จับจ้องมอง เทรนด์ เฟอร์นิเจอร์ปี 2009












เจาะเทรนด์เด็ด Salone Internazionnale del Mobile ที่มิลาน พบงานย้อนยุคยังแรง ผสานรูป-กราฟฟิก ไปจนถึงนำศิลปะมาเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์


ทุกๆ ปีสายตาของนักออกแบบทั่วโลก ต่างจับจ้องไปที่ Salone Internazionnale del Mobile ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี การรวมตัวของผลงานออกแบบอันเปรียบเสมือน 'เมกะ' ของโลกงานออกแบบ หนึ่งในสิ่งที่หลายคนจับตามองจากงานนี้คือ 'เทรนด์' (Trend)

"มีคำ 3 คำ สไตล์ (Style) มูฟเมนท์ (Movement) และเทรนด์ (Trend) คำว่าสไตล์คืออะไรที่อยู่มานานเป็น 100 ปีจนเป็นแบบแผนชัดเจนทุกคนยอมรับว่านี่คือวิคตอเรีย นี่คือหลุยส์ สไตล์คืออะไรที่เรายึดมานานจนตอนนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ช่วงประมาณ 50 ปีก่อนเกิดมูฟเมนท์หนึ่งคือการปฏิวัติความคิดของโมเดิร์นนิสซึ่ม (Modernism) คืออะไรก็ตามที่เป็นคลาสสิกเขาจะล้มแล้วมาคิดใหม่ ก็แตกเป็นหลายแขนง เช่น สแกนดิเนเวียน เดคโค โมเดิร์น

"ปัจจุบันจริงๆ เราก็ยังอยู่กับมูฟเมนท์ หรือการปฏิวัติความคิดของโมเดิร์นนิสซึ่ม เพราะเรายังไม่มีอะไรกลั่นตัวออกไปมากกว่าโมเดิร์นนิสซึ่ม.. ตอนนี้กลายเป็นว่าเราเรียกความคิดใหม่ๆ ไม่ใช่สไตล์ ไม่ใช่มูฟเมนท์ เป็นแค่เทรนด์ เป็นอะไรที่มาไวๆ คิดออกไปทำแล้วมี 2 คนทำตาม หรือมีคนสนใจเขียนข่าวมันก็เป็นเทรนด์แล้ว ติดไม่ติดอีกเรื่องหนึ่ง เทรนด์จะออกมาเป็นระยะๆ อีก 50 ปีถ้าเราย้อนกลับมาอาจจะมีคนจับเทรนด์พวกนี้มัดเข้าด้วยกันเป็นอีกมูฟเมนท์หนึ่งก็ได้ ที่ไม่รู้ว่าเขาจะเรียกว่าอะไร แต่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเป็นสไตล์" เจรมัย พิทักษ์วงศ์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารบ้านและสวน อธิบายให้ฟังถึงความหมายของคำว่า 'เทรนด์'

แม้เทรนด์จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแต่งาน Salone Internazionnale del Mobile 2009 ที่ผ่านมา คุณเจรมัยมองเห็นเทรนด์การออกแบบเฟอร์นิเจอร์หลายเทรนด์ที่โดดเด่น

Original Modern Reintroduced งานในยุคที่สไตล์โมเดิร์นเฟื่องฟูกลับมาเปิดตัวใหม่

"การเอางานเก่าซึ่งเปิดตัวเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่คนอาจจะลืมไปแล้ว เกิดไม่ทัน หรือเห็นแล้วคิดถึง เอามาเปิดตัวใหม่ เปิดตัวใหม่ในแง่นี้คือ เปิดใหม่ทั้งดุ้นไม่มีประยุกต์ใหม่เลย.. เป็นโมเดิร์นในยุคแรกๆ แต่ไม่มีใครรู้จัก บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Vittorio Bonacina, Capellini ก็เอามาทั้งดุ้นเลยแต่ว่าปรับสีนิดหนึ่ง แต่ก่อนคนอาจจะชอบอะไรที่มีรายละเอียดจุ๊กๆ จิ๊กๆ เอามาปรับให้เป็นแพทเทิร์นที่ใหญ่ขึ้นและเป็นสีที่ทันสมัยขึ้นแต่โดยหลักการแล้วคือตัวเดิม.. เขาไม่ต้องเสียค่าออกแบบไม่ต้องเสียค่าผลิตเพราะเขาทำอยู่แล้วเปิดตัวใหม่เท่านั้นเองเขาก็ขายต่อได้"

Modern Classics Remixed นำเอกลักษณ์ของผลงานโมเดิร์นตัวเก๋า มาผสมใหม่

"เอามาคลุกใหม่นิดหนึ่ง เก้าอี้ 3 ตัว ของ Arne Jacobsen, Eero Saarinen และ Charles Eames ที่เราเห็นคุ้นตากัน เราจะเห็นทั้งแบบของจริงและของก๊อบปี้ในตลาดทั่วไป Philippe Starck นักออกแบบเขาสังเกตว่าตรงพนักข้างหลังเป็นเอกลักษณ์ของ 3 มาสเตอร์ดีไซเนอร์ เขาก็เอาฟอร์ม 3 อันนี้มาซ้อนทับกันเกิดเป็นเก้าอี้ตัวใหม่ให้คนเห็นแล้วระลึกถึงตัวเก่า เป็นอีกเทรนด์หนึ่งมีตัวอย่างทำอะไรอย่างนี้เยอะมากแต่ที่จะดูไม่เป็นก๊อบปี้มีไม่กี่อัน การเอาของเก่ามาทำใหม่ 80 เปอร์เซ็นต์ จะโดนด่าว่าตันคิดอะไรไม่ออกแล้ว ถ้าคุณทำได้อย่าง Philippe Starck จะดูสร้างสรรค์"

Memories Refreshed นำความทรงจำเก่าๆ มาเป็นจุดขา

"ของเก่าแต่เอามาในแบบที่เราเรียกไม่ถูกว่าคือสไตล์อะไร เอามาแค่ความทรงจำ เช่น งานของ Casamania นักออกแบบบอกว่า ตอนที่เขาออกแบบเขาคิดถึงนิทาน Alice in Wonderland และ Marie Antoinette ถ้าไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์อาจจะงงๆ คิดว่าเป็นผู้หญิง แต่จริงๆ Marie Antoinette เป็นพระมเหสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งสไตล์หลุยส์ที่ 16 สำคัญมากๆ อีกชื่อหนึ่งคือ รอคโคโค (Rococo Style) คือสไตล์ที่ก่อนที่จะเป็นโมเดิร์น อยู่ในยุคที่คนเริ่มต่อต้านคลาสสิกเพราะคลาสสิกจะเท่ากันซ้ายขวาจะสมมาตรกัน สไตล์รอคโคโคจะเริ่มไม่ให้สองด้านเท่ากัน มีการใช้ของเล็กของใหญ่ซ้ายขวาไม่เท่ากัน งานของ Casamania คือการเอาสไตล์รอคโคโคมาบวกกับป๊อปคัลเจอร์ (Pop Culture) ในวันนี้ได้เป็นสไตล์ใหม่ขึ้นมา.. หรือเก้าอี้หมิงซึ่งฝรั่งไม่รู้จักเลย.. เราเองก็ลืมไปแล้วเหมือนกันแต่มีความทรงจำรางๆ เขาก็มาเปิดตัวใหม่.. แต่ไม่ใช่ทุกสไตล์คลาสสิก หรือทุกสไตล์ที่เก่ากลับมาแล้วจะดังนะ บางอันก็อาจจะไม่เวิร์คก็ได้"

Photo + Graphics สร้างเรื่องราวให้กับชิ้นงานด้วยภาพถ่า

"การใช้รูปและกราฟฟิกมาต่อยอดสร้างลวดลายให้เฟอร์นิเจอร์ งานของ Moroso ดูไกลๆ เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้เข้าไปจับใกล้ๆ แล้วนิ่มเป็นฟองน้ำบุผ้าพิมพ์ลายไม้ หรืออีกงานหนึ่งมองด้านหน้าเหมือนกองหมอนเข้าไปดูใกล้ๆ มันคือเฟอร์นิเจอร์ที่พิมพ์ลายหมอนมีแสงเงาช่องว่าง งานของ Maritalia ก็ดูเหมือนป่าคือเอารูปพวกนั้นมาสกรีนบนเฟอร์นิเจอร์เลย มันมีอะไรสักอย่างเกี่ยวกับสีของธรรมชาติซึ่งเหมือนกำลังเป็นที่ต้องการของคนในตอนนี้ สีของน้ำ สีของป่า สีของนก สีของอะไรที่อยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งบางทีถ้าเราพูดว่าสีเขียวสีฟ้าอาจจะไม่รู้สึกว่าธรรมชาติเท่าไรแต่ถ้าเราพูดว่าสีใบไม้ สีน้ำ ทุกคนจะมีจินตนาการ ถ้ามาเทียบกันน้ำของผมกับน้ำของคุณอาจจะไม่เหมือนกันแต่จะได้อารมณ์คล้ายกันเลย"

From Arts to Furniture ศิลปะถูกดึงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องเรือนอีกครั้ง

"การเอาศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ ลวดลายแบบงานของ Cappellini มีคนทำกันเยอะแล้วและยังทำกันอยู่ ไม่เชิงคิดอะไรไม่ออกแต่อาจจะประหยัดค่าวิจัยและพัฒนา แทนที่จะต้องไปจ้างดีไซเนอร์ข้างนอก.. ซึ่งผมคิดว่าอาจจะไม่ลึกมากแต่อาจจะเป็นเทรนด์ถ้าคนทำกันเยอะๆ Pixel Art หรือศิลปะที่อยู่บนจอคอมพิวเตอร์ก็กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ หรือพิกเซลอาร์ทในแบบ 2 มิติก็เอามาเป็นภาพพิมพ์ได้"

Furniture Featuring Fashion นักออกแบบแฟชั่นช่วยนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์

"ความคิดเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าเรานั่งคิดกันเองอาจจะไม่ไหว ใช้วิธีจับมือร่วมกับแบรนด์อื่นซึ่งน่าจะทำงานร่วมกันได้ เช่น เราเห็นโต๊ะไม้มีสีด่างๆ แต่ถ้าเราดูดีๆ เราจะรู้สึกเหมือนกับสีตกสีฟอกของกางเกงยีนส์ซึ่งคำเฉลยก็คือ Diesel ร่วมกับบริษัทเฟอร์นิเจอร์ Moroso สร้างเฟอร์นิเจอร์ลายนี้ออกมา"

Weaving Trend หวาย หรือวัสดุจักสานต่างๆ กำลังกลับม

"..ต้องบอกว่าหวายกลับมาใหม่จริงๆ หลายแบรนด์ใหญ่ๆ มีการทำเฟอร์นิเจอร์หวายแต่ไม่ใช่หวายแบบเล็กๆ เหมือนเดิมเป็นหวายเส้นโตๆ ให้เห็นชัดๆ หรืออย่างงานของ Gervasonni ดูเหมือนหวายเทคนิคการสานแบบเดียวกันแต่เป็นยางต้นทุนก็คงถูกกว่า หรือวัสดุอื่นที่ทำให้ดูเหมือนสานพวกเหล็กพวกพลาสติก เพราะจริงๆ แล้วหวาย วัสดุคล้ายหวาย หรือวัสดุสานมันมีความเป็นมิตรกับคนใช้ ไม่ดูหยิ่งเป็นของใหม่ของหรูเกินไปขณะเดียวกันก็ไม่ดูราคาถูกด้วย พลาสติกอยู่เฉยๆ ดูราคาถูกแต่พลาสติกที่ทำเป็นรูปแนวสานจะดูมีราคาขึ้นมาแต่ก็ไม่เกินไปขนาดที่จะเป็นของแพง"

OTOP Italian Style ฝรั่งสนใจหัตถกรรมพื้นบ้าน

"ฝรั่งจะมองหาอะไรที่เขาไม่มีมาก งานของ Tord Boontje ที่ออกแบบให้ Moroso เปิดตัวตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นคอนเซปต์ ปีนี้ออกมาเป็นโปรดักท์ ถ้าดูใกล้ๆ มันทำมาจากเส้นไนลอนสีซึ่งมาจากแหของแอฟริกา เขาใช้ดีไซเนอร์ท้องถิ่นใช้วัสดุท้องถิ่น หรืองานออกแบบที่ใช้ผ้าแอฟริกาและผ้ากิโมโนญี่ปุ่นเป็นเสื้อผ้าแต่งกายจากท้องถิ่น อธิบายไม่ถูกว่ามันคือสีอะไรแต่สีพวกนี้มาอยู่รวมกันแล้วรู้เลยว่าเป็นญี่ปุ่น เป็นแอฟริกา อย่างของไทยสีลิเก สีผ้าขาวม้า มาอยู่รวมกันเราก็รู้เลยว่ามันคือสีไทย.. หรือวัสดุไม้อัดธรรมดาเอาดอกไม้แห้งไปปะแล้วทาสีซึ่งเป็นอะไรที่โลว์เทคมากๆ สำหรับเรา โคตรจะโลว์เทคสำหรับฝรั่งๆ ไม่มีทางคิดเรื่องพวกนี้ได้ที่เขาคิดได้เพราะเขามาเห็นเฟอร์นิเจอร์ของพวกเราต่างหากที่ทำอะไรง่ายเขาถึงกลับไปหาวิธีทำอะไรง่ายๆ "

.......................................

ไม่เฉพาะเทรนด์ของงานออกแบบ Salone Internazionnale del Mobile ยังสะท้อนเทรนด์ของ สีสัน ในงานออกแบบ

"สังเกตมาจากมิลานสีที่เราเห็นชัดๆ ที่โดดเด่นออกมาคือ กลุ่มสีม่วง สีม่วงกลายจนไปจนถึงผสมแดงหน่อยๆ จนไปถึงม่วงที่เป็นหมอกๆ ควันๆ จะโดดเด่นขึ้นมาในภาพรวมของงาน เราจะเห็นเขาเน้นมาก" นทสิริ บุณยสงวน สถาปนิกภายใน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย ide@color บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟัง

"สี ม่วง ความหมายของฝรั่งก็ไม่ได้คิดอย่างคนไทย เป็นคนละความหมายกันเลย เป็นสีของคริสต์ศาสนา สีของราชวงศ์ เสื้อคลุมของกษัตริย์ ของเรากลับไปเรื่องของเพศ ดูเศร้า เขาจะไม่เข้าใจว่าเราพูดเรื่องอะไร การกลับมาของสีม่วงอาจจะเป็นอะไรที่หรูเกือบเท่าดำแต่ว่ามีสีสันกว่า อาจจะเป็นเรื่องของความหรูหราก็ได้.. สีม่วงตัดสีเหลืองๆ ก็จะกลับมาตาม จะมาคู่จะไม่มีสีไหนสีหนึ่งกลับมาสีเดียวดำกลับมาก็ต้องมีขาวมาคู่ด้วย" คุณเจรมัย กล่าวเสริม
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสีสันอื่นๆ และการจับคู่กลุ่มสีกับวัสดุที่น่าสนใจ

"คนเริ่มแปลค่าจากคำว่า กรีน (Green) เมื่อก่อนจะใช้สีเขียวตอนนี้มีการหยิบจับใช้สีฟ้ามาแทนค่าของความเป็นกรีน ลีฟวิ่ง (Green Living) มากขึ้น เป็นสีฟ้าของสายน้ำ สีฟ้าของท้องฟ้า เราจะเห็นพวกกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ที่มีสีฟ้าเข้ามาผสมเยอะขึ้นเรื่อยๆ .. กลุ่ม Neutral คืออีกกลุ่มหนึ่งที่เอามาใช้กันเยอะ พวกสีน้ำตาลถอดค่าจากไม้ต่างๆ และจะเห็นวัสดุที่มันวาวเป็นสี Neutral แต่เล่นวัสดุที่วาวขึ้นไม่ใช่เรียบๆ เหมือนเดิม ต่อมาพวกสีเหลือง หรือเขียวอมเหลืองที่สะดุดตาขึ้นมา สีกลุ่มนี้น่าจะแทนการที่เราจะมีพลังในการสร้างเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นเหมือนเดิมเป็นการให้กำลังใจตัวเอง และฝรั่งกำลังสนใจสีกลุ่มจาก Exotic World ของเราไม่ว่าจะเป็นอินเดีย แอฟริกา จีน ญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าเมื่อก่อนสีพวกแดงๆ ส้มๆ สีหนักๆ ฝรั่งจะกลัวแต่หลังๆ จะเห็นว่าเทรนด์เฟอร์นิเจอร์มาทางนี้เยอะเหมือนกัน.. " คุณนทสิริ บอก

เทรนด์ เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จของงานออกแบบ

"มันเป็นแค่แนวโน้ม สมมติเราบอกว่าหุ้นช่วงนี้กำลังตกแล้วคนสวนกระแสไปซื้อแพงๆ มาเลยเจ๊ง แต่ถ้าเราดูไว้เป็นแบบแผนแล้วมาวิเคราะห์ให้เหมาะกับเราเองมันสามารถเอามาใช้ได้หลายๆ อย่าง ผมว่าเทรนด์เอามาใช้เพียวๆ สิ่งที่น่าจะสำคัญที่สุดคือ ไลฟ์สไตล์ๆ ของผู้ออกแบบก็ได้ ไลฟ์สไตล์ของคนใช้ก็ได้ ไลฟ์สไตล์ของบ้านเมืองตอนนี้ก็ได้ ที่เราต้องทำควบคู่ไปด้วยกันคือเรื่องของข้อมูลพื้นฐานทางสังคม (Local Database) ต่างๆ เช่น งานโอท็อป ชาวบ้านเขาไม่มาสนใจเรื่องเทรนด์หรอกแต่ในส่วนของดีไซเนอร์ถ้าเราเอาของชาวบ้านมา เอาเทรนด์มา และเอาไลฟ์สไตล์มาผสมกัน มันสามารถทำให้ของที่เราคิดว่าเป็นของด้อยมูลค่าสามารถอัพตัวขึ้นมาได้ตามที่ควรจะเป็น"

รัฐพล ศักดิ์ดามพ์นุสนธิ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการบริการ หัวหน้ากองบรรณาธิการ นิตยสาร room บอก "ผมอยากให้ความสำคัญกับคำว่า 'แนวโน้ม' มันมีช่วงระยะในการทำของมันอยู่ คือแนวโน้มไม่ได้เป็นเส้นตรงไม่ได้เป็นเส้นจุดแล้วบอกว่าอันนี้คือแนวทาง แต่บนแนวโน้มในเทรนด์มันสามารถจะดิ้นไปดิ้นมาได้เพียงแต่ขึ้นอยู่กับความสามารถของคนที่รับรู้เรื่องพวกนี้แล้วสามารถไปสร้างต่อได้.. ถ้าสมมติคนยังแอนตี้ว่าแนวโน้มกระแสฉันไม่จำเป็นต้องรู้ฉันเป็นตัวของตัวเองมันอาจจะเป็นสิ่งดีก็ได้ แต่เขาอาจจะเป็นลักษณะของศิลปินแต่เรากำลังพูดถึงภาพรวมของงานดีไซน์มากกว่าว่ามันน่าจะต้องศึกษาควบคู่กันไป"

สำหรับนักออกแบบ คุณเจรมัย แนะนำการใช้ประโยชน์จากเทรนด์ว่า

"งานที่เป็นตัวเปิดเทรนด์เป็นที่รวมของบริษัทใหญ่ๆ แต่ละสิ่งที่เขาคิดกันมามันผ่านการคิดมาอย่างลึกซึ้งผ่านการวิจัยทางด้านการตลาดมาเยอะ ในแง่ของเรายิ่งสมัยนี้เราทำงานคนเดียวที่บ้านการที่เราไปศึกษาเรื่องเทรนด์มันเหมือนเราได้ยืมใช้ข้อมูลทางด้านการวิจัยของเขาซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ดี อย่าไปมองแค่ว่า เก้าอี้ตัวนี้สีนี้ทำแบบนี้จะมา ต้องไปนั่งวิเคราะห์ดูว่ามาจากไหน เช่น กระจกตัวนี้มาจาก Alice in Wonderland มาจาก Marie Antoinette ซึ่งมาจากรอคโคโคซึ่งมาจากหลุยส์ที่สิบหก ถ้าเราใช้ความรู้ซึ่งเป็นความรู้ที่อาจารย์สอนหมดทุกวิชาแต่เป็นวิชาที่เราไม่สนใจ วิชาประวัติศาสตร์การออกแบบ วิชานั่นวิชานี่ ทั้งหมดดึงมาใช้แล้ววิเคราะห์ไอ้เฟอร์นิเจอร์ตัวเดียวที่เราเห็นเราถึงจะได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ วิธีการใช้เทรนด์จากงานแบบนี้ต้องดูให้ลึกแล้วเราจะได้ข้อมูลการวิจัยของเขามาประกอบการใช้ของเรา.. เทรนด์ไม่ได้บอกว่าเฟอร์นิเจอร์ในเมืองไทยรุ่นใหม่จะใช้ผ้าแอฟริกา หรือผ้ากิโมโน เทรนด์คือทิศทางในการคิดแบบนี้ ถ้านักออกแบบไปประยุกต์ใช้ในแบบเดียวกันกับเฟอร์นิเจอร์ที่ดูโมเดิร์นก็จะเป็นเทรนด์แบบนี้ในแบบของไทย"

"ผมว่าดีไซเนอร์บางคนตีความหมายคำว่าเทรนด์ในแง่ลบมาก บางคนตีความหมายเทรนด์เป็นกระแสแป๊บเดียวก็ไป เขาลืมว่ามันมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ หมายความว่าคนที่ตีกระแสพวกนี้ในระดับผิวเผินเขาตีไม่แตก อันนั้นน่ากลัวเพราะว่ากลายเป็นว่าคนเหล่านี้คิดงานค่อนข้างผิวเผิน เขาไม่เข้าใจว่าพวกนี้มันให้ข้อมูลอะไรสักอย่างเขาอยู่ ผมว่าถ้าสมมติดีไซเนอร์เมืองไทยยังมีอีโก้ในทางที่ผิดอย่างนี้จะทำให้งานของบ้านเราไม่ก้าวหน้าเพราะว่าเขาไม่เคยฟังความคิดเห็นคนอื่น ไม่เคยฟังกระแสโลก เขาคิดว่าเขาถูกทุกอย่างอยู่ที่เขา" คุณรัฐพลให้ความเห็น

ผู้ใช้เฟอร์นิเจอร์ควรจะให้ความสำคัญกับเทรนด์มากน้อยแค่ไหน คุณเจรมัย มีคำตอบให้ว่า

"ไม่ต้องกลัวตกเทรนด์ แต่การที่เราได้รับรู้ว่าเขาไปถึงไหนแล้วเป็นเรื่องที่ดี เทรนด์เป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ถ้าคนทำกันเยอะๆ แรงๆ ถึงจะเกิดเป็นมูฟเมนท์แต่กว่าจะเป็นสไตล์ที่เราต้องอยู่กับมันๆ ใช้เวลานานเพราะฉะนั้นอยากจะเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนได้ ถ้าพูดถึงสไตล์โมเดิร์นกับคลาสสิกมันต่างกันมากแต่ถ้าพูดถึงเทรนด์นี้กับเทรนด์นั้นมันไม่ต่างกันคุณเปลี่ยนได้เรื่อยๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะช้า หรือเร็วกว่า หรือจะไม่เหมือนใคร"

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20090628/55009/จับจ้องมอง-เทรนด์-เฟอร์นิเจอร์ปี-2009.html