหารหลายอย่างแต่ก่อนก็ไม่มี เพิ่งมาทำกันขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้เอง ความช่างคิดของคนไทยเรามักเน้นเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่มากกว่าการคิด ประดิษฐ์แบบวิทยาศาสตร์

ในชีวิตประจำวัน เรามีการคิดเครื่องมือการดักสัตว์ การจับปลามากมาย หากใครเคยไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์จ่าทวีที่พิษณุโลก จะทึ่งกับเครื่องมือดักสัตว์ที่วางแสดงไว้

แต่ในการเรียนการสอน เราเห็นเนื้อหาทางวิชาการและทดสอบเนื้อหาที่เด็กๆ ต้องจำ การคิดวิเคราะห์มีน้อยมาก แม้บางวิชา เช่น ประวัติศาสตร์อาจมีการวิเคราะห์บ้าง แต่วิชาอื่นก็ไม่ค่อยมี แม้แต่การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ ตอนเด็กๆ ผมมีครูที่จดเรื่อง The Cat และ The Dog บนกระดานดำ และให้พวกเราท่องจำแล้วลอกลงในกระดาษเวลาสอบ วิชาเรียงความภาษาไทย เราก็จะเน้นการลอกจากหนังสือมา มีการส่งเสริมให้เด็กใช้จินตนาการน้อยมาก

ถ้าครูอยากให้เด็กคิดเป็นก็เริ่มง่ายๆ ด้วยการให้เด็กคิดด้านบวก ด้านลบ และด้านที่น่าคิดเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ก็ได้ หรือลองให้เด็กคิดอย่างถี่ถ้วนถึงความเป็นไปได้หลายๆ แง่มุม

de Bono เคยบอกว่า ทำไมเราไม่คิดกันบ้างว่าล้อรถยนต์ทำไมต้องกลม เป็นสี่เหลี่ยมไม่ได้หรือ แม้แต่รูปร่างลักษณะของรถยนต์เอง แต่เดิมก็เป็นแบบเดียวกัน ต่อมาก็มีรถบัส และรถสเตชั่นแวกอนซึ่งพัฒนาเป็นรถตู้ ไปๆ มาๆ ก็มีรถที่เรียกกันว่า M.P.V.

การคิดแบบหนึ่งก็คือ การผสมผสาน และการดัดแปลง ไม่มีอะไรที่ใหม่เอี่ยมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หากใครเคยเห็นหนังสือญี่ปุ่นที่เขาแสดงเครื่องมือต่างๆ ก็จะแปลกใจที่เขาช่างคิดทำอะไรแปลกๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึง รถญี่ปุ่นจึงมีลูกเล่นเพิ่มโน่นเติมนี่มาเรื่อยๆ

การจะสร้างโรงเรียนนักคิดได้ จะต้องเริ่มที่ครูก่อนอย่างน้อยการฝึกหัดครูควรจะบรรจุวิชาทักษะการคิดเข้า ไปด้วย จะสอนในปีสุดท้ายก่อนจบออกไปเป็นครูก็ได้

การสอนทักษะการคิด มีวิธีการ และเครื่องมือหลายอย่าง แม้แต่เรื่อง Mindmapping ก็เป็นส่วนสำคัญเพราะทำให้เราต้องคิดถึงคำหลัก และปัจจัยย่อยต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน ช่วยให้ความคิดของเรามีลักษณะเป็น “องค์รวม”

บางคนก็ใช้วิธี Six Hats ของ de Bono เพราะวิธีการนี้ช่วยให้เรารู้จักจัดระบบความคิด ไม่คิดแบบมั่ว แต่รู้จักแยกว่าเป็นเรื่องข้อมูลหรือเรื่องทัศนคติเรื่องความเห็น

สังคมสมัยนี้เป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลข่าวสารมีมากมาย เราต้องรู้จักเลือก และถ้าเราไม่รู้จักคิดแล้ว เราก็จะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ หรือการให้ข้อมูลเพียงส่วนเดียว

ปัญหาและปรากฏการณ์หลายอย่าง บางทีให้เราเห็นภาพแต่เพียงมิติเดียวหรือส่วนเดียว ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด โดยเฉพาะเรื่องการเมือง


วิธีการที่ผมชอบใช้ ก็คือ
“การต่อภาพ” แบบที่เราเล่นรูปต่อที่ภาพใหญ่ถูกตัดออกเป็นส่วนๆ ถ้าเราดูแต่ละส่วนก็จะไม่รู้ว่าเป็นภาพอะไรกันแน่ การต่อส่วนย่อยแต่ละส่วนเพื่อดูภาพใหญ่ ก็เหมือนกับการวิเคราะห์การเมืองอย่างรอบด้าน ดูปัจจัยต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หากเป็นการสอนก็จะถามให้ผู้เรียนช่วยกันคิดถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เท่ากับเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนขบคิดปัญหา

ครูที่สอนทักษะการคิด น่าจะรวบรวมเรื่องตลกๆ ไว้แยะๆ เพราะเรื่องตลกล้วนแต่มาจากความคิดสร้างสรรค์ที่เราหัวเราะก็เพราะเรื่องตลก มักเป็นเรื่องหักมุมที่เราไม่คาดคิดมาก่อน

เวลานี้ผมอยู่ว่างๆ ก็สนับสนุนให้คณะครูที่ได้ไปเรียนรู้เรื่องทักษะการคิดได้ไปเผยแพร่ความรู้ ให้โรงเรียนต่างๆ แต่จะต้องเตือนว่า การจะสร้าง Thinking School นั้นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็ 3-4 ปี ครูทั้งโรงเรียนจะต้องมีศรัทธา ครูใหญ่ต้องให้การสนับสนุน และครูต้องสอนทักษะการคิดได้ ในการเรียนการสอน ครูต้องเป็นเสมือนวาทยกร ส่วนเด็กก็มีส่วนร่วมเหมือนนักดนตรี

การคิดกับการทำกิจกรรมเป็นสิ่งที่เอื้อต่อกัน เราควรสนับสนุนให้เด็กทำหนังสั้นๆ เวลานี้มีเครื่องถ่ายวิดีโอที่ราคาไม่แพง เด็กๆ ก็จะเขียนบท การทำหนังยิ่งสั้นก็ยิ่งต้องมีความคิดสร้างสรรค์ หนังนั้นจึงน่าสนใจ

ในโรงเรียนฝรั่ง (webmaster-ไม่ใช่มุสลิม) จึงมีการส่งเสริมให้เด็กๆ เล่นละคร นานๆ เข้าเด็กก็จะแต่งบทละครเล่นกันเอง การเล่นละครก็ดี การเล่นกีฬาก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นการส่งเสริมความคิดทั้งสิ้น

ผมเคยสอนวิชาความคิดทางการเมืองไทย ได้ให้นิสิตถกเถียงกันเอง แม้แต่ให้คะแนนรายงานของเพื่อนๆ และของตัวเอง หากมีการทำเช่นนี้มากๆ ก็จะมีความสนุกในการเรียนมากขึ้น


เรามาช่วยกันส่งเสริมทักษะการคิดกันเถิดครับ ให้มีการสอนอย่างกว้างขวางในทุกโรงเรียน

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
baanmuslimah.c0m