“ธรรมะเลือกคู่” ดูอย่างไร 'คน 2 คน" ถึงเข้ากันได้


คู่แท้ - เบิร์ด ธงไชย


“ธรรมะเลือกคู่” ดูอย่างไร 'คน 2 คน" ถึงเข้ากันได้

หากเอ่ยถึงชีวิตคู่ ทุกคนหวังอยากจะได้คู่ชีวิตที่ดี และเข้าใจเราที่สุด แต่บางคนคิดว่า ‘ใช่’ แต่กลับพบว่า “เขาดีเกินไป” หรือ “เราคงไปด้วยกันไม่ได้” หรือบางคนเพิ่งมาคลิกและคิดได้เอาตอนที่มีลูกแล้ว ซึ่งมันก็อาจจะสายเกินไป



ธรรมะเลือกคู่ “ศีล-จาคะ-ปัญญา-ศรัทธา”

สำหรับหลักวิธีการเลือกชีวิตคู่ให้เหมาะสมนั้น ควรใช้หลักธรรมะ 4 ตัวเป็นตัวตั้ง คือ คนๆ นั้น หรือคู่ชีวิต จะต้องมีศีล จาคะ ปัญญา และศรัทธาที่ใกล้เคียงกับเราด้วย ชีวิตคู่ถึงจะไปด้วยกันได้ดี

1. ศีล คือ ความเป็นปกติในการใช้ชีวิต เช่น บางคนมีศีล 5 อีกคนกลับไม่มีศีล 5 เลย ทำให้เกิดความอึดอัด จนเกิดคำว่า “ดีเกินไป” ของอีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นได้ เพราะทนรับกับสภาพของตัวเองที่ทำกับอีกฝ่ายไม่ได้นั่นเอง

2. จาคะ คือ นิสัยในการเป็นผู้ให้ และสละออกซึ่งสิ่งที่เป็นของเรา เช่น บางคนชอบทำบุญ ชอบช่วยคน แต่อีกฝ่ายหนึ่งขี้นก็อยู่ด้วยกันลำบาก

3. ปัญญา คือ ความเข้าใจ ความคิดอ่าน การมองโลก ซึ่งแต่ละคนต้องมีขอบเขตความเข้าใจที่ใกล้เคียงกัน คนหนึ่งชอบคุยเรื่องหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่งไม่ชอบ มันก็อาจจะเซ็ง และคุยไม่เข้าคอกัน

4. ศรัทธา เป็นความเชื่อในเรื่องต่างๆ ที่ไม่เท่ากัน เช่น ความชอบไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดการแบ่งแยก และแบ่งพวก นำมาซึ่งการทะเลาะกันได้





เปรียบชีวิตคู่เหมือนกับ “ไม้บรรทัด” เพราะได้แนวคิดมาจากหลวงพ่อชา ที่ท่านเคยถามว่า ...



ไม้เท้าอันนี้ สั้นหรือยาว บางคนก็ตอบว่า สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ท่านสอนว่า ไม้เท้ามันไม่ได้สั้น ไม่ได้ยาว หรือว่าพอดี แต่มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง จิตคนเราต่างหากที่ไปให้ค่ามัน

ในเรื่องนี้ จึงสะท้อนได้ดีว่า คนทุกคนล้วนมีไม้บรรทัดส่วนตัวของแต่ละคน เป็นไม้บรรทัดที่เอาไว้ขีดเส้นตัดสินสิ่งที่เราเรียกว่า ถูก-ผิด, ดี-ไม่ดี, ชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งเรื่องบางเรื่องอาจถูกต้องเหมาะสมสำหรับคนหนึ่ง แต่อาจเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเข้าท่า เข้าทางสำหรับอีกคนหนึ่งก็เป็นได้


“เราได้ยินคำพูดของคนก็ดี เห็นสิ่งที่ใครทำก็ดี เรามักใช้ไม้บรรทัดตัวเองเป็นเครื่องวัด ประเมินค่า ตีความ และให้ผลเป็น ความรัก ชอบ เกลียด ชัง เฉยๆ แต่บางที ก็ลืมนึกไปว่า เรากับเขา อาจจะมีไม้บรรทัดคนละอัน ซึ่งดีของเรา อาจไม่ใช่ดีของเขา ดีของเขา อาจไม่ดีของเรา ดังนั้นถ้ายังมองอะไร ตีค่าอะไรด้วยอคติ ก็จะไม่เห็นความจริงของสิ่งที่เป็นไป เหมือนใส่แว่นกันแดดสีๆ มองอะไรมันก็จะมีสีของแว่นเจืออยู่เสมอ”

ถ้าอยากให้อีกฝ่ายหนึ่งสนใจ หรือหันมามองตัวเอง ตัวเราต้องฝึกฝนให้ดีเสียก่อน โดยใช้วิธีปฏิบัติธรรม เพราะการเข้าทางธรรมจะทำให้เราได้เห็น และรู้จักตัวเองดีขึ้น รู้จักตัวเองในที่นี้ คือ เวลาเกิดปัญหา จะไม่มอง และโทษคนอื่น หรือเห็นคู่ชีวิตเป็นฝ่ายผิดตลอด

เพราะฉะนั้น เมื่อฝึกฝนตัวเองดีแล้ว เช่น คุมอารมณ์ให้อยู่ และเข้าใจความต่างในตัวของคนที่เรารัก จะช่วยให้อารมณ์ดี และใจเย็นขึ้น




สรุปว่า ถ้าอยากให้คนอื่นเข้าใจตัวเรา เราต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่า ณ ขณะนี้ เราคือใคร กำลังทำอะไร ปัญหาเกิดขึ้นเพราะใคร ต้องยอมรับความจริงให้เป็น ที่สำคัญไม่ควรไปรื้อฟื้นอดีตที่เลวร้ายของกันและกันมาเป็นข้อถกเถียง แต่จงอยู่กับปัจจุบัน เพราะจะทำให้มีความสุขมากว่า

“สามี-ภรรยาคู่ไหน ที่อยากฝึกการเจริญสติ และภาวนาแบบง่ายๆ ลองใช้วิธีกลยุทธ์แบบกองโจร อยู่ที่ไหนก็ภาวนาได้หมด ไม่ว่าจะที่บ้าน หรือนอกบ้าน อย่างเช่นบนรถ ซึ่งจะทำช่วงไฟแดง หลับตาหายใจช้าๆ แล้วบอกว่ารู้ หายใจออกรู้ แล้วจะรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี และมีกำลังในการต่อสู้กับปัญหาในวันนั้นๆ ได้