“Cloud Computing” เทคโนโลยีอนาคต

















จับกระแสธุรกิจอินเทรนด์ Cloud Computing เปลี่ยน “วิกฤต” สู่ “โอกาส”

news787.jpg

ในยุคที่สภาพเศรษฐกิจโลกบีบหัวใจของผู้ประกอบการธุรกิจ การลดต้นทุนถือเป็นทางเลือกอันดับที่หนึ่งเพื่อความอยู่รอดของกิจการต่างๆ แม้จะทราบกันเต็มหัวใจว่าประสิทธิภาพในการผลิต หรือให้บริการอาจต้องลดลง แต่ในช่วงเวลาเช่นนี้ผู้ประกอบการโดยทั่วไป ก็เต็มใจที่จะคิดถึงการตัดค่าใช้จ่าย

เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ช่วงเวลาเช่นนี้เองที่เป็นทั้ง “วิกฤต” และ “โอกาส” ซึ่งเรามักจะพบนวัตกรรมใหม่ๆ แจ้งเกิดและกลายเป็นช่องทางสำหรับการตั้งหลักทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ

cloud01-787.jpg

เทคโนโลยี Cloud Computing ก็เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งแห่งโลกสารสนเทศ ซึ่งกำลังได้รับความสนใจ และอยู่ในช่วงเริ่มต้น พร้อมที่จะทะยานขึ้นเป็นธุรกิจมูลค่ามหาศาลภายในชั่วระยะเวลาอันสั้น ที่สำคัญเรื่องของ Cloud Computing นี้ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนในเรื่องของโครงข่ายสื่อสารข้อมูล ที่ปัจจุบันทั่วโลกกำลังมีการพัฒนา เพื่อสร้างวงจรเชื่อมต่อความเร็วสูงสำหรับรองรับข้อมูลมัลติมีเดียและสื่อดิจิตอลต่างๆ ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจ Cloud Computing อยู่ในสภาพของ “เสือติดปีก” พร้อมทะยานขึ้นเป็นดาวรุ่งแห่งโลกไอซีที การทำความเข้าใจถึงเทคโนโลยี Cloud Computing และรูปแบบธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงเป็นกลายเป็นเรื่องที่มากกว่าคำว่าจำเป็น

cloud02-787.jpg

Cloud Computing แท้จริงคือธุรกิจรับประมวลผล

นิยามที่แท้จริงของ Cloud Computing ก็คือการนำเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน คอมพิวเตอร์ทั้งหมดในกลุ่ม Cloud อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้งอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่อาจมีการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายสื่อสารความเร็วสูง และที่สำคัญก็คือบรรดาคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันเองนี้อาจไม่จำเป็นมีฮาร์ดแวร์และระบบปฏิบัติการเหมือนกันไปทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ในกลุ่ม Cloud หนึ่งๆ อาจมีทั้งเครื่องพีซี และเครื่องแอปเปิล หรือมองอีกมุมหนึ่ง ระบบปฏิบัติการ (Operating System หรือ OS) ที่ใช้อาจมีอยู่หลายชนิด เป้าหมายของการนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาเชื่อมต่อกันเช่นนี้ ก็เพื่อจะดึงพลังในการประมวลผล (Processing) ของคอมพิวเตอร์ทั้งหมดมาประสานกัน เพื่อนำไปใช้จัดการงานประมวลผลใหญ่ๆ ที่แต่เดิมอาจต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์คุณภาพสูง ต้นทุนมหาศาล แต่กับเทคโนโลยี Cloud Computing แล้ว ผู้ลงทุนสามารถลดต้นทุน และหันมาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดมาทำงานร่วมกันแทน

cloud03-787.jpg

ถามก็คือ ตลาดและมูลค่าของธุรกิจสำหรับเทคโนโลยี Cloud Computing คืออะไร อยู่ที่ไหน และจะมีกระแสตอบรับมากเท่าใด เพื่อจะตอบคำถามทั้งหมดนี้ ลองพิจารณาถึงความจริงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันกันสัก 3 ข้อ
ข้อหนึ่ง องค์กรธุรกิจ หน่วยงานราชการ ไปจนถึงสถานศึกษาในปัจจุบัน ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศภายในองค์กร ติดตั้งระบบฐานข้อมูล มีการลงทุนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์เพื่อทำหน้าที่ประมวลผลและให้บริการต่างๆ ภายในองค์กร ที่น่าสนใจก็คืองบประมาณการลงทุนในเทคโนโลยีไอซีทีเหล่านี้มีมูลค่าสูง ประกอบกับทั้งองค์กรจำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยสาเหตุง่ายๆ คือ ข้อมูลมีการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับใช้งานในองค์กรมากขึ้น การลงทุนขยายหรือบางครั้งอาจถึงขั้นเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ ซึ่งท้ายที่สุดย่อมตามมาด้วยการซื้อหรือขยายซอฟต์แวร์เพื่อให้สัมพันธ์กับขนาดของเซิร์ฟเวอร์ที่เปลี่ยนไป เสมือนเงาตามตัว นอกจากนั้นยังมีเรื่องของค่าบำรุงรักษาระบบ ซึ่งเมื่อนับรวมๆ แล้วก็เป็นค่าใช้จ่ายมูลค่ามหาศาลที่องค์กรต่างๆ มิอาจหลีกเลี่ยงได้
ข้อที่สอง ค่าใช้จ่ายในการนำเครื่องคอมพิวเตอร์หลายหลายตระกูลมาเชื่อมต่อกัน โดยใช้วงจรสื่อสารโทรคมนาคมที่ปัจจุบันมีต้นทุนที่ต่ำกว่าในอดีตมาก พร้อมกับนำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ Virtual Machine ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนล่ามคนกลาง ติดตั้งไว้บนบรรดาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มาเชื่อมต่อกันเป็น Cloud Computing เพื่อให้เครื่องทั้งหมดสามารถรับคำสั่งและร่วมกันทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ หรืออาจสั่งการให้คอมพิวเตอร์แต่ละกลุ่มแยกกันทำงานย่อยๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่ใช้ต้นทุนไม่มาก อีกทั้งบรรดายักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และสื่อสารข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Google หรือกระทั่ง Microsoft ต่างก็ให้การสนับสนุนพัฒนามาตรฐานและแอพพลิเคชั่นสำหรับเสริมขีดความสามารถให้กับการประมวลผลแบบ Cloud Computing มากขึ้น จึงกลายเป็นว่า เทคโนโลยี Cloud Computing พร้อมที่จะก้าวออกจากความเป็นนวัตกรรม ไปสู่โลกทางธุรกิจอย่างเต็มตัว
ข้อที่สาม แนวคิดในเรื่องของการว่าจ้างให้ผู้อื่นทำงานแทน หรือที่นิยมเรียกกันว่า Outsourcing ซึ่งได้กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับการทำธุรกิจด้านสารสนเทศไปแล้ว กำลังขยายขอบเขตมาสู่การพลิกกรอบความคิดของผู้ประกอบการทั่วโลก ด้วยแนวคิดง่ายๆ ที่ว่า “จะต้องลงทุนสร้างคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์สำหรับรองรับการใช้งานภายในองค์กรไปทำไม ในเมื่อสามารถว่าจ้างให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญรับประมวลผลข้อมูลให้แทน ตราบใดที่ผู้เชี่ยวชาญสามารถรับประกันคุณภาพ ความต่อเนื่อง และมีการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลได้”

ทั้งสามปัจจัยหลักนำไปสู่แนวคิดของการว่าจ้างให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนสร้างเครือข่าย Cloud Computing รับผิดชอบประมวลผลข้อมูลให้กับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ โดยที่องค์กรเหล่านั้นจะได้สามารถลดต้นทุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ลงอย่างมหาศาล และเปลี่ยนการลงทุนแบบ Capital Expense ซึ่งต้องผูกพันกับการคิดค่าเสื่อมราคา มาเป็น Operating Expense ในรูปแบบของการทำสัญญาว่าจ้าง ซึ่งสามารถนำไปคิดหักภาษีได้โดยตรง นอกจากนั้น องค์กรต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องวุ่นวายกับการลงทุนเพิ่มเติมในอันที่จะอัพเกรด หรือเปลี่ยนระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลส่วนกลางของตน ที่สำคัญก็คือสามารถเปลี่ยนตัวผู้ประกอบการ Cloud Computing ได้ตามต้องการ หากพบว่าคู่สัญญาของตนให้บริการได้ไม่เป็นที่พอใจ

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัด ก็น่าจะมองได้ว่า ธุรกิจ Cloud Computing ก็เหมือนกับสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ซึ่งเป็นของส่วนกลาง ประชาชนหรือผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างเครื่องปั่นไฟหรือเครื่องทำน้ำประปาสำหรับใช้ในบ้านเรือนของตนเอง หากแต่มีหน่วยงานกลาง เช่น การไฟฟ้า หรือการประปา เป็นผู้รับผิดชอบลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและโรงประปา แล้ววางโครงข่ายเพื่อจ่ายไฟฟ้าและน้ำประปานั้นมาสู่บ้านเรือนหรืออาคารสถานที่ธุรกิจ ผู้บริโภคมีหน้าที่เพียงชำระค่าบริการ โดยมีการทำสัญญากันเป็นหลักฐานระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งก็คือการไฟฟ้า และการประปา กับผู้บริโภคแต่ละราย ในบางสังคมที่มีผู้ประกอบการไฟฟ้า หรือประปา มากกว่าหนึ่งราย ผู้บริโภคก็มีทางเลือกที่จะเปลี่ยนตัวผู้ให้บริการได้หากไม่พึงพอใจในคุณภาพการให้บริการ หรือเมื่อพบว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ เสนอทางเลือกหรือโปรโมชั่นที่ตนถูกใจมากกว่า ซึ่งเมื่อขยายความไปถึงสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น โรงพยาบาล โทรศัพท์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ก็จะเห็นได้ว่า Cloud Computing ก็กำลังอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกัน
องค์กรต่างๆ จะลงทุนสร้างคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์เพื่อประมวลผลให้บริการภายในองค์กรไปทำไม หากต้นทุนการว่าจ้างผู้ประกอบการ Cloud Computing ให้รับประมวลผลข้อมูลแทนมีราคาเฉลี่ยต่ำกว่า เทคโนโลยีมีความเชื่อถือได้ อีกทั้งโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมความเร็วสูงก็มีพร้อม

รูปแบบและบทบาทหน้าที่ในธุรกิจ Cloud Computing

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจ Cloud computing แท้จริงก็คือการรับจ้างประมวลผลข้อมูล ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของงานประเภท Outsource เพียงแต่เป็นการ Outsource ในระดับที่มีความสำคัญต่อธุรกิจหรือกิจการภายในองค์กรเป็นอย่างมาก ความกังวลใจในศักยภาพของกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประกอบกันเป็นเครือข่าย Cloud Computing ว่าจะสามารถทำงานตอบสนองความต้องการขององค์กรธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาหรือไม่ ผู้ให้บริการมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลลับได้ดีเพียงใด ยิ่งเมื่อคิดต่อไปว่ากลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ Cloud Computing ของผู้ประกอบการแต่ละรายรับจ้างประมวลผลข้อมูลให้กับลูกค้าจำนวนมาก การรับประกันในเรื่องของเสถียรภาพของระบบ และความปลอดภัยของข้อมูล ก็ยิ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับองค์กรธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ

Cloud Computing จะแจ้งเกิดหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณและความพร้อมทางด้านเทคนิคของผู้ให้บริการเป็นสำคัญ การทำสัญญาว่าจ้างในลักษณะที่มีการกำหนดข้อตกลงระดับคุณภาพของการให้บริการ หรือ Service Level Agreement (SLA) ระหว่างองค์กรธุรกิจซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง กับผู้ประกอบการ Cloud Computing จึงเป็นหัวใจสำคัญ ตัวอย่างเช่น บริษัท ก. ว่าจ้างให้บริษัท ข. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ Cloud Computing รับหน้าที่ประมวลผลข้อมูลให้กับธุรกิจของตน โดยกำหนดขอบเขตระดับคุณภาพการให้บริการที่ชัดเจน เช่น บริษัท ก. สามารถใช้เนื้อที่บนเครือข่าย Cloud Computing ได้เดือนละ 20 เทราไบต์ และบริษัท ข. จะต้องรับประกันว่าจะสามารถรับประมวลผลให้กับบริษัท ก. ได้ในอัตรา 30 ล้านคำสั่งหรือรายการต่อเดือน โดยมีบทปรับ และขอบเขตของสัญญาในด้านอื่นๆ ที่ชัดเจน ซึ่งก็ไม่ต่างจากการกำหนดโปรโมชั่นการใช้โทรศัพท์ หรือพิกัดกระแสไฟฟ้า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สาธารณูปโภคด้านอื่นๆ

มิใช่เฉพาะแต่การรับประมวลผลให้กับองค์กรหรือหน่วยงานธุรกิจเท่านั้น Cloud Computing ยังมีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำธุรกรรมบนโลกพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปแล้ว ตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการเว็บไซต์รายหนึ่งพบว่าการให้บริการของตนจำเป็นต้องมีการประมวลผลข้อมูลมหาศาล แทนที่จะลงทุนสร้างและติดตั้งคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์เองให้เป็นภาระ ก็หันไปซื้อบริการรับประมวลผลจากผู้ประกอบการ Cloud Computing โดยมีการตกลงเงื่อนไขในการประมวลผลชัดเจน เช่น เมื่อมีลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของตน หากมีการคลิกเลือกทำรายการประเภทใดประเภทหนึ่ง เว็บไซต์ของตนก็จะส่งคำสั่งไปที่ Cloud Computing เพื่อรับช่วงจัดการประมวลผลต่อ เมื่อประมวลผลเสร็จแล้ว ให้ส่งผลลัพธ์ไปที่อีกเว็บไซต์หนึ่ง เป็นต้น
ที่น่าสนใจก็คือ วันใดก็ตามที่กระแสการยอมรับในโลกธุรกิจต่อเทคโนโลยี Cloud Computing ขยายตัวมากขึ้น เราจะเห็นบริษัทนายหน้าจำนวนมากถือกำเนิดขึ้น โดยมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นคนกลางรับจัดหาและบริหารจัดการผู้ประกอบการ Cloud Computing เพื่อขายบริการต่อให้กับองค์กรธุรกิจหรือหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งไม่ต่างจากการมีนายหน้าหรือโบรกเกอร์เป็นคนกลางรับบริหารจัดการ portfolio หุ้นให้กับผู้คนในยุคปัจจุบัน การทำสัญญา SLA ระหว่างองค์กรธุรกิจกับบริษัทนายหน้าก็จะเป็นเรื่องปกติของธุรกิจในอนาคตอันใกล้

Cloud Computing ในประเทศไทย

ใครๆก็สามารถตั้งตนเป็นผู้ให้บริการ Cloud Computing ได้ ขอเพียงแต่สามารถลงทุนเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน และมีซอฟต์แวร์และระบบบริหารจัดการทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถจัดหาวงจรอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อไปโครงข่าย Cloud Computing เข้าด้วยกัน ในกรณีที่มีการแยกอาคารสถานที่ติดตั้ง

การพัฒนาขีดความสามารถของโครงข่ายสื่อสารข้อมูล โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และหากจะให้ดีก็น่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ใยแก้วนำแสง ซึ่งปัจจุบันรองรับด้วยเทคโนโลยี FTTH (Fiber To The Home) จะช่วยทำให้องค์กรธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการ Cloud Computing ด้วยวงจรสื่อสารความเร็วสูง และจะได้ลดข้อจำกัดในเรื่องของความเร็วในการเชื่อมต่อลงได้ อาจกกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า นอกเหนือจากพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่นิยมการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อรับสื่อมัลติมีเดียแล้ว กระแสความนิยมในบริการ Cloud Computing ของภาคธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้มีการขยายเพิ่มขีดความสามารถของโครงข่ายบรอดแบนด์ในประเทศไทย

ปัจจุบันมีบริษัทขนาดเล็กหลายแห่งในประเทศไทย ลงทุนสร้างเครือข่าย Cloud Computing รับประมวลผลให้กับลูกค้าองค์กรที่เป็นบริษัทขนาดย่อมๆ กันแล้ว เมื่อใดก็ตามที่กระแสความนิยมในเทคโนโลยี Cloud Computing ในบ้านเราเปิดกว้างมากขึ้น ประกอบกับการขยายขีดความสามารถของเครือข่ายบรอดแบนด์อย่างต่อเนื่อง เราจะได้เห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจใหม่นี้อย่างแน่นอน เชื่อได้เลยว่าอนาคตที่ว่านั้นอยู่ไม่ไกลเกินไปนัก





“Cloud Computing” เทคโนโลยีอนาคต.....สำหรับ SME วันนี้!

อาจกล่าวได้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยี Cloud Computing ในประเทศไทยที่คาดกันว่าจะเริ่มมีการพูดถึงละใช้งานแพร่หลายมากขึ้นอย่างมากในปีนี้นั้น ไม่เพียงแต่เฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นแต่ Cloud Computing จะลงไปให้บริการกับองค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) ซึ่งนับเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ให้บริการหลายราย จึงเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยเอื้อให้ SME สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ธุรกิจต่างๆ ได้อย่างเต็มที่โดยใช้เงินลงทุนน้อยลง

ทั้งนี้โครงสร้างทางเทคโนโลยีของ Cloud Computing ที่เป็น “ระบบการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ” เป็นวิธีการประมวลผลที่อิงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยผู้ใช้สามารถระบุความต้องการไปยังซอฟต์แวร์ของระบบ Cloud Computing จากนั้นซอฟต์แวร์จะร้องขอให้ระบบจัดสรรทรัพยากรและบริการให้ตรงกับความต้องการผู้ใช้ โดยระบบสามารถเพิ่มและลดจำนวนทรัพยากร รวมถึงเสนอบริการให้พอเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้ได้ตลอดเวลาโดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องทราบเลยว่าการทำงานหรือเหตุการณ์เบื้องหลังเป็นเช่นไร

องค์ประกอบของการใช้บริการจาก Cloud Computing นั้น ผู้ใช้มีเพียงอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้บริการต่างๆ ได้แล้ว ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นธุรกิจสำหรับกิจการตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ รูปแบบบริการจะถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานแบบแยกชิ้น คือผู้ใช้สามารถเลือกใช้ประเภทบริการและจำนวนแอพพลิเคชั่นตามความต้องการใช้งานจริง โดยเสียจ่ายใช้จ่ายตามปริมาณการใช้งานและจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปีก็ได้

Cloud Computing ทางเลือกสำหรับ SME ใช้ไอทีเสริมแกร่ง

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มทางธุรกิจกับการเติบโตของ Cloud Computing นั้น เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จากผลการวิจัยล่าสุด ไอบีเอ็มคาดว่า Cloud Computing จะถูกใช้งานเพิ่มมากขึ้นและมีบทบาทอย่างมากในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ด้วยเทคโนโลยีนี้ทรัพยากรทางด้านไอทีจะถูกผนวกรวมศูนย์เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยองค์กรประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และช่วยให้องค์กรเพิ่มหรือลดขนาดของระบบไอทีได้ตามต้องการ

ทั้งนี้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Cloud Computing คือให้พลังการประมวลผลสมรรถนะสูงกว่าแต่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เพราะ Cloud Computing ช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อนให้กับระบบไอทีทั้งหมด เนื่องจากองค์กรอาจใช้บริการจาก Cloud Computing ที่ถูกโฮสต์ไว้ภายนอกและซื้อใช้ในรูปแบบของบริการแทนที่จะต้องลงทุนซื้อซอฟท์แวร์มาใช้เอง ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ SME ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและมีพนักงานฝ่ายเทคนิคอยู่อย่างจำกัด

cloud computing internet

Google Apps: บริการยอดฮิตบน Cloud Computing

สำหรับธุรกิจ SME นั้น ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นธุรกิจที่ให้บริการเป็นภาษาไทยบน Cloud Computing แล้วหลายบริการจากผู้ให้บริการหลายรายไม่ว่าจะเป็น Google Apps จาก Google Inc. โดยความร่วมมือกับ Saleforce.com และล่าสุดบริการ Software Plus Service จากไมโครซอฟท์เตรียมเปิดบริการสำหรับลูกค้าในประเทศไทยในเร็วๆ นี้ด้วยเช่นกัน

Google Apps คือ ตัวอย่างของ Web 2.0 ที่เป็นจุดพลิกผลันให้เกิด Cloud Computing ที่รวมแอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านจุดเดียว รวมไปถึงบริการที่มีอยู่มากมาย ตั้งแต่ Search Engine, G-mail, Picasa, Google Video, Google Doc, Google Calendar, YouTube, Google Maps, Google Reader และ Blogger เป็นต้น

บริการ Google Apps คือชุดผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งบนเว็บ เพื่อการสื่อสารและช่วยในการทำงานร่วมกันที่พร้อมรองรับภาษาไทย โดยเป็นชุดแอพลิเคชันที่ติดตั้งบนเว็บ เช่น Google Talk อีเมล์ (G-mail) ภายใต้ชื่อโดเมนของผู้ใช้งานเอง เช่น yourname@yourdomain.com ปฎิทิน (Google Calendar) และเอกสาร (Google Documents) เพื่อช่วยองค์กรต่างๆ ที่ต้องการชุดเครื่องมือด้านการสื่อสารคุณภาพสูงสำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้โดยไม่ต้องซื้อ ติดตั้ง หรือคอยบำรุงรักษาด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ให้ยุ่งยาก ผู้ใช้สามารถจัดการข้อมูลของตนได้เองทั้งหมดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการต่างๆ จะถูกโฮสต์ไว้ที่ Google โดยผู้ใช้ที่ได้รับการตั้งค่าจากผู้ดูแลระบบ เพียงแค่เข้าไปที่หน้าล็อกอิน (Login) ผ่านคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้ ก็เข้าใช้งานระบบได้ทันที อีกทั้งบริการต่างๆ ยังออกแบบมาให้รองรับปริมาณผู้ใช้ และพื้นที่เก็บข้อมูลจำนวนมากได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาระบบได้อย่างมหาศาล

ทั้งนี้ Google Apps มีบริการให้เลือก อาทิ Google Apps Standard Edition บริการฟรีสำหรับธุรกิจ กลุ่มชมรมและองค์กร หรือแม้แต่นำมาประยุกต์ใช้ในครอบครัว โดยนำ Google Apps มาใช้กับโดเมน และ Google Apps Premier Edition ที่คิดค่าบริการ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี สำหรับผู้ใช้แต่ละคน โดยตัวระบบได้ออกแบบมาให้มีความสามารถมากขึ้น ทั้งด้านการติดตั้ง การบูรณาการระบบ และการจัดเก็บข้อมูล เหมาะสำหรับธุรกิจทุกประเภท มีบริการช่วยเหลือทางโทรศัพท์ ให้พื้นที่สำหรับจัดเก็บอีเมล์สูงถึง 10 กิกะไบต์ และมี API พร้อมสำหรับเชื่อมต่อ นอกจากนี้ยังมี Google Apps Education Edition: ใช้งานฟรีสำหรับโรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา พร้อมด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ ครบถ้วนทั้งด้านการช่วยเหลือ การจัดเก็บข้อมูล และ API สำหรับงานพัฒนาต่อยอด โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ Google Apps ในประเทศไทยแล้วนับร้อยราย

google apps

ไมโครซอฟท์เตรียมส่งบริการบน Cloud Computing ลงตลาดไทยครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ ลักษณะบริการ Cloud Computing ไม่เพียงจะเป็นคู่แข่งสำคัญต่อไมโครซอฟท์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่อื่นๆ เช่น ออราเคิล และเอสเอพี ซึ่งมักสร้างรายได้จากการขายไลเซนส์การใช้งานซอฟต์แวร์ที่คิดตามการติดตั้งลงบนเครื่องแต่ละครั้ง รวมถึงค่าธรรมเนียมที่ได้จากการดูแล ปรับปรุงระบบให้ในภายหลัง

ดังนั้น ไมโครซอฟท์ จึงได้กระโดดเข้าสู่สมรภูมิของ Cloud Computing ด้วยการเปิดตัว Windows Azure วินโดวส์เวอร์ชั่นใหม่ที่รันบนอินเทอร์เน็ตที่ถูกหมายมั่นปั้นมือให้เป็น Cloud OS โดย Windows Azure สนับสนุนเทคโนโลยีหลักของไมโครซอฟท์เช่น .NET Framework และ Visual Studio 2008 ไมโครซอฟท์ตั้งใจให้ Windows Azure เป็นแพลตฟอร์มหรือรูปแบบมาตรฐานของเทคโนโลยี Cloud Computing เหมือนกับที่วินโดวส์โมบายล์ (Windows Mobile) เป็นแพลตฟอร์มของโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ

ดร.ประสบโชค ประมงกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ได้เตรียมความพร้อมการให้บริการ Cloud Computing ทั่วโลก ล่าสุดดาต้าเซ็นเตอร์ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว 5 ศูนย์ ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยศูนย์ทั้งหมดสามารถให้บริการผู้ใช้ได้ทั่วโลก สำหรับตลาดเมืองไทยนั้นมีแนวโน้มว่าจะมีบริการบน Cloud Computing ให้บริการประมาณครึ่งหลังของปี 2552 อย่างแน่นอน โดยกลุ่มเป้าหมายคือธุรกิจทุกขนาด ซึ่งการให้บริการแอพพลิเคชั่นบน Cloud Computing นับเป็นกลยุทธ์ล่าสุดของไมโครซอฟท์ที่เปลี่ยนนิยามตัวเองจากบริษัทซอฟต์แวร์ (Software Company) เป็นบริการซอฟต์แวร์และบริการ (Software Plus Service Company)

ตัวอย่างบริการแอพพลิเคชั่นบน Cloud Computing ของไมโครซอฟท์ ได้แก่ ชุดซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ทั้ง Microsoft Word และ Excel รวมถึง Exchange และ Share Point ในรูปแบบออนไลน์ โดยผู้ใช้สามารถใช้งานผ่านเว็บเบราเซอร์ โดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมบนเครื่องพีซี ซึ่งไมโครซอฟท์คาดหวังที่จะให้บริการโปรแกรมออฟฟิศออนไลน์ชนิดเต็มรูปแบบ ตั้งแต่โปรแกรมที่ทันสมัยมากที่สุดจนถึงเวอร์ชั่นธรรมดาในหลากหลายทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นแบบพ่วงโฆษณาไปกับตัวโปรแกรม ระบบสมาชิก และแบบมีค่าไลเซ่นส์

Cloud Computing: ความท้าทายครั้งใหม่ของซอฟต์แวร์เฮ้าส์ไทย

สมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า Cloud Computing อาจดูเป็นเหมือนปัจจัยลบต่อผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจซอฟต์แวร์จากการขายสินค้าเป็นไลเซ่นส์มาสู่การขายบริการ ซึ่งในระยะแรก Cloud Computing ถือเป็น Killer ที่จะมาทำลายระบบการขายแบบเดิมแต่ในระยะยาวจะให้ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการซอฟตแวร์ไทย เพราะ Cloud Computing เหมาะสำหรับแอพพลิเคชั่นพื้นฐานที่มีผู้ใช้จำนวนมาก อาทิ Excel และ Office แต่ไม่เหมาะกับแอพพลิเคชั่นที่เป็นระบบหลักอย่าง Core Banking ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยจึงต้องปรับตัวและเร่งพัฒนาตัวเองไปสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์โดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นศูนย์กลางแทนความคิดแบบเดิมๆ ที่คิดถึงสินค้าเป็นหลัก

นอกจากนี้ในระยะยาว Cloud Computing จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยในเรื่องของต้นทุนเพราะไม่ต้องลงทุนสร้างเครือข่ายในการขาย และสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ได้เป็นโมดุลๆ ขายได้ทันที แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากคือบริการหลังการขาย เพราะเมื่อมีผู้ใช้บริการหันมาซื้อซอฟต์แวร์ผ่าน Cloud Computing มากขึ้น จึงต้องมั่นใจว่าสามารถให้บริการหลังการขายได้อย่างดี ในด้านผู้ใช้บริการก็จะได้ประโยชน์เพราะ Cloud Computing จะช่วยลดภาระค่าไลเซ่นส์มาสู่การจ่ายตามการใช้งานจริง

“Cloud Computing มีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยที่ต้องเรียนรู้เพื่อที่สร้างเงินจากเทคโนโลยีใหม่นี้ให้ได้”
sme_s.jpg
http://www.iwisdom.co.th/v15/index.php?option=com_content&view=article&id=909:smes-thailand&catid=57:e-update&Itemid=330




Cloud Computing
โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์


ทุกวันนี้ยังมีความสับสนและความคิดที่หลากหลายของแนวคิดเรื่อง Cloud Computing อยู่มาก

บริษัท Version One ซึ่งเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการเอกสารเคยทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ Cloud Computing พบว่า 41 เปอร์เซ็นต์ของมืออาชีพทางด้านไอทีระดับซีเนียร์ (ซึ่งหมายถึงระดับผู้อำนวยการและผู้จัดการฝ่ายไอที) ในองค์กรภาครัฐและเอกชนของสหราชอาณาจักรยอมรับว่า พวกเขาไม่รู้ว่า Cloud Computing คืออะไร

ขณะที่ 59 เปอร์เซ็นต์ของมืออาชีพทางด้านไอทีที่รู้ว่า Cloud Computing เป็นอย่างไรนั้น 17 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ เข้าใจว่าเป็นการประมวลผลที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ 11 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าเป็นการผสมผสานระหว่างการประมวลผลที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน, บริการด้านซอฟต์แวร์ (SAAS), ซอฟต์แวร์ตามความต้องการใช้งาน (Software on demand), บริการเอาท์ซอร์ส และบริษัทโฮสต์ซอฟต์แวร์ ส่วนที่เหลือนั้นจะเข้าใจว่า Cloud Computing คือการผสมผสานของทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Cloud Computing จะเป็นเทรนด์ที่เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ตอบว่า พวกเขาใช้มันเป็นประจำ และ 19 เปอร์เซ็นต์ใช้มันน้อย ในขณะที่เกือบครึ่งหนึ่ง (47 เปอร์เซ็นต์) ยอมรับว่า องค์กรของพวกเขาไม่เคยใช้ Cloud Computing เลย ที่เหลืออีก 29 เปอร์เซ็นต์ไม่รู้ว่าองค์กรของพวกเขาใช้ Cloud Computing หรือเปล่า

เมื่อมองถึงแนวโน้มการใช้งาน Cloud Computing ในอนาคต 2 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนที่ถูกสำรวจบอกว่าองค์กรของพวกเขาจะลงทุนใช้งาน Cloud Computing อย่างแน่นอนภายใน 12 เดือน ข้างหน้า 30 เปอร์เซ็นต์บอกว่าองค์กรของพวกเขาอาจจะลงทุนด้านนี้ 45 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า พวกเขาไม่รู้ว่าองค์กรของพวกเขาจะทำอะไรเกี่ยวกับ Cloud Computing หรือไม่ และอีก 23 เปอร์เซ็นต์ไม่มีแผนใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อมองในแง่ความหมายแล้ว เว็บไซต์ Javaboom ค่อนข้างอธิบายได้อย่างละเอียดเป็นภาษาไทยในเรื่อง Cloud Computing โดยบอกไว้ว่า "Cloud Computing คือวิธีการประมวลผลที่อิงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยผู้ใช้สามารถระบุความต้องการไปยังซอฟต์แวร์ของระบบ Cloud Computing จากนั้นซอฟต์แวร์จะร้องขอให้ระบบจัดสรรทรัพยากรและบริการให้ตรงกับความต้องการผู้ใช้ ทั้งนี้ระบบสามารถเพิ่มและลดจำนวนของทรัพยากร รวมถึงเสนอบริการให้พอเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้ได้ตลอดเวลา โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องทราบเลยว่าการทำงานหรือเหตุการณ์เบื้องหลังเป็นเช่นไร"

ขณะเดียวกัน บริษัท Gartner ก็กล่าวถึง Cloud Computing ว่า เป็นแนวทางการจัดการระบบประมวลผลที่อาศัยศักยภาพของโครงสร้างทางไอทีขนาดใหญ่ที่สามารถขยายตัวได้ และถูกนำ ไปให้บริการกับลูกค้าภายนอกจำนวนมาก

ฟอเรสเตอร์กรุ๊ปกล่าวว่า Cloud Computing คือ กลุ่มของโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกบริหารจัดการและสามารถขยายตัวได้อย่างมาก โดย Cloud Computing นี้มีขีดความสามารถในการรองรับโปรแกรม ประยุกต์ต่างๆ ของผู้ใช้ โดยผู้ให้บริการจะเก็บค่าบริการตามการใช้งาน


ใน Wikipedia ให้ความหมายไว้ว่า Cloud Computing เป็นการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการประมวลผล โดยทรัพยากรเหล่านี้จะมีผู้ให้บริการเป็นบุคคล หรือองค์กรที่สาม (Third party) เป็นเจ้าของและจัดการมันโดยจะรวมทรัพยากร เหล่านี้ไว้ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ ผู้ที่จะใช้งานหรือบริการ Cloud Computing จะซื้อบริการเหล่านั้นในรูปของจำนวนหรือขนาดของความสามารถของทรัพยากรตามความต้องการใช้งานโดยไม่ต้องสนใจว่าทรัพยากร ที่มีอยู่นั้นมีศักยภาพมากน้อยเพียงใด รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีความรู้หรือมีความเชี่ยวชาญใดๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีของทรัพยากรที่ถูกจัดสรรไว้ให้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คนที่จะต้องกังวลก็คือผู้ให้บริการต่างหาก พวกเขาจะต้องจัดเตรียมระบบที่สามารถขยายตัวได้ตามความต้องการที่ไม่จบไม่สิ้นของผู้ใช้ทั้งหลาย โดยถ้าผู้ใช้ต้องการทรัพยากรมากกว่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถจัดเตรียมให้ได้ ผู้ให้บริการเหล่านั้นก็จะต้องทำอย่างไรก็ได้ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ซึ่งความต้องการที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นความต้องการฉับพลันที่สามารถเกิดขึ้นในเวลาไหนก็ได้ ซึ่งหลายๆ ครั้งก็เป็นเรื่องยากที่ผู้ให้บริการจะสามารถลงทุน ขยายทรัพยากรให้มากตามความต้องการได้ทันท่วงที ทางออกก็อาจจะเป็นการที่ผู้ให้ บริการไปเป็นลูกค้าของผู้ให้บริการรายใหญ่ หรือรายอื่นแทน หรืออาจจะวางแผนเตรียม ทรัพยากรจำนวนมหาศาลไว้ ซึ่งก็จะต้องวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าของการลงทุนประกอบด้วยเช่นกัน

โดยหลักๆ แล้ว บริการที่ Cloud Computing จัดสรรไว้ให้จะมีโครงสร้างพื้นฐานแพลทฟอร์ม และซอฟต์แวร์ที่ถูกจัดสรรไว้เป็นบริการให้ใช้ได้

ผมเคยกล่าวถึง Cloud Computing มาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากมายนัก ในบทความฉบับนี้ผมจึงอยากพูดถึงในแง่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า

เราอาจจะกล่าวได้ว่า Cloud Computing กำลังจะสร้างความแปลกใหม่ให้กับการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปสู่แนวทาง Cloud Computing จะทำให้องค์กรนั้นๆ สามารถลดค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นกับการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ขององค์กรในการจัดการระบบทางด้านความอัจฉริยะต่างๆ

ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า จริงๆ แล้ว Cloud Computing จะเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของวงการไอที หรือไม่ บริษัทอย่าง Amazon, Google และ Microsoft ต่างเดิมพันครั้งสำคัญกับแนวคิด Cloud Computing กันทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ว่า Cloud Computing สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนเริ่มต้น ทำให้ความสามารถในการขยายระบบ หรือ scalability สูง สามารถเข้าถึงแพลทฟอร์มที่หลากหลาย และความสามารถในการทำงานร่วมกับแพลทฟอร์มที่ยืดหยุ่นและมีศักยภาพด้วยโครงสร้างราคาที่หลากหลายและไม่มีข้อผูกมัดใดๆ

การใช้ Cloud Computing ทำให้ ผู้ใช้สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องของค่าใช้จ่ายในการลงทุน หรือ capital expenditure หรือ CapEx ของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการต่างๆ ได้ โดยพวกเขาจะจ่ายเพียงเฉพาะสิ่งที่พวกเขาใช้จริงๆ เท่านั้น การใช้ ทรัพยากรหรือที่เรียกว่า Consumption นั้นจะวัดจากการใช้งานจริง ซึ่งเรียกว่า utility เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างการใช้ไฟ เป็น ต้น หรืออาจอยู่ในรูปแบบของการสมัครใช้งานหรือ subscription ซึ่งจะวัดจากระยะเวลา เช่น การรับหนังสือพิมพ์รายวัน ซึ่งแทบจะไม่มีค่าเริ่มต้นหรือมีก็น้อยมาก

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการ Cloud Computing หลายๆ รายยังให้บริการในลักษณะของค่าบริการรายเดือนแทนการวัดจากการใช้งานจริง ข้อดีของการใช้วิธี Time sharing แบบนี้คือ จะมี Barrier to entry หรืออุปสรรคในการเข้าตลาดที่ต่ำ มีการแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานและต้นทุนซึ่งกันและกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และทำให้สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่หลากหลายได้ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถยกเลิกสัญญาตอนไหนก็ได้ ซึ่งทำให้สามารถหลีก เลี่ยงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน (return on investment) ได้

อย่างไรก็ตาม ตามปกติแล้วบริการต่างๆ มักจะถูกปกป้องไว้ด้วย Service level agreements หรือ SLAs โดยมีการปรับเงินหรือในรูปแบบของการตอบแทนใดๆ อยู่แล้ว

SLA เป็นพันธสัญญาในการให้บริการของหน่วยงานใดๆ โดยจะมีการกำหนดระดับของการให้บริการไว้อย่างชัดเจนและประกาศให้รู้โดยทั่วกัน โดยที่ระดับของการให้บริการนั้นจะหมายรวมถึง ลักษณะของการให้บริการ, ลำดับความสำคัญ, อำนาจหน้าที่รับผิดชอบ และการรับประกันด้วย

นอกจากนี้ SLA ยังหมายถึงข้อตกลงในลักษณะของเวลาหรือประสิทธิภาพ ในการส่งมอบบริการให้กับลูกค้า เช่น การเอานาฬิกามาตั้งบนเคาน์เตอร์ให้ลูกค้ากดจับเวลาการให้บริการของพนักงานในร้านแมคโดนัลด์ หรือการรับประกันการไปส่งอาหารภายในเวลาที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งถ้า องค์กรนั้นๆ ไม่สามารถให้บริการได้ตามที่กำหนดก็จะมีบทลงโทษในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น การลดราคาให้เป็นพิเศษ หรือการให้สินค้าอื่นฟรี เป็นต้น ปัจจุบัน SLA จะเป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้วัดในการเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งเพราะสามารถบอกถึงศักยภาพในการให้บริการได้

บางคนจึงกล่าวว่า การมาของ Cloud Computing เปรียบเสมือนการถือกำเนิดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทต่างๆ อาจจะสามารถลดค่าใช้จ่ายเริ่มต้น (Capital expenditure) หรือค่าใช้จ่ายในการลงทุนทรัพยากรต่างๆ ได้ก็ตาม แต่พวกเขาจะไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expense) หรือเรียกว่าค่าใช้จ่ายในการใช้บริการทรัพยากรได้ ซึ่งอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่มากกว่าเสียอีก ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายในการลงทุนอาจจะค่อนข้างน้อย หรือในกรณีที่องค์กรมีความยืดหยุ่นในการตั้งงบประมาณในการลงทุนมากกว่างบประมาณสำหรับค่าใช้บริการ แนวคิดแบบ Cloud Computing อาจจะไม่เหมาะสมนักในแง่การเงิน

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นอีกมาก มายที่จะต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพของดาต้าเซ็นเตอร์ที่องค์กรใช้งานอยู่เมื่อเทียบกับการใช้บริการของ Cloud Computing, ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่องค์กรจ่ายอยู่, ระดับของการนำเอา Cloud Computing มาใช้งาน รวม ถึงฟังก์ชันที่สามารถใช้งานได้บน Cloud Computing

อาจจะกล่าวได้ว่า Cloud Computing จะเป็นมาตรฐานในการให้บริการทางด้านการจัดการระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ขององค์กรในอนาคต เหมือนๆ กับที่เราใช้ไฟและใช้น้ำประปาในทุกวันนี้ ปัญหาที่เราจะต้องขบคิดก็คือ เราจะต้องตั้งมาตรฐานมาควบคุมการให้บริการ ปัจจัยใดจะเป็นตัวกำหนดมาตรฐาน และทำอย่างไร Cloud Computing ถึงจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสำหรับการเปลี่ยนมาใช้บริการนี้ของแต่ละองค์กร

นี่จะเป็นความท้าทายครั้งใหม่ขององค์กรธุรกิจ

อ่านเพิ่มเติม:
1. http://javaboom.wordpress.com/2008/07/23/whatiscloudcomputing/

2. http://www.cloudcomputingeconomics.com/

3. Cloud Computing Economics, Part One http://opensource.sys-con.com/node/714784

4. Will Cloud Computing Mean Fewer IT Jobs?, http://opensource.sys-con.com/node/767376

5. GigaSpaces and the Economics of Cloud Computing, http://gevaperry.typepad.com/main/2008/07/gigaspaces-and.html

6. SLAs, http://share.psu.ac.th/blog/sla/9565

http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=82189




แนวโน้มที่สำคัญ 5 ประการของคลาวด์ คอมพิวติ้ง

Ed3c2246d7d416178e7ff12249d3bbc2

เรื่อง : ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด


ทุกวันนี้ เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ดูจะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นและมักมีการพูดถึงกันบ่อยครั้งขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวโน้มการนำคลาวด์ คอมพิวติ้งไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ในปัจจุบัน เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หรือจากองค์กรต่าง ๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับหลายท่านที่ไม่ค่อยใกล้ชิดกับแวดวงไอทีนัก อาจสงสัยว่าคลาวด์ คอมพิวติ้งคืออะไร คำนิยามสั้น ๆ ของคลาวด์ คอมพิวติ้งก็คือ แนวคิดการใช้งานทางด้านไอทีที่ใช้วิธีดึงพลังและสมรรถนะจากคอมพิวเตอร์หลาย ๆ ตัวจากต่างสถานที่ให้มาทำงานสอดประสานกันเพื่อช่วยขับเคลื่อนการบริการทางด้านไอที ประโยชน์ของคลาวด์ คอมพิวติ้งมีอยู่หลายประการ เช่น ช่วยให้การนำไอทีไปประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจทำได้ง่ายและประหยัดขึ้นกว่าในอดีต โดยองค์กรสามารถใช้บริการทางด้านไอทีได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมายกับโครงสร้างพื้นฐานไอทีของตน อีกทั้งผู้ใช้งานก็สามารถเลือกใช้บริการเฉพาะอย่างและเลือกเสียค่าใช้จ่ายให้ตรงกับความต้องการเฉพาะด้านหรือสอดคล้องกับงบประมาณของตนได้ ยิ่งไปกว่านั้น คลาวด์ คอมพิวติ้งก็ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยองค์กรประหยัดพลังงาน หรือเพิ่มความอุ่นใจในด้านความปลอดภัยของระบบไอที เป็นต้น
ในอนาคตอันใกล้ คลาวด์ คอมพิวติ้งจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญและจะเข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานทางด้านไอทีขนานใหญ่ นอกจากนั้นแล้ว แนวโน้มการใช้งานคลาวด์ คอมพิวติ้งก็จะเป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น ด้วยแรงผลักดันจากแนวโน้มสำคัญ 5 ประการดังต่อไปนี้
1. แนวโน้มของเว็บที่กลายเป็นสื่อกลางสำหรับการติดต่อสื่อสารของคนทั่วโลก ปัจจุบัน โลกของเว็บโดยเฉพาะเว็บเครือข่ายทางสังคม (โซเชียลเน็ตเวิร์ก) มีการเปลี่ยนแปลงทุกวันโดยผู้ใช้หลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก ตัวอย่างเช่น เฟซบุ๊ค (Facebook) วิกิพีเดีย (Wikipedia) หรือทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นต้น ด้วยความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลายของเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กนี้เอง ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีการนำเว็บแอพพลิเคชั่นรูปแบบดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรในองค์กร
ตัวอย่างก็คือ บริษัท ไชน่า เทเลคอม (China Telecom) หนึ่งในผู้ให้บริการทางด้านโทรคมนาคมชั้นนำในประเทศจีน และโซเกตี้ (Sogeti) บริษัทผู้ให้บริการทางด้านเทคโนโลยีชั้นนำแห่งหนึ่งในยุโรป ที่ได้เลือกใช้โซเชียล เน็ตเวิร์กผ่านเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งในองค์กร เพื่อระดมความคิดของพนักงานผ่านระบบออนไลน์ในแบบเรียลไทม์ รูปแบบการใช้งานคลาวด์ คอมพิวติ้งดังกล่าวนี้สามารถรวบรวมข้อมูลจากพนักงานของโซเกตี้ 18,000 คน โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปบริหารจัดการและวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้งานเพื่อประโยชน์ในเชิงธุรกิจต่อไป
นอกจากนั้น การสื่อสารอินเทอร์แอคทีฟในแบบเรียลไทม์ หรือที่เรียกว่าเว็บ 2.0 ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันแนวโน้มการใช้งานทางด้านคลาวด์ คอมพิวติ้งให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าว นอกจากจะตอบสนองการทำงานของเว็บไซท์ที่เนื้อหามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแล้ว การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลยังทำได้อย่างรวดเร็ว โดยดึงประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่มีอยู่มาใช้งานได้อีกด้วย
2. แนวโน้มความต้องการประหยัดพลังงาน ด้วยปัญหาโลกร้อน และค่าใช้จ่ายของพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรหลายแห่งในปัจจุบันต่างหันมาให้ความสำคัญกับการลดพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานที่ใช้ในระบบไอที ทั้งนี้เพื่อช่วยองค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายและลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ ประโยชน์ของคลาวด์คอมพิวติ้งในด้านนี้ก็คือ การช่วยองค์กรลดการใช้พลังงาน หรือแม้กระทั่งการนำพลังประมวลผลส่วนเกินที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานในระบบคอมพิวเตอร์ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้อีก จากผลการวิจัยล่าสุดโดยบริษัท อินโฟ-เทค รีเสิร์ชกรุ๊ป พบว่า เครื่องแม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่ที่ทำงานตลอดเวลานั้น ส่วนใหญ่มีการใช้ทรัพยากรในระบบเพียงแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ด้วยแนวคิดของคลาวด์ คอมพิวติ้งนี้เอง จะช่วยควบรวมทรัพยากรในระบบให้ทำงานและเกิดความคุ้มค่ารวมทั้งประโยชน์สูงสุดจากการใช้ทรัพยากรในระบบ นอกจากนั้นแล้ว วิธีการดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้องค์กรสามารถเพิ่มหรือลดขนาดการใช้งานของระบบได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นการช่วยองค์กรประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง
3.ความต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กร ด้วยการแข่งขันอย่างรุนแรงทางธุรกิจในปัจจุบัน องค์กรชั้นนำหลายแห่งต่างให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความแตกต่างขององค์กรในอีกทางหนึ่ง แนวโน้มการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมดังกล่าวนี้เอง ถือเป็นการกระตุ้นการนำคลาวด์ คอมพิวติ้งไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ ทั้งนี้ เพราะการสร้างสรรค์นวัตกรรมสามารถทำได้ด้วยการดึงคุณประโยชน์ของคลาวด์ คอมพิวติ้งซึ่งให้พลังการประมวลผลที่เหนือกว่า แต่ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์นั่นเอง
ที่นิคมอุตสาหกรรมในเมืองหวูซี่ (Wuxi) ประเทศจีน ลูกค้าที่เช่าพื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มกิจการ สามารถใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานไอทีทั้งหมดภายในนิคมฯ เพียงแค่เสียบสายเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ของบริษัทเข้ากับระบบไอทีส่วนกลางของนิคมฯ เท่านั้น โดยบริษัทเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนทางด้านระบบไอทีมากมายแต่อย่างใด นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวทำงานร่วมกับไอบีเอ็มในการสร้างศูนย์ประมวลผลแบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งรองรับการใช้งานของผู้เช่าพื้นที่ ซึ่งการให้บริการทางด้านไอทีถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว เช่นเดียวกับระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า และประปานั่นเอง
4. ความต้องการใช้งานไอทีที่ง่ายและไม่ซับซ้อน ปัจจุบัน แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีความสลับซับซ้อนเพียงใดก็ตาม สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว หลายคนก็ยังต้องการการใช้งานที่ง่ายและไม่ยุ่งยาก ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ให้บริการทางด้านไอทีหลายรายในปัจจุบันจึงหันมาใช้เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง เพื่อนำเสนอบริการทางด้านซอฟต์แวร์แบบ ‘จ่ายเท่าที่ใช้’ (Software as a Service) เพื่อเป็นทางเลือกแก่ลูกค้าโดยเฉพาะองค์กรขนาดกลางหรือขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มักมีเจ้าหน้าที่ทางด้านไอที่ทำงานอยู่อย่างจำกัด แทนรูปแบบการซื้อซอฟต์แวร์มาใช้โดยตรงแบบในอดีต การใช้งานในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะทำให้การนำไอทีไปใช้งานทำได้ง่ายยิ่งขึ้นแล้ว องค์กรนั้น ๆ ก็จะได้รับประโยชน์จากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยอยู่เสมอ โดยไม่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและการอัพเกรดเวอร์ชั่นของซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เช่นในอดีต
5. การจัดระเบียบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ทุกวันนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าข้อมูลต่าง ๆ มากมายในเว็บช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้นกว่าในอดีตมาก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจุบัน เราจะมีเสิร์ชเอ็นจิ้นที่ช่วยเราหาข้อมูลที่ต้องการอยู่มากมาย แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยปริมาณข้อมูลในเว็บที่เพิ่มมากมายมหาศาลในแต่ละวัน โดยเฉพาะข้อมูล และไฟล์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายล้านคนส่งขึ้นไปในเว็บในแต่ละวันนั้น หากไม่มีการจัดระเบียบอย่างเป็นระบบที่ดี การนำคุณประโยชน์ของเว็บมาพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเต็มรูปแบบก็อาจทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
คุณประโยชน์อันโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของคลาวด์ คอมพิวติ้งก็คือ ความสามารถในการจัดระเบียบสิ่งต่างๆ ให้เป็นระบบดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลมากมายหลากหลายประเภทให้เป็นระบบ ซึ่งช่วยให้การค้นหาและเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ทำได้เร็วและถูกต้องแม่นยำกว่าเดิม
ด้วยความสามารถและคุณประโยชน์อันมากมายดังที่กล่าวมานี้ ถือได้ว่าคลาวด์ คอมพิวติ้งจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญแห่งอนาคต และจะมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น ธุรกิจใดก็ตามที่สามารถฉกฉวยโอกาสและสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของตนได้ก่อนก็ย่อมจะสร้างความได้เปรียบและโอกาสในการต่อยอดความสำเร็จทางธุรกิจขององค์กรได้ก่อนใคร

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคลาวด์ คอมพิวติ้งของไอบีเอ็ม สามารถเข้าไปที่ www.ibm.com/grid
http://www.smethailandclub.com/web/category/inside/id/726/parent_id/6