เทศกาลไหว้พระจันทร์ (Moon Festival)










Moon Festival






เทศกาลไหว้พระจันทร์
วันไหว้พระจันทร์


วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เป็นวันไหว้พระจันทร์ของชาวจีน




ภาษาจีนเรียกวันไหว้พระจันทร์ว่า" จงชิว " ที่มาของคำว่าจงชิวนี้คือ เดือนแปดตามปฏิทินจันทรคติตกอยู่ช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง (เดือนเจ็ดและเดือนแปดอยู่ในฤดูใบไม้ร่วง หนึ่งฤดูแบ่งเป็น เมิ่ง จ้ง จี้ ) ดังนั้นก็เลยเรียกว่า " จ้งชิว " ประกอบกับวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนแปดก็ตกอยู่ในช่วงกลางของเวลาที่เรียกว่าจ้งชิวนี้ จึงเรียกเทศกาลดังกล่าวว่า" จงชิว " ด้วย

ในคืนวันไหว้พระจันทร์ ดวงจันทร์สว่างและกลม ถือว่าสวยที่สุด ผู้คนถือว่าดวงจันทร์ที่กลมเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความสามัคคี ดังนั้นจึงเรียกเทศกาลนี้ว่า " เทศกาลแห่งความกลมเกลียว " เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นเทศกาลดี เป็นเทศกาลที่มีความเกี่ยวข้องกับตำนาน เรื่องดวงจันทร์ของชาวจีนอย่างแนบแน่น เช่นเรื่อง " ฉังเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์ " ถือว่าเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงมาก

วันไหว้พระจันทร์ เป็นการไหว้ครั้งที่ 6 ของปี เรียกการไหว้ครั้งนี้ว่า "ตงชิวโจ่ย" การไหว้พระจันทร์ของคนจีน เป็นที่รู้จักกันดีกว่าเทศกาลไหว้อื่นๆ เพราะมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เป็นการไหว้เจ้าแม่กวนอิม และมีของไหว้ที่เป็นแบบเฉพาะ เช่นมีขนมไหว้พระจันทร์ มีต้นอ้อย โคมไฟ เทศกาลนี้เป็นอุบายในการปลดแอกชาติจีน ออกจากการปกครองของพวกมองโกล
วันไหว้พระจันทร์ ถือเป็นวันสารท เพราะตรงกับวันกลางเดือน คือวันที่ 15 ถ้าเป็นตรุษจะเป็นวันที่ 1 ของเดือน ตรงกับวันที่ 15 เดือน 8 ของจีน และถือเป็นวันกลางเดือนของเดือน กลางฤดูใบไม้ร่วง ด้วยว่าประเทศจีนนั้นแบ่งวันเวลา เป็น 4 ฤดูกาล ฤดูหนึ่งมี 3 ดวง คือ ชุง แห่ ชิว ตัง คือฤดูใบไม้ผลิ ฤดูฝน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว ตามมลำดับ



ตำนานวันไหว้พระจันทร์
ขนมที่ทำมาเป็นพิเศษในเทศกาลไหว้พระจันทร์นี้ก็คือ ขนมเปี๊ยก้อนใหญ่พิเศษ ไส้หนา มีขนมโก๋สีขาว ขนมโก๋สอดไส้ ขนมโก๋สีเหล์อง เมื่อไหว้เสร็จก็แบ่งกันรับประทานในครอบครัว
เรื่อง
" ฉังเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์ " ปรากฎเป็นครั้งแรกในยุคต้นของสมัยจั้นกว๋อ ( สมัยสงครามระหว่างรัฐ ) เล่าเรื่องราวของฉังเอ๋อที่ได้กินยาอายุวัฒนะของเจ้าแม่ซีหวังหมู่ แล้วไปเป็นเทวีแห่งดวงจันทร์ เมื่อถึงสมัยราชวงศ์สุยและถัง เนื่องจากผู้คนในสมัยนั้นมีความนิยมที่จะชื่นชมดวงจันทร์ว่าสวยและดูน่ารักใคร่ ดังนั้นทัศนะที่มีต่อฉังเอ๋อผู้ซึ่งอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ว่าเป็นผู้ที่อ่อนหวาน สวยงาม ฉลาด มีจิตใจดีงาม มีความสามารถในการร้องรำ เป็นต้น มีตำนานอีกเรื่องที่เล่าถึงเทวีแห่งดวงจันทร์ว่า สมัยโบราณนานมาแล้ว โลกเรานี้มิได้มีดวงอาทิตย์เพียงแค่ดวงเดียวเท่านั้น แต่มีถึงสิบดวง นำมาซึ่งภัยพิบัติแต่โลกมนุษย์ ทำให้โลกร้อนระบุเป็นเพลิง ส่วนที่เป็นน้ำก็เหือดแห้งไป ภูเขาถล่มแผ่นดินแยก ต้นไม้ใบหญ้าแห้งกรอบ ผู้คนไม่มีที่จะไปหลบซ่อนอาศัย ในช่วงนี้เองได้ปรากฎวีรบุรุษคนหนึ่งชื่อ" โฮ่วอี้ " เป็นผู้ที่มีฝีมือในการยิงธนูได้อย่างมหัศจรรย์มาก เขาได้ยิงธนูขึ้นสู่ฟ้า เพียงดอกเดียวก็ยิงถูกดวงอาทิตย์ตกลงมาถึงเก้าดวง เหลืออยู่เพียงแค่ดวงเดียว ถือเป็นการขจัดทุกเข็ญให้กับบรรดาประชาชน ผู้คนจึงพากันยกย่องให้เขาเป็นกษัตริย์ แต่ทว่า พอเขาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ เขาก็ลุ่มหลงในสุราและนารี ฆ่าฟันผู้คนตามอำเภอใจ กลายเป็นทรราช ราษฎรล้วนแต่โกรธแค้นและชิงชังเขาเป็นที่สุด โฮ่วอี้รู้ตัวว่าตัวเองคงจะอยู่เป็นสุขเช่นนี้ไปได้อีกไม่นาน จึงเดินทางไปที่ภูเขาคุนหลุน ( คุนลุ้น ) เพื่อขอยาอายุวัฒนะจากเจ้าแม่หวังหมู่มากิน แต่ฉังเอ๋อ ภรรยาของเขากลัวว่าถ้าสามีของเธอมีอายุยืนนานโดยไม่มีวันตายเช่นนี้ ก็จะเข่นฆ่าราษฎรต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นเธอเลยตัดสินใจกินยาอายุวัฒนะนั้นเสียเอง แต่พอกินเข้าไป ในฉับพลันทันใด ร่างของเธอก็เบาแล้วก็ลอยขึ้นไปสู่ดวงจันทร์
ยังมีนิทานอีกเรื่องเล่าว่า ศิษย์ของโฮ่วอี้ชื่อ" เฝิงเหมิ่ง " อิจฉาฝีมือการยิงธนูของโฮ่วอี้มาก คอยคิดแต่จะสังหารโฮ่วอี้ อยู่มาวันหนึ่ง เฝิงเหมิ่งถือโอกาสตอนที่โฮ่วอี้ออกไปล่าสัตว์บังคับให้ฉังเอ๋อ ภรรยาของโฮ่วอี้มอบยาอายุวัฒนะให้แก่ตนเอง แต่ฉังเอ๋อไม่ยอม โดยกินยาอายุวัฒนะที่มีอยู่ทั้งหมดลงท้องไป ผลก็คือ ร่างของเธอเบา และลอยขึ้นไปสู่ดวงจันทร์ในที่สุด นับแต่นั้นมา บนดวงจันทร์ก็ปรากฎนางฟ้าผู้งดงามและจิตใจดีเช่นฉังเอ๋อนี้



เนื่องจากตำนานเรื่องต่างๆที่เล่าขานเกี่ยวกับดวงจันทร์ทั้งหลายนี้ ดังนั้นนับแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา ผู้คนก็จะมีประเพณีการชมและบูชาดวงจันทร์ จักรพรรดิถือความนิยมในการบูชาพระอาทิตย์ในฤดูใบไม้ผลิ และบูชาพระจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วง พวกราษฎรก็มีประเพณีการบูชาพระจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วงด้วยเช่นกัน ในการบูชาพระจันทร์นั้น ตามปกติพิธีจะเริ่มหลังจากที่ดวงจันทร์ขึ้นแล้ว บางท้องที่สิ่งที่นำมาบูชาดวงจันทร์ได้แก่ขนมไหว้พระจันทร์ ผลไม้ ถั่ว ดอกหงอนไก่ หัวไชเท้า รากบัว เป็นต้น ในขณะที่ทำการบูชาดวงจันทร์นั้น เนื่องจากดวงจันทร์อยู่ธาตุหยิน ก็มักจะให้ผู้หญิงไหว้ก่อน แล้วถึงให้ผู้ชายไหว้ และก็ยังถึงกับมีความนิยมที่ว่าผู้ชายจะไม่ไหว้พระจันทร์อีกด้วย หลังจากไหว้พระจันทร์เสร็จแล้ว คนในครอบครัวก็จะร่วมกันดื่มสุราแห่งความกลมเกลียว และกินข้าวชมจันทร์ วันนี้ผู้หญิงที่กลับบ้านแม่ไปเยี่ยมญาติก็ยังต้องกลับบ้านมาเพื่อความกลมเกลียว



ในฐานะที่ขนมไหว้พระจันทร์เป็นสิ่งของสำคัญในการบูชาดวงจันทร์ หลังจากการบูชาจบลง คนทั้งบ้านก็จะแบ่งกันกิน เนื่องจากขนมไหว้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความกลมเกลียว สะท้อนให้เห็นความหวังอันงดงามของผู้คนที่มีต่อชีวิตในอนาคตของพวกตน ดังนั้นบางที่ก็จะเรียก ขนมไหว้พระจันทร์ว่า " ขนมแห่งความกลมเกลียว "
ตามที่เล่าขานสืบต่อกันมานั้น ขนมไหว้พระจันทร์ปรากฎขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ครั้นถึงราชวงศ์ซ่ง ( ซ้อง ) ก็ยิ่งเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น ขนมไหว้พระจันทร์นั้นไม่เพียงแต่เป็นขนมที่สืบทอดกันมาโดยถือว่าเป็นผลิตผลจากสี่ฤดูกาลเท่านั้น ในด้านการทำ รสชาติก็ยังแตกต่างกันไปในแต่ละถิ่นที่ด้วย เช่นขนมไหว้พระจันทร์แบบซูโจว ขนมไหว้พระจันทร์แบบกว่างตง ( กวางตุ้ง ) ขนมไหว้พระจันทร์แบบเป่ยจิง ( ปักกิ่ง ) ขนมไหว้พระจันทร์แบบหนิงโป ขนมไหว้พระจันทร์แบบเฉาซาน ( แต้จิ๋ว- ซัวเถา ) ขนมไหว้พระจันทร์แบบหยุนหนาน ( ยูนนาน ) แม้แต่ในท้องถิ่นเดียวกัน ก็ยังมีการทำไส้ขนมที่ต่างกัน ลวดลายขนผิวขนมก็ต่างกัน และก็เรียกชื่อต่างกันไป เช่น ไส้ผลไม้ ไส้ถั่วแดง ไส้ลูกบัว ไส้แฮม ไส้ไข่เค็ม เป็นต้น

เทพธิดาฉางเอ๋อ

ภาพเทพธิดาฉางเอ๋อเหาะขึ้นสู่ดวงจันทร์

วันขึ้น 15 ค่ำเดือนแปดตามปีจันทรคติของทุกปี ตรงกับราวปลายเดือนกันยายน มีเทศกาลสำคัญของชาวจีนเทศกาลหนึ่ง คือเทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นเทศกาลโบราณที่สะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับพระจันทร์ในอีกแง่มุมหนึ่ง ชาวจีนโบราณ เชื่อว่าสรรพสิ่งบนโลกนี้แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ หยินกับหยาง โดยถือเอาพระอาทิตย์เป็นตัวแทนของเทพฝ่ายหยาง และถือเอาพระจันทร์เป็นตัวแทนของเทพฝ่ายหยิน ในสมัยโบราณกษัตริย์จีนจะมีการทำพิธีบูชาเทพแห่งพระอาทิตย์และเทพแห่งพระจันทร์ ประเพณีไหว้พระจันทร์จึงเป็นพิธีที่เอิกเกริกยิ่งใหญ่พิธีหนึ่ง ซึ่งเราจะสังเกตได้จากโบราณสถานที่เคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีในสมัยโบราณ เช่น หอบูชาพระจันทร์ในปักกิ่ง



ซึ่งก่อสร้างในสมัยราชวงศ์หมิง กิจกรรมการไหว้พระจันทร์ จะเริ่มขึ้นเมื่อพระจันทร์ขึ้นสู่ขอบฟ้า โต๊ะบูชาก็จะถูกจัดวางเรียงรายด้วยขนมไหว้พระจันทร์ ผลทับทิมและผลไม้ต่างๆ ครั้นพิธีการเซ่นไหว้สิ้นสุดลง ทุกคนก็จะห้อมล้อมรอบโต๊ะพากันชิมขนม จิบน้ำชาและชมจันทร์กันอย่างชื่นมื่น กาลเวลาและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประเพณีไหว้พระจันทร์จากเดิมที่เคยเป็นประเพณีอันเคร่งครัดด้วยพิธีรีตรอง ได้ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปเป็นประเพณีชมจันทร์ที่สนุกสนานครึกครื้นแทน เทศกาลไหว้พระจันทร์ในประเทศจีนตรงกับช่วงกลางฤดูใบไม้ผลิ ช่วงนี้เป็นช่วงที่พระอาทิตย์โคจรเข้าใกล้บริเวณเส้นแวงของโลกมากที่สุด พระจันทร์ซึ่งหมุนรอบโลกตามแนวเส้นแวงจึงรับแสงพระอาทิตย์อย่างเต็มที่ แสงจันทร์ที่สาดสะท้อนกลับมายังโลกจึงสุกสกาวกว่ายามใดๆ ชาวจีนโบราณจึงถือโอกาสนี้จัดกิจกรรมชมจันทร์ขึ้น ในขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ผลผลิตทางการเกษตรให้ผลเก็บเกี่ยวเต็มที่ ชาวไร่ชาวนาซึ่งเหน็ดเหนื่อยจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ก็จะจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต เพื่อเป็นการแสดงการขอบคุณต่อเทพที่ประทานความอุดมสมบูรณ์มาให้ หรืออีกนัยหนึ่ง ในสังคมเกษตรกรรม เทศกาลไหว้พระจันทร์ก็คือเทศกาลแห่งการขอบคุณพระเจ้านั่นเอง ปัจจุบันประเพณีการไหว้พระจันทร์ ในจีนได้เลือนหายไปกับกาลเวลา คงเหลือไว้แต่ประเพณีการกินขนม ชมพระจันทร์ และเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับพระจันทร์เท่านั้น



เทพนิยายที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลไหว้พระจันทร์มีอยู่หลายตำนาน เช่นเรื่องราวของโฮวอี้กับเทพธิดาฉางเอ๋อ ในตำนานเล่าว่า เทียนตี้ เทพแห่งฟ้ามีโอรสสิบองค์ ก็คือสุริยันเทพสิบดวง เทียนตี้ได้บัญชาให้โอรสผลัดเปลี่ยนเวรกันให้แสงสว่างแก่โลกมนุษย์วันละดวง ปรากฏว่ามีอยู่วันหนึ่งสุริยเทพทั้งสิบออกมาแห่แหนเรียงรายเต็มท้องฟ้า สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวโลกอย่างมาก เป็นเหตุให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ภัยแล้งคุกคามไปทั่วทุกหัวระแหง และเกิดโรคภัยอันสืบเนื่องจากภัยแล้ง ความเดือดร้อนของชาวบ้านได้ร้อนถึงโฮวอี้เทพบุตรผู้ซึ่งมีอาวุธเป็นธนูวิเศษ และเป็นผู้ซึ่งได้รับบัญชาจากเทียนตี้ให้ไปปราบอธรรมบนโลกมนุษย์ในขณะนั้น โฮวอี้ได้ถือวิสาสะ น้าวธนูยิงดวงสุริยันเก้าดวงดับสลาย คงเหลือไว้เพียงหนึ่งดวง ทำให้เทียนตี้พิโรธอย่างมาก เนรเทศให้อี้ลงมาจุติบนโลกมนุษย์และมีภรรยาชื่อฉางเอ๋อ มีอยู่วันหนึ่งหลัง



จากที่อี้ได้ยาอมฤตะจากพระแม่เจ้าหวังหมู่ จึงได้มอบให้ฉางเอ๋อเก็บรักษาไว้ เรื่องยาอมฤตได้ล่วงรู้ถึง เผิงเหมิง ในขณะที่โฮวอี้ออกไปนอกบ้านเผิงเหมิงจึงลักลอบมาขโมยยาอมฤต จนเกิดการต่อสู้แย่งชิงกับฉางเอ๋อขึ้น ฉางเอ๋อไม่อาจรับมือกับเผิงเหมิงได้ ท่ามกลางโกลาหลนั้น ฉางเอ๋อจึงได้ฉกฉวยดื่มยาอมฤตเสีย และทันใดนั้นร่างของนางก็โบยบินไปสู่ฟากฟ้า



แต่ด้วยความอาลัยอาวรณ์ต่อสามี ฉางเอ๋อจึงได้เลือกไปสถิตอยู่ ณ ดวงจันทร์ อันเป็นสถานที่ที่ใกล้กับโลกมนุษย์ที่สุด นางจึงกลายเป็นเทพธิดาสถิตอยู่บนดวงจันทร์ และอาศัยอยู่อย่างเดียวดาย มีเพียงกระต่ายน้อย คางคกและต้นกุ้ยซู่ลำต้นสูงใหญ่เท่านั้น ฝ่ายโฮวอี้เมื่อกลับถึงบ้านได้รับรู้เรื่องราวที่ฉางเอ๋อกลายเป็นเทพธิดา ก็ได้แต่ร่ำไห้ร้องเรียกหานาง และด้วยความอาลัยครั้นมองขึ้นไปบนดวงจันทร์ก็พบว่าฉางเอ๋อก็เฝ้าคอยอยู่เช่นกัน นับแต่นั้นมา จึงให้มีการจัดโต๊ะบูชาเทพธิดาแห่งพระจันทร์ ด้วยขนมและผลไม้ที่นางโปรดปราน และมีการอธิษฐานให้เทพแห่งพระจันทร์คุ้มครอง



ประเพณีการบูชาเทพแห่งพระจันทร์จึงได้เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง และบ้างก็มีตำนานเล่าว่า บนพระจันทร์นั้นมี อู๋กังคนตัดไม้อาศัยอยู่ตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับพระจันทร์ได้สะท้อนความเชื่อของชาวจีน ซึ่งสังเกตได้ว่าชาวจีนมีความใคร่อยากรู้อยากเห็นและสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลมาตั้งแต่ครั้งโบราณสิ่งสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งในเทศกาลไหว้พระจันทร์ก็คือขนมไหว้พระจันทร์ ขนมไหว้พระจันทร์ ก็มีตำนานเล่าขานกันอยู่หลากหลายเช่นกัน เล่ากันว่าการกินขนมไหว้พระจันทร์ได้สืบทอดมาตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์หยวน มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยราชวงศ์หยวน ชาวจีนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบภาคกลาง ไม่พอใจต่อการปกครองอันป่าเถื่อนของผู้ปกครองชนเผ่ามองโกล



จึงรวบรวมไพล่พลรุกขึ้นก่อการปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง โดยมีจูหยวนจางเป็นผู้ทำการสมัครพรรคพวกก่อการปฏิวัติในครั้งนั้น แต่ทว่าความเคลื่อนไหวทั้งปวงก็ถูกทหารหยวนควบคุมอย่างเคร่งครัด แม้กระทั่งการสื่อสารกัน ด้วยเหตุนี้หลิวปั๋วเหวินจึงคิดค้นหาวิธีการลักลอบส่งสาร

โดยสั่งให้หวางเจากวงทำขนมขึ้น และสอดสารลับในขนมนั้น อันมีใจความเพื่อนัดหมายก่อการปฏิวัติ ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนแปด ข่าวการก่อการปฏิวัติจึงแพร่พลัดกระจายไปยังที่ต่างๆ นับตั้งแต่นั้นมาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การกอบกู้ชาติในครั้งนั้น จึงมีการทำขนมสืบต่อมากันมาจวบจนทุกวันนี้ในวันไหว้พระจันทร์เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง มีความหมายถึงความกลมเกลียว จึงเป็นเสมือนวันนัดหมายรวมญาติมิตรอีกวันหนึ่ง ในปัจจุบันชาวจีนได้ถือเอาวันนี้เป็นวันแห่งครอบครัวที่สมาชิกทุกคนจะกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตากัน และร่วมกันชิมขนม จิบน้ำชาภายใต้แสงจันทร์ เคล้าเสียงของอากง อาม่าเล่าขานเรื่องราวความรักโรแมนติกของอี้กับฉางเอ๋อท่ามกลางวงล้อมของลูก ๆ หลาน ๆ ได้ถ่ายทอดจากคนอีกรุ่นไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง





ขนมไหว้พระจันทร์

ส่วนที่มาของพิธีเซ่นไหว้พระจันทร์นั้น ตามบันทึกโบราณ โจวหลี่ ระบุว่า จีนเริ่มเซ่นไหว้พระจันทร์เมื่อสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งที่มาของพิธีในเทศกาลนี้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับตำนานความฝันของกษัตริย์ถังหมิงหวง เสด็จประพาสพระราชวังบนดวงจันทร์ เรื่องเล่ามีอยู่ว่า ในกลางดึกของคืนเดือนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 กษัตริย์ถังหมิงหวงบรรทมหลับไปแล้วทรงพระสุบินว่า พระองค์ลอยขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบเทพธิดาบนดวงจันทร์กำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม ในฝันนั้น พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและทรงโปรดให้ฝันนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาในฝัน ประเพณีปฏิบัติเช่นนี้ ภายหลังได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ และเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับ เทศกาลตรุษจีน และเทศกาลไหว้ขนมจ้าง (ขนมบ๊ะจ่าง)


中秋節快樂


เทศกาล ไหว้พระจันทร์ แฝงคติความกลมเกลียว



ในค่ำคืนของวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของคนจีน เรื่องราวของความศรัทธาในดวงจันทร์ จนทำให้เกิดเทศกาล "ไหว้พระจันทร์"
ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของปฏิทินจีน ชาวจีนจะทำพิธีไหว้พระจันทร์ เป็นการไหว้ครั้งที่ 6 ของปี เรียกการไหว้ครั้งนี้ว่า "ตงชิวโจ่ย" ซึ่งตรงกับช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง

วันนี้เป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุดและเต็มดวงสวยที่สุด ในค่ำคืนนี้ผู้คนแหงนมองดวงจันทร์ที่สุกสว่าง ท้องฟ้าปลอดโปร่งไร้เมฆฝนอากาศสดชื่น ทำให้อดคิดถึงการอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวไม่ได้ คนจีนสมัยโบราณนิยมใช้จันทร์เสี้ยว-จันทร์เต็มดวง มาบรรยายถึงความทุกข์ พลัดพราก-พร้อมหน้า เมื่อใดที่จันทร์เต็มดวง ให้ความรู้สึกถึงการอยู่ร่วมกัน คนที่จากบ้านเกิดไปไกลอดคิดถึงครอบครัวและบ้านเกิดที่จากมาไม่ได้ โดยจะเห็นได้จากบทกวีต่าง ๆ ของนักกวีเอกของจีน เช่น หลี่ไป๋ ตู้ผู่ ที่มักใช้ดวงจันทร์บรรยายถึงความอ้างว้างและคิดถึงบ้านเกิด

กำเนิดของการไหว้พระจันทร์มีตำนานและเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันอยู่หลายเรื่องด้วยกัน รองศาสตราจารย์แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวให้ฟังว่า คติการ ไหว้พระจันทร์ เริ่มต้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในสมัยราชวงศ์ถัง ตามตำนานเล่าว่า มีนักพรตเต๋าชื่อ เย่ฝ่าซ่าน ได้ประกอบพิธีร่ายเวทมนตร์คาถาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ให้องค์จักรพรรดิถัง เสียนจงเสด็จไปท่องพระจันทร์ในค่ำคืนนั้น และได้พบเทพธิดาบนดวงจันทร์กำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมทรงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาในฝัน ตั้งแต่นั้นมา ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 พระองค์จะรับสั่งให้จัดเครื่องเซ่นไหว้พระจันทร์ และทอดพระเนตรความงามของพระจันทร์ไปพร้อมกับการร่ายรำของนางสนม จากนั้นเป็นต้นมา ชาวเมืองจึงถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เป็น วันไหว้พระจันทร์ และยังมีการชมจันทร์บนพื้นที่สูงหรือล่องเรือชมจันทร์ รวมทั้งดื่มสุราฉลองกันอย่างครึกครื้น



แต่สำหรับ ชาวจีนแต้จิ๋ว มีคติแบบหนึ่ง เล่ากันว่า เมื่อ รัชสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1206-1368) ชาวมองโกลได้ยึดครองประเทศจีนแล้วได้กระทำทารุณกับชาวจีนฮั่นไว้มาก พวกมองโกลได้ออกกฎว่าคนจีน 3 ครอบครัวต้องเลี้ยงดูคนมองโกลอย่างดี 1 คน ทั้งนี้เพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหวไปในตัว มีการยึดอาวุธทั้งหมดอนุญาตให้มีได้เพียงมีดหั่นผักเพียงเล่มเดียว โดยให้ใช้ร่วมกัน 3 ครอบครัว ชาวจีนมีความโกรธแค้นพวกมองโกล จึงวางแผนก่อการขับไล่ทหารมองโกลโดยการทำขนมไหว้พระจันทร์ที่จงใจออกแบบให้เป็นขนมเปี๊ยะก้อนใหญ่ไส้หนาเป็นพิเศษ เพื่อใช้เป็นที่ซ่อนเอกสารในการติดต่อแล้วให้มีธรรมเนียมแลกขนมเปี๊ยะกันระหว่างญาติมิตร เป็นการตบตาพวกมองโกล โดยภายในสารระบุเวลากำจัดคนมองโกลว่าเที่ยงคืนของวันเพ็ญเดือน 8 ซึ่งเป็นคืนที่มีงานไหว้พระจันทร์ พอเที่ยงคืนมีการตีเกราะเคาะไม้ส่งสัญญาณแก่กันว่าได้เวลาแล้ว ทุกครอบครัวพร้อมใจกันขับไล่ทหารมองโกลจนสำเร็จสมประสงค์ เมื่อได้เอกราชคืนมา ชาวจีนจึงยึดถือเอาวันเพ็ญเดือน 8 เป็นวันไหว้พระจันทร์สืบต่อมา เพื่อรำลึกถึงการกู้ชาติจากพวกมองโกล




"ในเทศกาลนี้สมัยก่อนมีคำพูดว่า ผู้ชายไม่ไหว้พระจันทร์ เพราะพระจันทร์ถือว่าเป็นหยินซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง ผู้ชายถือเป็นหยาง ดังนั้น จึงให้แต่ผู้หญิงเป็นคนไหว้เท่านั้น แต่ในยุคหลังผู้ชายก็ไหว้พระจันทร์ได้เช่นกันเพียงแต่ผู้หญิงเป็นหลักในการจัดการเตรียมการไหว้"
พิธีไหว้พระจันทร์ จะเริ่มต้นตอนหัวค่ำซึ่งดวงจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า ถ้าดินฟ้าอากาศเป็นปกติพระจันทร์เริ่มปรากฏตอนหัวค่ำผู้คนจะดีอกดีใจ แต่ถ้าอากาศแปรปรวนท้องฟ้ามืดครึ้มและไม่มีทีท่าจะปลอดโปร่ง ความหวังที่จะได้แลเห็นพระจันทร์เต็มดวงค่อนข้างจะเลือนราง ผู้คนก็ออกจะหงุดหงิด แต่ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรหรือแม้แต่ฝนเริ่มตกพรำ ๆ พิธีไหว้พระจันทร์จะต้องดำเนินต่อไป

สถานที่ไหว้พระจันทร์อาจเป็นลานบ้านหรือดาดฟ้า แต่ถ้าไม่สะดวกอาจไหว้หน้าบ้านก็ได้ โดยตั้งโต๊ะขนาดเท่าโต๊ะทำงาน มีซุ้มที่ทำจากต้นอ้อยเพื่อความสวยงาม มีธูปเทียน กระดาษเงินกระดาษทองที่พับเป็น เงินตราจีน โคมไฟ และสิ่งของเซ่นไหว้ซึ่งได้แก่ ผลไม้ต่าง ๆ อาทิ ส้มโอ แอปเปิ้ล สาลี่ ทับทิม กล้วย ส้ม และผลไม้ท้องถิ่นอื่น ๆ รวมทั้ง ขนมชนิดต่าง ๆ ที่ขาดไม่ได้ คือ ขนมไหว้พระจันทร์ สำหรับขนมไหว้พระจันทร์ของชาวจีนแต้จิ๋ว ได้แก่ ขนมโก๋สีขาวรูปทรงกลมขนาดเท่าปากชามก๋วยเตี๋ยวหรืออาจมีขนาดเล็กลงไปก็ได้ อีกทั้งเครื่องสำอาง แป้ง จะใช้ยี่ห้ออะไรก็แล้วแต่ผู้ไหว้ พิธีดำเนินไปจนถึงตอนดึกประมาณ 4-5 ทุ่ม เป็นอันเสร็จพิธี เมื่อเสร็จพิธีทุกคนในครอบครัวจะตั้งวงแบ่งกันกินขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคล อยู่ดีมีสุขกันพร้อมหน้า การไหว้เพื่อการบูชาดวงจันทร์จากตำนานในแต่ละเรื่องจะเห็นว่า คนจีนให้ความสำคัญกับธรรมชาติ คนจีนจะเห็นว่าตัวเขาเองเล็กมากถ้าเทียบกับธรรมชาติ ฉะนั้นวิธีกลมกลืนด้วยการทำพิธีกรรมอย่างนี้เป็นวิธีที่ดีมาก ทำให้คนสมัยก่อนใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่บังคับธรรมชาติ ไม่ฝืนธรรมชาติ แต่มีความเคารพในสิ่งที่เป็นธรรมชาติ จึงทำให้เห็นว่าธรรมชาติมีความยิ่งใหญ่และมีความลึกลับจึงสร้างเป็นพิธีกรรมขึ้น



การไหว้พระจันทร์จึงเป็นการแสดงความสามัคคีของคนในครอบครัว โดยเฉพาะขนมเปี๊ยะจะเป็นรูปทรงกลม ลักษณะที่กลมทางจีนเชื่อว่าเป็นการแสดงความสามัคคีกันความอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนภายในครอบครัว อีกทั้งยังเชื่อว่าดวงจันทร์ซึ่งมีลักษณะกลม เป็นสัญลักษณ์ของความสวยงามและเป็นสื่อกลางของการคิดถึงซึ่งกันและกัน เมื่อสมาชิกในครอบครัวไม่สามารถกลับมาบ้านได้ก็ให้แหงนมองดวงจันทร์ส่งความรู้สึกที่ดีส่งความคิดถึงไปสู่ครอบครัวและคนที่รัก ดังนั้นชาวจีนส่วนใหญ่มักจะชื่นชอบค่ำคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวงอันหมายถึงการกลับสู่ครอบครัว แต่ก็มีบางคนที่ชื่นชอบดวงจันทร์เป็นเสี้ยวเพื่อจะได้มีวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงให้ชื่นชม


การไหว้พระจันทร์จึงเป็นการแสดงความสามัคคีของคนในครอบครัว โดยเฉพาะขนมเปี๊ยะจะเป็นรูปทรงกลม ลักษณะที่กลมทางจีนเชื่อว่าเป็นการแสดงความสามัคคีกัน
"ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลใดล้วนมีความน่าสนใจทั้งนั้น อย่าง เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็น เทศกาลที่ควรปฏิบัติสืบต่อไป แต่ต้องปฏิบัติอย่างมีสติ ตรงที่ว่าไม่ควรบริโภคขนมไหว้พระจันทร์ตามคำโฆษณามากนัก สิ่งสำคัญ คือ การที่ผู้ใหญ่น่าจะได้พูดคุยกับลูกหลานถึงตำนานของการไหว้พระจันทร์ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ไหว้เพื่ออะไร ทำไมคนสมัยก่อนถึงได้นับถือธรรมชาติ เราจะได้รักษาสมดุลธรรมชาติ มีวิถีในการดำเนินชีวิตที่เมตตาธรรมชาติมากกว่านี้ ไม่เบียดเบียน ไม่ใช้วิถีชีวิตแบบทุนนิยมจัดการกับธรรมชาติ ทั้งที่เป็นป่าเขาและทะเล อยากให้ยึดถือตรงส่วนนี้ให้มาก"
ไหว้พระจันทร์...จะเป็นอีกวันหนึ่งที่คนในครอบครัวจะได้อยู่ร่วมชมจันทร์พร้อมหน้ากัน

เดลินิวส์, Kapook.com