การปรับปรุงคุณภาพพลอย









การปรับปรุงคุณภาพพลอย


การปรับปรุงคุณภาพพลอย ( Gem enhancement ) หมายถึง การทำให้พลอยมีคุณภาพดีขึ้น สวยงามขึ้นด้วยกรรมวิธีต่างๆ บางวิธีเป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากเป็นการปรับปรุงอย่างถาวร แต่บางวิธีก็ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะถือว่าเป็นการหลอกลวงในการซื้อขาย

วิธีการปรับปรุงคุณภาพพลอย มีดังนี้
การเผาพลอย (Heat treatment)
การเคลือบสีพลอย (Diffusion)
การฉายรังสี (Irradiation)
การย้อมสี (Dyed)
การแช่น้ำมัน (Oiling)
การอุด (Surface repair)
การเคลือบด้วยขี้ผึ้งหรือพลาสติก (Wax or plastic impregnetion)
พลอยปะ (Assembled stones)
การฉาบสี (Foilback)
การเผาพลอย (Heat treatment)

วิธีการนี้นิยมนำมาใช้กับพลอยตระกูลคอรันดัม ได้แก่ ทับทิม ไพลิน และบุษราคัม วัตถุประสงค์ของการเผาพลอยคือ เพื่อไล่ตำหนิเส้นไหม ซึ่งช่วยให้พลอยใสสะอาดขึ้น อุณหภูมิของเตาเผาประมาณ 1,600-1,900 องศาเซลเซียส เมื่อเผาแล้วต้องทำให้พลอยเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการตกผลึกใหม่ของเส้นไหม

ประโยชน์ของการเผาพลอย นอกจากเพื่อให้พลอยใสสะอาดขึ้นแล้ว ยังมีจุดประสงค์อื่นอีกคือการเผาเพื่อเพิ่มสีให้เข้มขึ้น และการเผาพลอยเพื่อลดสีให้อ่อนลง พบว่าสภาวะของบรรยากาศในเตาเผามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเผาพลอย

การเคลือบสีพลอย (Diffusion)
วิธีการนี้นิยมนำมาใช้กับพลอยตระกูลคอรันดัม ได้แก่ ทับทิมและแซฟไฟร์ การเคลือบสีทำได้โดย นำผงธาตุให้สีมาเผาพร้อมกับพลอยด้วยความร้อนสูง ธาตุให้สีจะแทรกเข้าไปในเนื้อพลอยเป็นชั้นบางๆ เพียง 0.10-0.50 มิลลิเมตรตามผิวพลอย และทำให้เกิดสี ฉะนั้นในกรณีของพลอยที่ผ่านการเคลือบสี หากมีการเจียระไนผิวพลอยในภายหลัง จะทำให้สีที่เคลือบไว้หายไป การสังเกตพลอยเคลือบสี จะพบว่าขอบของแต่ละเหลี่ยม (Facet junctions) จะมีสีเข้มกว่าเนื้อพลอยบริเวณอื่น

การฉายรังสี (Irradiation)
การฉายรังสีนิยมใช้กับพลอยแซฟไฟร์สีเหลืองอ่อนหรือสีส้มของลังกา เพราะหลังการฉายรังสีแล้วสีจะเข้มขึ้น แต่สีที่ได้จะไม่คงทน ซึ่งสามารถทดสอบได้ด้วยวิธีเฟดเทสต์ (Fade test) โดยวางพลอยไว้ใต้ไฟแรงๆ 150 วัตต์ประมาณ 1 ชั่วโมง สีจะถอยจางลง นอกจากนี้การฉายรังสียังนิยมใช้กับพลอยโทแพซ ทั้งนี้เนื่องจากว่าโทแพซสีฟ้าในธรรมชาติพบยากมาก จึงนิยมใช้การฉายรังสีเพื่อให้ได้โทแพซสีฟ้าและสีน้ำเงิน หลังการฉายรังสีแล้วจะนำไปเผา โทแพซที่ได้จะมีสีถาวร

การย้อมสี (Dyed)
การย้อมสีนิยมทำกับพลอยที่มีรอยแตก เพราะสีจะสามารถซึมเข้ารอยแตกได้ เช่น ควอรตซ์ หยก ลาปิสลาซูลี และทับทิม การทดสอบพลอยย้อมสีสามารถทำได้โดยใช้กล้องจุลทรรศน์จะเห็นสีเข้มตามรอยแตก ในกรณีของทับทิมย้อมสี เราทดสอบโดยนำสำลีที่ชุบแอลกอฮอล์ หรืออะซีโตนเช็ดด้านหลังของพลอย จะเห็นสีแดงติดที่สำลี

การแช่น้ำมัน (Oiling)
การแช่น้ำมัน นิยมทำกับมรกต เนื่องจากมรกตเป็นพลอยที่มีรอยแตกมาก การแช่น้ำมันจะทำให้พลอยดูดีขึ้น เนื่องจากน้ำมันจะแทรกไปตามรอยแตก ช่วยปิดบังรอยแตก
การทดสอบพลอยแช่น้ำมัน ทำได้โดยใช้เข็มร้อนจี้ตามรอยแตก จะเห็นมีน้ำมันเยิ้มออกมา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์

การอุด (Surface repair)
การอุดพลอยทำได้โดยนำซิลิกาเจล (Silica gel) ป้ายบริเวณที่ต้องการจะอุด แล้วนำพลอยไปเผา ซิลิกาเจลจะกลายเป็นแก้วติดเข้าไปในหลุม
การตรวจสอบให้ใช้กล้องจุลทรรศน์ จะพบว่าความวาวของบริเวณผิวพลอย และบริเวณที่อุดจะแตกต่างกัน ตรงบริเวณที่อุดจะพบฟองอากาศ เมื่อหยดกรดกัดแก้วลงในหลุมที่อุดไว้ กรดกัดแก้วจะทำปฏิกิริยากับแก้วที่อุดไว้ ทำให้เห็นเป็นหลุมดังเดิม

การเคลือบพลอยด้วยขี้ผึ้งหรือพลาสติก (Wax or plastic impregnation)
การเคลือบด้วยขี้ผึ้งหรือพลาสติกนิยมใช้กับพลอยที่มีผิวไม่เรียบ เมื่อเคลือบแล้วพลอยจะสวยขึ้น พลอยที่นิยมเคลือบด้วยขี้ผึ้งหรือพลาสติก ได้แก่ เทอร์ควอยส์ ลาปิสลาซูลี และหยก
การตรวจสอบทำได้โดยใช้เข็มร้อนจี้จะมีกลิ่นขี้ผึ้งและพลาสติก

พลอยปะ (Assembled stones)
พลอยปะที่มีในท้องตลาดมีทั้งพลอยปะ 2 ชั้น และพลอยปะ 3 ชั้น เช่น คอรันดัมปะ 2 ชั้น (Corundum doublet) โกเมนปะด้วยแก้ว (Garnet glass doublet) โอปอลปะ 2 ชั้น (Opal doublet) และโอปอลปะ 3 ชั้น (Opal triplet) เบริลปะ 3 ชั้น (Beryl triplet) หยกปะ 3 ชั้น (Jadeite triplet) ควอรตซ์ปะ 3 ชั้น (Quartz triplet) และสปิเนลสังเคราะห์ปะ 3 ชั้น (Synthetic spinel triplet) เป็นต้น

การตรวจสอบพลอยปะ
ทำได้โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ คีบพลอยโดยให้หน้าพลอยและก้นพลอยอยู่ระหว่างปากคีบ (Table to culet) สังเกตพลอยด้านข้างจะเห็นรอยต่อของแต่ละชั้น และเมื่อคีบพลอยให้ปากคีบจับอยู่ที่ขอบพลอย (Girdle to girdle) แล้วมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นฟองอากาศที่อยู่ระหว่างชั้นชัดเจน

รันดัมปะ 2 ชั้น
มีลักษณะดังนี้คือ ชั้นบนเป็นคอรันดัมธรรมชาติ มักใช้คอรันดัมโปร่งใส สีใสไม่มีสีหรือสีเขียว ส่วนชั้นล่างเป็นคอรันดัมสังเคราะห์สีแดงหรือสีน้ำเงิน
โกเมนปะ 2 ชั้น
มีลักษณะดังนี้คือ ชั้นบนเป็นโกเมนมักใช้แอลแมนไดต์ ส่วนชั้นล่างเป็นแก้วซึ่งนิยอใช้สีต่างๆ เช่น แดง เขียว และน้ำเงิน ในกลางคริสตวรรษ 1800 นิยมใช้โกเมนปะ 2 ชั้นเลียนแบบพลอยสีต่างๆ
โอปอลปะ 2 ชั้น
มีลักษณะดังนี้คือ ชั้นบนเป็นโอปอล ส่วนชั้นล่างเป็นคาลซีโดนีสีดำ (Black chalcedony) หรือแก้ว หรือโอปอลธรรมดา (Common opal) และปะติดกันด้วยน้ำยาสีดำ เพื่อช่วยการเล่นสีของแผ่นโอปอลชั้นบน
โอปอลปะ 3 ชั้น
มีลักษณะดังนี้ คือ ชั้นบนเป็นควอรตซ์ใสไม่มีสี หรือพลอยชนิดอื่นที่ใสไม่มีสี ชั้นกลางเป็นโอปอล และชั้นล่างเป็นคาลซีโดนีสีดำ หรือแก้ว หรือโอปอลธรรมดาที่ปะติดกันด้วยน้ำยาสีดำ
โอปอลปะ 2 ชั้น และโอปอลปะ 3 ชั้น
เป็นที่ยอมรับกันในท้องตลาด ทั้งนี้เพราะโอปอลมีธรรมชาติของการเกิดเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งแตกง่าย การทำเป็นโอปอลปะจึงช่วยให้พลอยแข็งแรงขึ้น
เบริลปะ 3 ชั้น
มีลักษณะดังนี้คือ ชั้นบนเป็นเบริลโปร่งใสไม่มีสี ชั้นกลางเป็นซีเมนต์สี (Coloured cement) และชั้นล่างเป็นเบริลใสไม่มีสี ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบมรกต โดยทำชั้นกลางเป็นซีเมนต์สีเขียว
หยกปะ 3 ชั้น
มีลักษณะดังนี้คือ ชั้นบนเป็นหยกโปร่งแสงสีขาวอมเทา ชั้นกลางเป็นแผ่นสีเขียวลักษณะคล้ายเจลลี่ และชั้นล่างเป็นแผ่นหยกบางๆ ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบหยก แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในท้องตลาด เนื่องจากแผ่นสีเขียวที่มีลักษณะคล้ายเจลลี่อาจแห้ง หรือซึมออกมาได้
ควอรตซ์ปะ 3 ชั้น
มีลักษณะดังนี้คือ ชั้นบนเป็นควอรตซ์โปร่งใสไม่มีสี ชั้นกลางเป็นซีเมนต์สี และชั้นล่างเป็นควอรตซ์โปร่งใสไม่มีสี มักใช้ชั้นกลางเป็นซีเมนต์สีเขียวเพื่อเลียนแบบมรกต
สปิเนลสังเคราะห์ปะ 3 ชั้น
มีลักษณะดังนี้คือ ชั้นบนเป็นสปิเนลสังเคราะห์โปร่งใสไม่มีสี ชั้นกลางเป็นซีเมนต์สี และชั้นล่างเป็นสปิเนลสังเคราะห์โปร่งใสไม่มีสี
สปิเนลสังเคราะห์ปะ 3 ชั้น
มีมากในท้องตลาด ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบมรกตจึงทำชั้นกลางเป็นซีเมนต์สีเขียว

การฉาบสี (Foilback)
การฉาบสีเป็นการฉาบโลหะสีไว้ด้านหลังพลอย จะช่วยให้สีและประกายของพลอยดีขึ้น ทั้งนี้เพราะโลหะสีที่ฉาบไว้จะช่วยในการสะท้อนแสงของตัวพลอย พบว่าแก้วฉาบสีมีมากในท้องตลาด

ที่มาจาก http://www.jewelryseason.com/


การเผาพลอย
ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากวงการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลกว่าเป็นผู้นำในด้านการเผาพลอย มีบุคลากรที่มีความรู้ในการเผาพลอยเป็นจำนวนมาก สามารถเผาพลอยสีต่างๆ ให้มีสวยงามแปลกตาอย่างหลากหลาย จึงเป็นธุรกิจหนึ่งที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาและนำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละมากๆ ไม่แพ้ธุรกิจใด การเผาพลอยหรือหุงพลอยเป็นกรรมวิธีในการเพิ่มมูลค่าให้กับอัญมณีอย่างหนึ่ง จากการประเมินของ ทนง ลีลาวัฒนสุข และสุชาติ สิงห์บำรุง จากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และตรวจสอบอัญมณี สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ประมาณว่า 80% ของพลอยที่ขุดได้ทั้งหมดจะมีเพียง 10% เท่านั้นที่เป็นพลอยเนื้อดี มีสีสวยงามสามารถนำมาเจียระไนได้เลย ส่วนที่เหลือต้องนำมาผ่านกระบวนการเพิ่มคุณภาพก่อน การเผาพลอยเป็นวิธีหนึ่งได้รับการยอมรับและนิยมใช้กัน เนื่องจากเป็นการให้ความร้อนเข้าไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีภายในเนื้อพลอย โดยไม่มีการใส่สารแปลกปลอมใดๆ เข้าไปช่วย นับเป็นการปรับปรุงคุณภาพโดยอาศัยสารเคมีที่อยู่ภายในเนื้อพลอยเอง จึงไม่ถือเป็นการทำเทียมหรือขายของปลอมให้กับผู้ซื้อแต่อย่างใด การเผาพลอยนั้นก็เพื่อให้เกิดผลบางประการที่ทำให้เนื้อพลอยสวยงามขึ้น เช่น เปลี่ยนสีให้เข้มหรือจางลง สีกลมกลืนทั่วทั้งเม็ดพลอยมากขึ้น เนื้อใสสะอาดขึ้น กำจัดตำหนิต่างๆ ในเนื้อพลอย เป็นต้น พลอยที่นิยมนำมาเผาได้แก่

ทับทิม นำมาเผาเพื่อให้ทับทิมมีสีแดงเข้มขึ้น เพราะทับทิมส่วนใหญ่จะมีสีอมม่วงมาก ซึ่งเมื่อเผาตัดสีม่วงไปแล้ว สีแดงจะมีสีสดขึ้น
บุษราคัม บุษราคัมส่วนใหญ่จะมีสีเหลืองอมเขียว เมื่อนำไปเผาแล้วสีเขียวจะน้อยลง ทำให้มีสีเหลืองสดเข้มขึ้น
ไพลิน ไพลินส่วนใหญ่จะมีสีน้ำเงินอมเขียว เมื่อนำไปเผาแล้วสีเขียวจะจางหรือหายไป ทำให้เห็นสีน้ำเงินสดขึ้น
พลอยเนื้ออ่อนชนิดต่างๆ เช่น เพทาย โทแพซ ซิทริน แอเมทีสต์ ฯลฯ เมื่อนำไปเผาแล้วจะเปลี่ยนสีไปเลย เช่น เพทายเมื่อนำไปเผาแล้ว จะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลกลายเป็นสีขาวคล้ายเพชร เป็นต้น

ส่วนอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาพลอยนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาด ชนิด สีที่ต้องการและแหล่งที่มาของพลอยนั้น โดยมีตั้งแต่ไม่ถึง 1,000 องศาเซลเซียส จนบางครั้งอาจสูงกว่า 2,000 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามเทคนิคในการเผาพลอยนั้นผู้เผาพลอยจะปกปิดเป็นความลับเฉพาะตัว ทั้งนี้เนื่องจากการเผาพลอยเป็นธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูง พลอยบางเม็ดซื้อมาในราคาเพียงไม่กี่ร้อย เมื่อเผาแล้วอาจจะมีมูลค่าเพิ่มเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนเลยทีเดียว แต่ความเสี่ยงที่เผาแล้วจะไม่ได้ผลก็มีมากเช่นกัน
เรียบเรียงจาก
สุรศักดิ์ ไวทยวงศ์สกุล
สุภาวดี บุญงอก, การหุงพลอย (Heat Treatment) กรรมวิธีการเพิ่มมูลค่าให้อัญมณีไทย, http://www.ismed.or.th/knowledge/showcontent.php?id=1847.
การเผาพลอย, http://www.thaijewelrys.com/burngems.html
เผาพลอย มหัศจรรย์ในแดนลับแล, http://www.dmr.go.th/news/14_07_47_1.html




การปรับปรุงสีและความสะอาดของพลอย เป็นสิ่งที่คนเราพยายามทำมานับเนื่องได้นานหลายร้อยปี ประวัติศาสตร์บอกเราว่า การเผาพลอยเริ่มมาตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน การบรรยายนี้จะเน้นเฉพาะเทคนิคการปรับปรุงสีและความสะอาด ของพลอยที่ตรวจพบจากห้องแล็ปของสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเชีย ( เอ. ไอ. จี. เอส ) เท่านั้น

กระบวนการแรกที่จะกล่าวถึงคือ การเผาพลอย เป็นเทคนิคที่ฟังดูง่ายแต่เมื่อปฏิบัติจริงแล้วค่อนข้างซับซ้อนกว่าที่หลาย ๆ คนคิด เพราะต้องมีแฟกเตอร์หลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น คุณภาพต้องถึงจุดที่เหมาะสมของระยะเวลาการเผา ว่าจะนานแค่ไหน อัตราเร็วของการเพิ่มหรือลดอุณหภูมิระหว่างการเผา รวมทั้งระยะเวลาที่พักช่วงระหว่างการลดอุณหภูมิบรรยากาศในเตาเผา ว่าเป็นแบบออกซิไดซิ่ง หรือรีดิวซิ่ง สารอื่น ๆ ที่ห่อหุ้มพลอยในระหว่างการเผา



เป็นที่ทราบกันมานานแล้ว่า คนไทยมีฝีมือในการเผาทับทิมและไพลินอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เมื่อทับทิมมองชูออกสู่ตลาด เซียนเผาพลอยก็ได้สนุกกันเต็มที่เพราะทับทิมมองชูเกือบ 100 % ต้องนำมาเผาก่อนเพื่อกำจัดหย่อมสีน้ำเงินแกมม่วงภายในพลอยดิบ นักเผาพลอยที่ชำนาญจะสามารถทราบได้จากลักษณะหย่อมสี ว่าควรเผาโดยสภาวะอย่างไร นานแค่ไหนจึงจะได้ผลดีที่สุด

ระหว่างการเผา ทับทิมจะถูกห่อหุ้มไว้ด้วยสารประเภทแก้ว ทำให้ผลพลอยได้คือ สารนี้จะหลอมละลายเข้าไปอุดรอยแตกของผิวทับทิม เมื่อเจียระไนแล้วร่องรอยการอุดนี้อาจยังหลงเหลือให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือใช้แว่นขยายขนาด 10 เท่า เพราะแก้วมีความวาวต่างจากทับทิม โดยปกติช่างเจียระไนจะขัดเอาร่องรอยการอุดบนหน้าพลอยออกจนหมด แต่ตรงบริเวณก้นพลอยจะยังคงเอาไว้ ร่องรอยดังกล่าวนี้จะแตกต่างจากการจงใจอุดรอยแตก ซึ่งเกิดบนผิวหน้าแทรกลึกลงไปในเนื้อพลอย รอยแตกนี้โดยปกติจะมีอากาศอยู่ภายใน อากาศมีการหักเหแสงต่างจากพลอยมาก ทำให้มองเห็นรอยแตกได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า เมื่อเราใช้วัสดุประเภทแก้ว ซึ่งมีค่าการหักเหแสงใกล้เคียงกับพลอยเข้าไปอุดรอยแตก ความเด่นชัดของรอยแตกจะลดลง

ปัญหาในการตรวจสอบทับทิมมองชูที่ห้องแล็ปต่าง ๆ ทั่วโลกประสบอยู่ก็คือ ลักษณะตำหนิภายในของทับทิมมองชู ที่ไปคล้ายกับตำหนิของทับทิมสังเคราะห์แบบฟลักซ์เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการผิดพลาดในการตรวจสอบอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันผ่านการเผามาแล้ว ตำหนิภายในของมัน จะเหมือนกันทุกประการกับตำหนิทับทิมสังเคราะห์แบบคาซาน ซึ่งผ่านการเผามาแล้วเช่นกัน ตอนนี้ทับทิมสังเคราะห์แบบคาซาน กำลังระบาดมากในตลาดการซื้อขายทับทิมในกรุงเทพ ฯ




เทคนิคการปรับปรุงสีของไพลินซึ่งใช้ได้ผลดีเยี่ยม คือ การนำไพลินธรรมชาติสีอ่อนมาเผา โดยมีสารประกอบอลูมิเนียมออกไซด์ห่อหุ้มภายนอก สารประกอบนี้จะแทรกตัวเข้าไปบนผิวหน้าของไพลิน ทำให้เป็นสีน้ำเงินสวย การเผาต้องใช้อุณหภูมิประมาณ 1800 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 200 ชั่วโมง พลอยที่ซ่านสีแล้ว เมื่อนำมาเจียระไน ผิวหน้าพลอยบางส่วนถูกเฉือนออกไป ทำให้บริเวณผิวพลอยมีสีจาง – เข้ม สลับกันเป็นหย่อม ๆ สีเข้มจะเห็นชัดบริเวณแนวเส้นขอบพลอยและเหลี่ยมพลอย ลักษณะเช่นนี้ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะเห็นได้เมื่อจุ่มพลอยในเมทิลีนไอโอไดด์ ซึ่งเป็นของเหลวที่มีค่าการหักเหแสงสูงกว่าไพลิน โชคดีที่พลอยซ่านสีเหล่านี้มีลักษณะพิเศษเห็นได้ชัดเจน การตรวจสอบทำได้ง่าย แล็ปต่าง ๆ จึงไม่มีปัญหาในการวิเคราะห์พลอยชนิดนี้




เร็ว ๆ นี้แล็ปของสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเชีย ( เอ.ไอ.จี.เอส. ) ได้ตรวจพบไพลินสตาร์และทับทิมสตาร์ ซึ่งใช้กระบวนการซ่านสี ทำให้เกิดสตาร์บนผิวหน้าของพลอย

ในวิธีนี้ ผู้ผลิตจะเลือกทับทิมหรือไพลินสีสวยอยู่แล้วนำมาโกลนขึ้นรูปคร่าว ๆ เสร็จแล้วจึงนำไปฝังในครูซิงบิล ซึ่งภายในบรรจุผงไทเทเนียมและอะลูมิเนียมออกไซด์ นำเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิประมาณ 1300 องศา – เซลเซียส ประมาณ 4 ชั่วโมง นำพลอยที่ได้มาเจียระไนอีกครั้ง ชั้นสตาร์จะมีความหนาแค่ 0.01 ถึง 0.25 มิลลิเมตร การเจียระไนจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ชั้นสตาร์นี้ถูกขัดออกไปหมด ลักษณะสังเกตของพลอยสตาร์ซ่านสีก็คือ สตาร์ของมันจะสวยมากผิดปกติ ขาสตาร์จะตรงและยาว ตัดกันเป็นมุมชัดเจน บริเวณสตาร์จะเป็นสีออกเทา ไม่ขาวเหมือนสตาร์ธรรมชาติ เมื่อจุ่มในเมทิลีน ไอโอไดด์ บริเวณตำหนิเส้นรูปเข็มรูทิล ซึ่งประกอบกันเป็นสตาร์จะไม่ตัดกันเป็นมุมชัดเจน แต่จะมีลักษณะเรียงกันเป็นวงเหมือนกลุ่มหมอก


หยกโดยทั่วไปจะผ่านการปรับปรุงคุณภาพโดยวิธีอาบน้ำมันหรือไขมัน ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ยุคหลัง ๆ นี้เมื่อมีการค้นพบพลาสติก จึงมีผู้นำพลาสติกมาเคลือบหยกเพื่อให้มองดูเนื้อดีสีสวย


ประมาณ 10 ปีมานี้มีกระบวนการใหม่สำหรับปรับปรุงคุณภาพหยกคือ การนำหยกมากัดสีด้วยกรด เพื่อทำลายหย่อมสีน้ำตาลของแร่เหล็ก จากนั้นจึงนำหยกที่ได้ไปเคลือบพอลิเมอร์หยกประเภทนี้เรียกว่า หยกอาบน้ำ การตรวจสอบต้องกระทำโดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ชั้นสูงที่เรียกว่า FTIR เพื่อตรวจหาพอลิเมอร์ที่แทรกอยู่ในเนื้อหยก

โดยทั่วไปประมาณ 20 % ของหยกที่ผ่านการตรวจสอบตามแล็ปต่าง ๆ จะเป็นหยกอาบน้ำ แต่ชิ้นงานประเภทหยกแกะสลักหรือกำไลหยกพบว่า 95 % ของที่เข้ามาตรวจสอบที่แลปเป็นหยกอาบน้ำแล็ป เอ.ไอ.จี.เอส. ยังได้ตรวจพบควอทไซด์ย้อมสีแล้วเคลือบด้วยพอลิเมอร์ เมื่อมองดูภายใต้ไมโครสโคป จะเห็นสีย้อมแทรกตัวอยู่ในเนื้อพลอยอย่างชัดเจน




มรกตธรรมชาติมักจะมีตำหนิภายในค่อนข้างมาก และมีรอยแตกเต็มไปหมด ทั้งนี้เพราะผลึกมรกตเกิดจากการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วของแร่ที่หลอมละลาย การใช้สารบางชนิดอุดรอยแตกของมรกตเพื่อเพิ่มความสวยงาม จึงเป็นสิ่งที่วงการธุรกิจอัญมณียอมรับ

สมัยก่อน การอุดรอยแตกในมรกตทำโดยใช้น้ำมันต้นซีดาร์และเรซินจากต้นแคนาดาบอลซัม ปัจจุบันมีสารสังเคราะห์หลายชนิดเข้ามาทำหน้าที่แทนสารธรรมชาติเหล่านี้ ที่นิยมใช้มากเป็นสารที่มีชื่อทางการค้าว่า ออพติคอน

วิธีอุดรอยแตกทำได้ง่าย ๆ โดยนำมรกตที่เจียระไนแล้ว มาทำความสะอาดโดยแช่ในกรดไฮโดรคลอริก แล้วล้างด้วยน้ำ การอัดของเหลวเข้าไปในรอยแตกของมรกต ทำโดยใช้เครื่องมือภายใต้สภาวะความดันต่ำกว่าบรรยากาศ เราอาจลองทำดูโดยนำมรกตใส่ลงในกระบอกเข็มฉีดยาขนาดเล็ก เสียบก้านสูบเข้าไป ดูดออพติ –คอนเข้าไปในกระบอกสูบพอท่วมมรกต นำภาชนะบรรจุออพติคอนออกไป ดึงเข็มออกแล้วปิดจุกให้แน่น ดึงก้านสูบขึ้นเพื่อทำให้เกิดสุญญากาศภายในกระบอกสูบ ออพติคอนจะซึมเข้าแทนที่อากาศในรอยแตกของมรกต นำออกมาทำความสะอาดพร้อมที่จะขายได้

ในทางปฏิบัติจริง มรกตจะบรรจุในภาชนะปิดสนิท มีปั๊มทำหน้าที่ดูดอากาศออกจากรอยแตก แล้วใช้ความดันสูงเพื่อดันให้ออพติคอนเคลื่อนที่เข้าไปในรอยแตกได้ลึกมากขึ้น จากนั้นนำมาให้ความร้อนเพื่อลดความหนืดของออพติคอน ทำให้มันแทรกเข้าตามรอยแตกเล็ก ๆ ได้อย่างทั่วถึง

วิธีการตรวจสอบการอุดมรกต ทำได้โดยนำมรกตมาส่องภายใต้ไมโครสโคป ใช้แสงสะท้อนส่องบนผิวมรกตเพื่อหารอยแตกที่ขึ้นมาถึงผิวหน้า จากนั้นเปลี่ยนแสงเป็นแบบฉากมืด จัดมรกตให้มีแสงสะท้อนเข้าที่เหลี่ยมด้านหลัง ทำให้ฉากหลังสว่าง เมื่อมองในทิศทางตั้งฉากกับรอยแตก จะมองไม่เห็นร่องรอยอะไรเลย แต่ถ้ามองในทิศทางขนานกับรอยแตกแสงสะท้อนนี้จะเป็นสีน้ำเงิน เวลาเราพลิกมรกตไปมาจะเห็นแสงสะท้อนสีน้ำเงิน – ส้มสลับกัน

การตรวจสอบอีกวิธีหนึ่งทำโดยใช้เข็มร้อนจี้บริเวณใกล้ ๆ รอยแตก ถ้าหากที่ผิวหน้าของมรกตไม่มีสารเคลือบผิวของเหลวที่อุดอยู่ในรอยแตกจะไหลซึมออกมา บางครั้งรอยแตกใหญ่มาก และคนที่อุดรอยแตกไม่ชำนาญพอ อาจมองเห็นฟองอากาศอยู่ในของเหลวที่ใช้อุด

บ่อยครั้งที่จะตรวจพบคราบขุ่นขาวในรอยแตก เริ่มจากผิวหน้าลึกเข้าไปในเนื้อมรกต คราบขุ่นขาวนี้มีลักษณะแห้งกรัง อาจจะเกิดจากส่วนผสมของเรซินและสารทำให้เรซินแข็งตัวไม่เหมาะสม

การใช้ออพติคอนอุดรอยแตกในมรกต ให้ผลที่ค่อนข้างดีกว่าใช้น้ำมัน แต่เวลาที่ทำความสะอาดมรกตด้วยเครื่องอุลตราโซนิก ออพติคอนอาจไหลกลับออกมาได้ เวลาทำความสะอาดมรกต จึงต้องระวังให้มาก

ของรักของหวงจะได้อยู่กับคุณไปนานๆ
www.taradploi.com




บทบาทของ Gems Lab

การพัฒนาพลอยสี Corumdom (พลอยเนื้อแข็ง) ทุกสี ด้วยความร้อนหรือเรียกอีกอย่างว่า "พลอยเผา" พลอยที่ต้องนำมาพัฒนาสีมี

1.พลอยแดงม่วงเป็นแดง
2.พลอยแตกร้าวที่มองแล้วแส่งไม่ผ่านทะลุ เผาเพื่อให้แสงผ่านทะลุ
3.พลอยสีน้ำเงินดำเผาให้สีถอยพอดีไม่ดำเกินไป
4.พลอยหม่าน้ำนม (เกวด้า) เป็นสีน้ำเงิน
5.พลอยขุ่นขาวเผาเป็นสีเหลือง
6.ชมพูเป็นส้ม ยกเว้นชมพูบ่อโมก๊กไม่เป็นส้ม
7.และอื่นๆ ฯลฯ

การพัฒนาพลอยในจังหวัดจันทบุรี ทุกคนใช้ความร้อนโดยตรงไม่ใช้รังสีใดๆ หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่ความร้อน และถ้าสามารถพัฒนาสีประสานเข้าอยู่ในเนื้อพลอยเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนธรรมชาติ ก็ถือว่าเป็นธรรมชาติใช้ได้ทนทานทั้งหมด ทนกว่าพลอยธรรมชาติที่ไม่ผ่านการเผา และการเผาจะเผาอยู่ในลักษณะการหา หรือสร้างบรรยากาศให้ตรงกับแร่ธาตุสีที่อยู่ในพลอย และจะต้องได้สีพลอยตามแต่แร่ธาติสีที่มีอยู่ในพลอยที่ยังมิได้สำแดงสีออกมา เพราะยังไม่ได้รับความร้อนตามบรรยากาศนั้นๆ เหล่านี้เป็นความรู้จากประสบการณ์ล้วนๆ มิได้ไปลอกเลียนแบบ จากที่ใดมา

จริงอยู่ผู้ค้นพบวิธีการเผาอาจจะมีความรู้พื้นฐานไม่สูงพอ แต่ก็สามารถพัฒนาสีและคงสภาพความเป็นธรรมชาติไว้ได้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก

คนเผาพลอยในจันทบุรีมีความสามารถสร้างเตาเผาความร้อนสูงขนาด 1,900 องศาเซลเซียสได้ด้วยตัวเอง คือความสามารถและภูมิปัญญา

มีนักวิชาการที่เป็นนักทฤษฎีแต่ด้อยประสบการณ์การเผาพลอยมาก่อน ค้นหาแต่ข้อด้อย พยายามตำหนิติติงทางด้านลบเพียงอย่างเดียว และก็ติเตียนออกใบรับรองผิดพลาดด้วย ทำให้วงการปั่นป่วน ราคาพลอยตก การค้าขายชะงักงัน ยกตัวอย่างพวกพลอยแดงลายไทย คนเผาเชื่อมจนดีเยี่ยมแล้วพวกช่างเจียระไนไม่เรียบร้อยเหลือคราบน้ำยาอยู่ตามผิวพลอยและเหลี่ยมพลอยบางเหลี่ยม นักวิชาการโทษว่าเผาไม่ดีมีการอุดแก้ว หลังจากนั้นก็คืนพลอยกัน เจ้าของพลอยเห็นแล้วก็นำมาเจียระไนใหม่เสียน้ำหนักนิดเดียวแล้วก็ส่งไปขายใหม่ได้ราคาเดิม เจ้าของพลอยมิได้นำมาเผาใหม่ตามที่เขากล่าวหาว่าเผาไม่ดีก็หาไม่ การวิจัยออกใบรับรองผิดพลาดก็มิได้มีการรับผิดชอบใดๆ ขอยืนยันเป็นเรื่องจริง

ระหว่างความรู้ของบุคลากรที่เป็นนักวิชาการทางทฤษฎีกับความรู้จากประสบการณ์ของนักเผาพลอยนั้น ที่ผ่านมาทุกสีพลอยที่เผาได้เริ่มจากจันทบุรีทั้งนั้น ใครเป็นฝ่ายต่อยอดความรู้ให้ใคร ฝ่ายใดเป็นฝ่ายสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติมากกว่ากัน

ขาดโอกาสที่จะมีเครื่องวิเคราะห์ชั้นสูงมาต่อยอดนักเผาพลอยในจันทบุรี

ขาดโอกาสปกป้องจาก Lab หรือนักวิชาการทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสดีๆ ไป ตัวเลขตรงนี้มากมายไม่สามารถประมาณการเสียหายได้เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจของชาติ ชาติเสียหายด้วย เสียหายมากกว่าที่คิดจะเก็บภาษีจากผู้ประกอบการ



1.การเผา Ruby เริ่มจากจันทบุรี ที่มีปัญหาคือพวกลายไทย ระยะแรกขายได้ราคา ต่อมานักอัญมณีศาสตร์ต่างชาติหาจุดตำหนิแล้วประกาศตามวารสารต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคขาดความมั่นใจ บรรดาพ่อค้าก็หาโอกาสเป็นเหตุผลกดราคากับผู้ผลิต (ต้นน้ำ) ตลอด ในที่สุดก็ขายไม่ได้ราคา ทั้งๆ ที่ความจริงพลอยเผานั้นมีความคงทนถาวร เขาพูดว่ามีสิ่งแปลกปลอมในพลอย ฝ่ายเผาไม่มีความรู้ทางวิชาการไม่มีเครื่องมือช่วยทางวิชาการ ไม่สามารถชี้แจงให้ชนะเขาได้ จากความเป็นผู้มีโอกาสกลายเป็นด้อยโอกาสไป

2.การอัดน้ำมันเข้าไปในรอยแตกร้าวของพลอย Emerald ของฝรั่งทำ นักวิชาการฝรั่งพยายามพูดปกป้องจนผู้บริโภคยอมรับได้ (ขายได้ราคา) ความจริงต้องอัดน้ำมันเข้าไปทุกปี ถ้าไม่อัดใหม่รอยแตกร้าวจะเห็นชัดเจนขึ้นทำให้ไม่สวย ทำสวยได้ไม่ถาวร แต่ก็สามารถมีโอกาสเพราะนักวิชาการ (Lab) ของเขาระดับ CIBJO ยอมรับ พูดแต่ความงดงามในแง่ดีอย่างเดียว

3.การเผาพลอยหม่าสี หม่าขาวน้ำนม เป็นสีน้ำเงินสีอยู่ในเนื้อพลอย เริ่มที่จันทบุรี ระยะแรกไม่มีใครกล้าซื้อขาย งงกันไประยะหนึ่งแต่ก็เป็นปี พวกนักวิชาการฝรั่งพยายามหาว่าสีมาจากไหน ต่อเมื่อพบเหตุผลแล้วไม่มีทางตำหนิได้ จึงยอมรับแล้วก็ซื้อขายกันตลอดจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ให้ราคาถูกและหาเหตุผลให้พลอยไม่เผา ซึ่งสวยงามน้อยกว่าให้ราคาแพงกว่าทั้งๆ ที่พลอยไม่ผ่านความร้อนมาก่อน ส่วนใหญ่เมื่อถูกความร้อนอีก สีมีสิทธิ์ถอยแล้วเรียกคืนไม่ได้

4.การเผาพลอย YELLOW SAPP เริ่มจากจันทบุรีอีก เผาได้สีอยู่ในเนื้อพลอยอีก นักวิชาการอัญมณีศาสตร์ฝรั่งไม่สามารถตอบได้ว่าสีมาจากไหน แต่ยอมรับว่าเป็นพลอยธรรมชาติ ในปีค.ศ.1982 Dr.Henry A Hanny จากสวิสมาพบ จึงขอผมนำไปตรวจสอบที่ Swiss แล้วมีจดหมายตอบ ยอมรับว่าดีสีทนถาวร ระยะแรกก็ขายได้ยาก เพราะเป็นสีเหลืองแปลกใหม่แต่สีก็อยู่ในเนื้อพลอย ต่อมาก็ซื้อขายกันเป็นปกติอีก แต่ก็ยังให้ราคาพลอยไม่เผาแพงกว่า

5.พวกอเมริกันได้ทำพลอยน้ำเงิน ดิฟฟิ้ว (พลอยเคลือบสีด้วยความร้อนสูง) จดสิทธิบัตรเมื่อ ค.ศ.1975 เริ่มแพร่หลายในกรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ.1990 ได้สีอยู่ตามผิวพลอยบางๆ บางเท่ากระดาษ ถ้าเจียระไนซ้ำเงาแรงมากสีก็ขาดหายไป เป็นช่องขาวไม่ดี ไม่เป็นธรรมชาติ เวลาแช่ในน้ำจะเห็นเป็นตาข่ายใยแมงมุมไม่สามารถทำตอนเป็นก้อน เสร็จแล้วนำมาเจียระไนเหมือนพลอย Ruby, Blue sapp, Yellow sapp และ Orange sapp ไม่ได้ ต้องทำตอนเจียระไนแล้วเท่านั้น นักอัญมณีศาสตร์ของเขาพยายามพูดแต่ข้อดีให้ขายได้และก็ขายได้ราคา สามารถรักษาความลับได้ประมาณ 15 ปี

6.เพชรเผาในความร้อนสูง HTHP ในบรรยากาศไม่มีออกซิเจนและได้สีต่างๆ ในข้อเท็จจริงโครงสร้างของเพชรเป็นคาร์บอนบริสุทธิ์ เมื่อถูกความร้อนในบรรยากาศธรรมชาติที่มีออกซิเจนปนอยู่ คาร์บอนจะต้องเปลี่ยนสภาพลดค่าลงไปอย่างมาก และไม่สามารถแก้ไขกลับคืนได้ด้วย การลงทุนกับเพชรมากๆ ก็จะเสียหายได้ถ้าเกิดเอ็กซิเด็นท์ไฟไหม้ ราคาเพชรจะต้องหายไป ข้อเท็จจริงคาร์บอนเมื่อถูกไฟความร้อนสูง ในบรรยากาศธรรมดามันจะเป็นถ่าน ถ้าเพชรดีๆ สามารถมีค่าเป็นศูนย์ ผิดกับพลอยถูกความร้อนสูงก็ยิ่งสวย แต่เขาก็พูดให้ของเขาดีเลิศจนได้ นักวิชาการของเขาพูดแต่ข้อดี ไม่มีใครพูดถึงข้อด้อยดังกล่าวเลย เพราะถ้ารู้ข้อด้อยดังกล่าวแล้ว เพชรจะมีราคาเหลือเท่าใด ข้อนี้นักวิชาการ นักอัญมณีศาสตร์ฝรั่งพยายามพูดถึงข้อดีของเพชรอย่างเดียวจนสามารถทำราคาสูงได้สำเร็จ

7.พลอยสีส้ม ซึ่งเริ่มมาจากจันทบุรีอีกเหมือนกัน การเผาพลอยสีส้ม สีก็อยู่ในเนื้อพลอย สามารถเผาตอน เป็นก้อนแล้วนำมาเจียระไนโดยสีไม่หายไปไหน แสดงความเป็นสีอยู่ในเนื้อพลอย เป็นพลอยสีส้มที่คุณภาพสวยมาก นักวิชาการฝรั่งพยายามยัดเยียดให้การเผาพลอยในลักษณะนี้ให้อยู่ในเกรดดิฟฟิ้ว (พลอยเคลือบสี) พวกเราไม่ยอมและได้พยายามต่อสู้กันมาตลอด เพราะคุณภาพของสีมิได้อยู่ในเกรดดิฟฟิ้ว

สาเหตุที่เกิดเรื่องก็คือ นักวิชาการฝรั่งถามพวกเผาว่าใช้สารเคมีหรือเปล่า พวกเผาบอกว่าเปล่า พวกเผาไม่ได้โกหกแต่อย่างใด เพราะพวกเผาได้บดพลอยเนื้ออ่อนชนิดหนึ่งใส่เข้าไปเผารวมกัน มันคือพลอยชนิดหนึ่ง มิใช่สารเคมีที่ต้องซื้อตามร้านขายเคมี พวกเผาไม่ทราบว่าในเนื้ออ่อนนั้นมีแร่ธาตุ Be อยู่ ไม่รู้จักด้วยแล้วก็ได้สีที่เห็นและลักษณะของสีพลอยก็มิได้อยู่ในลักษณะของการย้อมสีแต่อย่างใด ลักษณะของสีอยู่ในเนื้อพลอยเหมือนเป็นธรรมชาติ และเพื่อความแน่นอนพวกเราก็ส่งพลอยไปตรวจที่ Lab ของ AGTA ที่อเมริกาผลออกดีทาก พวกเราไม่สงสัยจึงเร่งผลิตที่สำคัญในเบ้าๆ หนึ่งก็ได้พลอยสีต่างๆ ไม่ได้มีสีเดียวเหมือนกับพลอยเคลือบสี (ดิฟฟิ้ว) แต่อย่างใด คุณภาพของสีมีความแตกต่างกันกับพลอยดิฟฟิ้วอย่างสิ้นเชิง ถ้ามีความเข้มข้นของสารสีก็ออกมาเข้ม

บทบาทของการเผาโดยผสมในพลอยเนื้ออ่อนที่มี Be ไม่สามารถสร้างสีได้กับพลอยทุกบ่อ เช่น พลอยจากจีน ทำสีเหลืองไม่ได้ ชมพูจากบ่อโมก๊ก (พม่า) ทำสีส้มไม่ได้ มันยังมีเงื่อนไขว่าธาตุอยู่ในพลอยคืออะไร พร้อมที่จะมีสีในบรรยากาศนั้นๆ หรือไม่ เหล่านี้คือ ลักษณะแตกต่างกับการทำดิฟฟิ้ว ซึ่งสามารถเคลือบสีได้ทุกบ่อจะได้สีตามแต่ผสมเคมีมากน้อยตามชอบใจ

สรุปได้ว่า พวกนักวิชาการฝรั่งหาว่าผู้เผาไม่บอกความจริง แล้วพยายามยัดเยียดคำว่าดิฟฟิ้วให้ ซึ่งมันเป็นคนละประเด็นกับคุณภาพของสีพลอย เพราะการบอกไปว่ามิได้ใส่สารเคมีเขาเข้าใจว่าพวกเราโกหก เราก็เข้าใจตัวเองว่ามิได้โกหกเพราะมิได้ใส่สารเคมีจริง มันเป็นความไม่เข้าใจกันในประเด็นนี้ แต่ประเด็นคุณภาพสีของพลอยที่เกิดมันไม่อยู่ในลักษณะดิฟฟิ้ว มันเป็นคุณภาพสีที่อยู่ในเนื้อพลอยเป็นลักษณะธรรมชาติมาตรฐานทนถาวรจริงๆ ฉะนั้นจะจัดอยู่ในประเภทดิฟฟิ้วไม่ได้ครับ


การเผา Ruby, Blue Sapphire, Yellow Sapphire, Oranges Sappire พวกเราให้ความร้อนโดยตรง แตกต่างกันที่ประเภทของพลอยเราสามารถสร้างบรรยากาศให้ถูกต้องกับสารที่อยู่ในพลอยทำให้เกิดสีตามธรรมชาติของมัน ไม่สามารถบังคับสีได้ 100 % เหมือนพลอยดิฟฟิ้ว พวกเราเผาอิงตามธรรมชาติตลอดมาเสมือนเป็นการเผาเลียนแบบการเผาด้วยความร้อนของโลก เมื่อโลกเผาเหลือ พวกเราก็นำมาเผาต่อ และสามารถเลือกอุณหภูมิความร้อนและสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ให้มันได้...ความสำเร็จจึงเกิด

ถ้าไม่มีการสร้างปราการป้องกันหรือหาวิธีแก้ไข ความเป็นแชมป์จะต้องถูกโค่นลงในเวลาอันไม่นานอย่างแน่นอน จะเหลือแต่คำว่าน่าเสียดาย! น่าเสียดาย! ก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ความดี ความมีคุณภาพของสีพลอยที่เกิดจากการเผาโดยให้ความร้อนโดยตรงมันเก๊ จนไม่สามารถพูดให้มันดีได้เชียวหรือ ขอให้พิจารณาให้ดี เพื่อประโยชน์ของชาติโดยรวม

บุคลากรในจันทบุรีมีมาก ล้วนมีความรู้จากประสบการณ์ถ้านำเอาความรู้ของบุคลากรเหล่านี้มารวมกัน ก็น่าจะได้สถาบันอัญมณีชั้นนำในโลกได้ 1 สถาบันแน่นอน จะเห็นว่าการเผาพลอยสำคัญๆ เกิดจากจันทบุรีก่อนทั้งนั้น...เป็นแชมป์ แต่ขาดการส่งเสริมทางวิชาการจากผู้รู้ ขาดการปกป้องทางวิชาการจากผู้รู้ และได้ถูกนักวิชาการผู้รู้ต่างชาติจากแหล่งต่างๆ มาเอาไปเป็นข้อมูลประกอบวิชาการของเขาเขียนเป็นตำรามาขายให้เราอีกทีหนึ่ง ผมขอแสดงทั้งจดหมายของ Dr.Henry และภาพเบ้าเผาพลอยของผมตามภาพนี้ซึ่งอยู่ในตำราเผาพลอยเรียบร้อยแล้ว เป็นการยืนยันว่าความรู้และประสบการณ์ของพวกเราได้ต่อยอดเขาและถูกนำไปจริงๆ น่าเสียดายโอกาสสำคัญเช่นนี้ ถ้ามีเครื่องมือทันสมัยมีคุณภาพเหมือนเขา พวกเราคงเขียนตำรามาตรฐานเองได้

กระผมในฐานะที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าอัญมณีฯ จันทบุรี และอดีตประธานชมรมผู้ค้าอัญมณีฯ จันทบุรี และอนุกรรมการคณะอัญมณีและเครื่องประดับหอการค้าไทย ได้เห็นความอ่อนด้อยทางวิชาการข้อนี้อย่างมาก จึงได้ร่วมมือกับสถาบันราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยบูรพา หอการค้าจันทบุรี โดยการสนับสนุนของหอการค้าไทย ทำโครงการขอเครื่องมือสำหรับตรวจสอบ ค้นคว้า วิเคราะห์ รับรองคุณภาพเพื่อเป็นปราการป้องกันความรู้ที่มีอยู่ให้ดำรงค์ความมั่นคง แปลงบุคลากรที่มีอยู่ให้เป็นนักวิชาการระดับสากล สามารถปกป้องผลผลิตที่มีคุณภาพ ให้มีคุณภาพให้ได้ ที่ผ่านมาของเราเผามีคุณภาพ แต่ไม่สามารถชี้แจงอย่างมีคุณภาพ ขายอย่างมีคุณภาพได้

เครื่องมือจะประกอบยืนยันความเป็นผู้รู้อย่างมีระดับเทียบสากลได้ สามารถสร้างความเชื่อถือได้ สามารถรับรองคุณภาพสินค้ากับลูกค้าขาจร เช่น นักท่องเที่ยว และสามารถแสดงจุดยืนความจริงของตัวเองอย่างมั่นคง

ความจริงจันทบุรีเป็นที่รวมของวัตถุดิบจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลกแห่งหนึ่ง ควรต้องสามารถเป็นผู้นำได้ในด้านการค้นคว้า พัฒนาเป็นวิชาการได้เป็นอย่างดีจากวัตถุดิบนั้นๆ จากผู้มีประสบการณ์มากๆ ส่วนหนึ่งบวกกับเครื่องมือทันสมัย บวกกับนักวิทยาศาสตร์ตัวจริงเข้ามาผสม ผมเข้าใจว่าจันทบุรีถ้าสนับสนุนดีๆ จะต้องเป็นสถาบันวิชาการหลักในเรื่องพลอยสีเนื้อแข็งของโลกแห่งหนึ่งแน่นอน

ขอโอกาสพูดถึงโครงการขอเงินสนับสนุนซื้อเครื่องมือทันสมัยจากภาครัฐจำนวน 48 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ.2544 โครงการนี้ได้ขอตามขั้นตอนและได้ผ่านการเห็นชอบจาก รมต.กระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว และได้ส่งไปขอเงินที่กระทรวงการคลัง จนบัดนี้ยังไม่ได้เงินซื้อเครื่องมือดังกล่าว ก็ยังขาดโอกาสทำให้ล่าช้าไปอีก ก็ขอโอกาสขอการสนับสนุนจาก ฯพณฯ ท่าน อีกชั้นหนึ่ง เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว เพื่อสามารถต่อยอดเพิ่มความรวดเร็ว เป็นวิชาการของความรู้ของบุคลากรบ้านนอก ผู้มีอะไรๆ ใหม่ๆ อยู่เสมอ ให้มีโอกาสที่ควรมีควรได้อย่างเข้มแข็ง สามารถพูดชี้แจงเป็นตัวของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ เป็นประโยชน์กับธุรกิจอัญมณีในจันทบุรีและประเทศชาติสืบไป

ส่วนสถาบันที่มีอยู่ GIT เป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ อยู่ที่กทม. เป็นแหล่งของอุตสาหกรรมปลายน้ำ ฉะนั้นงานของสถาบันจึงค่อนไปอยู่ทางการดีไซน์ออกแบบเครื่องประดับมากกว่า ไม่ถนัดปกป้องผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น พลอยสีส้มและหลายๆ สีของพลอยร่วงที่เผาได้อย่างทนถาวร เป็นอมตะ เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งอยู่ที่จันทบุรีเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงเห็นสมควรส่งเสริมให้เกิดสถาบันค้นคว้า วิเคราะห์ ต่อยอดผู้ประกอบการขึ้นโดยเร็วด้วยโครงการที่ขอมาดังกล่าว พวกเมืองจีน อินเดีย ศรีลังกา กำลังแซงหน้าพวกเราแล้ว เนื่องจากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐอย่างรวดเร็วและเข้มแข็ง

ที่มา : Gems for you.โดย อนุภาพ ชินอุดมพงศ์
ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จันทบุรี อดีตประธานชมรมอัญมณีและเครื่องประดับ จันทบุรี
อนุกรรมการอัญมณีและเครื่องประดับ หอการค้าไทย