มิจฉาชีพจับลิขสิทธิ์ กรรโชกทรัพย์ ตากับยาย ขาย " ขนมแพนเค้ก " อ้างลิขสิทธิ์ โดเรมอน



มิจฉาชีพจับลิขสิทธิ์ กรรโชกทรัพย์ ตากับยาย ขาย " ขนมแพนเค้ก "
อ้างลิขสิทธิ์ โดเรมอน


ภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ต


เมื่อวานนี้ผมได้รับแจ้งว่ามีการตรวจจับลิขสิทธิ์ที่ในตลาด ร้านขาย " ขนมแพนเค้ก "
เมื่อผมได้ทราบเรื่องจึงรีบรุดหน้าไปยังสถานที่เกิดเหตุ ระหว่างเดินทางผมก็ "งง" อยู่ในใจว่า ลิขสิทธิ์เกี่ยวอะไรกับร้านขาย " ขนมแพนเค้ก "

เมื่อไปถึงยังจุดหมายก็ได้ทราบความจริงว่า มีกลุ่มมิจฉาชีพลิขสิทธิ์ อ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนโดเรมอน สามารถจับได้ทุกอย่างที่มีรูปโดเรมอน มาพร้อมกับตำรวจ เข้าจับกุม ตากับยายที่ขาย " ขนมแพนเค้ก " ซึ่งวาดเป็น ตัวโดเรมอน

เสียดายผมมาถึงช้าไป ตากับยาย ถูกกรรโชกทรัพย์ไปแล้วจำนวน 5,000 บาท ทั้งๆ ที่ ตากับยาย เองก็ยังสับสนกับเรื่องที่เกิดขึ้นว่าการที่เขาทำมาหากินตามปกติ ขาย " ขนมแพนเค้ก " ซึ่งวาดเป็นตัวการ์ตูน หรือรูปสัตว์ ต่าง ๆ มีความผิดตรงไหน

ความจริงแล้ว " ขนมแพนเค้ก " ที่ ตา ยาย วาดเป็นตัวโดเรมอน มันก็ได้แค่คล้าย แต่ไม่เหมือนโดเรมอน หรอกครับ

หลาย ๆ คนที่เคยซื้อมาทาน หรือเคยผ่านตามาบ้าง คงนึกภาพออก


มาถึงคำถามว่า ตากับยาย วาด " ขนมแพนเค้ก " เป็นรูปโดเรมอน ขาย มีความผิดหรือไม่?

"ไม่ผิดครับ "


เรื่องนี้ผมว่าแค่ชั้นสอบสวน ตำรวจถ้าให้ความเป็นธรรม ไม่คิดถึงแต่ผลประโยชน์ที่หมาจะมอบให้ ก็สามารถสั่ง
ไม่ฟ้องได้เลย

หรือไม่ควรรับแจ้งความตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นเรื่อง
" น่าอับอาย " ครับ " ขายขี้หน้าเขา "

หากินกับคนแก่ หากินกับคนทำมาหากินสุจริต


เกร็ดความรู้


ในฐานะที่เคยทำงานเกี่ยวกับด้านลิขสิทธิ์จากประเทศญี่ปุ่น ขออธิบายเรื่องลิขสิทธิ์ให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ว่า

การที่เจ้าของลิขสิทธิ์นั้น มอบอำนาจลิขสิทธิ์ใด ๆ ให้กับตัวแทน จะมีการระบุขอบเขตการให้สิทธิ์ไว้ในใบมอบอำนาจอย่างชัดเจน


เช่น คุณซื้อลิขสิทธิ์ การตูนเรื่องโดเรมอน ตอนที่ 1 ถึงตอนที่ 100 เพื่อไปตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูน เพื่อจำหน่าย

- ในกรณีนี้ คุณก็สามารถตีพิมพ์การ์ตูน โดเรมอน ตอนที่ 1 ถึงตอนที่ 100 ขายได้เท่านั้น จะมาทำเสื้อผ้า ขายไม่ได้ เขาให้สิทธิ์แค่ไหน คุณก็ทำได้แค่นั้น


เช่น คุณซื้อลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนโดเรมอน เพื่อไปทำลายบนเสื้อ เพื่อจำหน่าย

- ในกรณีนี้ คุณก็สามารถทำเสื้อลาย โดเรมอน ขายได้เท่านั้น จะมาทำกางเกงด้วยไม่ได้ ถ้าเขาไม่ให้สิทธิ์


เช่น คุณซื้อลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนโดเรมอน เพื่อไปทำของพรีเมี่ยมจำหน่าย ของพรีเมี่ยมก็จะต้องมีระบุอย่างชัดเจนว่าทำอะไรบ้าง ดินสอ, ปากกา, ยางลบ, แก้วน้ำ อื่น ๆ

- ในกรณีนี้ เขาให้สิทธิ์คุณอะไรบ้าง คุณก็ทำได้แค่นั้น ไม่ใช่ทำได้ทุกอย่าง ไม่ใช่ครอบจักรวาล ไม่ใช่แค่คนหายใจ หรือพูดคำว่าโดเรมอน คุณก็แอบอ้างไล่จับเขาได้หมด


เจ้าของลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่ก็หวงแหนในสิทธิ์ของตัวเอง โดยเฉพาะการ์ตูนที่ได้รับความนิยมสูง ไม่มีใครให้สิทธิ์คนอื่น 100 %


แล้วทำไมในใบมอบอำนาจเขาถึงเขียนไว้ว่าได้รับสิทธิ์นั้น สิทธิ์นี้ เต็มไปหมด

ก็เพราะเขาเขียนเอาเองครับ มิจฉาชีพเหล่านี้มาพิมพ์กันเอาเอง และไม่มีใครตรวจสอบ ควมจริงเป็นหน้าที่เบื้องต้นของตำรวจที่จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารตัวจริงที่มาจากต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้ทำกันหรือไม่ ?

รอง ผบ.ตร. มีคำสั่ง ด่วน !! กำชับการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจค้นจับกุมคดีลิขสิทธิ์ คุณรู้หรือไม่ ?

http://ict.in.th/1135

คุณเคยตรวจสอบบริษัทตัวแทนเหล่านี้หรือไม่ ว่าได้รับสิทธิ์มาจริง และต้องการออกมาปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง ไม่ใช่มารีดไถ
ที่ผ่านมาก็มีหลายราย ทำเนียนเปิดบริษัทผี 2-3 บริษัท แกล้งมอบอำนาจกันไปมาอย่างสนุกสนาน หลาย ๆ ทอด ให้ดู งง เล่น ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ และไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง หมาจึงใช้ช่องว่างนี้หากิน พอหากินได้สักระยะก็ปิดบริษัทหนี
สักพักก็หาชื่อสวย ๆ เปิดบริษัทใหม่ หากินต่อ ตัวแทนบางคนหากินสักพักก็จะเปลี่ยนชื่อ บางคนเปลี่ยนชื่อซะจน พ่อแม่ก็ยังไม่รู้ว่าลูกตัวเองชื่ออะไร


ฝากถึงข้าราชการตำรวจ ที่ดี

ทำราชการ หมายถึง ทำการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทำราชการ ก็น่าจะหมายถึง ทรงทำการเพื่อประโยชน์สุขให้กับประชาชนของพระองค์

รับราชการ หมายถึง รับงานของราชามาทำต่อ เมื่อพระองค์ท่านทรงรักประชาชน ทำงานเพื่อประชาชน คนที่รับราชการ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ต้องรักประชาชน ทำงานเพื่อประชาชน

ข้าราชการ หมายถึง คนที่ทำงานให้กับพระเจ้าแผ่นดิน เคยได้ยินไหม "ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

ไม่ว่าจะใช้คำไหน เป็นการของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินทรงรักประชาชน เราก็ต้องรักประชาชนด้วย เราต้องรักผู้มารับบริการ เราต้องให้บริการที่ดีกับประชาชน ใช้ปิยะวาจา รักประชาชนก็ต้องแสดงออกทั้งกาย วาจา ใจ

คนที่รับราชการ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ต้องรักประชาชน ทำงานเพื่อประชาชน

คุณมี " อาชีพตำรวจ " หรือ คุณเป็น " ตำรวจมืออาชีพ "

" อย่าปล่อยให้ ตำรวจเลวเพียงบางคน ทำให้พวกท่านต้องเสียชื่อเสียงอีกเลย "



ฝากถึงทุกคน

อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว เพราะกลุ่มมิจฉาชีพจับลิขสิทธิ์กรรโชกทรัพย์ เหล่านี้ คือกลุ่มเดียวกัน ที่หากินตามฤดูกาล วันนี้เขาจับ ตากับยาย ขาย " ขนมแพนเค้ก "

วันข้างหน้า เขาก็จะมาจับร้านอินเตอร์เน็ต, ร้านมือถือ, ร้านคอมพิวเตอร์, ร้านกิ๊ฟท์ช็อป, ร้านคาราโอเกะ, ร้านยาดอง และอื่น ๆ หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย


สิ่งสำคัญที่สุดขอให้ทุกคนช่วยกัน

1. ใครมีเว็บไซต์, ใครเป็นนักเขียน Blog, ใครมี Hi 5, ใครมี Facebook, ใครมี Twitter ช่วยนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ ยิ่งมากยิ่งดี

2. ช่วยนำบทความนี้ไปโพสในเว็บต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้

3. หากใครรู้จักสนิทสนมกับนักข่าว ช่วยให้ทำ Scoop เรื่องนี้จะดีมาก

4. ช่วย ๆ กัน Forward Mail ให้เพื่อน ๆ เท่าที่จะทำได้

5.
ช่วยกันส่งต่อ "ความดี" ด้วยกัน โลกใบนี้จะได้สวยงามเหมือน "น้ำตก"
http://ict.in.th/2523


อาจารย์ แมว
www.ICT.in.th
กลุ่มร้านอินเตอร์เน็ต คาเฟ่ ไทย




ยามที่ตกในสถานการณ์ฉุกเฉิน สิ่งที่จะช่วยให้รอดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ก็คือ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เป็นภูมิคุ้มกันครับ

จึงอยากนำเรื่องราวของ กฎหมายลิขสิทธิ์ มาให้เพื่อน ๆ สมาชิกได้ศึกษากันครับ

Smiley Smiley Smiley

ตำรวจและตัวแทนลิขสิทธิ์จับคดีลิขสิทธิ์ ถูกต้องหรือไม่ ?

Credit With Thanks.
http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=1651

การจับกุมคดีลิขสิทธิ์ตามพรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความผิดอันยอมความได้ อยู่ดี ๆ ตำรวจจะเดินเข้าไปจับกุมคนละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ซีดีเถื่อน , หนังสือเถื่อน ไม่ได้ เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และมอบคดีให้พนักงานสอบสวนก่อน

หลังจากนั้นตำรวจจึงจะเข้าจับกุมได้ ตัวแทนลิขสิทธิ์จะมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด เช่น
การล่อซื้อ ไม่สามารถทำได้ และถ้าล่อซื้อถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหาย เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกามาหลายคดีแล้ว

การจับกุมหรือการค้นต้องมีหมายศาล จะทำแบบลุแก่อำนาจไ ม่ได้ ฟังข้อเท็จจริงจากข่าวที่ปรากฏ ซีเอ็ดยังไม่ได้กระทำความผิดแต่ไปจับกุม ถือว่าการจับกุมไม่ชอบ จะอ้างว่าเป็นความผิดล่วงหน้าไม่ได้ ความผิดล่วงหน้าหมายถึงกำละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ แต่ซีเอ็ดฯ เอาสินค้าที่ห้ามจำหน่ายวางกองรอคืน ไม่ถือว่ามีการกระทำความผิด ตำรวจเข้าไปจับกุมถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ทนายคลายทุกข์ยังมีความสงสัยว่าตำรวจมีผลประโยชน์ร่วมกับตัวแทนลิขสิทธิ์หรือไม่ ทำไมฟิตจัง คดีในท้องที่มีเยอะแยะไม่เห็นจับกุมเลย การกระทำแบบนี้เป็นห่วงภาพพจน์ของ สตช.จริง ๆ เลยครับ

การเข้าจับกุมและรีดไถเงินหรือตบทรัพย์ของตัวแทนลิขสิทธิ์ น่าจะหมดไปได้แล้ว เพราะเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อรองเรียกผลประโยชน์ ควรให้ศาลเป็นผู้ตัดสินจะดีกว่า


เนื้อหาข่าวจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกเพื่อประกอบการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย

ซีเอ็ดโวยคนแอบอ้างเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์จับกุม-รีด

ผู้บริหารร้านซีเอ็ดโวย ถูกผู้รับมอบอำนาจเจ้าของเกม " นินเทนโด้ " บุกจับ อ้างละเมิดลิขสิทธิ์ แต่กลับไกล่เกลี่ยเรียกเงินยุติดำเนินคดีครึ่งแสนแทน ทั้งที่สั่งห้ามจำหน่ายหนังสือแล้ว หวั่นถูกสวมรอยอ้างเป็นตัวแทนร่วมกับตำรวจตบทรัพย์ ขณะที่ตำรวจ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ยันเป็นตัวแทนจริง ไม่ฟันธงซีเอ็ดละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ยันมีสิทธิ์ฟ้องกลับได้

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด ( มหาชน ) ร้องเรียนผ่าน " คม ชัด ลึก " ว่า ร้านขายหนังสือของบริษัทซีเอ็ดฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรม

เนื่องจากมีผู้แอบอ้างเป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์เกม นินเทนโด้ เข้าตรวจจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่วางขายอยู่ในสาขาต่าง ๆ ของบริษัทซีเอ็ดฯ โดยเรียกเงินจำนวน 45,000-50,000 บาท เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย แต่ทางบริษัทสงสัยว่าพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นการแอบอ้างตัวมารีดไถเงิน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทขายสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องทั้งหมด

นายวิโรจน์กล่าวว่า ร้านขายหนังสือสาขาต่าง ๆ ของบริษัทถูกการกระทำในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ถูกจับกุมที่สาขาโลตัส ลาดพร้าว ผู้รับมอบอำนาจกล่าวหาว่าจำหน่ายสินค้าที่เป็นหนังสือและแผ่นซีดี วีซีดีเกมต่าง ๆ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของนินเทนโด้ ถือว่าผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ หลังจากแฝงตัวในร้านและล่อซื้อ จากนั้นก็แสดงตัวพร้อมกับมีตำรวจอีก 4-5 นาย ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม ถูกจับในลักษณะเดียวกันที่สาขาโลตัส พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ ทั้งสองครั้งที่ถูกจับกุมมีการเจรจาไกล่เกลี่ย และผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้เสนอไกล่เกลี่ยเอง โดยเรียกเงินชดใช้ 45,000-50,000 บาท แต่ทางบริษัทไม่ได้จ่ายเอง เพราะทางสำนักพิมพ์มารับผิดชอบจ่ายให้ เนื่องจากข้อหาที่ถูกจับกุมคือ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หลังจากเกิดเหตุการณ์ทั้งสองครั้งขึ้น

ทางบริษัทได้สั่งระงับไม่ให้ขายสินค้าที่เป็นลิขสิทธิ์ของนินเทนโด้ทั้งหมดทุกสาขา พร้อมทั้งให้เก็บรวบรวมสินค้าดังกล่าวส่งคืนเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อให้ตรวจสอบว่าสินค้าทั้งหมดที่เป็นลิขสิทธิ์ของนินเทนโด้ในร้านซีเอ็ด ละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ เพราะบริษัทจะขายสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องเท่านั้น

" หลังเกิดเรื่องขึ้น ทางซีเอ็ดได้เก็บสินค้าที่เป็นลิขสิทธิ์ของนินเทนโด้ทั้งหมดมารวมที่เคาน์เตอร์ สั่งห้ามจำหน่าย รวมถึงการลบรายการสินค้าดังกล่าวออกจากฐานข้อมูล เป็นการยืนยันว่าจำหน่ายไม่ได้ และออกใบเสร็จให้ไม่ได้

แต่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม มีนายธีรนิติ์ เจริญกิจวศิน อ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทนินเทนโด้ ออฟ อเมริกา มาตรวจจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ของนินเทนโด้ และได้ปฏิบัติแบบเดียวกับที่สาขาของซีเอ็ดถูกจับมาก่อนหน้านี้ " นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์ยอมรับว่า รู้สึกสงสัยการกระทำดังกล่าวว่า เป็นการมาแอบอ้างเพื่อรีดไถเงินหรือไม่ รวมถึงการหลอกใช้ตำรวจมาหากินด้วยวิธีนี้ หรืออาจจะรู้เห็นเป็นใจกันทั้งสองฝ่าย เพราะตนกลัวว่าผู้รับมอบอำนาจจะอ้างขึ้นมาลอย ๆ แล้วจัดทำเอกสารใบรับมอบอำนาจมายืนยัน

แต่การจับกุมครั้งนี้ทางร้านซีเอ็ดไม่ได้ขายสินค้าดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่จัดวางรวมกันไว้ที่เคาน์เตอร์เพื่อรอส่งคืน ขณะเดียวกัน การจับกุมครั้งนี้ยังไม่มีหมายค้นหรือหมายจับ จากนั้นชุดจับกุมก็จัดการทำบันทึกจับกุมส่งไปที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โดยมี พ.ต.ต.วรายุทธ พงษ์ตัน พนักงานสอบสวน ( สบ 2 ) เป็นเจ้าของคดี

หลังจับกุมก็บอกว่ามีการไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ทางร้านซีเอ็ดไม่มีความเชื่อมั่นในตัวผู้รับมอบอำนาจ อาจจะแอบอ้างมา จึงอยากจะตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน อีกทั้งการจับกุมก็ไม่มีหมายค้น และไม่มีการทำผิดซึ่งหน้าด้วย จึงเห็นว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างแอบแฝง

เมื่อสอบถามไปยัง พ.ต.ต.วรายุทธ ก็ชี้แจงว่า เบื้องต้นได้รับเรื่องดังกล่าวไว้และได้สอบปากคำฝ่ายผู้เสียหายคือ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทนินเทนโด้ฯ แล้ว พบว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจริง มีเอกสารยืนยันครบถ้วน ส่วนการเข้าจับกุมโดยไม่มีหมายค้นนั้น ถือว่าตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ประสานขอความร่วมมือกับตำรวจ และขอเข้าตรวจค้นซึ่งหน้า ก็พบสินค้าที่ผู้เสียหายกล่าวอ้างอยู่ในร้านจริง

แต่ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าร้านซีเอ็ดเป็นผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ เพราะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ การสืบสวนสอบสวน รวมทั้งพยานหลักฐานต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ส่วนบริษัทซีเอ็ดฯจะแจ้งความกลับเพื่อตรวจสอบว่าตัวผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์เกมนินเทนโด้เป็นตัวจริงถูกต้องหรือไม่ก็สามารถกระทำได้ หากพบว่าผิดก็ว่ากันไปตามผิด ทุกอย่างอยู่ที่พยานหลักฐาน

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก
http://www.komchadluek.net/


มาลองอ่านกันอีกเรื่องนะครับ

Credit With Thanks.
http://topicstock.pantip.com/social/topicstock/2009/09/U8300077/U8300077.html

ผลการตัดสินคดีละเมิดลิขสิทธิ์โดเรมอน-ตุ๊กตา ผ้าเช็ดหน้า พวงกุญแจ

โดย คุณ aeroway

ก่อนอื่นต้องขอเล่าก่อนนะคะ ว่าดิฉันทำร้านเครื่องเขียนอยู่ในอำเภอแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ ก็จะขายยางลบ ปากกา ฯลฯ รวมถึงสินค้าอื่น ๆ อย่างเช่น สินค้ากิ๊ฟชอพ และตุ๊กตาด้วย แล้ววันหนึ่งเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว มีคนที่อ้างว่าเป็นผู้รับมอบช่วงจากเจ้าของลิขสิทธิ์โดเรมอน ( มากัน 4 คน ) พาตำรวจมาด้วย1นาย มานำจับดิฉันที่ร้าน ขอตรวจค้นสินค้าโดรมอนละเมิดลิขสิทธิ์ในร้าน ซึ่งสินค้าในร้านดิฉันที่มีลายโดเรมอนก็มีทั้งดินสอ ยางลบ ปากกา กล่องดินสอ ผ้าเช็ดหน้า และตุ๊กตา มาถึงเขาก็กระจายตัวไปหยิบสินค้าลายโดเรมอนต่าง ๆ ในร้าน แต่กลายเป็นว่ามีทั้งส่วนที่ถูกลิขสิทธิ์ และส่วนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ( ปลอมแปลง ) ดิฉันจึงแจ้งว่า ไม่ได้มีเจตนาจะขายของปลอมเลย เพราะตุ๊กตาที่บอกว่าปลอม ดิฉันก็ซื้อจากกลุ่ม OTOP ก็ยังเอานามบัตรของคนขายให้ตำรวจดูว่าดิฉันบริสุทธิ์ใจ ก็ยังเก็บบิลที่ซื้อเอาไว้ แต่พอดูที่บิลก็เป็นเพียงบิลเงินสด ไม่ระบุเลขผู้เสียภาษี หรือชื่อร้านของผู้จำหน่าย เขาก็ไม่พูดพร่ำทำเพลง ขอเชิญตัวไปที่โรงพักอย่างเดียว ตอนนั้นดิฉันก็ไปแต่โดยดี เพราะคิดเข้าข้างตัวเองว่า เราไม่ได้มีเจตนาร้ายอะไร และอย่างน้อยตำรวจก็คงจะเป็นกลาง แต่คิดผิดค่ะ อ้อ ลืมเล่าค่ะ สินค้าที่ดิฉันโดนกล่าวหาว่าละเมิดมีทั้งหมด 27 ชิ้นค่ะ เป็นพวงกุญแจเล็ก ๆ ผ้าเช็ดหน้า และตุ๊กตา มูลค่าสินค้าพันกว่าบาท

พอไปถึงโรงพัก ตำรวจก็บอกให้ดิฉันกับคู่กรณีเคลียร์กันเองว่าจะเอาอย่างไร ให้คุยกันในห้อง โดยตำรวจยืนดูอยู่ที่ประตู อืม ฉันคิดอยู่ในใจว่า อย่างนี้มันรุมกันนี่นา พวกนั้น 4 กับดิฉันคนเดียว ก็เริ่มเลยค่ะ

เขาก็พูดอ้อมไปอ้อมมาว่าดิฉันทำผิดอย่างนั้นอย่างนี้ ของแท้ต้องมีสัญลักษณ์อะไรติดอยู่

ดิฉันก็แย้งตลอดว่า ไม่รู้จริง ๆ เพราะมีของแท้ในร้านเต็มไปหมด แต่มีที่ละเมิดอยู่แค่นิดเดียว ไม่ได้มีเจตนาเลย ถ้าจะตักเตือนก็ให้ยึดสินค้าไปเลย และรับปากว่าเมื่อทราบแล้วว่าของแท้ต้องมีสัญลักษณ์ติดก็จะตระหนักและไม่นำของละเมิดมาขายซ้ำอีก แต่เขาก็ไม่ฟัง บอกว่าตามกฎจะต้องมีการจ่ายค่าปรับ ดิฉันจึงถามว่าเท่าไหร่เพราะเห็นว่าสินค้าก็ราคาแค่พันกว่าบาท เขาบอกกลับมาว่า อย่างต่ำต้อง 30,000 บาท

โอ้ว!! ( คิดในใจว่า มันเยอะอะไรขนาดนั้น ) ดิฉันต่อรองว่าคงไม่มีปัญญาจะจ่ายถึงขนาดนั้นหรอก

ก็ต่อรองกันไปมาทั้งวันน่ะค่ะ ดิฉันไปโรงพักตั้งแต่บ่ายโมงจนเกือบ 5 โมงเย็น ตำรวจก็เชิญไปอีกห้องเป็นห้องสืบสวน ก็จะมีพนักงานสืบสวนถามทั้งสองฝ่าย ก็ตกลงกันไม่ได้ เพราะสุดท้ายเขาก็ขอที่ 15,000 บาท แต่ดิฉันก็ยังยืนยันว่าไม่มีให้เขา ทั้งเนื้อทั้งตัวมีแค่ 2พันบาท

ตำรวจที่แสนดีว่าอย่างไรรู้ไหมคะ เค้าบอกว่า ดิฉันก็ทำมาค้าขาย เงินแค่ 15,000 ก็ไม่น่าจะมีปัญหาหรอก ตำรวจบอกว่าตัวเองเป็นกลางนะ เตือนดิฉัน( หรือขู่ก็ไม่ทราบ ) ว่า ถ้าขึ้นศาลคุณก็ต้องเสียเงินอยู่ดี ค่าวางศาล ค่าอะไรจิปาถะ ไม่แน่อาจต้องเสียเป็นแสน เพราะทำผิดจริง และศาลไม่พิจารณาหรอกว่าของมูลค่าสินค้าพันกว่าบาท ทำผิดก็คือทำผิด มีการเอาข้อกฎหมายมาเปิดให้ดูด้วยนะคะว่า การกำหนดโทษปรับ 50,000-200,000 บาท หรือจำคุก

ดิฉันเห็นก็ใจฝ่อสิคะ ตอนนั้นมืดแปดด้าน จะถามใครดีหนอ เพราะญาติ ๆ ที่ปรึกษาแต่ละคนก็ไม่ได้รู้เกี่ยวกับกฎหมาย ก็บอกกันไปคนละทาง บ้างก็ว่าให้ยอมจ่าย บ้างก็ว่าให้เรื่องขึ้นศาล จนสุดท้ายนึกได้ว่ามีลูกค้าคนหนึ่งของร้านดิฉันเป็นทนายค่ะ ก็เลยขอคำปรึกษาจากเขา คุณทนายบอกว่า พวกนี้เป็น
พวกกรรโชกทรัพย์ ให้เรื่องขึ้นศาลไปเลย ดิฉันก็เลยทำตามค่ะ

พวกนั้นพอได้ยินว่าดิฉันยอมให้ฟ้องแต่ไม่ยอมจ่ายให้เขา ก็พยายามข่มขู่ว่าขึ้นศาลจะเสียมากกว่านี้ เสียเวลา และที่ตลกคือ เขายอมลดให้เหลือ 10,000 บาท ทางตำรวจผู้สุดแสนจะเป็นกลาง ก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นให้ดิฉันหาเงินมาประกันตัวได้เลย 300,000 บาท ( ซึ่งมารู้ทีหลังว่า กรณีนี้อย่างมากก็ไม่เกิน 1แสนบาท )

ดิฉันก็ตกใจใหญ่ว่า ตำรวจคะ หมื่นเดียว ยังไม่มี จะเอาที่ไหนมา3แสน ตอนนั้นดิฉันนึกถึงคุณน้าซึ่งเป็นครู ก็เลยขอท่านใช้ตำแหน่งมาช่วยประกันตัว ก็ต้องทำเรื่องอีกยาว สรุปวันนั้นกว่าจะได้กลับบ้านก็เกือบ 3 ทุ่ม พร้อมกับความเครียดอีกกระบุงโกย

เรื่องราวก็ผ่านไปค่ะ คดีของดิฉันเข้าสู่ศาล ดิฉันต้องไปรายงานตัวกับอัยการตามนัด และก็ถูกนัดเลื่อนไปเรื่อย ๆ เหตุผลคือ อัยการยังอ่านสำนวนไม่เสร็จ ก็เสียเวลาพอสมควรค่ะ ต้องเดินทางจากอำเภอไปตัวเมือง เพื่อไปฟังคำบอกเลื่อน ก็ไปอยู่ประมาณ4 ครั้งค่ะ จนเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ท่านอัยการนัด ก็ไปอีกครั้ง แต่คราวนี้บอกว่า เดี๋ยวให้ขึ้นศาลเลย ก็ไปนั่งรอที่ศาลอีก 1 วันเต็ม ๆ ค่ะ และสุดท้ายก็ให้ประกันตัวในตอนเย็นอีกครั้ง และให้มาฟังผลในวันรุ่งขึ้น รอผลจากแฟกซ์ ( คดีลิขสิทธิ์ จะตัดสินจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในกรุงเทพค่ะ ) ก็ได้ผลตามนี้ค่ะ

ศาลตัดสินว่า ให้ยึดของกลางทั้งหมดที่เป็น สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และเนื่องจากจำเลย ( ตัวดิฉันเอง ) เป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอกำหนดโทษเป็นระยะเวลา 1 ปี ยังไม่สั่งปรับหรือจำคุกใด ๆ แต่ห้ามทำผิดภายใน 1 ปีนับจากวันตัดสิน

สิ่งที่ได้จากเรื่องนี้

1. ปล่อยให้เรื่องเข้าสู่ศาลดีที่สุดค่ะ เพราะนาทีนั้น คุณเชื่อใครไม่ได้แม้กระทั่งตำรวจ

2. เสียเวลาพอสมควรค่ะ แต่ก็ยังดีกว่าเสียเงินให้โจร ทั้งโจรผู้รับมอบช่วง และโจรในเครื่องแบบ รวมเวลาตั้งแต่เกิดเรื่องมาจนวันตัดสิน ประมาณ 1 ปีเต็มค่ะ

3. กรณีของดิฉัน ให้คุณน้าเป็นผู้ประกันตัว ก็เสียเวลาท่านหน่อยต้องลางานไป เพราะต้องไปหาอัยการและศาลกับเราตลอดเพราะเป็นนายประกัน

เนื่องจากดิฉันก้ไม่เคยขึ้นศาลกับเค้าสักที ก็คิดไปเยอะเหมือนกันว่าจะไต่สวนยังไง จะมีคู่กรณีมานั่งในห้องกับเราหรือเปล่า

เพราะตอนอยู่โรงพัก ดิฉันตอบปฏิเสธข้อกล่าวหา ให้สู้ในชั้นศาล

แต่พอเข้าไปในห้องพิจารณาคดีของศาลจังหวัด ( เข้าไปพร้อม ๆ กับจำเลยคดีอื่น ๆ ด้วย ) ก็นั่งกันเป็นแถวค่ะ รวมกันประมาณ 20 คน ผู้พิพากษาก็เพียงอ่านเอกสารจากที่อัยการส่งมา เรียกแต่ละคนให้ยืนขึ้น และพูดถึงคดีอย่างคร่าว ๆ และก็ถามตอนท้ายว่า จะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ดิฉันก็ตอบไปว่ารับสารภาพ เสร็จแล้วก็ให้นั่งลง ไม่มีการถามคำถามอื่นใด หรือไต่สวนอะไรเพิ่มเลยค่ะ แล้วก็ให้มารอฟังผลของอีกศาลจากกรุงเทพในวันรุ่งขึ้น


เอาภูมิคุ้มกันทางปัญญา มาฝากเพื่อน ๆ สมาชิกครับ

คดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ..... ตำรวจจับกุมใครได้บ้าง ..

Credit With Thanks.
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=jurisprudence&date=15-06-2009&group=28&gblog=4

ท่านผู้อ่าน คงได้จะพอจำเหตุการณ์กรณีที่ คุณอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ได้สั่งการให้ ชุดเฉพาะกิจ ปราบปรามผู้กระทำผิดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่พัฒน์พงศ์ แล้วถูกกลุ่มผู้ค้า ต่อต้านการจับกุมนั้นอย่างรุนแรง จนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บมากพอสมควรกันได้

ปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในแต่ละครั้งมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก และในขณะเดียวกัน ตำรวจก็สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างมากมายเช่นกัน จึงเป็นคำถามว่า เหตุใด จึงมีการละเมิดลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และ สิทธิบัตร จำนวนมากอยู่ ทั้ง ๆ ที่มีการจับกุม " อย่างจริงจัง " มาโดยตลอด

เมื่อมีการจับกุมผู้กระทำผิด ก็มักจะมีข่าวลือต่าง ๆ นานา ไปในทางไม่ดีเกี่ยวข้องกับตำรวจคนจับ เช่น จับกุมลูกจ้างรายเล็กรายน้อย เพื่อนำไปต่อรอง เกี่ยวกับการประกันตัว หรือ ต่อรองให้ผู้เป็นนายจ้างจะต้องเข้ามาเจรจาค่ายอมความ แล้วถอนคำร้องทุกข์กันไป ซึ่งมีคดีจำนวนมาก เข้ามาสู่การพิจารณาของกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและสอบสวน ของตำรวจแห่งชาติแห่งชาติ จำนวนมาก

ในเรื่องนี้ กองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ นำเรื่องนี้ มาเป็นวาระสำคัญในการพิจารณาแก้ไขปัญหา เพราะไม่ต้องการเห็นตำรวจที่ไม่ดีบางคนใช้กฎหมายในการแสวงประโยชน์ โดยพยายามดำเนินการตั้งแต่ กลางปี พ.ศ. ๒๕๕๑ จนท้ายที่สุด พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร. ได้ลงนามในหนังสือ ตร. ที่ ๐๐๓๑.๒๑๒/๐๓๗๒๑ ลงวันที่ ๑๑ มิ.ย. ๒๕๕๒ เรื่อง กำชับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจค้นจับกุมคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีความอันเป็นสาระสำคัญ ดังนี้

๑) กำชับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ตามหนังสือสั่งการที่ได้เคยออกไปแล้วได้แก่ หนังสือ ตร.ที่ ๐๐๐๔.๖/๙๗๑๗ ลง ๑๘ ก.ย. ๔๖ ( การดำเนินคดีเกี่ยวกับเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ) หนังสือ ตร. ที่ ๐๐๔.๖/๘๙๘๓ ลง ๒๗ ต.ค. ๔๗ ( การดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์เพลงคาราโอเกะ ) และ หนังสือที่ ๐๐๑๑.๒/๔๔๙ ลง ๒๓ ม.ค. ๔๙ กำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

๒) กำชับหน้าที่ของ พนักงานสอบสวน จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายให้ถูกต้องชัดเจนเสียก่อน ห้ามดำเนินการจับกุม ฯลฯ อย่างใดทั้งสิ้น จนกว่าจะตรวจสอบได้ครบถ้วนเสียก่อน

๓) เมื่อจับกุมแล้ว จะต้องจัดทำบันทึกจับกุมในทันทีทันใด เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร จึงจะไปบันทึกที่ สถานีตำรวจ พร้อมทั้ง จะต้องถ่ายภาพของกลาง สถานที่ ฯลฯ ให้เห็นอย่างชัดแจ้ง เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับของกลาง

๔) ห้ามจับกุมลูกจ้าง ฯลฯ ในกรณีที่ปรากฎชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหานั้น เป็นนิติบุคคล ให้ใช้วิธีการออกหมายเรียกนายจ้าง หรือ กรรมการผู้มีอำนาจนิติบุคคลมาสอบสวนในภายหลัง เว้นแต่จะปรากฎว่า กรรมการผู้มีอำนาจ เป็นผู้กระทำผิดซึ่งหน้านั้นเสียเอง

หากจะต้องมีการประกันตัว ก็ให้กำหนดหลักทรัพย์การประกันตัวไว้ไม่เกิน ๕ หมื่นบาทเท่านั้น ห้ามเรียกหลักประกันเกินสมควรโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ควบคุมการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้น จะดำเนินการทางวินัยอย่างเด็ดขาดต่อไปทุกกรณี

ผู้เขียน จึงได้นำมาเผยแพร่ไว้ ผู้ใดถูกละเมิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในทางไม่ชอบและไม่สุจริต จะได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป