ทำเงินบนโลกไอที (1) : Search Engine Marketing รู้จักไว้มีแต่ได้







ทำเงินบนโลกไอที (1) : Search Engine Marketing รู้จักไว้มีแต่ได้


ใครว่าบทความไอทีอ่านแล้วจะมีแต่เรื่องเสียเงิน ทั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยหรือสินค้ารุ่นใหม่ที่มักปลุกกิเลสให้ชาวไอทีควักเงินในกระเป๋าออกมาจับจ่ายอยู่ตลอดเวลา ต่อไปนี้คือบทความไอทีที่เชื่อว่าจะทำให้ผู้อ่านสามารถทำเงินจากโลกไอทีได้ หากตั้งใจแน่วแน่กับการศึกษาและปฏิบัติจริง

"ผู้จัดการไซเบอร์" ขอนำเสนอบทความชุดเรื่อง "ทำเงินบนโลกไอที" เพื่อแสดงมุมมองของการตลาดออนไลน์ในยุค 2009 จากนานาเจ้าของเว็บไซต์และบริษัทที่เป็นสมาชิกในสมาคมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ชไทย โดยเราจะนำท่านไปทำความรู้จักกับการทำเงินขั้นพื้นฐานในสัปดาห์แรก และจะต่อยอดการทำเงินขั้นสูงขึ้นในสัปดาห์ถัดไป

***

เจาะตลาดโลกด้วย SEM
(บทความโดย ปภาดา อมรนุรัตน์กุล paphada@redrank.co.th)

คุณมีเว็บไซต์หรือยังค่ะ?? แล้วตอนนี้มีคนเข้าเว็บไซต์ของคุณเป็นจำนวนเท่าไร?? มียอดซื้อออนไลน์มากน้อยขนาดไหน? ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป หากคุณได้รู้จักกับ Search Engine Marketing

คนส่วนใหญ่ที่เปิดเว็บไซต์มาหลายปีแต่ขายสินค้าได้น้อย มักจะคิดว่าเป็นเพราะการไม่มีความรู้เรื่องเว็บไซต์ หรือเพราะการใช้เว็บสำเร็จรูปในการเปิดร้านขายของ จนหลายคนทำใจได้และพอใจกับการขายสินค้าได้แค่นั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันมีเว็บไซต์ขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยที่ใช้เว็บไซต์สำเร็จรูปธรรมดา ไม่ได้มีลูกเล่นอะไรมากมาย ที่สามารถทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นถึง 400%

เคล็ดลับความสำเร็จอยู่ที่เขาได้รู้จักกับการทำตลาดออนไลน์ ที่เรียกกันว่า SEM ซึ่งหากเราเป็นผู้ประการธุรกิจแบบ ecommerce เราจะสามารถวัดค่า ROI (Return Of Investment) ได้ดีทีเดียว

ใช้เสิร์ชเอนจิ้นเป็นเครื่องมือ

Search Engine Marketing คำนี้ไม่ได้เป็นศัพท์ใหม่ หลายๆ คนรู้จักกันมานานแล้ว แต่ในประเทศเราเองนั้น เพิ่งจะเริ่มตื่นตัวกับการทำ SEM นี้ในช่วง 5 ปีหลังที่ผ่านมานี้เอง หากใครยังไม่รู้ว่า Search Engine Marketing คืออะไร จะขออธิบายดังนี้

SEM หรือ Search Engine Marketing นั้น หากแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ จะหมายถึงการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหาทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเครื่องมือค้นหาทางอินเทอร์เน็ต ที่เด่นๆ นั้นก็ได้แก่ Google, Yahoo และ Live (MSN) โดยการทำ SEM นี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ


การทำ Search Engine Optimization (SEO) คือการปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ของเราให้โดนใจ Search Engine ต่างๆ อาจจะมีการปรับโครงสร้างภายใน code, โครงสร้าง link หรือ บางทีเมื่อก่อนที่เราเคยโปรโมทเว็บเราด้วยการแลกลิงค์ (link exchange) นั้น ก็ถือว่า เป็นการทำ SEO แบบหนึ่งอีกด้วย

แต่การจะทำ SEO ได้นั้น ต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ทั้ง off-page และ on-page factor ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนมีผลกระทบกับการทำ SEO เป็นอย่างยิ่ง แต่อะไรจะมีคะแนนมากหรือน้อย อย่างไรนั้น ต้องไปทดลองทำด้วยตนเองถึงจะรู้ เมื่อเราทำ SEO แล้วนั้น เว็บไซต์ที่เราทำจะไปปรากฏบริเวณด้านซ้ายมือของผลการค้นหา ซึ่งแน่นอนว่า บริเวณนี้จะมีคนคลิกเป็นจำนวนมาก และคนส่วนใหญ่จะคลิกเว็บไซต์ที่ปรากฏผลในอันดับต้นๆ ของผลการค้นหาเป็นจำนวนมาก

เรียกได้ว่า ใครมีเว็บไซต์อยู่ในอันดับต้นๆ ของผลการค้นหาจะสามารถทำเงินได้อย่างสบายๆ


เรามาดูอีกฝั่งของผลการค้นหากันบ้าง ผลการค้นหาฝั่งขวามือนั้น เราจะเรียกกันว่า เป็น Pay per click (PPC) เราซึ่งเป็นเจ้าของเว็บไซต์ไม่ต้องกลุ้มใจกับอันดับที่ไม่ขึ้นในฝั่งซ้าย (SEO) เพราะเราสามารถทำให้เว็บไซต์ของเราขึ้นอันดับในฝั่งขวาของผลการค้นหาได้ง่ายๆ ด้วยการจ่ายเงินค่าโฆษณาให้กับ Search Engine โดยค่าใช้จ่ายนั้น จะมีการจ่ายเป็นต่อคลิก คือ เมื่อใดก็ตามที่มีคนเข้ามาคนค้นหาแล้วโฆษณาเว็บไซต์ของเราปรากฏขึ้นบนฝั่งขวามือ เราจะยังคงไม่เสียค่าโฆษณา

แต่หากผู้ค้นหาสนใจสินค้าหรือบริการของเรา แล้วคลิกโฆษณาเพื่อเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราแล้วล่ะก็ เราจึงจะเสียค่าใช้จ่าย ต่อการคลิกของลูกค้าแต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่า ยอดคนเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราสักคน ก็มีโอกาสที่เขาจะพัฒนามาเป็นลูกค้าของเราได้ต่อไปในอนาคต เพราะนี่คือ สิ่งที่เขากำลังค้นหาอยู่จริงๆ ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ต่ำมาก ต่ำกว่าการใช้งบโฆษณาไปกับสื่ออื่นๆ ที่ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ลองคิดดูซิว่า หากเรามีการลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์สักฉบับนึง ประมาณ 10,000 บาท แน่นอนว่า คนที่อ่านหนังสือพิมพ์จะได้เห็นโฆษณาเรา แต่ใน 200,000 คนที่อ่านหนังสือพิมพ์นั้น อาจจะมีคนสนใจสินค้าเราเพียงแค่ 500 คนเท่านั้น และภายใน 500 คนจะกลายเป็นลูกค้าเราจริงๆ เพียงแค่ 50 คนเท่านั้น ในขณะที่เราลงโฆษณาด้วย pay per click คนที่เข้ามาค้นหาข้อมูลบน Search Engine นั้น จะเป็นคนที่มีความสนใจในสินค้านั้นๆ อยู่แล้ว หากเรามีการเขียนคำโฆษณาที่ดี และดึงดูดให้เขาคลิกได้โอกาสที่เขาจะกลายเป็นลูกค้าของเราจะมีมากกว่าการลงทุนโฆษณาในแบบอื่นๆ ซึ่งการทำ ppc นั้นสามารถวัดผล ROI ได้อย่างชัดเจนจากการเริ่มทำกันเลยทีเดียว


Pay per click นั้นมีชื่อเรียกกันหลากหลายชื่อเลยทีเดียว หากใครไปได้ยินชื่อที่เรียกว่า Keywords Advertising, Cost Per Click (CPC), Sponsored Link, Paid Placement และจะมีชื่อเรียกไปตาม Search Engine ต่างๆ ด้วย เช่น Google ก็จะเรียกว่า “Google AdWords” ส่วน Yahoo ก็จะเรียกว่า “Y!SM Yahoo Search Marketing” เป็นต้น แต่ขอให้รู้ไว้ว่า มันคือกระบวนการทำงานแบบเดียวกันนั่นเอง

SEO หรือ PPC อย่างไหนดีกว่า

จากประสบการณ์ของผู้เขียน ถ้าให้ถามว่า การทำ SEM แบบไหนดีกว่ากัน? ระหว่างการทำ SEO กับ PPC ผู้เขียนก็บอกได้เลยว่า ดีไปกันคนละแบบ ในฝั่งขวาที่เป็น ppc นั้น เราสามารถเขียนคำโฆษณาที่เราต้องการหรือสิ่งที่เราอยากจะสื่อความคิดของเราให้กลุ่มเป้าหมายของเราได้ชัดเจน เช่น ถ้าเราจะขายบ้านสักหลัง เราอาจะเขียนโฆษณาในฝั่งขวาว่า

บ้านสวย พร้อมอยู่
ใกล้รถไฟฟ้า แถวบางนา
จองวันนี้ เพียง 1.3 ล้านบาท

โดยเราจะใช้ keyword ว่า บ้านบางนา เป็นต้น เพราะนั่นหมายความว่า คนที่เข้ามาค้นหาคำว่า “บ้านบางนา” เขามองหา บ้านที่อยู่บางนา ซึ่งถ้าเราเขียนคำโฆษณาได้โดนใจคนค้นหา สิ่งที่เขียนอาจจะโดนใจด้วยคำว่า ราคาแค่ 1.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณ ที่คนค้นหาต้องการพอดี ก็แน่นอนว่า โอกาสที่คนค้นหานี้จะเป็นลูกค้าเรามีสูงมากแล้ว แต่การจะกลายเป็นลูกค้าของเราได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับ หน้าตาของเว็บไซต์ และรูปแบบของบ้านเป็นสำคัญอีกด้วย

มาดูในฝั่ง SEO กันบ้าง ถึงแม้ว่า เราจะไม่สามารถเขียนคำโฆษณาอย่างที่เราต้องการได้ แต่อย่างที่เราๆ ท่านรู้กันดีอยู่ว่า เมื่อไรก็ตามที่เรามีการค้นหา เราจะคลิกฝั่งซ้ายมือก่อนเสมอ บางทีเว็บไซต์อันดับที่ 1 นั้นไม่ได้มีสิ่งที่เราต้องการเลย แต่คนส่วนใหญ่ก็มักจะคลิกอันดับหนึ่งของผลการค้นหาก่อนเสมอ ถ้าไม่ใช่แล้วค่อยกลับมาหาอันดับที่ 2 3 4 ต่อไปตามลำดับ นี่เองเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมแต่ละเว็บไซต์จึงอยากให้เว็บไซต์ของตัวเอง ติดในอันดับต้นๆ ของผลการค้นหาใน Search Engine กันเหลือเกิน

ไม่ต้องขายของก็รวยได้

เว็บไซต์ของบางคนก็ไม่ได้มีการขายของผ่านทางหน้าเว็บ แต่ก็มาจ้างทำ SEM ก็มีเหมือนกัน หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วถ้าเขาไม่ได้ขายของ เว็บไซต์ของเราจะอยากติดหน้าแรกไปทำไมกัน อยากดังแค่นั้นหรือ? จริงๆ แล้ว ความอยากดัง อาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ถ้าให้มองกันดีๆ เราจะพบว่า หากเว็บไซต์ของเรา ที่ไม่ได้มีขายของอะไร แต่มีคนเขาเยี่ยมชมมากมาย และมีคนเข้ามาเยี่ยมชมอยู่สม่ำเสมอแล้ว เราไม่จำเป็นต้องหาของมาขายเลย เพราะแค่ขาย Banner ก็รวยแล้วค่ะ

เว็บไซต์อย่างเช่น sanook, kapook หรือ manager เป็นเว็บไซต์ที่ไม่ได้ขายของ และเน้นข้อมูล-ความบันเทิงเป็นหลัก แต่มีคนเข้าชมวันละไม่ต่ำกว่า 100,000 uip ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีอีกหลายๆ บริษัทฯ ที่อยากได้ลูกค้าจากคนในเว็บไซต์นี้แน่นอน ถ้าคิดว่า แบ่งสัก 10% คนที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์นี้ไปให้คนที่นำ banner มาติด ก็จะพบว่า ใน 1 วัน เว็บไซต์ของเราจะมีคนเข้าชมประมาณ 10,000 uip เลยทีเดียว

เพราะฉะนั้นแล้วไม่ว่าเราจะมีเว็บไซต์ประเภทใด หากมีการติดอันดับในผลการค้นหา ไม่ว่าจะเป็นฝั่งขวามือหรือซ้ายมือ มันก็จะช่วยให้เราสามารถทำเงินได้เช่นกัน!!
ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์