ร่างกายอ่อนแอระวัง "หัวฝักบัว" แหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรียก่อโรคปอด





ร่างกายอ่อนแอระวัง "หัวฝักบัว" 
แหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรียก่อโรคปอด


นักวิจัยสหรัฐฯ สำรวจตัวอย่างหัวฝักบัว พบเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในปอด อันตรายต่อผู้มีพันธุกรรมและภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนผู้มีร่างกายแข็งแรงไม่ต้องกังวล

นักวิจัยมหาวิทยาลัยโคโลราโด (University of Colorado) สหรัฐฯ ซึ่งนำโดย นอร์แมน อาร์ เพซ (Norman R. Pace) ได้ทดสอบฝักบัว 45 ตัวอย่าง จาก 5 มลรัฐในสหรัฐฯ แล้วพบว่าฟักบัวเหล่านั้นอาจเป็นแหล่งซุกซ่อนแบคทีเรีย ที่จะไหลตามสายน้ำลงมาสู่ใบหน้าและร่างกายเราได้

สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลมากนัก ยกเว้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ เอดส์ และผู้บำบัดมะเร็ง หรือผู้ที่เพิ่งปลูกถ่ายอวัยวะ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอคาเดมีออฟไซน์ (Proceedings of the National Academy of Sciences)


ทั้งนี้ แบคทีเรียเจ้าปัญหาดังกล่าวคือ มายโคแบคเทอเรียมเอเวียม (Mycobacterium avium) หรือเอ็มเอวียม (M. avium) ซึ่งนำไปสู่โรคปอดในบางคน โดยเอพีระบุข้อมูลจากเพซว่า จากการศึกษาของเนชันนัลยิวอิชฮอสพิทัล (National Jewish Hospital) ในเดนเวอร์ ชี้ว่าจำนวนผู้ป่วยในสหรัฐฯ ซึ่งติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ที่ปอดช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานั้น สัมพันธ์กับผู้คนที่ชอบอาบน้ำฝักบัวมากกว่าอาบน้ำในอ่าง โดยอาการติดเชื้อมีทั้งอาการเหนื่อย ไอแห้ง หายใจลำบากเรื้อรัง


ทีมวิจัยแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงจากแบคทีเรียเหล่านี้ ด้วยการใช้ฝักบัวโลหะ เนื่องจากจุลินทรีย์เติบโตในวัสดุประเภทนี้ได้ยาก อีกทั้งฝักบัวเอง ยังเต็มไปซอกหลืบที่ยากต่อการทำความสะอาด และแบคทีเรียจะกลับมาใหม่ แม้จะใช้น้ำยาขัดล้างแล้วก็ตาม


ด้าน ลอรา เค บวมการ์ทเนอร์ (Laura K. Baumgartner) ผู้ร่วมมิจัยกล่าวเสริมว่า การอาบน้ำในอ่างนั้น จะกระจายเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว สู่อากาศได้มากเท่ากับการอาบน้ำด้วยฝักบัว ซึ่งกระจายเชื้อจุลินทรีย์ให้อยู่ในรูปละอองฝอยที่ง่ายต่อการสูดหายใจเข้าปอด ร่างกายไม่แข็งแรงและรู้สึกแย่




ตัวอย่างฝักบัวที่ทีมวิจัยสุ่มสำรวจนั้นมาจากอาคารบ้านพัก อพาร์ทเม็นท์ และสถานที่สาธารณะในนิวยอร์ก อิลลินอยส์ โคโลราโด เทนเนสซี และนอร์ธดาโกตา โดยพวกเขาได้เก็บตัวอย่างน้ำที่ไหลออกจากฝักบัว จากนั้นแยกหัวฝักบัวออก แล้วทำความสะอาดอุปกรณ์ภายใน


จากนั้นเก็บตัวอย่างน้ำที่ไหลผ่านท่อโดยไม่มีฝักบัว และจากการศึกษาดีเอ็นเอของตัวอย่าง ทีมวิจัยสามารถจำแนกได้ว่ามีแบคทีเรียชนิดใดอยู่ และยังพบว่าแบคทีเรียมีแนวโน้มที่จะสะสมอยู่ในหัวฝักบัวมากกว่าบริเวณอื่น


อย่างไรก็ดีตัวอย่างน้ำส่วนใหญ่ที่สำรวจนั้น มาจากระบบน้ำในเขตปกครองของเมืองใหญ่ๆ อย่างนครนิวยอร์กและเดนเวอร์ แต่ทีมวิจัยก็ยังศึกษาตัวอย่างจากบ้านในชนบท ซึ่งได้รับจ่ายน้ำจากแหล่งน้ำส่วนตัว พบว่าไม่มีแบคทีเรียเอ็มเอเวียมอยู่ในหัวฝักบัว แต่พบแบคทีเรียชนิดอื่นอยู่แทน




ในการศึกษาอื่นๆ ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยของเพซยังพบแบคทีเรียเอ็มเอเวียมในผ้าม่านพลาสติกไวนีลในห้องน้ำ และบนผิวน้ำของสระบำบัดร้อน และยังมีการศึกษาอื่นๆ อาทิ การวิเคราะห์อากาศในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของนิวยอร์ก ห้องโถงในโรงพยาบาล อาคารสำนักงานและสถานสงเคราะห์คนไร้บ้าน โดยรับทุนวิจัยจากมูลนิธิอัลเฟรด พี สโลน (Alfred P. Sloan Foundation) และสถาบันเพื่อความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาพของสหรัฐฯ (National Institute of Occupational Safety and Health)


ด้าน โจเซฟ โอ ฟอลคินแฮม (Joseph O. Falkinham) นักจุลชีววิทยาจากเวอร์จิเนียเทค (Virginia Tech) ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยนี้ ยินดีกับการค้นพบนี้ และกล่าวว่าแบคทีเรียเอ็มเอเวียมก่อให้เกิดอันตรายได้เพราะการอาบน้ำฟักบัวนั้นแบคทีเรียจะถุกทำให้ฟุ้งกระจายในอากาศซึ่งเราสามารถสูดเข้าปอดได้


ฟอลคินแฮมยังเพิ่มเติมว่า โดยตัวแบคทีเรียเอ็มเอเวียมนั้นไม่ก่อให้เกิดโรค แต่สำหรับผู้ที่มียีนก่อโรค "ซิสติกไฟโบรซิส" (cystic fibrosis) หรือ "ซีเอฟ" ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรคที่ปอดและทางเดินอาหารนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไปตามอายุที่มากขึ้น.

ผู้จัดการออนไลน์