ลดปริมาณความทุกข์ในใจ…ด้วยหัวใจที่ใฝ่รู้








แม้หัวใจจะมีบาดแผล แต่เราจะท้อแท้ไม่ได้

หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้าวยากหมากแพง หรืออะไรต่างๆ มากมาย ทำให้คนทั้งหลาย ที่ผมมองว่ามิใช่แต่เฉพาะคนไทย แต่หมายถึงคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้นั้น มีปริมาณความสุขทางใจน้อยลงทุกที เมื่อนึกแล้วผมก็อดอิจฉาคนรุ่นเก่าไม่ได้ ที่ว่า พวกเขาทั้งหลายสามารถหาความสุขทางใจได้ง่ายเสียเหลือเกิน ต่างจากในยุคสังคมปัจจุบันอันเป็นสังคมทุนนิยม ซึ่งเงินกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเงินเป็นสิ่งที่คนใช้ซื้อหาความสุข แต่อาจจะเป็นความสุขทางกายมากกว่าที่จะเป็นความสุขทางใจ

คนไทยเราเองโชคดีที่มีหลักคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่ช่วยสามารถปลดปล่อยความทุกข์ในใจได้ นอกจากคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาแล้ว ในวันนี้ผมอยากจะแนะนำเพิ่มเติมว่าหลักการที่เกี่ยวกับเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (learning organization หรือ LO) ที่ผมพยายาม ถ่ายทอดไปยังท่านผู้อ่านทั้งหลายผ่านทางคอลัมน์นี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อลดปริมาณความทุกข์ในใจของท่านผู้อ่านได้เช่นกัน

เมื่อลองพิจารณาถึงคำสั่งสอนหลักๆ ทางพระพุทธศาสนา ท่านผู้อ่านคงทราบดีว่าเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรที่จะใช้
“สติ” ในการดำรงชีวิต เพราะการไม่ใช้สติในการดำรงชีวิตจะนำพาไปสู่การตัดสินใจ หรือการกระทำสิ่งต่างๆ โดยปราศจากความรอบคอบและความมีเหตุมีผล และ ในที่สุดก็จะนำมาซึ่งผลเชิงลบซึ่งจะก่อตัวให้เกิดเป็นความทุกข์ในใจ และภายใต้การใช้ชีวิตอย่างมีสติ พุทธศาสนิกชนก็ควรจะรู้จักการปล่อยวางและไม่ยึดติด ถ้าท่านหัดที่จะปล่อยวางและไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆ รอบตัวท่านมากจนเกินไป ปริมาณความทุกข์ในใจของท่านก็จะน้อยลง และด้วยหลักทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการปล่อยวางและไม่ยึดติดนี่เอง ที่เป็นเหตุให้ผมเห็นความเชื่อมโยงกับหลักการในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งในที่นี่คือการเน้นที่จะสร้างความรู้สึกใฝ่รู้ให้กับคนในองค์กร

ท่านผู้อ่านคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า คนเราถ้าไม่รู้จักการปล่อยวางหรือมักจะยึดติดกับอะไรหลายๆ อย่างรอบตัวนั้นจะทำให้เกิดความทุกข์ความกังวลใจ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเป็นความทุกข์เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต หรือไม่ก็จะเป็นความกังวลใจกับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (ซึ่งในความเป็นจริงก็อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้) คนที่ฟังเทศน์ฟังธรรมหรืออ่านหนังสือธรรมะบ่อยๆ อาจจะปลอบใจคนที่กำลังทุกข์กำลังกังวลใจว่า
“ปล่อยวางซะเถิด อย่ายึดติดกับอะไรจนมากเกินไปเพราะจะนำมาซึ่งความทุกข์ใจเปล่าๆ” ซึ่งบางคนฟังแล้วอาจจะเข้าใจแล้วปฏิบัติตามได้ทันที แต่บางคนอาจจะยังฉงนสงสัยว่าจะทำยังไงที่จะปล่อยวางหรือจะทำอย่างไรเพื่อที่จะไม่ยึดติด ในเมื่อ ตอนนี้กำลังครุ่นคิดกังวลใจทุกข์ใจอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหลือเกิน ไม่สามารถลืมไปได้ง่ายๆ


และด้วยเหตุนี้เอง ผมเองจึงอยากจะลองแนะนำอีกหนึ่งประโยคให้ท่านผู้อ่านลองคิดขึ้นใจ เพื่อช่วยให้ง่ายขึ้นในการปล่อยวางหรือการไม่ยึดติดกับสิ่งที่เกิดขึ้น นั้นก็คือให้ลองคิดว่า “อย่างน้อยก็เป็นบทเรียน” เพราะจริงๆ แล้วท่านสามารถมองได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้นถือได้ว่าเป็นบทเรียน บางท่านอาจจะกลุ้มอก กลุ้มใจเรื่องงานมากเพราะมีแต่ปัญหาให้แก้ ไม่จบไม่สิ้น เก็บนำมาคิดจนบางท่านนอนไม่หลับ แต่ถ้าท่านลองมองโลกในแง่ที่ดีขึ้น โดยกล่าวคือ ในเมื่อมีปัญหาให้แก้ก็แก้ไป เพราะการแก้ไขปัญหาถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่า การที่ทำงานแล้วไม่เจอปัญหา ย่อมไม่พัฒนาความสามารถในการคิดและในการทำงานของท่าน

เพราะฉะนั้นให้ลองคิดว่า
“อย่างน้อยปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นบทเรียน” และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าบทเรียนที่ท่านได้เรียนรู้จากการแก้ปัญหาจะกลายเป็นความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์กับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาอื่นๆ ได้ในอนาคตบ้างไม่มากก็น้อย บางทีท่านอาจต้องนึกเปรียบเทียบกับคนที่ทำงานแล้วไม่มีปัญหา ต้องคิดว่าชีวิตของพวกเขาจะขาดความท้าทายแค่ไหน เมื่อถึงคราวเจอปัญหาจริงๆ ก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพราะไม่มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา และคนแต่ละคนก็มีปัญหา ไม่เหมือนกัน บางคนคิดว่าตนเองอับโชคหรือโชคไม่ดีที่เจอปัญหาหนักกว่าคนอื่น จริงๆ แล้วก็ให้มองได้ว่า ปัญหายิ่งหนักยิ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถในการแก้ไข สิ่งนี้ยิ่งเป็นบทเรียนที่มีค่า เพราะถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ท่านยิ่งได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับงานที่ท่านทำอยู่

เพราะฉะนั้นกล่าวโดยสรุปคือ ให้มองปัญหาเป็นบทเรียน ให้มองว่านี่คือโอกาส ในการเรียนรู้ คนอื่นอาจจะไม่เจอปัญหาอย่างท่าน ท่านเจอปัญหาท่านแก้ไขปัญหาได้ อย่างน้อยได้เสริมสร้างภูมิต้านทานทางด้านความรู้ในตัวท่านและเสริมสร้างความสามารถในการทำงานของท่าน ในขณะที่คนอื่นอาจจะไม่ได้มีโอกาสได้เรียนรู้จากประสบการณ์มากเท่าท่าน ถ้าลองคิด อย่างนี้ความรู้สึกทุกข์ใจในปัญหาอาจจะมีปริมาณที่น้อยลง และอาจจะรู้สึกสนุกกับการทำงานมากขึ้น

หลายๆ ท่านอาจจะพอทราบว่าปัญหาทุกประเภทอาจจะแก้ไขกันได้ถ้าท่านพยายามที่จะแก้ไข แต่มีปัญหาอยู่ประเภทหนึ่งที่หลายๆ ท่านอาจจะยอมแพ้เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขหรือควบคุมได้เลย นั่นก็คือปัญหาเรื่องคน และคนด้วยกันนี่เองที่มักจะนำพาซึ่งความทุกข์ใจมาให้กัน ไม่ว่าจะเป็นคนรัก คนใกล้ตัว เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือเจ้านาย แต่ถ้าลองพิจารณาให้ดี หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ว่าไว้เรื่องปล่อยวางและไม่ยึดติดนั้นถูกทีเดียว เพราะต้องยอมรับกันจริงๆ ว่าจิตใจของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก ขนาดตัวเราเองบางทียังไม่สามารถควบคุมใจเราได้ตลอดเวลา ไฉนเลยเราจะสามารถควบคุมจิตใจของผู้อื่นได้ เพราะถ้าท่านคิดอยากให้คนนี้ต้องเป็น อย่างนั้น คนนั้นต้องเป็นอย่างนี้ แล้วไม่เป็นตามที่ท่านต้องการก็มักจะก่อให้เกิดเป็นทุกข์ ฉะนั้นท่านต้องหัดปล่อยวางและ ไม่ยึดติดไปกับพฤติกรรม ความเชื่อ หรือทัศนคติของคนอื่นๆ


เรื่องนี้สามารถมองได้ว่าคนเรานั้นมีหลายประเภท จะให้คิดเหมือนกันนั้นก็ยาก เป็นความโชคดีของท่านที่ได้เจอคนหลายๆ ประเภทได้เรียนรู้ว่าในสังคมของเรานี้ประกอบไปด้วยคนหลายๆ ประเภท และเป็นประเภทไหนบ้าง เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่ท่านได้เจอคนหลายประเภท ท่านจะได้เรียนรู้ว่าคนแต่ละประเภทนั้นมีความคิดความอ่านที่ต่างกันอย่างไร มีพฤติกรรมหรือทัศนคติที่ต่างกันอย่างไร และสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญมากในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อยากจะก้าวไปเป็นเป็นผู้บริหาร ที่ประสบความสำเร็จ ท่านควรจะต้องมีความสามารถในการที่จะเข้ากับคนอื่นๆ หรือทำงานร่วมกับคนอื่นๆ เมื่อกล่าวถึงคนอื่นๆ ในที่นี้ หมายถึงคนหลากประเภท ผมสังเกตดูว่าหลายๆ ท่านกลายเป็น ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ มิใช่เพราะว่าเก่งแต่เฉพาะเรื่องงานอย่างเดียว แต่เป็นคนที่สามารถร่วมทำงานได้กับทุกๆ คน

เพราะฉะนั้นถ้าท่านเป็นเจ้านายที่เจอ ลูกน้องที่มีพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ต้องการหรือมีความคิดไม่ลงรอยกัน ก็ขอให้อย่านำมาเก็บเป็นความทุกข์ แต่ให้คิดว่านี่คือโอกาสในการที่จะเรียนรู้ในเรื่องของคน หลังจากนั้นก็เรียนรู้ที่จะค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากันไป ต้องคิดว่าคนแต่ละคนมีความคิดและทัศนคติที่ต่างกัน และให้ถือว่านี่เป็น บทเรียนของท่านในการที่ท่านกำลังศึกษาความคิดความอ่านของคนแต่ละคน ที่ไม่เหมือนกัน และพยายามปรับความ รู้สึกเข้าหากันเพื่อจะได้ร่วมงานกันได้ ผมคิดว่านี่เป็นบทเรียนที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานอย่างมาก และเมื่อคิดได้อย่างนี้ความทุกข์ในใจของท่านที่เกี่ยวกับคนก็จะมีปริมาณที่น้อยลง

นอกจากความทุกข์ใจจากปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว บางท่านอาจจะทุกข์ใจกับความเปลี่ยนแปลงหรือความระแวงว่าสิ่งร้ายจะเกิดขึ้นกับท่านในอนาคต เช่น บางท่าน กลัวการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่การงาน กลัวว่าจะทำได้ไม่ดีเท่างานที่ทำอยู่ เพราะไม่ชำนาญในเนื้องานของหน้าที่ใหม่ เพราะฉะนั้นแทนที่จะกลัวจะกลุ้มใจในการเปลี่ยนแปลง กลัวว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนี้ ก็ให้ขอให้ลองคิดว่าการเปลี่ยนแปลงก็เป็นบทเรียนบทหนึ่ง หลายๆ ท่านอาจได้ยินคำพูดที่ว่า “ไม่ลองก็ไม่รู้”

การเปลี่ยนแปลงก็เปรียบเสมือนกับ การที่ท่านได้ลองสิ่งใหม่ๆ ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ท่านไม่อยากทำ ก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ท่านจะได้เรียนรู้ คนเราจะประสบความสำเร็จได้ผมเชื่อว่าต้องมาจากการที่เราต้องผ่านประสบการณ์ในการทำงานในทั้งสิ่งที่อยากทำและไม่อยากทำ เพราะการประสบความสำเร็จมักจะประกอบมาจากหลายๆ ปัจจัย ถ้าท่านได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ท่านก็จะได้รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ซึ่งก็จะกลายเป็นบทเรียนที่สามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ในอนาคตของท่านไม่มากก็น้อย ผิดกับการที่ท่านอยู่กับที่ ไม่เปลี่ยนแปลง โอกาสในการเรียนรู้ก็จะมีน้อย ส่งผลให้ความรู้ความสามารถของท่านไม่เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน


ผมขอกล่าวสรุป ณ ที่นี้ว่า ปริมาณความทุกข์ในใจของท่านทั้งหลายที่เกิดจากการที่ท่านต้องประสบปัญหา หรือความเปลี่ยนแปลงในชีวิตนั้น สามารถถูกทำให้ลดลงได้ถ้าท่านมองโลกในแง่ที่ดีขึ้นโดยการที่พยายามทำตนให้เป็นผู้ที่ใฝ่รู้ตามหลักการขององค์กรแห่งการเรียนรู้ และการเป็น ผู้ใฝ่รู้นี้เอง ท่านจะมองเห็นว่าปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับท่านนั้นเป็นบทเรียน หรือให้คิดว่า “อย่างน้อยทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น เป็นบทเรียนอันมีค่า” สรุปสุดท้ายจริงๆ ต้องขอกล่าวว่าชีวิตคือการเรียนรู้

คอลัมน์ องค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้
โดย ดร.มงคลชัย วิริยะพินิจ Mongkolchai@acc.chula.ac.th