บทความพิเศษ : 8 วิธีสร้างแรงจูงใจ เมื่อรู้สึกท้อแท้








บทความพิเศษ : 8 วิธีสร้างแรงจูงใจ เมื่อรู้สึกท้อแท้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

การสร้างแรงจูงใจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณกำลังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ คุณเริ่มรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย แต่แทนที่จะหาทางเอาชนะมัน ก็กลับถอดใจ อยากหลบออกจากสถานการณ์ตรงนั้น ด้วยการหนีไปนอน หรือหาของกินเล่นไปนั่งหน้าจอทีวีแทน
นี่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ได้ผล !!
ในความเป็นจริง การนั่งๆนอนๆไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย ยิ่งไม่ได้ทำอะไร กลับจะทำให้รู้สึกแย่มากกว่าเก่าเสียอีก แถมอาจทำให้คุณอ้วนขึ้นก็เป็นได้
ฉะนั้น เราจะสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองได้อย่างไร เมื่อตกอยู่ในสภาวะที่หมดอาลัยตายอยาก สิ่งสำคัญคือคุณต้องควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้ได้ ไม่ปล่อยให้มันบงการชีวิตคุณ
บางที 8 วิธีเหล่านี้อาจจะช่วยให้คุณเกิดแรงจูงใจในสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมาบ้างก็ได้

1. ใช้ความกลัวเป็นตัวนำ
ความกลัวเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจได้ดีที่สุดในมนุษย์ ปฏิกิริยาโต้ตอบแบบ “สู้” เกิดจากความกลัวในสิ่งนั้นๆ ดังนั้น จงให้ความกลัวทำงานให้คุณ เช่น ถ้าคุณกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าต้องตกงานในตอนนี้ จะหาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ดังนั้น คุณจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้งานทำ มีเงินใช้จ่าย เรื่องที่เคยมองว่าเป็นอุปสรรค ก็อาจกลายเป็นเรื่องที่มองข้ามไปได้

2. ขีดเส้นตายให้เห็นจะจะ
คนส่วนใหญ่ชอบมองจุดเล็กๆมากกว่าภาพรวม เทคนิคนี้ใช้ได้ผล เมื่อคุณให้ความสำคัญกับเส้นตายของสิ่งนั้น ถ้าไม่ละก็ คุณจะมัวแต่โฟกัสเรื่องเล็กน้อยๆในแต่ละวัน และท้ายที่สุด ก็จะมานั่งสงสัยว่า ทำอย่างนั้นไปได้อย่างไร สิ่งที่ต้องนึกถึงอยู่เสมอก็คือ ผลลัพธ์ที่จะได้เมื่อทำสำเร็จ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นในตอนแรกๆ มิใช่หรือ

3. ทำเหมือนเล่นเกม
วิธีนี้ใช้ได้ผลดีเยี่ยมในการสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ ถ้าเป้าหมายคือ ให้เด็กเก็บของเล่นเข้าที่ก่อนเข้านอน ผู้ปกครองก็อาจให้เล่นเกมแข่งเก็บของเล่น ผู้ชนะคือเด็กที่เก็บของเล่นเข้าที่ได้เร็วที่สุด คุณสามารถนำวิธีนี้มาประยุกต์ใช้กับตัวคุณเองได้เช่นกัน สมมติว่า คุณกำลังฝึกวิ่งมาราธอน คุณสามารถฝึกไปเรื่อยๆ เพื่อทำเวลาให้ดีขึ้น หาวิธีวัดผลและทำเวลาให้ดีที่สุด

4. กำจัดทางเลือกอื่นๆ
ในคืนที่พระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพเข้าตีเมืองจันทบุรี เพื่อยึดเป็นที่มั่นในการกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า พระองค์ทรงนำจิตวิทยาในด้านการรบมาใช้กับแม่ทัพนายกอง เพื่อต้องการรบให้ชนะ โดยสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกง เพื่อเข้าไปกินอาหารเช้าในเมือง ถ้าตีเมืองไม่ได้ก็ต้องอดตาย วิธีนี้เป็นการขจัดความคิดยอมแพ้ออกจากใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน ไม่มีทางเลือกที่จะคิดว่า “ไม่เป็นไร เรากลับบ้านก็ได้” นี่เป็นขั้นตอนที่น่ากลัว แต่ในบางครั้ง มันกลับเป็นหนทางเดียวที่ใช้ได้ผล
สำหรับคนที่ลาออกจากงานประจำที่มั่นคง เพื่อมาทำธุรกิจของตัวเองนั้น ก็เปรียบเหมือนการ “ทุบหม้อข้าวหม้อแกง” พวกเขาจะถอยกลับไม่ได้ ต้องทำให้สำเร็จเท่านั้น

5. บอกเป้าหมายให้คนอื่นรับรู้
ถ้าคุณมีเป้าหมายในชีวิตที่ต้องการทำให้สำเร็จ อย่าเก็บไว้กับตัวเองคนเดียว จงบอกให้คนที่คุณเคารพนับถือรับรู้ด้วย การบอกกล่าวให้คนอื่นๆรู้ จะทำให้คุณเลิกล้มไม่ได้ง่ายๆ เพราะคุณต้องการรักษาคำพูดกับคนที่คุณแคร์ ถ้าต้องเลิกล้มความตั้งใจนั้น คุณจะรู้สึกเสียหน้า ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเป็นเช่นนั้น จึงมักเก็บความฝันที่จะทำสิ่งต่างๆไว้กับตัวเอง ไม่บอกคนอื่น เพราะกลัวทำไม่สำเร็จ เดี๋ยวจะขายหน้า อย่างไรก็ดี ถ้าคุณต้องการทำความฝันให้สำเร็จละก็ ควรจะบอกให้คนอื่นๆรับรู้ให้มากที่สุด

6. บอกตัวเองซ้ำๆ ทุกวัน
บอกกับตัวเองทุกๆวันถึงเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวิธีนี้ ลองทำตามนี้ ให้เขียนประโยคที่ระบุสิ่งที่คุณต้องการทำให้สำเร็จ 1-2 ประโยคลงบนกระดาษ เขียนให้สั้นกระชับ แล้วอ่านข้อความนั้นดังๆก่อนเข้านอน ทันทีที่ตื่นนอน และทำตามช่วงเวลาที่คุณกำหนดในแต่ละวัน
การทำเช่นนี้ บางคนอาจดูว่าเป็นการหลอกตัวเอง แต่มันช่วยให้ใจของคุณโฟกัสในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ ไม่ให้วอกแวก แม้ว่าจะมีสิ่งอื่นเข้ามาเบี่ยงเบนความสนใจ

7. ตั้งกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน
การจัดตั้งกลุ่มในลักษณะนี้ เท่ากับคุณพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เพียงแต่คุณจะกลัวเสียหน้าในหมู่เพื่อนสมาชิก เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค แต่คุณยังมีคนคอยให้คำแนะนำและระดมความคิดเพื่อเดินหน้าต่อไป คุณจะประหลาดใจในสิ่งที่บรรดาสมาชิกในกลุ่มช่วยกันทำให้สำเร็จลุล่วงไปได้

8. แตกเป้าหมายเป็นชิ้นย่อยๆ
ถ้าเป้าหมายของคุณเป็นเรื่องใหญ่ ที่คุณรู้สึกกลัวและเป็นห่วงว่าจะทำไม่สำเร็จ แม้ว่าคุณจะพยายามอย่างหนัก หรือได้บอกใครต่อใครไปหลายคนแล้วก็ตาม สิ่งที่คุณควรทำก็คือ จงแตกเป้าหมายให้เป็นชิ้นเล็กๆ เป้าหมายย่อยที่คุณวางไว้ ควรเป็นสิ่งที่คุณภูมิใจเมื่อทำสำเร็จ และสามารถพาไปสู่เป้าหมายใหญ่ได้ การทำงานชิ้นเล็กๆนั้น จะช่วยไม่ให้คุณท้อแท้ได้ง่าย

ลองทำตามคำแนะนำข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เมื่อคุณรู้สึกขาดแรงจูงใจที่จะทำอะไร เพราะจริงๆแล้ว มันเป็นการหลอกตัวเอง ให้ทำในสิ่งที่คุณรู้ดีว่าเป็นสิ่งดีสำหรับคุณนั่นเอง

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน 2552 โดยประกายรุ้ง)