คนร่วมชีวิต (คู่ครองที่ดี)


มากกว่ารัก โรส ศิรินทิพย์ [Official MV]

 
 
 

คนร่วมชีวิต (คู่ครองที่ดี)
คู่ครองที่ดี ที่จะเป็นคู่ร่วมชีวิตกันได้ นอกจากกามคุณแล้ว ควรมีคุณสมบัติ และประพฤติตามข้อปฏิบัติ ดังนี้



ก. คู่สร้างคู่สม มีหลักธรรมของคู่ชีวิต ที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันได้ยืดยาว เรียกว่า

สมชีวิธรรม ๔ ประการ คือ

๑. สมสัทธา มีศรัทธาสมกัน เคารพนับถือในลัทธิศาสนา สิ่งเคารพบูชาแนวความคิดความเชื่อถือ หรือหลักการต่าง ๆ ตลอดจนแนวความสมใจอย่างเดียวกัน หนักแน่นเสมอกันหรือปรับเข้าหากัน ลงกันได้

๒. สมสีลา มีศีลสมกัน มีความประพฤติ ศึลธรรม จรรยา มารยาท พื้นฐานการอบรม พอเหมาะสอดคล้อง ไปกันได้

๓. สมจาคา มีจาคะสมกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารีความมีใจกว้าง ความเสียสละ ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น พอกลมกลืนกัน ไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน

๔. สมปัญญา มีปัญญาสมกัน รู้เหตุรู้ผล เข้ากัน อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง


ข. คู่ชื่นชมคู่ระกำ หรือ คุ่บุญคู่กรรม คือ คูครองที่มีคุณธรรม ลักษณะนิสัยความประพฤติปฏิบัติการแสดงออกต่อกันที่ทำให้เกื้อกูลกันหรือถูกกันก็มี ต้องยอมทนกันหรืออยู่กันอย่างขมขื่น ก็มีในกรณีนี้ท่านแสดง

ภรรยา ประเภทต่าง ๆ ไว้ ๗ ประเภท คือ

๑. วธกาภริยา ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต คือภรรยาที่มิได้อยู่กินด้วยความพอใจ ดูหมิ่น และคิดทำลายสามี

๒. โจรีภริยา ภรรยาเยี่ยงโจร คือ ภรรยาชนิดที่ล้างผลาญทรัพย์สมบัติ

๓. อัยยาภริยา ภรรยาเยี่ยงนาย คือ ภรรยาที่เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจการงานปากร้าย หยาบคาย ชอบข่มสามี

๔. มาตาภริยา ภรรยาเยี่ยงมารดา คือ ภรรยาที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใยเอาใจใส่ สามีหาทรัพย์มาได้ก็เอาใจใส่คอยประหยัดรักษา

๕. ภคินีภริยา ภรรยาเยี่ยงน้องสาว คือ ภรรยาผู้เคารพรักสามี ดังน้องรักพี่มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจ มักคล้อยตามสามี

๖. สขีภริยา ภรรยาเยี่ยงสหาย คือ ภรรยาที่เป็นเหมือนเพื่อน มีจิตภักดี เวลาพบสามีก็ร่าเริงยินดี วางตัวดี พระพฤติดี มีกิริยามารยาทงามเป็นคู่คิดคู่ใจ

๗. ทาสีภริยา ภรรยาเยี่งนางทาสี คือ ภรรยาที่ยอมอยู่ใต้อำนาจสามีถูกสามีตะคอกตบตี ก็อดทน ไม่แสดงความโกรธตอบ

ท่านสอนให้ภรรยาสำรวจตนว่า ที่เป็นอยู่ตนเป็นภรรยาประเภทไหนถ้าจะให้ดี ควรเป็นภรรยาประเภทใด สำหรับชายอาจใช้เป็นหลักสำรวจอุปนิสัยของตนว่าควรแก่หญิงประเภทใดเป็นคู่ครอง และสำรวจหญิงที่จะเป็นคู่ครองว่าเหมาะกับอุปนิสัยตนหรือไม่ 
แม้สามีก็ย่อมมีหลายประเภท พึงเทียบเอาจากภรรยาประเภทต่าง ๆเหล่านั้น



ค. คู่ศีลธรรมคู่ความดี เอาหลักธรรมสำหรับการครองเรือนคือ

ฆราวาสธรรม ๔ ประการมาใช้ต่อกันในบ้านด้วย ดังนี้

๑. สัจจะ ความจริง คือ ซื่อสัตย์ต่อกัน ทั้งจริงใจ จริงวาจา และจริงในการกระทำ

๒. ทมะ ฝึกตน คือ รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัยแก้ไขข้อบกพร่องข้อขัดแย้ง ปรับตัวปรับใจเข้าหากันและปรับปรุงตนให้ดีงามยิ่งขึ้นไป

๓. ขันติ อดทน คือ มีจิตใจเข้มแข็งหนักแน่น ไม่วู่วาม ทนต่อ ความล่วงล้ำก้ำเกิน กัน และร่วมกันอดทนต่อความเหนื่อยยากลำบากตราตรำฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน

๔. จาคะ เสียสละ คือ มีน้ำใจ สามารถเสียสละความสุขสำราญความพอใจส่วนตนเพื่อคู่ครองได้ เช่น อดหลับอดนอนพยาบาลกันในยามเจ็บไข้ เป็นต้น ตลอดจนมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อญาติมิตรสหายของคู่ครอง ไม่ใจแคบ



ง. คู่ถูกหน้าที่ต่อกัน สงเคราะห์ อนุเคราะห์กัน ตามหลักปฏิบัติในทิศ ๖ ข้อที่ว่าด้วย ทิศเบื้องหลัง คือ

สามีปฏิบัติต่อภรรยา โดย
๑. ยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา
๒. ไม่ดูหมิ่น
๓. ไม่นอกใจ
๔. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน
๕. หาเครื่องแต่งตัวมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส


ภรรยาอนุเคราะห์สามี โดย
๑. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย 
๒. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
๓. ไม่นอกใจ
๔. รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
๕. ขยับ ช่างจัดช่างทำ เอางานทุกอย่าง




จ. พ่อบ้านเห็นใจภรรยา สตรีมีความทุกข์จำเพราะตัวอีกส่วนหนึ่ง ต่างหากจากผู้ชาย ซึ่งสามีพึงเข้าใจ และพึงปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่ เห็นอกเห็นใจ คือ

๑. ผู้หญิงต้องจากหมู่ญาติมาอยู่กับตระกูลของสามี ทั้งที่ยังเป็นเด็กสาวสามีควรให้ความอบอุ่นใจ
๒. ผู้หญิงมีระดู ซึ่งบางคราวก่อปัญหา ให้เกิดความแปรปรวนทั้งใจกายฝ่ายชายควรเข้าใจ
๓. ผู้หญิงมีครรภ์ ซึ่งยามนั้นต้องการความเอาใจใส่บำรุงกายใจเป็นพิเศษ
๔. ผู้หญิงคลอดบุตร ซึ่งเป็นคราวเจ็บปวดทุกข์แสนสาหัส และเสี่ยงชีวิตมาก สามีควรใส่ใจเหมือนเป็นทุกข์ของตน
๕. ผู้หญิงต้องคอยปรนเปรอ เอาใจฝ่ายชาย ฝ่ายชายไม่ควรเอาแต่ใจตัว พึงซาบซึ้งในความเอื้อเฟื้อและมีน้ำใจตอบแทน



  วิธีทำให้ความรักยั่งยืน 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องมงคลสมรสไว้สั้นๆ เพียงคำเดียวว่า สังคหะ แปลว่า การสงเคราะห์กัน และให้ปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุ ๔ เพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ดังนี้ 

๑. ทาน การให้ปันแก่กัน คนเราถ้ารักที่จะอยู่ด้วยกันต้องปันกันกินปันกันใช้ หามาได้แล้ว ควรรวมกันไว้เป็นกองกลาง แล้วจึงแบ่งกันใช้ หากไม่เอามารวมกัน อาจเกิดการระแวงกันได้ ที่ใดที่ปราศจากการให้ ที่นั่นย่อมแห้งแล้ง เหมือนทะเลทราย การปันกันนี้ รวมทั้งการปันทุกข์กันในครอบครัวด้วย เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความทุกข์ มีปัญหา ก็ควรนำมาปรึกษากัน อีกฝ่ายก็ต้องรู้จักรับฟังและปลุกปลอบให้กำลังใจง

๒. ปิยวาจา พูดกันด้วยวาจาไพเราะ แม้การตักเตือนกันก็ต้องระมัด ระวังคำพูด ถ้าถือเป็นกันเองมากเกินไป อาจจะเกิดทิฏฐิ ทำให้ครอบครัวไม่สงบสุข โดยถือหลักว่า ก่อนแต่งงานเคยพูดไพเราะอย่างไร หลังแต่งงานก็พูด ให้ไพเราะอย่างนั้น 

๓. อัตถจริยา ฝึกฝนตนให้เป็นคนมีประโยชน์ คือมีความรู้ความสามารถ แล้วนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่นั้น มาช่วยเหลือกัน ประพฤติตนเป็นประโยชน์ต่อกันในทุกด้าน เมื่อรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง พยายามศึกษาหาความรู้ทางธรรม เอาใจมาเกาะกับธรรมให้มาก สามีภรรยานั้น เมื่อทะเลาะกันมักจะโยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้ว ย่อมมีความผิดด้วยกันทั้งคู่ อย่างน้อยก็ผิดที่ไม่หาวิธีที่เหมาะสม แนะนำตักเตือนกัน ปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งทำความผิด 

๔. สมานัตตตา วางตัวให้เหมาะสมกับที่ตัวเป็น เป็นพ่อบ้านก็ทำตัว ให้สมกับเป็นพ่อบ้าน เป็นแม่บ้าน ก็ทำตัวให้สมกับเป็นแม่บ้าน ต่างก็วางตัวให้เหมาะสม กับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ซึ่งข้อนี้จะประพฤติปฏิบัติให้ดี ต้องฝึกสมาธิให้ใจผ่องใสเป็นปกติ เพราะคนที่ใจผ่องใส จะรู้ว่าในภาวะเช่นนั้น ควรจะวางตนอย่างไร ไม่ระเริงโลก จนวางตนไม่เหมาะสม 


 โอวาทวันแต่งงาน 
เป็นโอวาทปริศนาที่ธนัญชัยเศรษฐี ผู้เป็นบิดาของนางวิสาขาให้แก่นาง ในวันแต่งงาน มีทั้งหมด ๑๐ ข้อ ดังนี้ 

๑. ไฟในอย่านำออก หมายถึง ไม่นำเรื่องราวปัญหา ความร้อนใจต่างๆ ในครอบครัว ไปเปิดเผยแก่คนทั่วไปภายนอก 

๒. ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึง ไม่นำเรื่องราวปัญหาต่างๆ ภายนอกที่ร้อนใจเข้ามาในครอบครัว 

๓. ให้แก่ผู้ให้ หมายถึง ผู้ใดที่เราให้ความช่วยเหลือ ให้หยิบยืมสิ่งของแล้ว เมื่อถึงกำหนด ก็นำมาส่งคืนตามเวลา เมื่อเรามีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือ หากไม่เกินความสามารถของเขา เขาก็ยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มใจ บุคคลเช่นนี้ภายหลังถ้ามาขอความช่วยเหลือเราอีก ก็ให้ช่วย 

๔. ไม่ให้แก่ผู้ที่ไม่ให้ หมายถึง ผู้ใดที่เราให้ความช่วยเหลือให้หยิบยืมสิ่งของแล้ว ไม่ส่งคืนตามกำหนดเวลา เมื่อเรามีเรื่องขอความช่วยเหลือ แม้ไม่เกินความสามารถของเขา และเป็นเรื่องถูกศีลธรรมเขาก็ไม่ยอมช่วย คนอย่างนี้ ภายหลังถ้ามาขอความช่วยเหลือเราอีก อย่าช่วย 

๕. ให้ไม่ให้ก็ให้ หมายถึง ถ้าญาติพี่น้องเราที่ตกระกำลำบากมาขอความช่วยเหลือ แม้บางครั้ง ไม่ส่งของที่หยิบยืมตามเวลา ภายหลังเขามาขอความช่วยเหลืออีก ก็ให้ช่วย เพราะถึงอย่างไรก็เป็นญาติพี่น้องกัน 

๖. กินให้เป็นสุข หมายถึง ให้จัดการเรื่องอาหารการกินในครอบครัวให้ดี ปรนนิบัติพ่อแม่ของสามี ในเรื่องอาหาร อย่าให้บกพร่อง ถ้าทำได้อย่างนี้ ตัวเราเอง เวลากินก็จะกินอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวล 

๗. นั่งให้เป็นสุข หมายถึง รู้จักที่สูงที่ต่ำ เวลานั่งก็ไม่นั่งสูงกว่าพ่อแม่ ของสามี จะได้นั่งอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวล ไม่ถูกตำหนิ 

๘. นอนให้เป็นสุข หมายถึง ดูแลเรื่องที่หลับที่นอนให้ดี และยึดหลักตื่นก่อนนอนทีหลัง ก่อนนอนก็จัดการธุระการงาน ให้เรียบร้อยเสียก่อน จะได้นอนอย่างมีความสุข 

๙. บูชาไฟ หมายถึง เวลาที่พ่อแม่ของสามีหรือตัวสามีเองกำลังโกรธ เปรียบเสมือนไฟกำลังลุก ถ้าดุด่าอะไรเรา ก็ให้นิ่งเสียอย่าไปต่อล้อต่อเถียงด้วย เพราะในช่วงเวลานั้น ถ้าเราไปเถียงเข้า เรื่องราวก็จะยิ่งลุกลามใหญ่โต ไม่มีประโยชน์ คอยหาโอกาสเมื่อท่านหายโกรธ แล้วจึงค่อยชี้แจงเหตุผลให้ฟัง อย่างนุ่มนวลจะดีกว่า 

๑๐. บูชาเทวดา หมายถึง เวลาที่พ่อแม่ของสามี หรือตัวสามีเองทำความดีก็พยายามส่งเสริมสนับสนุน พูดให้กำลังใจให้ทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป 

:: http://www.dhammathai.org ::