“เทียนขนม” ธุรกิจอาหารตา งานแฮนด์เมดบุกส่งออก





“เทียนขนม” ธุรกิจอาหารตา งานแฮนด์เมดบุกส่งออก


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

อาริสรา นุกูล

ธุรกิจนี้เรียกได้ว่าได้ไอเดียมาจากของขวัญวันเกิดจากเพื่อน ที่ตั้งใจซื้อมาให้แต่ไม่ได้ตั้งใจให้เพื่อน กลายเป็นธุรกิจส่งออก
“เทียนแฮนด์เมด” ดีไซน์เก๋ จากฝีมือสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรง อาศัยตลาดนัดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และถนนคนเดิน เป็นหน้าร้าน ซึ่งสินค้าไปเตะตานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้ามาติดต่อให้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก และนั่นเองทำให้ผู้ประกอบการรายนี้กลายเป็นนักธุกิจส่งออกเต็มตัว


ขนมเทียน ถือเป็นแบรนด์ที่จดจำง่ายและสื่อความหมายในตัวเอง จากความตั้งใจของ
“อาริสรา นุกูล” หรือ หลิว ที่เรียนจบมาทาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็ยึดอาชีพเป็นสถาปนิกตามที่ได้ร่ำเรียนมา อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งเพื่อนได้ซื้อหนังสือเกี่ยวกับการทำเทียนขั้นพื้นฐานมาให้ โดยเป็นการสอนทำเทียนเป็นขนมไทยอย่างง่ายๆ ที่คนทั่วไปรู้จักกันดี อย่าง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง โดยในช่วงแรก หลิว คิดจะทำเล่นๆ และลองขาย ที่นัด.เชียงใหม่ กลับได้รับความสนใจจากนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ด้วยรูปลักษณ์ที่ค่อนข้างเหมือนต้นแบบ ซึ่งหลิวได้อาศัยความได้เปรียบที่เรียนมาทางด้านสถาปัตยกรรม จึงนำความรู้ด้านสีมาใช้กับธุรกิจนี้ ส่งผลเมื่อผลิตสินค้าออกมาสีจะเหมือนขนมจริงมาก ซึ่งธุรกิจนี้เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนต่ำมาก เพียง 200 บาทเท่านั้น โดยเริ่มทำขนมเทียนอย่างจริงจังเมื่อปี 2546


“ในช่วงนั้นเรายึด 2 อาชีพ คือในช่วงกลางวัน ก็ทำงานด้านสถาปนิก ส่วนหลังเลิกงานก็มานั่งทำเทียนเป็นงานอดิเรก แต่เมื่อได้ทดลองนำไปขายจริงๆ ผลการตอบรับได้กลับก็เกินคาด ซึ่งสิ่งที่ทำให้ประหลาดใจที่สุด คือ วันแรกที่นำสินค้าไปขายที่ตลาดนัด มีคนเข้ามาติดต่อให้ผลิตสินค้าให้เพื่อจะนำไปส่งขายยังต่างประเทศ แต่ตอนนี้เรายังไม่พร้อมจากกำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งในตอนนั้นมีการผลิตเพียงแบบละ 10 ชิ้นเท่านั้น รวมถึงความหลากหลายของสินค้าก็ยังไม่มากที่เท่าควร”


จากผลการตอบรับที่ดีในสินค้า ซึ่งหลิวคิดว่าในช่วงนั้นรูปแบบที่ทำมาซึ่งส่วนใหญ่ขนมไทย เป็นเพียงรูปแบบง่ายๆ ที่หากใครได้ฝึกฝนก็น่าจะทำได้ ยังมีคนชื่นชอบในผลงานมากมายขนาดนี้ ทำให้หลิวยิ่งมีกำลังใจที่จะพัฒนาสินค้าให้แตกต่างจากท้องตลาดมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเริ่มมีการตัดราคากันมากขึ้น จากราคาของพาราฟิน ที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักถูกมาก ดังนั้นหากลงมาเล่นในเรื่องของราคาเหมือนผู้ประกอบการรายอื่น อนาคตคงจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดยาก ซึ่งทางออกที่ดีที่สุด คือ การแข่งขันกันที่ดีไซน์และฝีมือ ดังนั้นหลิวจึงพัฒนาผลงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง


สำหรับจุดเปลี่ยนในเรื่องของรูปแบบสินค้า ที่จากเดิมร้านขนมเทียนเน้นไปที่ขนมไทย ยังไม่ได้แตกไลน์ไปเป็นอาหาร แต่เมื่อมีคนมาจ้างให้ทำเทียนเกี่ยวกับอาหาร เพื่อนำไปตกแต่งในพิพิธภัณฑ์อาหารพื้นเมือง ทำให้ในปัจจุบันสินค้าในร้านมีทั้งอาหารไทย อาหารต่างชาติ และเบเกอรี่ ที่เป็นเทียนแฮนด์เมดทั้งหมด


ส่วนตลาดในประเทศไทยหลิวจะเน้นไปที่เว็บไซต์ และถนนคนเดิน จ.เชียงใหม่ เนื่องจากมีชาวต่างชาติเดินซื้อของกันเป็นจำนวนมาก หวังให้เป็นหน้าร้านเพื่อตลาดส่งออก ส่วนตลาดต่างประเทศ จะมีผู้ค้าจากต่างประเทศเข้ามาติดต่อเพื่อไปจำหน่ายต่อ เช่น ประเทศไต้หวัน อิตาลี ฝรั่งเสศ และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ 30,000 ชิ้น ที่คนส่วนใหญ่มักซื้อไปเป็นของขวัญ ของฝาก และของชำร่วย


แม้ธุรกิจนี้ในปัจจุบันจะมีคนผลิตสินค้าประเภทนี้ออกมามากขึ้น แต่สำหรับร้านขนมเทียน ไม่ได้วิตกในเรื่องนั้น เนื่องจากตนเองคิดรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉลี่ยเดือนละ 1 แบบ แต่สิ่งที่ยากที่สุดในธุรกิจนี้คือการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งถึงมือลูกค้า เนื่องจากทุกขั้นตอนเป็นงานแฮนด์เมด และคนในครอบครัวช่วยกันทำงานทั้งหมด แต่หากมีออเดอร์เข้ามามากก็ต้องจ้างคนเพิ่ม ทำให้ต้องฝึกฝนคนขึ้นมาใหม่อยู่เวลา ส่งผลให้บางครั้งคุณภาพตามที่ต้องการ ปัจจุบันร้านขนมเทียนมีสินค้ากว่า 400 รายการแล้ว






***สนใจติดต่อ 08-1289-5055 หรือที่ www.sweetcandle.net***