ตำหนิแบบไหน ไม่ให้ลูกน้องเสียหน้า









ตำหนิแบบไหน ไม่ให้ลูกน้องเสียหน้า


ไม่ว่าความผิดพลาดสูญเสียในงาน จะมากมายเพียงใดก็ตาม
ร้อยทั้งร้อย ไม่มีคนทำงานคนไหนอยากถูกตำหนิติเตียน หรือกล่าวโทษ
แต่สำหรับหัวหน้างานแล้ว ถือว่าเป็นบทบาทหนึ่งที่ต้องกระทำ
ซึ่งการตำหนิ และวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดนั้น ก่อให้เกิดผลลัพท์ในเชิงบวกได้ หากรู้จัก “จัดการ”

วันดีคืนดีลูกน้องทำตลาดพัง วันร้ายคืนร้าย ลูกน้องแสนดีกลับเหลวไหล
ประหนึ่งเป็นพนักงานที่ถูกส่งมาจากองค์กรนรก
จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่หัวหน้างานจะควบคุมอาการ “นอตหลุด” เอาไว้ในใจ
ดังนั้น ย่อมเกิดบรรยากาศการโวยวายกันบ้าง แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอก็คือ
มักไม่ค่อยมี ลูกน้องคนใดอยู่รอให้ “โดนด่า”

ในรายที่ฉลาดแกมโกงก็มักแก้ปัญหาให้พ้นตัวไป โดยชี้หน้าโทษผู้ร่วมงานคนอื่น
ไปจนถึงการโยนปัญหาไปให้ เป็นความรับผิดของสถานการณ์แวดล้อมที่ไร้ตัวตนเสียทุกทีไป
นั่นเป็นเพราะ ไม่มีใครอยากถูกตำหนิ นั่นเอง

อันที่จริงแล้ว การติเตียน หรือการวิพากษ์วิจารณ์นั่น ซ่อนพลังในเชิงบวกเอาไว้ไม่น้อย
การกล่าวโทษความผิดพลาดของลูกน้อง เป็นเครื่องมือของการบริหารองค์กรชนิดหนึ่ง
ที่จะช่วยป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซาก ก่อให้เกิดแรงฮึด สร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาใหม่
ด้วยความพยายามในระดับที่มากกว่าเดิม และบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจในที่สุด

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น หัวหน้างานต้อง “ติให้เป็น” โดยมีหลักการที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้
รู้จังหวะเวลา ที่เหมาะสม
การทำธุรกิจคล้ายกับการแข่งขันกีฬา ตรงที่ต่างก็ตกอยู่ในเกมเหมือนกัน
ผู้นำองค์กรคือ โค้ชของทีม ซึ่งอยู่ในฐานะมองเกม ไกด์แนวการเล่น
และตำหนิลูกทีมของตนเองได้ เมื่อเขาเล่นผิดพลาด จนทำให้ทีมเสียหายยับเยิน

เป้าหมายแรกของการตำหนิ ไม่มีอะไรมากไปกว่าป้องกันความเสียหายซ้ำซาก
ตำหนิ เพื่อให้ผู้เล่นรับผิดชอบตำแหน่งของตัวเองเต็มที่มากขึ้น และเป็นผลทางด้านจิตวิทยากับทีมโดยรวม
เพราะเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ทุกคนในทีมงานย่อมรับรู้สถานการณ์ได้เท่ากันอยู่แล้ว
ถ้าหากคนทำผิดไม่ได้รับการตำหนิเลย จะทำให้ส่วนงานอื่นๆ รู้สึกท้อแท้

เล่นผิดก็ถูกกล่าวโทษ ฟังดูเหมือนง่าย แต่การตำหนิไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
เพราะจะรู้ได้อย่างไรว่า เมื่อใดที่ควรตำหนิ และเมื่อใดไม่ควร
ต่อประเด็นนี้จึงต้องอาศัยวิจารณญาณของผู้นำองค์กรค่อนข้างมาก

ปกติแล้วความผิดพลาดในงาน หรือเกมการแข่งขัน เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ
สาเหตุแรก เป็นผลมาจากการอ่อนด้อยในความสามารถ ลูกทีมไม่อาจทำงานได้ตามเป้าหมาย
พูดง่ายๆ คือ ทักษะผิดพลาด ปัญหานี้กล่าวโทษกันก็ไร้ประโยชน์
เพราะนั่น หมายถึงฝ่ายบุคคล ตาไม่ถึง รับคนด้อยประสิทธิภาพมาทำงาน

การแก้ไขปลายเหตุคือ ต้องไล่ไปฝึกฝนทักษะกันใหม่ จัดโปรแกรมเทรนนิ่งให้เขา ซึ่งเปลืองต้นทุนมาก
ทางที่ดีก็คือ ต้องคัดคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานตั้งแต่ต้น

ส่วนสาเหตุที่ 2 เป็นผลมาจากการตัดสินใจผิดพลาด
กรณีนี้ผู้นำ และลูกทีมไม่อาจหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียน หรือรอดพ้นไปจากคำวิพากษ์วิจารณ์ได้
การกล่าวโทษด้วยวิธีการที่ดี จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกทีมตัดสินใจผิดพลาดซ้ำสอง
เพราะการตัดสินใจ เป็นเรื่องของทัศนะคติ และประสบการณ์
สามารถเรียนรู้ และพัฒนาได้จากการติดสินใจผิดพลาดครั้งแรก
ชมต่อหน้า ด่าสองต่อสอง
ผู้นำที่ชาญฉลาด อย่าลังเลที่จะชมลูกทีมในที่สาธารณะ เพื่อให้เขาเกิดกำลังใจ
เกิดความเชื่อมั่นที่จะทำงานให้ดีต่อไป
และยังเป็นผลดีต่อลูกทีมคนอื่นๆ ในองค์กรที่หวังจะพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
เพราะเขาเกิดความมั่นใจว่า เมื่อผลงานออกมาดีแล้ว ตัวเองก็จะได้รับการชมเชยบ้างเหมือนกัน

ในขณะเดียวกัน เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น การกล่าวโทษติเตียนต้องรู้กันเฉพาะนาย กับลูกน้องรายนั้น
ไม่ว่าสังคมไหนก็ตาม การเสียหน้าล้วนเป็นเรื่องใหญ่ ที่บั่นทอนพลังในการทำงานทั้งสิ้น
แม้แต่ความสำเร็จของงาน บางครั้งก็มีความผิดพลาดสูญเสียเจือปนมาทั้งสิ้น

ผู้นำต้องเลือกเฟ้นเฉพาะด้านดีออกมา ชมอย่างเปิดเผย
ส่วนอีกด้านหนึ่ง หาเวลาเหมาะสมแล้วค่อยบอกลูกน้องว่า
งานนั้น ถึงจะบรรลุเป้าหมาย แต่มีข้อเสียที่ควรปรับปรุงอย่างไร
อย่าอยู่ในความเงียบ
โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีคนทำงานคนไหน ที่ไม่รู้ว่าตัวเองทำงานผิดพลาด
และเขามักรอคอยกล่าวโทษจากผู้นำ และเพื่อนร่วมทีมอยู่แล้ว ไม่ว่าเขาจะไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ตามที
การทำผิดแล้วถูกตำหนิเลยนั้น เลวร้ายยิ่งกว่า ทั้งต่อตัวคนที่ทำผิด และต่อองค์กรโดยรวม

เวลาทำผิดแล้ว เจ้านายไม่ตำหนิเลย เชื่อไหมว่า ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนทำงานที่ไร้ค่า
ความเงียบของเจ้านายทำให้เขารู้สึกว่า เจ้านายคิดว่าเขา “Hopeless”

คนทำงานผิดพลาดแล้ว ไม่ถูกตำหนิ
ถ้าไม่ใช่ลูกน้องเส้นใหญ่ หรือเจ้านายบ้องตื้นแล้วหล่ะก็ มันมีความหมายว่า ลูกน้องรายนั้นไม่ได้พัฒนาตนเอง
ไม่ว่าจะถูกตำหนิ หรือถูกวิจารณ์อย่างไร เขาคงไม่สามารถทำงานได้ดีกว่านี้อีกแล้ว

เมื่อทำผิดพลาดแล้วไม่ถูกตำหนิ เขาจะทำงานด้วยความรู้สึกกังวลกว่าเดิม
เป็นความกังวลที่เกิดขึ้นยืดยาวไปจนถึงวันประเมินผลงานปลายปี แต่ถ้าหากทำงานผิดพลาดแล้วถูกตำหนิเลย
จะเป็นประหนึ่งสัญญาณที่ช่วยให้เขาประเมินแต้มของตัวเองได้ ลงมือฮึดสู้ใหม่
และไม่ต้องกังวลไปตลอดปีแห่งการทำงาน เพราะฉะนั้น ด่าลูกน้องเถอะ อย่าลังเล
หาแพะรับบาป
เรื่องของการตำหนิ แบบผิดฝาผิดตัว บางครั้งเกิดขึ้นจากความเขลาของผู้นำเอง ที่ไม่หาข้อมูลให้สมบูรณ์เสียก่อน
คนที่ไม่ได้ทำผิด แล้วต้องประสบกับเหตุการณ์แบบนี้ จัดว่าเป็นแพะโชคร้ายแห่งเดือน หรือแพะรับบาปแห่งปีไป
ถ้าโชคดี ผู้นำรู้ตัว แล้วแอบขอโทษขอโพยกันสองต่อสอง ก็ต้องยกประโยชน์ให้เจ้านายไป
เป็นบุญเป็นคุณกันเสียอีก ไม่ต้องไปเสียอกเสียใจ ทดท้อ หมดความเชื่อมั่นในการทำงาน
ทว่า ยังมีอีกกรณีหนึ่ง ที่ผู้นำจำเป็นต้องหาแพะรับบาปตัวจริง อันเนื่องมาจากว่า ธุรกิจมีความสูญเสียเกิดขึ้นจริง
ด้วยเหตุสุดวิสัย แต่จะปล่อยเลยตามเลยก็ไม่ได้
ไม่เช่นนั้นจะขัดกับกฏที่ว่าด้วยผู้นำต้องด่า ผู้นำต้องไม่อยู่ในความเงียบ

ประเด็นนี้ก็ขึ้นอยู่กับพิจารณญาณของผู้นำแล้วหล่ะ ว่าจะหาแพะอย่างไรให้เหมาะสม
ตำหนิแล้วแพะไม่น้อยใจยื่นใบลาออก หรืออ้างบุญคุณกับเจ้านาย
แต่หลังจากหาแพะครั้งนั้น จะช่วยให้ทีมงานเอาใจใส่งานมากขึ้น

การบริหารจัดการ และทักษะความเป็นผู้นำจึงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก
แม้กระทั่งการตำหนิลูกทีมเรื่องเดียว ก็เต็มไปด้วยศิลปะ และมีกลยุทธ์ซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ
อย่าบั่นทอนความเชื่อของ คนทำงาน
การตำหนิติเตียน เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ สำหรับองค์กรก็จริง
แต่ถ้าใช้มากใช้บ่อยเกินไป การตำหนิจะกลายเป็นเครื่องมือในการบั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานเสียเอง

ในทางบวก ช่วยป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำ
ในทางลบ กลับกลายเป็นสิ่งกัดเซาะความเชื่อมั่นในตัวเองของคนทำงาน

ดังนั้น หากอาศัยการตำหนิให้เป็นประโยชน์ ผู้นำต้องใช้วิจารณาญาณ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดี
เจ้านายที่ดุด่าลูกน้องบ่อยๆ คือ เจ้านายที่สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับองค์กร
จะไม่มีใครกล้าเสี่ยงทำในสิ่งที่สร้างสรรค์แปลกใหม่
เพราะไม่แน่ใจว่าผลที่ออกมาจะตรงกันข้ามที่คาดหวังไว้หรือไม่
ในที่สุดแล้ว ทุกคนจะทำงานกันแบบเอาตัวรอด ไม่มีใครกล้าใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มสูบ

การสร้างสมดุลระหว่างคำติเตียน และคำชมเชย จึงเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งของผู้นำ
นอกจากจะใช้ให้ถูกที่ ถูกคน และถูกเวลาแล้ว
ความสำเร็จ และความล้มเหลวในเรื่องเดียวกัน ต้องหาทางดึงข้อติ และข้อชมออกมาให้ได้
เพื่อจะใช้มันทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน
อาชีพเจ้านาย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้แต่การตำหนิลูกน้องยังต้องอาศัยกลยุทธ์ไม่น้อยเลย จริงไหม

ข้อมูลจาก Forward Mail